Monday, November 28, 2005
นักคิด
โดย ส.
สองสามอาทิตย์นี้มา ฉันกำลังสนใจเรื่องการคิดค้นพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับ Product Design เจอบทสัมภาษณ์ดีไซน์เนอร์จากบริษัทหนึ่ง น่าสนใจดี ดีไซน์เนอร์เล่าถึงแรงบันดาลใจแรกๆที่ทำให้อยากเป็นนักออกแบบ ดีไซน์เนอร์คนนี้บอกว่าสมัยเป็นนักเรียนอยู่โรงเรียนมัธยม ทำงานขับรถสกู๊ตเตอร์ลุยหิมะไปส่งหนังสือพิมพ์ทุกเช้า รถลุยหิมะนี้ใช้ลำบากมาก เพราะมันหนัก แล่นไปก็ส่งเสียงหนวกหู แถมมีควันเหม็น เขาคิดว่ามันน่าจะดีกว่านี้ได้ เลยมานั่งลองคิดลองออกแบบดู เห็นว่าเข้าท่าดี ก็ส่งแบบไปยังบริษัทที่ผลิตเครื่องลุยหิมะนี้ หลายอาทิตย์ผ่านไป บริษัทตอบปฏิเสธกลับมาอย่างสุภาพ ส่งแคทตาล็อกสินค้ามาให้ แถมเสื้อยืด เสื้อแจ๊กเก็ตมาให้
เขาไม่ย่อท้อ เอาแบบมาแก้ไขอีก แล้วทำโมเดลดู เขียนแบบสำหรับการผลิต คิดแคมเปญโฆษณา แล้วเอาไปโชว์ให้บริษัทออกแบบผลิตภัณฑ์ดู บริษัทไม่ได้เอาผลงานเขามาคิดต่อ แต่กลับรับเขาเป็นพนักงานฝึกงาน เขาฝึกงานที่นั่นเรื่อยมาจนมั่นใจว่าตัวเองเป็นดีไซน์เนอร์จริงๆได้ หลังจากจบมหาวิยาลัย บริษัทก็จ้างเป็นดีไซน์เนอร์ประจำ
ฉันอ่านแล้วชอบใจในธรรมชาติกล้าคิดกล้าทำของเด็กที่ตอนหลังมาเป็นดีไซน์เนอร์คนนี้ เอาบทสัมภาษณ์นี้ไปเล่าให้ลีฟัง ลีหัวเราะแล้วบอกว่าตอนเขาเด็กๆ อายุสิบขวบเขาก็ทำแบบนั้นเหมือนกัน บอกว่าตอนเด็กชอบออกไปดักสัตว์เล่น แต่เครื่องดักที่ซื้อมาไม่ค่อยดี เพราะอุปกรณ์ดักจากร้านทำจากเชือก ทำให้สัตว์แทะแล้วหนีออกไปได้ ลีมานั่งออกแบบใหม่เสียเท่ เปลี่ยนวัสดุให้เป็นเหล็ก แล้วก็ส่งจดหมาย พร้อมแบบ ใส่ซองติดแสตมป์ไปยังบริษัทขายเครื่องดักสัตว์นี้ คิดตามประสาเด็กซื่อๆว่าบริษัทน่าจะพัฒนาสินค้าตามความคิดนี้ ไม่ได้คิดหวังจะขายไอเดีย หรือต้องการชื่อเสียงอะไรอย่างที่ผู้ใหญ่คิด สองสามอาทิตย์ถัดมา บริษัทตอบมาแบบสุภาพเหมือนกัน บอกว่าขอบคุณ แต่แบบจะเอามาทำไม่ได้เพราะเขามีเงื่อนไขเรื่องลิขสิทธิ์ เรื่องซับซ้อนที่ลีอายุสิบขวบไม่เข้าใจ จำได้แต่ว่าบทสรุปก็คือว่าเขาบอกว่าขอบคุณ แต่ไม่เอา
ว๊าว... ฉันทึ่งสังคมนี้จัง ไม่ได้ทึ่งตรงที่ว่าความคิดที่เสนอได้รับเลือกหรือไม่ได้รับเลือก แต่ทึ่งที่คนเชื่อมั่นในเสรีภาพว่าเขาทำได้ เพราะเสรีภาพในการเสนอความคิดเป็นส่วนประกอบของชีวิตอย่างที่ไม่ต้องมีใครตั้งคำถามนี่เอง คนถึงได้มีความกล้าที่จะผลักดันประสิทธิภาพของตัวเอง ไปให้ไกลที่สุดเท่าที่คนๆนั้นจะจินตนาการไปได้ โดยไม่หวั่นระแวงเรื่องความเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ ความคิดดีๆนั้นกลั่นมาจากสมองอันบริสุทธิ์ ที่ไม่มีเรื่องคุณวุฒิวัยวุฒิเป็นเครื่องกีดขวาง
คนกล้าทำ เริ่มมาจากคนกล้าคิด คนกล้าคิด เพราะคนมีอิสระในการคิด คนมีอิสระในการคิด เพราะสังคมสนับสนุนให้คนเสนอความคิด และที่สังคมสนับสนุนให้คนเสนอความคิด ก็ย้อนกลับมาที่เพราะคนแต่ละคนเห็นความสำคัญของความคิดของแต่ละคน นี่แหละกระมังที่เป็นเหตุผลว่าทำไม "freedom of individuals" คือคุณค่าที่เขาตั้งไว้ให้เลิศเลอนัก เพราะ freedom นี้เองที่นำอิสระทางความคิดมาสู่การพัฒนา ซึ่งสอดคล้องกับธรรมชาติที่แท้ของมนุษย์.
Tuesday, November 15, 2005
พัก
โดย ส.
ฉันป่วย
ไข้หวัดมันรุมเร้า ให้ร่างกายมันปวดและปวกเปียก ลุกไม่ขึ้น จากที่ปู้ยี่ปู้ยำร่างกายด้วยงานดึกดื่น ไม่หลับไม่นอนมาหลายอาทิตย์ วันนี้ก็ถึงแก่การล้มหมอนนอนเสื่อ
เช้านี้มีงานที่ออฟฟิศรออยู่ กำลังเข้าขั้นเดทไลน์ แต่ก็ช่างมันเถิด ปล่อยให้มันรออยู่อย่างนั้น...
ขลุกขลักๆ ควานหากระปุกยาที่ลิ้นชักหัวเตียง ฉันกระดืบตัวขึ้นจากผ้าห่มช้าๆ เอื้อมมือไปหยิบแก้วน้ำ กระดกเม็ดยาเข้าปาก กลืนน้ำตาม ปล่อยให้ทั้งยาและน้ำไหลระเรื่อยลงคอ แล้วก็สอดตัวกลับเข้าที่นอน ปล่อยตัวให้จมอยู่อย่างนั้น โลกจะวุ่นวายขนาดไหน ปล่อยให้มันเป็นไป ปล่อยยามันออกฤทธิ์ สำแดง กำราบ รู้สึกลมหายใจเข้าออกเป็นเพียงผะแผ่ว
หมอนและที่นอนกำลังดูดฉันละลายลงไปช้าๆ
...
ลืมตาขึ้นมาอีกครั้ง รู้สึกว่าความปวดหายไป มองดูนาฬิกาเห็นว่าบ่ายคล้อยแล้ว แต่แขนขายังซึมกะทืออยู่ ฉันขยับปลายเท้าและนิ้วมือเพื่อเรียกกำลังวังชา แล้วก็ขืนใจเอนหลังลุกขึ้น รู้สึกว่าปอดหายใจเอาลมเข้าได้มากกว่าเดิม ฉันสูดอากาศเย็นๆในห้องเข้าไปอีก ท่ามกลางความเอื่อยเฉื่อยนี้ จิตใจมันมู่ทู่ สมองปฏิบัติการได้เชื่องช้าเสียเหลือเกิน
ฉันเปิดน้ำร้อนอาบ ปล่อยให้น้ำอุ่นเป็นควันไหลบ่าออกมาละลายความซึมกะทือออก ขยับตัวยืดหดให้กล้ามเนื้อทื่อๆกลับมายึดหยุ่นดังเดิม บิดตัวซ้าย บิดตัวขวา ขยับขา ชูแขน เงยหน้าขึ้นแช่อยู่อย่างนั้นชั่วครู่ แล้วฉันก็หมุนก๊อกให้น้ำเย็นไหลมาแทนที่ จากความอุ่นที่เชื่องช้า ก็กลายเป็นความเย็นที่เย็นขึ้นๆไหลมาปะทะผิว ที่นี้เย็นราวกับน้ำที่ไหลออกมาจากตู้เย็น กล้ามเนื้อและผิวกายซู่ขึ้นมาทันใด ฉันหายใจเอาอากาศสดๆจากความเย็นนี้จนสุดปอด จากนั้นก็ปิดก๊อก
...
ฟ้าเริ่มมืดลง ฉันเดินออกมาจากซอย ผ่านคนงานซ่อมถนนที่กำลังเก็บข้าวของเครื่องมือเตรียมกลับบ้าน รู้สึกโล่งเหมือนวันนี้เป็นวันสุดท้ายของโลก เดินมาถึงตึกหัวมุมที่มีโรงเรียนสอนโยคะ คิดในใจ วันนี้รู้สึกเหมือนไร้กาลเวลา
ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ขยับเคลื่อนไหวทุกส่วนของร่างกาย ชั่วโมงผ่านไป เลือดไหลเวียนทั่ว ภาวะไร้กาลเวลานี้ ฉันรู้สึกถึงชีวิตที่เคลื่อนไหวอยู่ใต้ผิวหนังของตัวเอง สังเกตได้ตั้งแต่ปลายนิ้วเท้า ไปจนถึงหนังหัว ดูเหมือนโยคะจะบอกให้รู้หมด ว่าส่วนไหนของร่างกายที่สว่างแจ่มใส และส่วนไหนที่ยังอ่อนปวกเปียก หรือส่วนที่เราละเลย
อาจารย์เขมานันทะเคยเล่าให้ฟังว่า ไปเยี่ยมเพื่อนที่โรงพยาบาลแล้วบอกเพื่อนว่า "ขอให้ป่วยให้สบายนะ" ตอนนั้นฉันฟังแล้วก็สงสัยในใจ อาจารย์พูดอะไร คนป่วยอยู่ มันจะไปสบายได้อย่างไร ถึงวันนี้ ได้ป่วยอยู่คนเดียว ได้สำรวจลมหายใจอยู่คนเดียว สำรวจการเคลื่อนไหวของพลังงานในร่างกายนี้อย่างใกล้ๆ คนเดียว แล้วใจก็สว่างขึ้นมา เข้าใจว่า "ป่วยให้สบาย" ที่อาจารย์เคยพูดถึงก็คือ การพักโลกที่เราไปคิดไปวุ่นวายอยู่ กลับมาสู่ร่างกาย อยู่กับลมหายใจ อยู่กับขณะนี้ ในโลกที่ไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าลมหายใจ นั่นละคือความ "สบาย"
ฟ้ามืดสนิทแล้ว ฉันเดินกลับบ้าน หัวใจส่องสว่าง.
Sunday, November 13, 2005
วันบุญ
โดย ส.
ตั้งแต่อยู่ไกลบ้านเฮามาหลายปี ไม่ค่อยได้มีโอกาสสัมผัสวัฒนธรรมและจิตใจแบบชาวพุทธเท่าไรนัก วันนี้ถือเป็นวันบุญกุศล ได้เข้าฟัง องค์ดาไล ลามะ ตัวเป็นๆ พูดโปรโมตสันติภาพ (peace) และเมตตาธรรม (compassion)
งานนี้จัดที่สเตเดี้ยมที่ปกติเขาใช้จัดงานร๊อคคอนเสิร์ต ไม่ก็เชียร์บอล หรืออะไรอื่นๆที่เป็นป๊อปคัลเจอร์ งานนี้ ฮิส โฮลี่เนส ดาไล ลามะ ท่านมาแปลก เจาะกลุ่มป๊อป
คนมาเข้าฟังงานนี้เยอะมาก เขาว่าถึงหมื่นหกพันคน ฉันกับลีมาซื้อบัตรวินาทีสุดท้าย (ตามเคย) สังเกตเห็นว่ากลุ่มคนที่มาฟังส่วนมากอายุประมาณ ยี่สิบกว่า ถึงสามสิบ สี่สิบ อืมม์ คนรุ่นใหม่นี่มีใจกว้างขวางดี สนใจ เวิลด์ อิชชู (world issues) ถึงว่าเพราะคนกลุ่มนี้สนใจฟังเรื่องสันติภาพกันมาก เขาเลยเลือกสถานที่จัดให้มันร๊อคสุดขีด เห็นหลายคนที่มาฟังแต่งแฟชั่นแบบทิเบ๊ต..ทิเบต... ไม่แดงเลือดหมู ก็เหลืองขมิ้น ใครมีย่ามเยิ่มอะไรดูทิเบต ดูเอเชีย ก็ควักออกมาโชว์สปิริตกันในงาน เห็นคนทิเบตที่มาฟังแต่งชุดประจำชาติก็เยอะ งานนี้เรียกว่ามีสีสันมาก
เข้ามาถึงในสเตเดี้ยม โอ้โห กว้างเหลือเกิน ฮอลล์ใหญ่ราวท้องสนามหลวง แถวเก้าอี้นั่งเรียงถัดสูงขึ้นไปถึงขนาดตึกสี่ชั้น มองลงมาจากแถวที่นั่ง เห็นคนบนเวทีเหลือตัวเล็กเท่ามด จากเวทีมา ตรงกลางสเตเดี้ยมมีก้อนลูกเต๋ายักษ์บรรจุจอทีวีสี่ด้าน ฉายภาพโคลส-อัพ เผื่อคนซื้อตั๋วราคาถูกอย่างเรา จะได้ไม่ต้องเพ่งองค์ท่่านให้ปวดตา
งานนี้เปิดด้วยมีนักการเมืองจากแคลิฟอร์เนียออกมาพูดเกริ่น พูดอยู่นานจนรู้สึกเริ่มเสียดายตังค์ค่าตั๋ว (ไม่ใช่ถูกๆนา...) จนที่สุดยายนั่นก็พูดจบ แล้วองค์ดาไล ลามะ ก็ค่อยเดินออกมา ถึงตอนนี้คนหมื่นกว่าคนในสเตเดี้ยม ก็พร้อมใจกันยืนขึ้นปรบมือ องค์ท่านพนมมือไหว้ไปรอบๆ หลายคนพนมมือไหว้รับ ชื่นใจเราจริงๆ ไม่เคยได้สัมผัสกับผู้นำชาวพุทธที่มีอิทธิพลต่อจิตใจชาวโลกแบบกว้างขวางแบบนี้มาก่อน แหม น้ำตามันเอ่อออกมาซะ
คนทิเบตเขามีการต้อนรับกันโดยวิธีไหว้พร้อมกับเอาหัวโขกกันเบาๆ เห็นองค์ดาไล ลามะพนมมือไหว้ที่อกแล้วเอาหัวของท่านไปโขกกับนักการเมืองคนที่พูดเกริ่นนั้น แนวว่ามิตรภาพเริ่มจากหัว... สัญญาพนมอยู่ที่ใจ
แล้วท่านก็เอาผ้าขาวมาคล้องรับขวัญคนบนเวที คนพวกนี้เป็นคนพื้นเมืองจากแถวเทือกเขาหิมาลัย คนทิเบต คนภูฐาน คนเนปาล เทิร์กกิสถาน และอื่นๆที่จำชื่อไม่ได้ คิดว่าเป็นกลุ่มที่อพยพย้ายเข้ามาอยู่ในอเมริกา คนพวกนี้แต่งตัวน่ารักแบบคนพื้นเมืองหิมาลัย นุ่งผ้าคล้ายๆซิ่นแต่ด้านบนเป็นคอปาดแบบจีน คล้ายๆแบบเชียงใหม่ ผ้าลายทางๆบ้างดอกๆบ้าง น่ารักน่าดู รับขวัญกันเสร็จ คนที่ไม่ได้มีหน้าที่พูดก็ทะยอยลงจากเวทีไป
บนเวทีมีเก้าอี้สองตัว ตัวหนึ่งสำหรับองค์ดาไล ลามะ อีกตัวสำหรับล่าม องค์ท่านเดินมานั่งเก้าอี้ปุ๊บก็ถอดรองเท้าเอาขาขึ้นนั่งขัดสมาธิปั๊บ ท่ามกลางคนเข้าฟังหมื่นกว่าคน ท่านนั่งดูเป็นกันเองเหมือนอยู่บ้านมาก
องค์ดาไลลามะยิ้มแย้มตลอดเวลา ท่านพูดภาษาอังกฤษแบบสำเนียงทิเบต เวลาฟังต้องเงี่ยหูเล็กน้อยถึงจะจับความได้ ท่านมีล่ามมาด้วย เวลาตอนไหนพูดติด ท่านก็จะพูดเป็นภาษาทิเบตแล้วให้คุณล่ามแปลให้ฟัง บางทีก็มีเถียงมีปรึกษากันเล็กน้อยว่าใช้คำถูกหรือไม่ ท่านมีอารมณ์ขันดี ขำตัวเองเวลาพูดคำภาษาอังกฤษยาวๆไม่ได้ ล่ามบอกให้ฟังอีกทีก็ยังพูดไม่ได้ แล้วท่านก็ยิ้มร่า บอกว่าไม่ได้จริงๆ ตรงนี้คนดูขำกันใหญ่
วันนี้ท่านมาพูดในฐานะของผู้นำชาติที่ถูกแย่งแผ่นดินไป มาพูดก็เพื่อหวังนำวิธีคิดวิธีปฏิบัติแบบเมตตาธรรมแผ่ขจรขจาย เพื่อสันติของโลก เพื่อโปรโมต ฮิวแมน ไรท์ (human right) เพื่อหวังว่ากระแสนี้จะไปขยับหูให้รัฐบาลจีนหันมาฟัง เพื่อชุมชนพุทธแถบหิมาลัยจะได้อยู่กันแบบผาสุก
ท่านพูดถึงมุทิตาจิต การมองภายใน เพื่อก่อสันติภาพกับตัวของเราเอง แล้วแผ่มายังครอบครัว สังคม ส่วนรวม ประเทศชาติ การคิดปฏิบัติแบบนี้เท่านั้นจะพาโลกเจริญ
ท่านว่าเคยมีคนถาม ศาสนาใดในโลกนี้ดีที่สุด ท่านบอกว่าถามแบบนี้เหมือนถามว่ากินยาอะไรแล้วแก้โรคได้ดีที่สุด มันไม่มีอะไรดีที่สุดน่ะสิ มันอยู่ที่ว่าเป็นโรคอะไร แล้วต้องแก้ด้วยยาอะไร วิธีปฏิบัติของแต่ละศาสนานั้นขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อม วิธีคิด นิสัยใจคอของผู้ปฏิบัตินั้นๆ จะมาถามว่าอะไรดีที่สุดนั้นมันไม่มีคำตอบ
ท่านว่าศาสนาใดไม่สำคัญ ถ้าให้ดีขอให้มีศาสนาเดียวที่ใจเรายึดเป็นทางเดิน ยึดหลายศาสนาจะพาให้สับสน ไม่รู้จะนับถือพระเจ้าองค์ไหน เดินทางไหน มันเยอะแยะไปหมด ยึดศาสนาเดียว เดินตามทางนั้นไปให้ลึก มองคำสอนให้เห็นแจ้ง แล้วก็จะเดินได้มั่นคง แต่ทั้งนี้ ที่ว่ายึดแต่ศาสนาเดียว ไม่ได้หมายความว่าไม่เคารพศาสนาอื่น คำว่าศรัทธากับเคารพนั้นเป็นคนละความหมายกัน คนอื่นที่เขานับถือของเขาเราก็เคารพไม่ไปก้าวก่าย ท่านว่างั้น (เห็นเลยจากรัฐบาลจีนที่ไม่เคารพพุทธศาสนา ขับไล่ผู้นำพุทธออกจากแผ่นดินพุทธ เผาวัดวาอารามทิ้งเป็นจุณ เพียงเพื่อตอบสนองแนวคิดแบบคอมมิวนิสต์บ้าอำนาจ)
องค์ดาไล ลามะ มีปรารภว่าอยากจะให้ดินแดนแถบเทือกเขาหิมาลัยเป็นดินแดนเสรีธรรมสำหรับชาวพุทธ คือต้องการให้ประเทศต่างๆแถวนั้นรวมตัวกัน (คล้ายๆแบบยุโรป) เพื่อเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพื่อเสรีภาพในการใช้ชีวิต ร่วมมือกันทางเศรษฐกิจ และความเชื่อทางศาสนา แนวคิดนี้ฟังดูดีมากๆ ชาวเขาชนตัวเล็กคนกลุ่มน้อย ทีนับวันมีแต่จะแพ้กระแสจากโลกภายนอก เมื่ออาศัย ธรรม เป็นแรงบวกร่วม จะได้มีพลังสร้างวัฒนธรรมร่วมกัน จากประเทศยิบๆย่อยๆ จะได้มีความมั่นคงขึ้น ฟังแล้วก็สาธุ ขอให้ได้เป็นจริงตามที่ท่านหวังโดยเร็วเถิด
ท่านว่าโลกเราทุกวันนี้ ไม่มีการอยู่แบบประเทศใครประเทศมันเหมือนแต่โบราณอีกแล้ว แต่ละชาติแต่ละประเทศก็ต้องพึ่งพาอาศัยกัน ทั้งเศรษฐกิจ และการเมือง เหมือนกับโลกนี้เป็นบ้านของครอบครัวเดียว ใครจะทำอะไรก็ส่งผลถึงกันหมด หากแต่ละคนในครอบครัวมีธรรมในจิตใจ ความผาสุกก็จะแผ่กระจายกันไปทั้งครอบครัว ท่านคิดแบบตรงๆ ให้เราทำได้แบบตรงๆ เริ่มได้ก่อนจากตัวเราเอง จะคิดดีนี่มันก็แค่พลิกฝ่ามือเองนะ
หลังจากฟังจบ ฉันกับลีก็ไปโบสถ์ ไปรับรสหวานจากเพลงสรรเสริญพระเจ้าของชาวคริสต์ ฉันไม่คิดจะเข้าเป็นคริสเตียนแบบลี แต่ก็ได้อาศัยบ้านของชาวคริสต์ที่นี่เป็นแหล่งพักจิต ไปนั่งตั้งสมาธิภาวนาแบบพุทธๆเรา แถมได้ฟังเพลงเพราะๆพาให้ตัวลอยไปยังสรวงสวรรค์อีกน่ะ อืมม์ อิ่มบุญจัง.
Wednesday, September 21, 2005
แต่งแบบยิว
โดย ส.
อยู่ต่างแดนมาหลายปี ก็เพิ่งจะได้เปิดหูเปิดตาไปงานแต่งงานกับเขาก็คราวนี้
เอมี่ เจ้าสาวงานนี้ โตมาจากครอบครัวยิว อาลัน เจ้าบ่าวก็เป็นยิว พ่อแม่อพยพย้ายมาจากอิสราเอลแท้ๆ เพราะฉะนั้นงานแต่งงานนี้ก็เป็นแบบยิวแท้ ที่ว่าแบบยิวเป็นแบบไหนไม่เคยเห็น ก็จะมาเล่าสู่กันฟัง
ประเพณียิวเป็นประเพณีที่เต็มไปด้วยสัญลักษณ์ ในงานนี้มีสัญลักษณ์ทั้งที่เป็นตามประเพณีเดิม และสัญลักษณ์ที่เอมี่สร้างสรรค์ขึ้นเพื่อจรุงตาและจรุงใจแก่ผู้ที่มาร่วมพิธี เริ่มตั้งแต่สถานที่จัดงาน เป็นรีสอร์ตเล็กๆอยู่นอกเมือง ติดอ่าวเล็กๆ น้ำในอ่าวไหลมาจากมหาสมุทรแอตแลนติก ตัวรีสอร์ตมีศาลาท่าน้ำยื่นเป็นสะพานออกไป ไว้สำหรับสังสรรค์ เยื้องออกไปมีสนามหญ้ากว้าง รอบรายไปด้วยต้นไม้ใหญ่น้้อย บ้างก็ไม้น้ำกร่อย บ้างก็น้ำจืด เอมี่กับอาลันเลือกใช้บริเวณลานสนามกว้างนี้เป็นที่ประกอบพิธี
ตัวปรำพิธีอยู่ใกล้กับตลิ่ง เป็นเพิงทำจากผ้าสี่เหลี่ยมง่ายๆ ผูกติดกับเสาไม้สี่เสา ภาษาฮิบรูเรียกว่า อุปปาห์ (Huppah) เป็นที่สำหรับเจ้าบ่าวและเจ้าสาว สาบานตน โดยมีแรบไบ (พระยิว) เป็นพยาน ผ้าผูกเพิงนี้เป็นผ้าไหมเพ้นท์ลาย เป็นรูปต้นไม้ใหญ่สองต้นยืนอยู่ด้วยกัน มีดาวเดือนรายรอบ ผืนผ้านี้เจ้าสาวศิลปินลงมือเพ้นท์ด้วยตัวเอง อุปปาห์มีความหมายว่าคือบ้านที่เขาทั้งสองร่วมกันสร้างขึ้น ริมขอบตลิ่งด้านหลังอุปปาห์ มีต้นสนอยู่สองต้นยืนเคียงชะลูดคู่ เอมี่จงใจเลือกตำแหน่งนี้เป็นฉากหลังให้กับงานพิธี ต้นไม้สองต้นยืนคู่กัน เติบโต เช่นเดียวกันกับคนทั้งสอง
เอมี่สวยมากในงานวันนี้ ชุดยาวเปิดไหล่สีขาวประดับประดาไปด้วยลูกปัดระยิบสีแชมเปญ ผู้คนที่มาร่วมงานก็แต่งตัวสวยงามสดใส น้ำในอ่าวสะท้อนแดดเป็นประกาย เสียงเพลงปี่เป่าระเริงเรื่อยปกคลุมบรรยากาศของสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ เจ้าบ่าวเจ้าสาวเริ่มสาบานตน ณ เวลาสามโมงสามสิบหกนาที ตัวเลขทวีคูณจากสิบแปด อันถือเป็นตัวเลขศักดิ์สิทธ์ในประเพณียิว นอกจากนี้เอมี่ยังอธิบายความผูกพันส่วนตัวกับจำนวนนี้ว่า ยายเอมี่แต่งงานหลังจากทวดแต่งสามสิบหกปี จากนั้นอีกสามสิบหกปีต่อมาแม่เอมี่ก็แต่งงาน และจนถึงเวลานี้ก็เป็นวาระครบรอบสามสิบหกปีอีกครั้งในวันแต่งงานของเธอเอง รายละเอียดเล็กๆน้อยๆแบบนี้ บางทีก็เป็นเรื่องน่าชวนฉงน
ในประเพณียิว การเดินวนเป็นวงกลมสามรอบถือเป็นสิ่งที่นำโชคดีมาให้ ในพิธี มีการให้เจ้าบ่าวเดินวนรอบเจ้าสาวสามรอบ และกลับกัน เจ้าสาวเดินวนเจ้าบ่าวสามรอบ มีการให้พรเจ็ดประการ และสาบานตนโดยแรบไบเป็นผู้นำพิธี มีการอ่านสัญญาการแต่งงาน มีการดื่มไวน์จากแก้วร่วมกัน
สาบานตนเสร็จ ก็เอาแก้วไวน์นั้นมาเหยียบให้แตก เป็นการประกาศ ว่า ณ บัดนี้ ข้าทั้งสองตั้งใจมั่นว่าจะก้าวเข้าสู่ภาวะใหม่ เป็นภาวะที่สมบูรณ์ ภาวะของคนที่เติบโตขึ้น แก้วหมายถึงร่างกาย เป็นภาชนะบรรจุจิตวิญญาณ หากจะก้าวไปสู่แดนแห่งจิตวิญญาณ ก็ต้องข้ามผ่านร่างกายไปเสียก่อน การแต่งงานในความเชื่อของยิว ไม่ใช่เพียงเป็นเรื่องของการใช้ชีวิตหญิงและชายคู่หนึ่งเท่านั้น แต่เป็นการหลอมรวมเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับพระเจ้า เพื่อเข้าสู่ภาวะสมบูรณ์ หากคิดแบบการศาสนา เรื่องเหยียบแก้วนี้ก็เห็นว่าลึกซึ้งดี แต่หากคิดแบบชาวบ้านทั่วไป การเหยียบแก้วก็ไม่น่าจะมีอะไรมากไปกว่าการที่เจ้าบ่าวประกาศว่า ณ บัดนี้เป็นต้นไป ความบริสุทธิ์ของเธอจะแตกดับด้วยน้ำมือเขา ไม่ว่าจะเป็นประเด็นใดก็ตาม การเหยียบแก้วในพิธีแต่งงานนี้ก็เป็นไคลแมกซ์ในที่ทุกคนรอคอย เป็นจุดที่นำไปสู่การเฉลิมฉลอง
จากนั้น ก็มีการร้องเพลงภาษาฮิบรูร่วมกัน นำโดยแรบไบ จบเพลงบ่าวสาวก็เดินออกจากพิธี โดยมีครอบครัวเดินตาม แล้วนักเป่าปี่ก็เป่าเพลงฉลองเริงรื่น ประกอบกับเสียงร้่องภาษาฮิบรู... ฮาวา นากีลาฮาวา นากีลาฮาวา นากีลาเฮ รันเนนนา... คนร้องเป็นก็ร้องตามกันไป
โดยปกติแล้ว หลังงานพิธีของงานแต่งแบบตะวันตกทั่วไป เพื่อความสนุกสนานและเก๋ไก๋ บ่าวสาวจะขับรถเปิดประทุนออกไปแล้วบีบแตรดังๆเพื่อประกาศความสุขสราญใจ แต่เผอิญที่รีสอร์ตนี้มีแต่น้ำ เอมี่กับอาลันก็ใช้พายเรือแทน เป็นเรือคานูสำหรับนักท่องเที่ยว พายไปเสียไกล สองคนแอบขึ้นฝั่งที่ไหนไม่รู้ กลับมาอีกทีก็ถึงเวลางานเลี้ยง
หลังจากที่แขกเหรื่อจับกลุ่มทักทายกัน กินดื่มหนุบหนับกันพอหอมปากหอมคอ ถ่ายรูปกันเป็นที่ฉ่ำใจแล้ว สักพักก็ทะยอยเข้าไปในงานเลี้ยง แต่ก่อนจะไปนั่งที่โต๊ะ แขกแต่ละคนก็ต้องไปเอาป้ายชื่อของตัวเองก่อน เพราะในป้ายชืื่อระบุว่าต้องไปนั่งโต๊ะไหน การจัดให้ใครนั่งตรงไหนกับใครนี้ หากเจ้าภาพดูแลดี เขาก็จะจัดให้คนรู้จักกันนั่งโต๊ะเดียวกัน หรือใกล้ๆกัน หากใครไม่กินเส้นกับใครก็จะถูกจัดให้นั่งอยู่คนละมุมห้อง การตกแต่งโต๊ะอาหารงานนี้ก็จัดได้งดงามเต็มที่ โต๊ะปูผ้าขาวมีแก้วจานชามเครื่องเงินวางขนาบนับไม่ถ้วนชิ้น แก้วไวน์แก้วน้ำมีการรินเตรียมไว้ให้เรียบร้อย กลางโต๊ะทุกโต๊ะมีดอกไม้ช่อใหญ่สวยหรูประดับ ทุกอย่างดูสดชื่นเริงร่า และสมเกียรติเจ้าภาพ
ระหว่างหาที่นั่งกันนี้ วงดนตรีก็เล่นเพลงคลอบรรยากาศไป สลัดเริ่มทะยอยมาเสริฟ เป็นสลัดผักที่มีกลีบดอกไม้หลากสีโรยหน้า เล็งดูก็เห็นว่าเป็นดอกบานชื่น และดาวเรือง ประดับประดามาเพื่อความสวยงามหวานหยดย้อย
พอคนเริ่มเต็ม นักดนตรีเป่าปี่ก็เริ่มบรรเลงเพลงดังขึ้น คราวนี้เป็นเพลงที่เรียกแขกให้ออกมาร่วมเต้นเฉลิมฉลอง การเต้นนี้เป็นการเต้นแบบประเพณียิว เรียกว่า ฮอร่า (Hora) เริ่มด้วยบ่าวสาวและพ่อแม่จับมือกัน แล้วก็เต้นขยับเท้ากันไปเป็นวงกลม ระหว่างขยับเท้าไปก็มีการเชื้อเชิญให้แขกมา "ร่วมวง" คว้ามือใครได้ก็ให้มาสนุกด้วยกัน คว้ากันไปคว้ากันมา จากวงเล็กๆก็กลายเป็นล้นฟลอร์ คนที่ไม่ได้ร่วมวงก็ยืนดูรอบๆ ตบมือตามกันไป รอเผื่อสบโอกาสให้คว้ามือใครหมับได้ ก็จะได้เข้าไปร่วมวง
ตามประเพณี ระหว่างที่เต้นฮอร่ากันนี้ เจ้าบ่าวเจ้าสาวก็จะถูกยกขึ้นนั่งเก้าอี้ หนุ่มๆแข็งแรงก็ช่วยกันแบกทูนหัว แล้วก็แห่กันไปรอบๆ ระหว่างอยู่บนเก้าอี้แห่ เจ้าสาวก็หยิบผ้าเช็ดหน้าสีขาวออกมาโบกให้เจ้าหนุ่มคว้า คว้าได้แล้วก็จับกันคนละชาย โบกสะบัดอย่างสนุกสนาน แห่เสร็จแล้วก็ลง กลับมาเต้นกันไปรอบๆอีก
ระหว่างนี้ บางคนรู้จักเต้นแบบที่ผาดโผนหน่อยก็จะออกมาโชว์ออฟ ส่วนมากนำโดยญาติผู้ใหญ่ที่เป็นผู้ชาย เป็นการโชว์ความแข็งแกร่งเยี่ยงชายชาตรีแบบหนึ่ง คนที่เต้นนี้จะเข้าไปยืนกลางวง แล้วนั่งยองๆเกือบติดพื้น แล้วก็สลับขาไปมาอย่างรวดเร็ว ยิ่งเร็วมาก ก็ยิ่งแมนมาก ถ้าจะให้สนุกขึ้นต้องมีคู่ อาลันกับน้าชายเต้นคู่สลับขานี้ได้น่าตื่นเต้นมาก
พอเหนื่อยก็กลับมาจับมือเป็นวง แล้วก็ขยับขาร่วมกันไปรอบๆอีก วงขยายใหญ่ขึ้นก็จะมีคนเข้าไปตรงกลางแล้วเริ่มวงเล็กๆใหม่ ขยายออกใหญ่ขึ้น แล้วก็เข้าไปเริ่มใหม่อยู่อย่างนี้ไม่รู้จักเหน็ดจักเหนื่อย นักดนตรีเห็นคนสนุกก็บรรเลงไม่เลิก แต่ละคนที่ใส่ชุดสวยมาก็ไม่มีใครอมพะนำ ทุกคนออกไปเต้นไปเซิ้งกันอย่างสนุกสนาน จนในที่สุดดนตรียอมจบลง คนก็เดินกลับมาที่โต๊ะ กินดื่มให้อิ่มหนำ เก็บแรงไว้เต้นรอบสอง
รอบสองนี้ไม่ใช่ดนตรีประเพณีแล้ว แต่เป็นดนตรีสำหรับลีลาศ มีการเปิดฟลอร์โดยบ่าวสาว และพ่อแม่ของทั้งคู่ จากนั้นแขกเหรื่อก็ค่อยๆทะยอยออกมาขยับส่าย มีทั้งสวิง ฟร๊อกสตรอท แทงโก้ ซาลซ่า และบอซซาโนว่า สาวใหญ่หนุ่มใหญ่จะเต้นกันเก่งเป็นพิเศษสำหรับดนตรีแบบนี้ คนนั่งที่โต๊ะเต้นไม่เป็นก็คุยกันไปกินกันไปตามประสา ระหว่างนี้ก็มีการตัดขนมปังแจกจ่าย เป็นขนมปังแบบยิวที่ทำตามประเพณี เรียกว่า ชาล่าห์ (Challah) เป็นขนมปังชิ้นยาวดูเหมือนเปียถัก รสชาดหวานเล็กน้อย เป็นขนมปังสำหรับงานพิธี เจ้าภาพตัดแบ่งให้ทุกคนกินกันคนละนิดละหน่อยเป็นเพื่อเป็นพร
จากนี้ก็ไม่ต่างจากงานเลี้ยงทั่วไปที่เจ้าภาพจะออกมากล่าวให้พรบ่าวสาว แม่ของเจ้าสาวงานนี้พูดได้จับใจคนเป็นพิเศษ และด้วยความที่แม่ของเอมี่ป่วยเป็นมะเร็งอยู่ ทุกคนก็จะให้กำลังใจเป็นพิเศษด้วยการยืนขึ้นปรบมือให้หลังจากที่พูดจบ จากนั้น พ่อเจ้าสาว เพื่อนเจ้าสาว ก็ออกมาพูดทักทาย ให้พร และขอบคุณกันไปตามลำดับ
ได้มาร่วมงานนี้แล้วก็ต้องขอขอบคุณเอมี่ ที่เชิญมาให้ร่วมเห็นเป็นบุญ กลับมาบ้านแล้วก็นึกถึงงานแต่งขันหมากแบบไทย ซึ่งก็น่าจะสนุกไม่แพ้งานแต่งแบบยิว ถ้ากลับเมืองไทยแล้วได้ไปงานขันหมากแท้ๆแบบมีโห่เพราะๆสักครั้งคงประเสริฐ ใครรู้จักใครที่จะแต่งแบบขันหมากช่วยบอกด้วย จะขอไปร่วม.
Wednesday, September 14, 2005
ดินแดนแห่งโอกาส
โดย ส.
ใบไม้ร่วงอีกแล้ว ข่าวเรื่องพายุแคทริน่ายังโต้กันไม่หยุดหย่อน ผู้คนแตกเป็นสองฝ่ายเหมือนเดิม โต้กันไม่เว้นเรื่องฉกฉวยโอกาสทางการเมือง รีพับลิกัน กับ เดโมแครต
มีเสียงร่ำลือหนาหู "จอร์จ บุช เกลียดคนดำ" ไม่ก็ "เพราะเป็นคนดำรัฐบาลถึงชักช้า" ไม่ก็ "ถ้าเป็นคนขาวป่านนี้ปัญหาแก้ไขเรียบร้อยไปแล้ว" วิทยุได้ทีเปิดโต้วาทีเรื่องเหยียดสีผิวเพื่อดึงเรตติ้ง คนโทรเข้ามากรรโชกบ้างคร่ำครวญบ้างถึงความไม่เท่าเทียมระหว่างคนขาว กับคนดำ
ได้ยินแล้วก็เศร้าใจที่เห็นหลายคนมัวแต่หมกมุ่นอยู่กับเรื่องความไม่เท่าเทียมนี้ ทั้งๆที่กระแสเงินบริจาคที่หลั่งไหลเข้ามาไม่หยุดหย่อนนั้นมาจากคนทั่วประเทศ ทั้งขาวและดำ ไม่มีใครเลยที่เขียนระบุในเช็คว่าเงินบริจาคนี้เพื่อคนขาวเท่านั้น หรือเงินบริจาคนี้เพื่อคนดำเท่านั้น ทีมทหารตำรวจตระเวณหาคนตกหล่นที่ยากลำบาก ทุกคนอยากช่วย ไม่เกี่ยงว่าใครสีผิวใด
แต่ยังมีคนผิวดำไม่น้อยที่ติดใจแต่ในเรื่องความต้อยต่ำของตน และมองเห็นโลกมีแต่ความไม่ยุติธรรม ก็เพราะข้อยเกิดมาเป็นคนดำนี่หนาถึงได้จนต้อยต่ำ เพราะเป็นคนดำถึงมีแต่คนดูถูก เพราะเป็นคนดำสังคมถึงต้องมาช่วยเหลือ แต่กระนั้น สังคมก็ยังไม่ยุติธรรมต่อข้อย... ได้ยินอย่างนี้แล้วก็สงสัยเหลือเกินว่า ณ ดินแดนแห่งโอกาสและเสรีภาพนี้ อะไรหนอที่เป็นกำแพงกั้นเสรีภาพและโอกาสของคนพวกนี้?
ก็จริงอยู่ที่บรรพบุรุษของคนดำส่วนมากถูกพรากมาจากถิ่นบ้านเกิด มาเป็นข้าทาส มาเป็นพลเมืองชั้นต่ำ ลูกหลานที่เกิดมาก็ถูกกีดกันไม่ให้เป็นใหญ่หรือมีความรู้เกินหน้าคนขาว แต่เรื่องนี้ก็เป็นเหตุที่จบเกินครึ่งศตวรรษมาแล้ว ณ ทุกวันนี้ ไม่เห็นมีใครถูกเขี่ยออกจากโรงเรียนเพราะเป็นคนดำ ไม่มีใครปิดโอกาสการเรียนรู้ใคร ใครอยากเจริญก้าวหน้าแค่ไหน ก็ทำไปเท่าที่แรงและโอกาสพึงมี แต่น่าเศร้าที่ยังมีคนดำอยู่อีกมาก ที่ยังเกาะยึดเลือกที่จะจ้องมองแต่อดีต อดีตอันขมขื่นของปู่ย่าตายายของตน ทั้งที่ปัจจุบันโอกาสทางการศึกษามีแล้ว อนาคตเปิดไว้เท่าทัดเทียมใครๆแล้ว แต่ยังกลับเลือกที่จะมองแต่อดีต ก่นด่าแต่ความไม่เท่าเทียมของโลกนี้ เกลียดโชคชะตาที่พามาเกิดเป็นคนดำ แล้วพวกเขาก็ยืนอยู่ที่เดิม ที่เดียวกับที่ปู่ย่าตายายเขาเคยยืน
แล้วความจริงที่ซ้ำๆซากๆ ก็กลับมาในความคิดฉันอีกครั้ง ชีวิตคนเราไม่มีใครเลือกเกิดได้ แต่ว่าเลือกกระทำสิ่งต่างๆได้ ทุกคนสามารถเปลี่ยนแปลงชะตาชีวิตของตนได้หากใฝ่พยายาม ทุกวันนี้ ดินแดนแห่งเสรีภาพเปิดประตูแห่งโอกาสให้ทุกคนเท่ากันแล้ว หากยังมีแต่ตัวอคติเท่านั้น ที่บิดเบือนการมองเห็นของคนอีกหลายๆคน อคติที่ทำให้คนมองเห็นแต่เรื่องน่าก่นด่า ยิ่งด่าก็ยิ่งเกลียดชัง ถ้ายังจำกัดอคติไม่ได้ เรื่องเหยียดสีผิวก็ไม่ไปไหน ตัวเองเหยียดตัวเองอยู่แบบนี้ สีผิวก็พาลแต่จะติดแน่นหนาอยู่ที่ใจ ล้างอย่างไรก็ไม่ออก.
Tuesday, September 06, 2005
ชีวิตในฟาร์ม
โดย ส.
หยุดสามวันนี้มาค้างบ้านลี บ้านหลังเล็กน่ารักในฟาร์มที่ดินกว้างใหญ่ไพศาล บ้านแต่ละหลังในละแวกไม่มีรั้วรอบขอบชิด แต่ปลอดภัย ไม่มีใครต้องล็อคประตูเวลาออกไปไหน ที่นี่มีสวนป่าฟรีให้เดินเล่น มีแม่น้ำเล็กๆให้เดินข้าม (ชื่อลิตเติ้ลริเวอร์) มีหมาฟรีให้เล่น (สองตัว) ตัวหนึ่งชื่อบิสกิต อีกตัวชื่อเมซี่ บิสกิตอายุมากแล้ว แต่ชอบเล่นกินลูกบอลอย่างบ้าคลั่ง บทพี่แกอยากจะเล่น ก็จะมาเฝ้าหน้าประตูบ้านลี พร้อมเสียงแฮ่กๆเป็นสัญลักษณ์ บิสกิตเล่นลูกบอลได้ไม่มีเว้นวันเวลาราชการ เกมโปรดคือชักคะเย่อลูกบอล
ฟาร์มนี้มีม้าปลดระวางอยู่สี่ตัว สีขาวสองตัว สีน้ำตาลสองตัว วันๆก็ไม่ทำอะไร ยืนเขย่งกินหญ้า เห็นคนเดินผ่านก็จะเสนอหน้าและหัวใหญ่ๆมาให้ลูบคลำ ทำปากยื่นมาหา... ก็ม้าเหงา
วันนี้ตื่นเช้าเพราะอากาศดี เริ่มเข้าใบไม้ร่วงแล้ว ลมเย็นฉ่ำพัดมาเรื่อยๆ ออกไปจ๊อกกิ้งตามทาง เริ่มตั้งแต่บ้านลี เลี้ยวไปยังโรงนาสองโรงที่อยู่ถัดไป บ้านเพื่อนบ้านสามสี่หลังที่ตั้งอยู่ห่างๆกัน วิ่งเอื่อยมาเรื่อยข้างทางสิบห้านาทีทางก็มีแต่ต้นไม้ ทุ่งหญ้า กับหินกรวดใหญ่ๆ ตามสองข้างทางมีเสียงหวบๆดังขึ้นอยู่เป็นระยะๆ เมื่อเพ่งมองก็เห็นได้ว่าเป็นวัว บางตัวเดินผลุบๆโผล่ๆทำหลบซ่อน นึกว่าเราไม่เห็น ต้องยืนเฉยเป็นหินให้มันลืมว่าเราเป็นผู้สัญจร...
วิ่งมาพักใหญ่ เหลียวทางซ้ายเห็นต้นไม้แก่ดูราวเป็นร้อยปี เหยียดกิ่งยึกยือออกหาแสง แผ่ร่มกว้างออกใหญ่ไพศาล ต้นติดๆก็มีอาการไม่แพ้กัน เลื้อยเลี้ยวหลบหลีก หาทางอยู่รอดด้วยการแย่งแสงกันและกัน แต่ละต้นดูราวกับมีวิญญาณสิง หากเดินมากลางคืนคงเสียวสันหลังพิลึก
มีกระดาษดินสอก็อดไม่ได้ที่จะต้องบันทึกภาพไว้เป็นแรงบันดาลใจ แสงดีๆแบบนี้อยู่นอกบ้านวาดรูปได้ทั้งวัน เดี๋ยวหิวก็เดินกลับไปทำกับข้าวกินที่บ้าน แล้วก็ออกมาเล่นใหม่
ใช้ชีวิตในฟาร์มแบบนี้ไม่มีอะไรขาดหาย มีแต่จะพอกพูน ไม่อยากกลับเข้าเมืองแล้ว... แง้
Tuesday, August 23, 2005
ริมฝั่งน้ำ
โดย ผัดกะเพรา
หลังจากที่กบดานไม่ออกไปไหนกับใครต่อใครนานนับเดือน สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ฉันยกงานออกจากอก ระลึกได้แล้วว่าชีวิตนี้ไม่ได้มีแต่ตัวเอง ถึงกาลโผล่ออกมาพบหน้าตาเพื่อน และคนอื่นที่สามารถจะเป็นเพื่อนในอนาคต
เอมี่กำลังจะเข้าพิธีแต่งงานเดือนหน้า เจ้าหล่อนเกรงว่าชีวิตจะเปลี่ยนอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ เลยตระเตรียมการไปเที่ยวแบบคนโสดเป็นครั้งสุดท้าย นัดแนะคนสนิทชิดเชื้อไปตากอากาศ ที่ๆ มีภูเขา แม่น้ำ ที่ๆได้เริงโลดอย่างเสรี แบบที่มีแต่สาวๆ
เป็นโอกาสที่ฉันได้เปิดตาออกมาดูโลก ได้เจอคนอื่นๆที่ไม่เหมือนตัวเอง บ้างก็หน้าเก่า บ้างก็หน้าใหม่ เพื่อนเอมี่มีหลายแบบ บางคนยี่สิบปลายๆ บางคนเกือบห้าสิบ ทุกคนมีความน่าสนใจต่างๆกันไป
ลิน (Lyn) สาวใหญ่วัยเกือบห้าสิบ ตัวสูงยาว ผมยาวบลอนด์ เพิ่งแต่งงานเมื่อสองเดือนที่แล้ว และเป็นคนเดียวในกลุ่มนี้ที่มีครอบครัว ลินเลยมีเรื่องเกี่ยวกับชีวิตไม่โสดมาเล่าให้กับคนโสดและที่กำลังจะสละโสดทั้งหลายฟังให้ขนลุกเล่น ลินท่าทางดูเป็นผู้ใหญ่ที่สุภาพเรียบร้อยมาก พูดเพราะ สงวนหน้าตาท่าทีเวลาพูดจา ทำกับข้าวเก่ง
เด๊บบี้ (Debbie) สาวใหญ่เกือบห้าสิบอีกเหมือนกัน แต่ตรงกันข้ามกับลิน เดบบี้โสด โผงผาง ตรงไปตรงมา เดบบี้ทำงานวิทยุ เลยพูดเก่ง แต่ละคำที่เลือกคัดสรรมาอธิบายภาพความคิดของเธอ ล้วนแล้วแต่ถึงพริกถึงขิง เนื่องจากงานเกี่ยวกับการพัฒนาระบบวิทยุในประเทศต่างๆ เดบบี้มีโอกาสไปอยู่ประเทศโลกที่สามมาหลายที่ ล่าสุดไปอยู่ ไลบีเรีย (อาฟริกา) มาหนึ่งปี มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับความไม่เทียมทัดของชีวิตผู้คน (นอกอเมริกา) มาเล่าให้สาวในวงหลายๆคนหน้าเบ้เพราะรันทดไปตามๆกัน ด้วยความที่ผ่านมาหลายโลก เดบบี้มีความมั่นใจในความเห็นเรื่องต่างๆมากกกกก
ซอนย่า (Sonnia) สาวเกือบใหญ่แล้ว แต่ท่าทางเธอเหมือนเด็กรุ่น ไม่มีการไว้ท่าที ชอบหัวเราะและทำท่าทางโปกฮา และมักออกความเห็นแบบไม่มีเบรค ซอนย่าว่าเธอชอบการเดินทางย้ายที่อยู่มาก เพราะเธอว่าตอนเด็กๆพ่อแม่ย้ายที่อยู่ทุกสองสามปี จากอิตาลี อิหร่าน อียิปต์ แคลิฟอร์เนีย นิวยอร์ค ดีซี และอื่นๆอีกที่เธอเล่าข้าม ซอนย่าไม่เคยทุกข์ใจกับการลาจาก เธอว่าดีเสียอีก เวลามีปัญหาก็เผ่นได้ง่ายดี ซอนย่าทำงานกับองค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มักมีความเห็นที่โผงผางและรุกไม่ยั้งเมื่อบทสนทนามาถึงเรื่องการเมืองและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
การี่ (Gari) สาวดำคนเดียวในหมู่ การี่เงียบๆ ในกลุ่มสนทนามักจะเป็นคนฟังมากกว่าพูด ไม่เหมือนซอนย่า แต่ชอบฟังเพลงสนุกและเต้นรำเก่ง เวลาลินและฉันทำกับข้าว การี่ก็จะเปิดเพลงสวิง ซาลซ่า แทงโก้ และสอนให้สาวๆหัดเต้น การี่ทำงานที่น่าทึ่งมาก เธอทำงานกับสถาบันสมิธโซเนียน (Smithsonian) เป็นนักวิจัยภูเขาไฟ! ได้ออกเดินทางไปไหนมาไหนทุกเดือน ไปดูภูเขาไฟ เป็นงานที่ใครต่อใครอิจฉามากๆ ล่าสุดการี่ดำเนินงานเกี่ยวกับการติดตั้งเครื่องมือยุทธกรณ์เตือนภัยสึนามิให้กับอินโดนีเซีย
มิเชล (Michelle) สาวน้อยลูกครึ่งจีน-ฝรั่งเศส หน้าตาจุ๋มจิ๋ม มิเชลเป็นกราฟิคดีไซน์เนอร์ และเป็นศิลปินวาดภาพด้วย เพิ่งเปิดงานนิทรรศการภาพเขียนสีอะคริลิคแนวแอบสแตรค วันแรกขายไปได้หนึ่งรูป มิเชลหัวเราะง่าย อารมณ์ดี เธอมีความสนใจหลากหลาย ชอบศึกษาเรื่องดวง และเป็นครูสอนโยคะ
ฌอนทาล (Chantal) สาวสวยทันสมัย หุ่นนางแบบ ตาดำผมดำขลับ เป็นลูกครึ่งหลายครึ่ง เมดิเตอเรเนียน รัสเซีย ยุโรป อเมริกา หาบทสรุปไม่ได้ในรากเหง้าของเธอ ฌอนทาลเป็นสาวอารมณ์ดี พูดเก่ง ชอบพูดตลก และมีความสามารถในการเข้ากับคนเก่งมาก ฌอนทาลชอบแต่งตัวสวยเสมอ กระเป๋าเดินทางของเธอมีนิตยสาร เกลเมอร์ (Glamour), โอ ของ โอปรา วินฟรีย์ (Opra Winfrey) และอื่นๆในทำนองนี้อีกเล่มสองเล่มไว้อ่านยามว่าง ฌอนทาลกับมิเชลชอบคุยกันเรื่องหนุ่มๆ
เอมี่ (Amy) แต่เธอเขียนลายเซ็นต์ในงานศิลปะของเธอว่า Ame เพราะว่ามันเป็นเรื่องของ Me! เอมี่ศิลปินสาวตัวเล็กที่กำลังจะเข้าพิธีวิวาห์เดือนหน้านี้กับแฟนหนุ่มอเมริกัน-ยิวของเธอ (เอมี่ก็โตมาแบบยิวแท้เหมือนกัน) เอมี่เป็นคนโรแมนติก และมองโลกในแง่ดีมาก ฉันรู้จักกับเอมี่จากการเข้าเรียนวิชาภาพพิมพ์เมื่อหลายปีก่อน และบ้านอยู่ในละแวกเดียวกันก็จะนัดเจอกันแบบฉุกละหุกเวลาไปซื้อกับข้าวที่ตลาดเช้าเสมอๆ เอมี่เป็นคนน่ารัก และรักคนง่าย ด้วยความเป็นคนอ่อนหวานน่ารัก และมีใจเปิดกว้างกับความคิดเห็นทุกรูปแบบ เอมี่จึงเป็นกาวที่แนะคนนู้นมารู้จักคนนี้เสมอๆ ทั้งเพื่อนที่มีความคิดขวาจัดอย่างอลันสามีในอนาคตของเธอ ไปจนถึงที่ซ้ายจัดอย่างเด๊บบี้และซอนย่า การพักผ่อนหย่อนใจริมแม่น้ำครั้งนี้ เอมี่ก็เป็นศูนย์กลางให้ทุกๆคนมาเจอและรู้จักกัน
ส่วนฉัน คนหน้าไทยพูดฝรั่งติดๆขัดๆอยู่คนเดียวในกลุ่ม ถึงไม่ได้เคอะเขินอะไรแต่ด้วยความใหม่กับหลายๆคน ก็ได้แต่นั่งฟังเสียส่วนมากในเวลาที่กลุ่มใหญ่ออกความเห็นเรื่องต่างๆ ในบทสนทนาหลายๆครั้งของสาวๆ มักจะลงเอยที่การเมืองและความเห็นแตกต่างที่หาข้อสรุปไม่ได้ ฉันก็มักจะใช้เวลานั่งสเกตช์รูปไปพลางๆ และหัวเราะตามเวลาใครว่าอะไรขำๆ
ทริปนี้มีแค่สองวันแต่ก็คุ้มค่ามาก กลางวัน เราได้ไปล่องแพห่วงยาง ลอยระเรื่อยเอื่อยตามแต่แม่น้ำจะพาไป แวะพักกินแซนด์วิชที่เอาลอยติดไปด้วย ในสถานภาพที่ตัวเปียกโชก มีแต่ภูเขาแม่น้ำล้อมรอบ เปิดโอกาสให้ได้รู้จักแต่ละคนลึกซึ้งขึ้น อยากรู้จักใครใกล้ขึ้นก็ลอยไปติดกับคนนั้น และก็นอนหงายนอนคว่ำบนแพห่วงยางคุยกันไป ห่วงใครห่วงมัน ไม่มีกังวล
ห้าโมงเย็น เราลอยกันมาถึงฝั่ง แดดยามเย็นอุ่นๆในทุ่งกว้าง เรานั่งคุยกันไปนั่งดูแดดสะท้อนยอดไม้ไปพลางๆ แล้วก็นั่งรถกลับที่พัก
ค่ำคืนเดือนหงาย หลังอาหารค่ำที่ฉันทำ (ผัดก๋วยเตี๋ยวกับเต้าหู้แตงกวาในซอสถั่ว และอกไก่เผา ทุกคนว่าอร่อยมาก) เราถือโอกาสมาล้อมรอบกองไฟ ฌอนทาลมีไอเดียพิธีกรรมมาเสนอให้ทุกคนร่วมทำ ไหนๆก็เดือนหงาย น่าจะชะล้างจิตวิญญาณเสียหน่อย พิธีแรกเป็นพิธีอธิษฐานความดีงามความสำเร็จให้กับตัวเอง ที่สองให้กับชีวิตแต่งงานในอนาคตของเอมี่ และสุดท้ายให้กับโลกของเรา อันหลังนี่ชักมีกลิ่นตุๆ แต่ทุกคนก็ทำกันแบบยิ้มๆ
เริ่มด้วยอธิษฐานให้กับตัวเอง ฌอนทาลแจกกระดาษให้ทุกคนเขียนเรื่องที่อยากหลุดพ้น หรืออยากไปให้ถึง อธิษฐานเสร็จก็ให้โยนกระดาษที่เขียนลงไปในกองไฟ เอมี่มีไอเดียเพิ่ม โยนแล้วให้ทำเสียงด้วยนะ เสียงอะไรก็ได้ แล้วทุกคนก็ต้องทำตามพร้อมกันเหมือนเป็นการสะท้อนคำอธิษฐานนั้น มิเชลมีข้อโต้แย้ง บอกว่างี่เง่าจัง ไม่อยากทำเลย ทำอย่างอื่นได้ไหม ตกลงว่ามิเชลทำท่าแทน เป็นท่าผายปอดโล่งอกตอนที่เธอโยนคำอธิษฐานของเธอลงไปในกองไฟ ส่วนคนอื่นๆที่ไม่มีข้อโต้แย้งก็สร้างสรรค์เสียงกันไป เสียงหมาบ้านบ้าง หมาป่าบ้าง ถอนใจบ้าง ร้องเพลงที่แต่งเองบ้าง เสร็จแล้วทุกคนก็ว่าตามกันแบบขำๆ
ต่อมาอธิษฐานให้เอมี่ มิเชลครูสอนโยคะว่าทุกคนควรพนมมือ "นมัสเต" ก่อน แล้วจะว่าอะไรก็ว่าไป อันสุดท้าย อธิษฐานให้โลก ฌอนทาลเจ้าของไอเดียเสนอให้ทุกคนหันหน้าเข้าหาดวงจันทร์ ซึ่งขณะนั้นกำลังสุกสกาวและกระต่ายกำลังตำข้าวพอเหมาะพอดี แล้วแต่ละคนก็ยืนหันหน้าหาดวงจันทร์เหมือนถูกสะกดจิต และก็ร่ายมนต์ของตัวเองในใจ คำอธิษฐานจะไปถึงที่หมายไหมไม่มีใครรู้
ดึกดื่น เรานั่งอาบแสงจันทร์ ผลัดกันเล่าเรื่องอะไรต่อมิอะไรกันที่ม้านั่งริมน้ำ เผามาร์ชมาโลว์มาประกบกินกับช็อคโกแล็ตและแครกเกอร์ (เข้ากันตรงไหน?) แต่ก็อิ่มเอมในพิธีกรรมแบบเยาว์วัยที่ทำด้วยกัน
วันสุดท้ายตอนบ่าย ฉันใช้เวลาก่อนกลับนั่งวาดรูปกับเอมี่ริมน้ำ คนอื่นๆกลับเข้าเมืองไปก่อนแล้ว แสงแดดสะท้อนน้ำ สีเขียวแก่เขียวอ่อนของภูเขาและต้นไม้ริมน้ำแลดูดด่ำฉ่ำใจมาก ลากดินสอไปบนกระดาษด้วยใจโล่งสบายแบบที่ไม่ได้เป็นมานานแล้ว.
Monday, August 22, 2005
พี่จ๋า
โดย ผัดกะเพรา
พี่จ๋า
เคยได้ยินไหมจ๊ะ คำกล่าวที่เขาว่า "เมื่อเราพบงานที่ทำให้สุขใจแล้ว เราจะ(รู้สึกเหมือน)ไม่ต้องทำงานอีกเลย" เป็นคำกล่าวที่ได้ยินปุ๊บ ต้องมองกลับมาหาตัวปั๊บ คิดยอกย้อนว่าทุกวันนี้ เรารู้สึกเหมือนทำงานอยู่หรือเปล่าหนอ แล้วก็พบว่าชีวิตเรานี่เหนื่อยยาก ทำงานก็ด้วยฝืนใจ ไม่ได้สบายอย่างที่เขาว่า คิดไปแล้วใจก็อยากจะสอดส่ายหาสิ่งอื่น เผื่อว่าจะทำให้เราสุขกว่านี้ แต่สิ่งไหนล่ะที่จะทำให้เราสุขได้? คนที่กล่าวคำคมอันนั้นเขาได้พบความสุขของเขาแล้ว ส่วนเรา จะทำอย่างไรหนอ จึงจะได้เจอกับไอ้ความสุข ความสบายที่ว่า?
พี่จ๋า จะว่าไปคำกล่าวนั้นก็ฟังดูเป็นแรงบันดาลใจอยู่ แต่ฟังแล้วก็ใคร่จะต้องไว้หูข้างหนึ่งด้วย พี่ว่าพี่ไม่มีความสุขกับงานที่ทำ เพราะงานที่ทำอยู่นั้นไม่ให้ความสุขกับพี่ ลองถามคำถามนี้ให้ลึกๆ สิ่งที่เรียกว่า "ความสุข" สำหรับพี่ มันคืออะไร สิ่งที่ทำแล้วออกมาสวยๆงามๆ สิ่งที่ทำแล้วผู้คนเขาชอบใจ สิ่งที่ทำแล้วได้เงิน สิ่งที่ทำแล้วสบาย สิ่งที่ทำแล้วตัวเองได้เติบโตจากภายใน สิ่งไหนจ๊ะ?
ในงานทุกชนิดมันมีความเหนื่อยยากทั้งนั้นแหละจ้ะ ค่าตอบแทนที่เป็นเงินอาจเป็นแรงผลักดันให้รู้สึกว่าที่เราทำไปมันคุ้มค่า คุ้มเวลา แต่แรงบันดาลใจคือสิ่งที่ทำให้คนก้าวพ้นเหนือไปจากความเหนื่อยยากนั้น ทำให้คนทุ่มเทโดยไม่เกี่ยงงอนในเรื่องค่าตอบแทน คนจะมีแรงบันดาลใจได้ก็ต่อเมื่อมองเห็นคุณค่าของงานที่ทำ คุณค่านั้นมองง่ายๆคือ สิ่งที่ทำให้ตัวเราและเพื่อนมนุษย์เจริญเติบโตและพัฒนา อาจจะเป็นการพัฒนาทางวัตถุ ทางความคิด หรือทางจิตใจ พี่ลองมองดูสิจ๊ะ ว่างานที่ทำแล้วสบายนั้น ให้คุณค่าอย่างที่กล่าวมานี่ไหม?
ไม่เพียงแต่คุณค่าของงาน ที่สำคัญต่อมาคือต้องมองเห็นคุณค่าของตัวเองด้วยจ้ะ มีคนกล่าวไว้ว่า ชีวิตคนก็เหมือนกับแสงเทียน เมื่อถูกจุดสว่างแล้ว วันหนึ่งก็ต้องดับไป แต่ในขณะที่เรามีแสง ทำไมไม่ทำให้แสงของเราโชติช่วงที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ล่ะจ๊ะ? ใช้กำลังสมอง กำลังกาย กำลังใจที่มีส่องตัวเองให้สว่าง สิ่งที่มืดรอบด้านก็จะพลอยสว่างไปด้วย เราอาจจะไม่ได้ยืนอยู่บนจุดสูงสุดของสายอาชีพในวันนี้ แต่ต้องให้แน่ใจว่า ณ ตำแหน่งที่ยืน เราได้ใฝ่พยายามอย่างถึงที่สุดแล้ว
การเรียนรู้จากงานคือสิ่งที่ทำให้เราเติบโตจ้ะ จุดที่เหนื่อยยากที่สุดของงานนั้นแหละ คือจุดที่เราจะได้ส่องสว่างที่สุด เมื่อส่องสว่าง เราก็มีความสุขได้จากภายใน โดยที่ไม่ต้องสอดส่ายหาจากที่ใดอื่น
พี่จ๋า พี่เห็นเหมือนหนูไหมจ๊ะว่าคำว่า "ความสุข" จากภายนอกนั้นมันเลือนรางเหมือนกับม่านหมอก เราไปจับต้องมันไม่ได้ เมื่อมีสุขโดยไม่มีที่มาได้ ก็ไร้สุขโดยไม่มีที่ไปได้เช่นกัน แต่คุณค่าเป็นสิ่งถาวรจ้ะ เมื่อตระหนักได้แล้ว มันก็ไม่หนีไปไหน พอมีคุณค่ามั่นคงอยู่ในใจ เราจะไม่มาคร่ำครวญถามถึงความสุขเลยจ้ะ เพราะคุณค่านั้นมันลึกล้ำกว่าความสุขมากมายนักเทียว.
Sunday, July 31, 2005
แวบหนึ่งที่ใจโล่งโปร่งสบาย (Detachment)
โดย สุชา
ฉันเพิ่งทำคอมพิวเตอร์พัง ที่ีจริงก็พูดเกินไป ไม่ถึงกับพังหรอก กดปุ่มผิดแล้วไฟล์งาน รูป และอะไรต่อมิอะไร มันหายไปหมด ฮาร์ดดิสก์โปร่งโล่งสะอาด ไม่มีอะไรเก็บสะสม
ใครจะโง่เง่าได้ขนาดใหญ่หลวงเท่านี้ ยิ่งนึกยิ่งฉุน แล้วที่กดผิดไปนี่มันยกเลิก (undo) ได้ไหมนี่ ฝันไปหรือเปล่า ตื่นๆ
รูปที่กลับไปเที่ยวเมืองไทยปีที่แล้ว ถ่ายกับพ่อแม่ กับเพื่อน ไม่ได้เจอกันเป็นปีๆ รูปงานศิลปะที่ไปถ่ายตามมิวเซียมนับไม่ถ้วน รูปตอนผมสั้น
ตอนผมยาว รูปกับคนน่ารักๆหลายคน รูปที่ไปเที่ยวกันหลายที่ ไม่อยากจะนึกรวมงานที่กำลังทำอยู่ต้องพรีเซนต์อาทิตย์หน้า
เป็นอากาศธาตุไปแล้ว ไม่มีแม้มวลสารเหลืออยู่
แล้วยังหนังอีกเล่า หนังที่ถ่ายตุ้ยเพื่อนรักดีดดิ้นอย่างน่าฟัดที่สวนลุม ไม่รวมอีกหลายช็อตที่ลีโดดเตะคาราเต้คิก ที่ดูกี่ครั้งก็หัวเราะท้องหงายทุกครั้ง
หายหมด...
แล้วยังบทความหลายอันที่เขียนค้างอยู่อีกล่ะ
ไม่มีแล้ว...
ตื่นซิ
...
ในเมื่อ undo เวลาที่ผ่านไปไม่ได้ และตื่นจากความจริงไปไม่ได้กว่านี้แล้ว ก็มีแต่ความหนักเท่านั้นที่ปกคลุมหัว แล้วฉันจะทำอย่างไรเล่า ถึงข้อมูลดิจิตอลมันจับต้องไม่ได้ แต่มันก็ทำให้แต่ละวันมีอะไรยุ่งๆทำ ถ้าไม่มีอะไรเหลือ ก็ทำอะไรไม่ได้น่ะสิ
จะต้องงมอีกกี่วันถึงจะได้งานกลับคืนมา? คืนนี้จะได้นอนไหม? จะไปหาโปรแกรมอะไรที่ไหนมาแก้ล่ะ?
นึกไปก็ยิ่งมืดมน เก็บข้าวของนั่งรถไฟกลับบ้าน คิดไปจนเหนื่อยถึงกระดูกดำ
พอถึงสถานีใกล้บ้าน ฝนลงเม็ดแฉะไปหมด ร่มก็ไม่มี คงต้องเดินไปแบบเปียกๆนี่แหละ
น้ำฝนนี่มันเย็นฉ่ำดีแท้ จากขาที่เดินฉับๆ ก็ลดสปีดช้าลง ฝนเอ๋ยฝน มาช่วยล้างความกังวลออกไปที
โดยที่ไม่ได้ตั้งใจ น้ำฝนที่ตกมาต้องเนื้อ เรียกใจที่ว้าวุ่นไปอยู่ที่ผิวกายโดยฉับพลัน รู้สึกอย่างกับมีใครมาล้างฮาร์ดดิสก์ ถ้าไม่มีอะไรเหลืออยู่แล้ว จะไปนั่งกังวลอยู่กับอะไรเล่า?
ในเมื่อไม่มีงานต้องสะสางให้สมองยุ่ง ไม่มีรูปใครต่อใครมาให้ใจไปพัวพัน ปีที่แล้วมันผ่านไปแล้ว คืนนี้ฉันคงนอนหลับสบายดี
...
ทะเลาะวิวาทกับใครสักคนจนสมองเครียดข้นทนไม่ไหว ใครคนนั้นเผอิญปัดกาน้ำชาแสนรักตกแตก แทนที่จะรู้สึกฉุนเกรี้ยวด้วยความเสียดาย ใจกลับโล่ง เหมือนกับไม่มีอะไรให้แบกให้ยึดอีกต่อไป สมองที่เครียดขมวดก็กลับคลาย ใครจะตะโกนเถียงต่อให้เสียงดังขนาดไหนก็ไม่กระทบกระเทือนแล้ว กาน้ำชามันแตกไปแล้ว
...
ได้ยินเรื่องเล่าจากเพื่อนร่วมงาน เกี่ยวกับตายายคู่หนึ่งที่ย้ายออกจากบ้านไปอยู่เนิร์สซิ่งโฮม ขายบ้านทิ้งไปทั้งๆที่มีข้าวของเครื่องใช้อยู่ครบ เฟอร์นิเจอร์หรูหราที่ใช้มาเป็นสิบปี เสื้อผ้าเป็นตู้ๆ รูปภาพสวยๆที่ติดตามฝาผนัง จดหมายเก่าๆ รูปถ่ายครอบครัวเก่าๆ ไดอารี ดูเหมือนข้าวของที่แสดงความรักความผูกพันจะยังอยู่ครบ
แต่เขาก็ทิ้งมัน
เนิร์สซิ่งโฮมไม่มีที่ให้เก็บ และถึงวันหนึ่งมันคงไม่มีความหมายต่อพวกเขาอีก
...
ใจที่โปร่งโล่งสบายคือใจที่ไม่มีสิ่งของมาวางให้หนัก ไม่มีเฟอร์นิเจอร์ ไม่มีกาน้ำชา ไม่มีรูปเก่าๆ ไม่มีงานสำคัญ ไม่มีดิจิตอลไฟล์ ไม่มีความผูกพัน และไม่มีความกังวล.
Wednesday, July 27, 2005
กว้าง x ยาว x สูง (Design & Self Reflection)
โดย สุชา สนิทวงศ์ ฯ
เธอคิดเหมือนฉันไหมว่าเวลาสมองได้เรียนรู้อย่างเต็มที่ คือเวลาที่เราทำสิ่งไม่ถนัด
งานที่ฉันถนัด คืองานบนแผ่นกระดาษ วาดๆเขียนๆ ออกแบบความคิด ประดิษฐ์รูปภาพ ลงบนแผ่นแบนๆ แผ่นพับๆ แผ่นรวมกันเป็นเล่มๆ วางตั้ง วางนอน ตั้งแต่เรียนจบจนมาถึงทุกวันนี้ ฉันทำอยู่แต่กับงานที่มีความกว้าง x ความยาว เพราะมันถนัด เคยชิน และรู้สึกว่าเจนจัดแล้ว
จนมาเจอหนังสือเกี่ยวกับงานออกแบบสามมิติมาโดยบังเอิญ หนังสือเล่มบางๆ มีแบบฝึกหัดที่สอนให้เข้าใจภาษาของงานออกแบบผ่านรูปทรงง่ายๆ สี่เหลี่ยม สามเหลี่ยม ทรงกลม เส้นโค้ง เส้นหยัก เริ่มจากซับซ้อนน้อย ไปถึงซับซ้อนมาก ใช้วัสดุธรรมดาๆ ดินน้ำมัน ลวด กระดาษแข็ง ฯลฯ พลิกหนังสือดูคร่าวๆเหมือนเป็นการสอนทำงานประติมากรรมกึ่งสถาปัตย์ แบบย่อๆ
แล้วฉันก็หาเวลาวันหยุดมานั่งทำ บทแรกเริ่มด้วยแท่งสี่เหลี่ยม ผู้เขียนแนะให้เอาแท่งดินน้ำมันสี่เหลี่ยมสามแท่งที่มีขนาดต่างกัน สั้นบ้าง ยาวบ้าง มาวางเข้าด้วยกัน แล้วเชื่อมต่อกันด้วยวิธีเข้ามุมแบบต่างๆ เช่นสอด เสริม หรือสร้างคาน แล้วหัดมอง หัดขยับ จนเห็นว่าความสัมพันธ์ของแท่งทั้งสามมีความสมดุลดี สอดประสานเป็นกลุ่มก้อนที่กลมกลืน ต้องดูงามจากทุกด้าน และตั้งได้มั่นคง
ด้วยสายตาที่เคยชินกับงานแบนๆ พอมาเจองานที่ต้องดูรอบด้านแบบนี้ ฉันรู้สึกเหมือนหัดยืนบนโลกใหม่ จับดินน้ำมันไปมาได้แท่งสี่เหลี่ยมมาสามชิ้น แท่งหนึ่งเป็นแท่งแบนกว้าง แท่งหนึ่งเป็นเหมือนแผ่นผอมๆ และอีกแท่งหนึ่งเล็กหน่อยแต่หนา เอาแท่งแบนกว้างกับแท่งเล็กหนามาวางขนานกันดู แท่งแผ่นผอมวางขวางด้านบน ทำให้ดูเหมือนทางเข้าแคบๆ คล้ายๆจะได้รูปได้ร่าง แต่มองโดยรอบแล้ว บางมุมยังดูคลุมเคลือ ต้องให้เด่นชัดขึ้น ต้องแก้ ถึงตรงนี้ยากที่สุด เพราะเปลี่ยนขนาดที คุณสมบัติก็เปลี่ยนที ความสัมพันธ์ของรูปทรงโดยรวมก็เปลี่ยนไปด้วย ขยับด้านหนึ่ง ก็กระทบด้านอื่นๆ ถึงจุดที่คิดว่าพอใจแล้ว มองอีกมุมกลับเห็นว่ายังต้องแก้ไข แก้ไปแก้มา แต่ละเปราะก็สอนให้รู้ถึงภาษาใหม่ๆและความงามใหม่ๆในการออกแบบ สิ่งบกพร่องในงานชิ้นเก่านำร่องสู่งานชิ้นใหม่เสมอ
ในมิติ กว้าง x ยาว x สูง ฉันนั่งด้นหาคำตอบไปในดินแดนของการเรียนรู้อันไม่มีสิ้นสุด สี่เหลี่ยมแท่งเดียวมีตั้งแปดมุม สามแท่งประสานกัน มีกี่มุมก็นับไม่ถ้วน มุมยิ่งมาก เหลี่ยมยิ่งมาก ยิ่งมีซอกหลืบให้พิจารณามาก มองหลายๆมุมเข้าก็ทำให้เริ่มเห็นข้อบกพร่องในตัวงาน ข้อบกพร่องนี่เป็นเรื่องที่เห็นได้ยาก บางทีเห็นแล้วก็อยากจะเมิน เหมือนเวลาฟังคนวิจารณ์ตัวเรา ไม่อยากจะยอมรับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เวลาที่คิดว่าเรานี่หนอ มาถูกทางแล้ว
นั่งทำแบบฝึกหัดนี้แล้วเหมือนมีแสงสว่างวาบขึ้นมาในใจ อุปสรรคในการเรียนรู้นี่อยู่ที่ตัวเรานี่เอง เวลาทำอะไรที่ไม่ถนัดมักจะมีอุปสรรคให้เห็นอยู่สองอย่าง อย่างหนึ่งคือความไม่รู้ อันนี้ขจัดไม่ค่อยยาก ค่อยๆหาความรู้มาใส่ ความไม่รู้ก็ค่อยๆหมดไป ส่วนอย่างที่สอง คือทัศนคติ อันหลังนี่คล้ายๆกับมารที่ชอบมาหลอกให้เราหลง หลอกให้เรานึกว่าเราถูกต้องแล้วไม่ว่าจะมองมุมไหน บางทีก็หลอกให้เรานึกว่ามีความรู้อยู่เต็มเปี่ยม ทั้งๆที่จริงแล้วยังมีช่องโบ๋อยู่อีกมาก ทัศนคติส่วนมากมาในรูปแบบของตัวตนที่เหนี่ยวรั้งไม่ให้เราเปลี่ยนแปลงสู่สิ่งใหม่ๆ
มองในแง่การพัฒนาตัวเอง การเรียนรู้ในงานออกแบบและงานศิลปะเป็นสิ่งที่ช่วยนำทางภายในได้อย่างหนึ่ง ขั้นตอนของการเรียนเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้มองตัวเองชัดๆใกล้ๆ ได้ฝึกวิจารณ์ตัวเอง ฝึกทะลายกำแพงทัศนคติของตัวเอง เป็นการเรียนเพื่อทำลายอัตตา
เมื่อไม่มีอัตตามาขวางกั้น ความคิดก็เจริญเติบโตกว้างไกล การหัดมองและวิพากษ์วิจารณ์ตัวเองจากที่สว่างเป็นสิ่งต้องทำอยู่เสมอๆ การหัดทำอะไรใหม่ๆที่ไม่ถนัดก็เป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้เรามองเห็นตัวเองได้ถนัดถนี่ทีเดียวเชียว
Saturday, July 23, 2005
เรายืนอยู่ตรงขอบของปัจจุบัน
(คำนำหนังสือประวัติศาสตร์ศิลปะไทย)
โดย สุชา สนิทวงศ์ฯ
เมื่อคนรุ่นใหม่เติบโตมาถึงวัยที่เข้าใจในพลังอำนาจของตนแล้ว เขาจะตระหนักว่าตัวเขานี้เองคือผู้สร้างและผู้กำหนดทิศทางของสังคม การเรียนรู้จากครูและผู้อาวุโสนั้นจำเป็นอยู่ แต่เมื่อความรู้ที่ได้มานั้นถึงกาลกลั่นตัวและเติบโต เขาผู้นั้นควรก้าวสู่ทางของตนเอง ขณะที่ก้าวออกมา เขาจะเป็นผู้สร้างวัฒนธรรมต่อในแบบของเขาเอง ข้าพเจ้ามิได้หมายความว่าเขาควรหยุดเรียนรู้และกระทำการใดพึงใจชอบ แต่หมายความว่า ณ ตำแหน่งที่เขายืนอยู่นี้เขากำลังเผชิญกับความรับผิดชอบที่ใหญ่หลวง ความรับผิดชอบนี้คือการต้องแผ้วถางทาง ไม่ใช่เพื่อแค่ตัวเขา แต่เป็นเพื่อคนรุ่นถัดมา สิ่งที่เขาทำในปัจจุบันนี้ จะเป็นผลแก่คนรุ่นใหม่ที่จะมาทำหน้าเช่นเดียวกันกับเขา
ศิลปะคือสิ่งหนึ่งที่สะท้อนถึงความเจริญทางวัฒนธรรม ในขณะเดียวกันก็เป็นตัววัฒนธรรมเองด้วย ศิลปินนั้นสร้างสรรค์งานจากความรุ่มร้อนภายในที่ต้องการจะสื่อสารความประทับใจหรือความคิดเพื่อให้คนเข้าใจ ความเข้าใจนั้นอาจเป็นความเข้าอกเข้าใจในเพื่อนมนุษย์ หรือความเป็นมนุษย์ในตัวเอง เข้าใจในความงามของโลกนี้ และรวมไปถึงความเข้าใจถึงสิ่งที่สูงกว่าชีวิต ถึงสิ่งดีงามที่สูงที่สุด
การที่ศิลปินจะสื่อความได้ดีนั้น นอกจากต้องผ่านจากการฝึกฝนอย่างตรากตรำแล้ว ศิลปินยังต้องมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในสิ่งที่ตนต้องการจะสื่อสารด้วย สิ่งแวดล้อมที่เขาอยู่ ประสพการณ์ และแรงบันดาลใจทางศิลปะจากงานของศิลปินรุ่นก่อนนั้นคืออาหารโอชะที่ช่วยหล่อเลี้ยงให้เขาสร้างงานในแบบที่เป็นไปตามธรรมชาติ การทำความเข้าใจที่มาของตนและถิ่นกำเนิดของตนเองนั้นเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุดในการสร้างงานศิลปะ เมื่อเข้าใจประวัติศาสตร์ของงานศิลปะและวัฒนธรรมของตนแล้ว เมื่อนั้นเขาจะเชื่อมต่อศิลปะได้อย่างไม่ขาดรูปขาดรอย แต่ทั้งนี้ การเชื่อมต่อก็ต้องเป็นไปอย่างไม่เสแสร้ง การเชื่อมต่อในที่นี้ มิได้หมายความว่าจะต้องหยิบรูปแบบที่เคยทำมาแล้วทำซ้ำอีกเพื่อเพิ่มปริมาณ เนื่องจากศิลปินแต่ละยุคสมัยมีความเป็นอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ต่างกัน มีความประทับใจในชีวิตที่ต่างกัน การจะสร้างงานด้วยความประทับใจที่ตนไม่เคยประสพนั้นเป็นธรรมดาที่ย่อมทำได้ไม่ถึง และความไม่ถึงนี้ก็คือความตื้นเขินที่ปกปิดไม่ได้ แต่หากสิ่งที่หยิบมานั้นคือความเข้าในในเรื่องของความงามในด้านองค์ประกอบทางศิลปะ คือสิ่งที่นำไปสู่ความสูงส่งของสปิริตของงานแล้ว นั่นก็เป็นเรื่องที่น่ายกย่อง งานจิตรกรรมฝาผนังของไทยนั้นได้วัฒนาการมาจนถึงขั้นสูงสุด รูปแบบนั้นได้ตอบสนองเนื้อหาไปได้อย่างสมบูรณ์แล้ว ศิลปินรุ่นเก่าได้ทำหน้าที่ของตนไว้อย่างสมบูรณ์แล้ว จากนี้ไป เป็นหน้าที่ของศิลปินรุ่นใหม่ที่จะต้องนำความเข้าใจในความงามอันสมบูรณ์นี้หยอดเป็นเมล็ดพันธุ์ที่จะผลิแตกเป็นงานที่เนื้อหาและรูปแบบเป็นของสมัยของศิลปินเอง
ขณะที่งานศิลปะถูกสร้างขึ้นนั้น มีสองสิ่งเกิดขึ้นพร้อมๆกัน นั่นคือ หนึ่ง อนาคตของศิลปะได้ถูกกรุยทางไปอีกก้าวหนึ่ง สอง งานศิลปะชิ้นนั้นได้กลายเป็นอดีต และซึ่งจะกลายเป็นประวัติศาสตร์ในเวลาต่อมา จะเป็นจุดที่สำคัญในประวัติศาสตร์หรือไม่นั้นอยู่ที่คุณค่าของผลงานนั้นเอง เมื่อมองอย่างนี้แล้วจะเห็นว่าผู้ทำงานศิลปะจะต้องใช้ความวิสาหะไม่น้อยเพื่อให้ผลงานของตนนั้นกรุยสู่ทางที่มีคุณค่า และเป็นที่น่าศึกษาสำหรับคนรุ่นถัดมา
การที่ข้าพเจ้าเรียบเรียงประวัติศาสตร์งานจิตรกรรมในประเทศไทยที่เคยมีมาทั้งหมดนั้น มีเหตุผลอยู่สองประการ ประการแรกคือเพื่อศึกษาถึงวิวัฒนาการการสร้างงานจิตรกรรมของผู้ที่มาก่อนข้าพเจ้าจากดินแดนที่ข้าพเจ้าเติบโตมา เนื่องด้วยเห็นว่างานเหล่านั้นมีคุณค่าทางจิตใจและทางประวัติศาสตร์ ประการที่สองคือเพื่อนำความเข้าใจที่ข้าพเจ้าได้รับจากการเรียบเรียงนี้สร้างเป็นภาพที่ร้อยเรียงกันอย่างเป็นเหตุเป็นผล เพื่อที่ศิลปินรุ่นใหม่จะได้ปะติดปะต่อร่องรอยของศิลปะจากวัฒนธรรมอันยาวนานหลากหลายของตนได้ง่ายขึ้น และเมื่อปะติดปะต่อได้แล้วเขาก็จะเห็นตำแหน่งบนเส้นประวัติศาสตร์ที่เขายืนอยู่ และเมื่อเห็นแล้วเขาจะปฏิเสธร่องรอยแบบที่มีมาโดยสิ้นเชิงหรือจะนำพาร่องรอยนั้นก้าวไปสู่ทางใหม่ของตนก็สุดแล้วแต่วิจารณญาณและความสนใจของตัวศิลปินเอง ข้าพเจ้ามิได้ต้องการจะโน้มนำความคิดใครแต่อย่างใด ข้าพเจ้าเองเพียงเป็นผู้เชื่อมต่อจุดเพื่อให้ภาพรวมของศิลปะไทยเห็นชัดเจนขึ้นเท่านั้น การเรียบเรียงหนังสือเล่มนี้ข้าพเจ้ามองว่าเป็นหน้าที่ตนพึงกระทำ เพราะข้าพเจ้าพบว่าบัดนี้ตัวเองได้ก้าวเข้ามายืนอยู่บนขอบของปัจจุบัน จะถอยหลังก็เป็นไปไม่ได้เสียแล้ว
รัฐธรรมนูญ (ฉบับจั๊กกะแร้ขาว)
From: kanokkant pilantanadiloke
To: suchaja@hotmail.com
Subject: RE: รัฐธรรมนูญ (ฉบับเพิ่มเติม)
Sent: Tuesday, July 19, 2005 3:08 AM
เภา,
อ่านเรื่องรัฐธรรมนูญแล้ว แม้จะไม่จบ แต่ก็เคยได้อ่านเรื่องทำนองนี้มาบ้าง เห็นด้วยกับพ่อของเธอ จนกระทั่งบัดนี้ เรามีความรู้สึกลบพวกคนที่ชอบตามฝรั่ง ไม่รู้จักตัวเอง ระบอบการปกครองที่ดี ก็เหมือนประเทศมีกลไกดี แต่คุณภาพของคนในประเทศยิ่งเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่งกว่าระบอบ เป็นเรื่องที่ไม่รู้จะปฏิวัติยังไงดี
เหมือนคอมพิวเตอร์กับความฉลาดของมนุษย์ วันก่อนไปร้านรับตัดสติ๊กเกอร์และทำตรายาง เอาแบบไปให้ตีราคา ขนาดงาน 12 คูณ 24 นิ้ว ตีราคามาแพงมาก เราถามว่าทำไมต้องแพงขนาดนี้ เขาตอบว่ามันใหญ่มากและมันทำยาก คุยไปคุยมา คิดว่าเราจะทำตรายาง ทั้งที่ไม่ได้บอกเลยซักคำ บอกแล้วว่าจะตัดสติ๊กเกอร์ ถึงจะไม่ได้บอกใครจะทำตรายาง 12 คูณ 24 นิ้ว สมองทำด้วยอะไรไม่รู้ มีคอมพิวเตอร์ตั้งอยู่ตรงหน้า มีความสามารถทำงานกับหลายๆโปรแกรมยากๆในคอมได้ แต่มีอะไรบางอย่างที่ไม่สามารถพัฒนาได้
ที่ว่าคนรวยคนมีการศึกษาที่ไม่รู้จักตัวเอง ขยันเดินตามฝรั่ง ที่จริงการรู้จักตัวเองไม่ใช่เรื่องง่าย สองสามวันได้ฟังเรื่องการเรื่องการเขียนไดอารี่เพื่อการเรียนรู้ตัวเอง เพื่อการรู้จักตัวเอง น่าสนใจมาก บอกว่าการเขียนบันทึกประจำวันเป็นสิ่งที่มีประโยชน์มาก เพราะการกลับมาอ่านบันทึกเก่า ๆทำให้เราได้อ่านตัวเองและจะมองเห็นตัวเองได้ชัด อย่างที่เราไม่สามารถรู้ตัวเองได้ในขณะปัจจุบันว่าที่จริงเราทำสิ่งนั้นด้วยเหตุผลอะไรอยู่ เหตุผลที่แท้จริงหรือเหตุผลที่ซ่อนเร้น ตัวตนที่แท้จริงของเราเป็นอย่างไรเราจะอ่านตัวเราออกจากบันทึก (มิน่าล่ะ ฉันรู้สึกอายมากเวลากลับมาอ่าน ทำไมตอนนั้นชั้นงี่เง่าขนาดนั้น)
ตอนนี้หญิงไทยทำผมทรงเดียวกันหมด เหมือนเป็นทหารที่มีคนสั่งให้เค้าทำ มีอยู่สองทรง ผมตรงแบบตรงมาก ตรงเด่แบบที่ใช้ไดร์รีด มียาสระผมที่ทำให้ผมตรง (เป็นไปได้อย่างไร) และทรงหยิกแบบที่ใช้ที่ไดร์ผมแบบหนีบ มันดูแข็ง ๆไม่เป็นธรรมชาติ เอาซะเลย By the way เธอทำสองทรงนี้อยู่รึเปล่า ดูโฆษณา ยาสระผม, สบู่, ครีมบำรุงผิว, ครีมทารักแร้ขาว, หน้าขาว ที่เมืองไทยแล้ว เอียน ที่แวนคูเวอร์ ไม่มีโฆษณาประเภทนี้มากขนาดนี้ ที่เธออยู่ก็น่าจะเหมือนกันกับที่แวนคูเวอร์ ที่จริงก็กลับมากตั้งนานแล้วทำไมรู้สึกอย่างมากเวลานี้ก็ไม่รู้ เราว่ามันมีมากขึ้น รู้แล้ว เดี๋ยวนี้มีการใช้ sex appeal กันมากขึ้น ทุกโฆษณา เบียร์ ยาสีฟัน ไก่ย่าง หมากฝรั่ง ผ้าอนามัย ถุงยาง ลูกอม นำมันเบรค โซดา นำมันพืช ซีอิ้ว เล่น sex appeal อย่างเดียว
นี่คือ สิ่งที่ดีอย่างนึงที่เธอไม่ได้กลับมาเมืองไทย
Thank you สำหรับบทความรัฐธรรมนูญ
ก้อย.
From: "sucha snidvongs"
To: kanokkant@hotmail.com
Subject: RE: รัฐธรรมนูญ (ฉบับจั๊กกะแร้ขาว)
Date: Tue, 19 Jul 2005 05:32:59 +0000
เธอจ๋า อย่าโมโหโกรธาไปเลย ใครจะทำอะไรก็ช่างเขาเถิด เราไปเปลี่ยนเขาไม่ได้ ใครอยากสวยในแบบตื้นเขินของเขาก็ช่างเขา คิดเสียว่าดีแล้วที่เราไม่ได้เกิดมาเป็นเขา เราทำตัวเราให้ลึกซึ้งอย่างของเรามันก็ดีอยู่แล้ว
เรื่องของรัฐธรรมนูญ ฉันเห็นว่าเป็นเรื่องของโลกที่มันหมุนไปในแบบของมัน ไม่มีใครตัดสินใจถูกหรือผิด กระแสของโลกมันไปในทิศทางนี้ ไม่วันไหนวันหนึ่งมันก็ต้องรับเขามา การจะรอให้เราเข้าใจตัวเองอย่างลึกซึ้งแล้วค่อยตัดสินใจว่าจะเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยน บางที่มันก็เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ วัฒนธรรมเป็นสิ่งมีชีวิต ปรับเปลี่ยนยืดหดอยู่ตลอดเวลา เราได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมอื่นเป็นมาช้านาน และจะรับอีกต่อๆไปไม่มีวันสิ้นสุด นี่คือความจริง การหยุดเดินแล้วมองย้อนกลับไปเพื่อเข้าใจตัวเองก็ฟังดูเข้าทีอยู่ แต่จะให้สมบูรณ์แบบต้องก้าวไปข้างหน้าด้วย การปิดประเทศแบบญี่ปุ่นเมื่อหลังสงครามโลกนั้นเป็นเรื่องล้าสมัยไปแล้ว ประเทศใดที่จะปิดตัวเองในเวลานี้มีแต่ก้าวถอยหลังเท่านั้น
ประชาธิปไตยที่แท้จริงนั้นเติบโตจากความต้องการจากคนระดับรากหญ้า ไม่ใช่จากเบื้องบนลงมา ประเทศเราคนมีความเคยชิินกับการได้รับจาก "หลวง" มาช้านาน การจะลุกขึ้นมาด้วยตัวเองพร้อมกับประกาศว่าฉันจะเป็นประชาธิปไตยพรุ่งนี้มะรืนนี้มันเป็นไปไม่ได้ หากต้องการให้ระบบเปลี่ยนก็เห็นมีอยู่ทางเดียวคือการนำเข้าจากเบื้องบน ซึ่งอันที่จริงก็เป็นเรื่องผิดธรรมชาติแท้ๆของ "ประชา" ธิปไตย แต่ก็เอาเถิดหนทางมันเป็นแบบนี้ ฉันเห็นว่าพวกคณะราษฎร์นั้นไม่ได้ทำสิ่งเสียหายที่ต้องการเปลี่ยนระบบ อย่างไรเสีย ระบบใหม่มันก็ต้องมาอยู่ดี คณะราษฎร์นั้นเพียงแต่ "กระตุ้น" ระบอบประชาธิปไตยให้มาถึงเร็วขึ้นเท่านั้น
ประชาธิปไตยในอเมริกานั้นชัดเจนว่ามาจากรากหญ้า เพราะพวกคนอเมริกัน (หมายถึงคนยุโรปที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานและออกลูกออกหลานในอเมริกาสองร้อยกว่าปีที่แล้ว) ถูกรีดนาทาเร้น ต้องส่ง "ส่วย" ไปให้เจ้าเหนือหัวทางอังกฤษ มีสงครามในยุโรป คนอเมริกันก็ถูกเก็บภาษีไปช่วยค่าใช้จ่าย ซึ่งไม่ได้เกี่ยวอะไรกับพวกเขาเลย และอีกหลายๆเรื่องที่เป็นการทำนาบนหลังคนแท้ๆ การลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่ออธิปไตยของตนนั้นเป็นเรื่องสมควรแล้ว ด้วยฉะนี้คนของเขาจึงให้คุณค่าเรื่องประชาธิปไตยอย่างหนักหนา เพราะเสรีภาพที่มีอยู่ทุกวันนี้กว่าจะได้มามันต้องเสียเลือดเนื้อ เมื่อเห็นชัดๆแบบนี้คนปัจจุบันเลยเข้าใจเรื่องสิทธิอย่างสุดหัวใจ
มองกลับมาที่เราอีกที ในเมืองไทยนั้นประชาธิปไตยงอกมาจากท้องฟ้าเมื่อหกกว่าสิบปีที่แล้ว ชาวบ้านเห็นว่าเขาให้มาเอง ไม่ต้องสู้ ก็เลยไม่เห็นว่ามีคุณค่า ไม่เห็นสิทธิของตน ก็เลยไม่เห็นว่าต้องปกป้อง มันก็เป็นเรื่องธรรมชาติอีกนั่นแหละ ใครที่ไหนเลยจะออกมาปกป้องในสิ่งที่ตัวไม่เคยรู้จัก ตอนนี้มีทางเดียวคือรอให้มันเบ่งบาน ให้มันซึมผ่านเวลา อาจจะเป็นร้อยปีสองร้อยปี ไม่รู้ อยู่ที่การศึกษา และเสรีภาพทางการคิด รวมถึงแรงกดดันที่ตอนนี้ฉันยังไม่รู้ว่าคืออะไร
แต่เอาเถอะ พอเสรีภาพทางการคิดมี สาวๆก็จะไม่ตกเป็นเหยื่อของพวกสื่อที่จ้องจะขายยาทาจั๊กกะแร้ขาว จะไม่มามัวนั่งกังวลเรื่องแฟชั่นผมเผ้าจนเกินเหตุ เอาเวลาไปหาการศึกษามาพัฒนาตนจะดีกว่า แลัววันหนึ่งเขาก็จะรู้กันเอง
เภา
To: suchaja@hotmail.com
Subject: RE: รัฐธรรมนูญ (ฉบับเพิ่มเติม)
Sent: Tuesday, July 19, 2005 3:08 AM
เภา,
อ่านเรื่องรัฐธรรมนูญแล้ว แม้จะไม่จบ แต่ก็เคยได้อ่านเรื่องทำนองนี้มาบ้าง เห็นด้วยกับพ่อของเธอ จนกระทั่งบัดนี้ เรามีความรู้สึกลบพวกคนที่ชอบตามฝรั่ง ไม่รู้จักตัวเอง ระบอบการปกครองที่ดี ก็เหมือนประเทศมีกลไกดี แต่คุณภาพของคนในประเทศยิ่งเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่งกว่าระบอบ เป็นเรื่องที่ไม่รู้จะปฏิวัติยังไงดี
เหมือนคอมพิวเตอร์กับความฉลาดของมนุษย์ วันก่อนไปร้านรับตัดสติ๊กเกอร์และทำตรายาง เอาแบบไปให้ตีราคา ขนาดงาน 12 คูณ 24 นิ้ว ตีราคามาแพงมาก เราถามว่าทำไมต้องแพงขนาดนี้ เขาตอบว่ามันใหญ่มากและมันทำยาก คุยไปคุยมา คิดว่าเราจะทำตรายาง ทั้งที่ไม่ได้บอกเลยซักคำ บอกแล้วว่าจะตัดสติ๊กเกอร์ ถึงจะไม่ได้บอกใครจะทำตรายาง 12 คูณ 24 นิ้ว สมองทำด้วยอะไรไม่รู้ มีคอมพิวเตอร์ตั้งอยู่ตรงหน้า มีความสามารถทำงานกับหลายๆโปรแกรมยากๆในคอมได้ แต่มีอะไรบางอย่างที่ไม่สามารถพัฒนาได้
ที่ว่าคนรวยคนมีการศึกษาที่ไม่รู้จักตัวเอง ขยันเดินตามฝรั่ง ที่จริงการรู้จักตัวเองไม่ใช่เรื่องง่าย สองสามวันได้ฟังเรื่องการเรื่องการเขียนไดอารี่เพื่อการเรียนรู้ตัวเอง เพื่อการรู้จักตัวเอง น่าสนใจมาก บอกว่าการเขียนบันทึกประจำวันเป็นสิ่งที่มีประโยชน์มาก เพราะการกลับมาอ่านบันทึกเก่า ๆทำให้เราได้อ่านตัวเองและจะมองเห็นตัวเองได้ชัด อย่างที่เราไม่สามารถรู้ตัวเองได้ในขณะปัจจุบันว่าที่จริงเราทำสิ่งนั้นด้วยเหตุผลอะไรอยู่ เหตุผลที่แท้จริงหรือเหตุผลที่ซ่อนเร้น ตัวตนที่แท้จริงของเราเป็นอย่างไรเราจะอ่านตัวเราออกจากบันทึก (มิน่าล่ะ ฉันรู้สึกอายมากเวลากลับมาอ่าน ทำไมตอนนั้นชั้นงี่เง่าขนาดนั้น)
ตอนนี้หญิงไทยทำผมทรงเดียวกันหมด เหมือนเป็นทหารที่มีคนสั่งให้เค้าทำ มีอยู่สองทรง ผมตรงแบบตรงมาก ตรงเด่แบบที่ใช้ไดร์รีด มียาสระผมที่ทำให้ผมตรง (เป็นไปได้อย่างไร) และทรงหยิกแบบที่ใช้ที่ไดร์ผมแบบหนีบ มันดูแข็ง ๆไม่เป็นธรรมชาติ เอาซะเลย By the way เธอทำสองทรงนี้อยู่รึเปล่า ดูโฆษณา ยาสระผม, สบู่, ครีมบำรุงผิว, ครีมทารักแร้ขาว, หน้าขาว ที่เมืองไทยแล้ว เอียน ที่แวนคูเวอร์ ไม่มีโฆษณาประเภทนี้มากขนาดนี้ ที่เธออยู่ก็น่าจะเหมือนกันกับที่แวนคูเวอร์ ที่จริงก็กลับมากตั้งนานแล้วทำไมรู้สึกอย่างมากเวลานี้ก็ไม่รู้ เราว่ามันมีมากขึ้น รู้แล้ว เดี๋ยวนี้มีการใช้ sex appeal กันมากขึ้น ทุกโฆษณา เบียร์ ยาสีฟัน ไก่ย่าง หมากฝรั่ง ผ้าอนามัย ถุงยาง ลูกอม นำมันเบรค โซดา นำมันพืช ซีอิ้ว เล่น sex appeal อย่างเดียว
นี่คือ สิ่งที่ดีอย่างนึงที่เธอไม่ได้กลับมาเมืองไทย
Thank you สำหรับบทความรัฐธรรมนูญ
ก้อย.
From: "sucha snidvongs"
To: kanokkant@hotmail.com
Subject: RE: รัฐธรรมนูญ (ฉบับจั๊กกะแร้ขาว)
Date: Tue, 19 Jul 2005 05:32:59 +0000
เธอจ๋า อย่าโมโหโกรธาไปเลย ใครจะทำอะไรก็ช่างเขาเถิด เราไปเปลี่ยนเขาไม่ได้ ใครอยากสวยในแบบตื้นเขินของเขาก็ช่างเขา คิดเสียว่าดีแล้วที่เราไม่ได้เกิดมาเป็นเขา เราทำตัวเราให้ลึกซึ้งอย่างของเรามันก็ดีอยู่แล้ว
เรื่องของรัฐธรรมนูญ ฉันเห็นว่าเป็นเรื่องของโลกที่มันหมุนไปในแบบของมัน ไม่มีใครตัดสินใจถูกหรือผิด กระแสของโลกมันไปในทิศทางนี้ ไม่วันไหนวันหนึ่งมันก็ต้องรับเขามา การจะรอให้เราเข้าใจตัวเองอย่างลึกซึ้งแล้วค่อยตัดสินใจว่าจะเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยน บางที่มันก็เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ วัฒนธรรมเป็นสิ่งมีชีวิต ปรับเปลี่ยนยืดหดอยู่ตลอดเวลา เราได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมอื่นเป็นมาช้านาน และจะรับอีกต่อๆไปไม่มีวันสิ้นสุด นี่คือความจริง การหยุดเดินแล้วมองย้อนกลับไปเพื่อเข้าใจตัวเองก็ฟังดูเข้าทีอยู่ แต่จะให้สมบูรณ์แบบต้องก้าวไปข้างหน้าด้วย การปิดประเทศแบบญี่ปุ่นเมื่อหลังสงครามโลกนั้นเป็นเรื่องล้าสมัยไปแล้ว ประเทศใดที่จะปิดตัวเองในเวลานี้มีแต่ก้าวถอยหลังเท่านั้น
ประชาธิปไตยที่แท้จริงนั้นเติบโตจากความต้องการจากคนระดับรากหญ้า ไม่ใช่จากเบื้องบนลงมา ประเทศเราคนมีความเคยชิินกับการได้รับจาก "หลวง" มาช้านาน การจะลุกขึ้นมาด้วยตัวเองพร้อมกับประกาศว่าฉันจะเป็นประชาธิปไตยพรุ่งนี้มะรืนนี้มันเป็นไปไม่ได้ หากต้องการให้ระบบเปลี่ยนก็เห็นมีอยู่ทางเดียวคือการนำเข้าจากเบื้องบน ซึ่งอันที่จริงก็เป็นเรื่องผิดธรรมชาติแท้ๆของ "ประชา" ธิปไตย แต่ก็เอาเถิดหนทางมันเป็นแบบนี้ ฉันเห็นว่าพวกคณะราษฎร์นั้นไม่ได้ทำสิ่งเสียหายที่ต้องการเปลี่ยนระบบ อย่างไรเสีย ระบบใหม่มันก็ต้องมาอยู่ดี คณะราษฎร์นั้นเพียงแต่ "กระตุ้น" ระบอบประชาธิปไตยให้มาถึงเร็วขึ้นเท่านั้น
ประชาธิปไตยในอเมริกานั้นชัดเจนว่ามาจากรากหญ้า เพราะพวกคนอเมริกัน (หมายถึงคนยุโรปที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานและออกลูกออกหลานในอเมริกาสองร้อยกว่าปีที่แล้ว) ถูกรีดนาทาเร้น ต้องส่ง "ส่วย" ไปให้เจ้าเหนือหัวทางอังกฤษ มีสงครามในยุโรป คนอเมริกันก็ถูกเก็บภาษีไปช่วยค่าใช้จ่าย ซึ่งไม่ได้เกี่ยวอะไรกับพวกเขาเลย และอีกหลายๆเรื่องที่เป็นการทำนาบนหลังคนแท้ๆ การลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่ออธิปไตยของตนนั้นเป็นเรื่องสมควรแล้ว ด้วยฉะนี้คนของเขาจึงให้คุณค่าเรื่องประชาธิปไตยอย่างหนักหนา เพราะเสรีภาพที่มีอยู่ทุกวันนี้กว่าจะได้มามันต้องเสียเลือดเนื้อ เมื่อเห็นชัดๆแบบนี้คนปัจจุบันเลยเข้าใจเรื่องสิทธิอย่างสุดหัวใจ
มองกลับมาที่เราอีกที ในเมืองไทยนั้นประชาธิปไตยงอกมาจากท้องฟ้าเมื่อหกกว่าสิบปีที่แล้ว ชาวบ้านเห็นว่าเขาให้มาเอง ไม่ต้องสู้ ก็เลยไม่เห็นว่ามีคุณค่า ไม่เห็นสิทธิของตน ก็เลยไม่เห็นว่าต้องปกป้อง มันก็เป็นเรื่องธรรมชาติอีกนั่นแหละ ใครที่ไหนเลยจะออกมาปกป้องในสิ่งที่ตัวไม่เคยรู้จัก ตอนนี้มีทางเดียวคือรอให้มันเบ่งบาน ให้มันซึมผ่านเวลา อาจจะเป็นร้อยปีสองร้อยปี ไม่รู้ อยู่ที่การศึกษา และเสรีภาพทางการคิด รวมถึงแรงกดดันที่ตอนนี้ฉันยังไม่รู้ว่าคืออะไร
แต่เอาเถอะ พอเสรีภาพทางการคิดมี สาวๆก็จะไม่ตกเป็นเหยื่อของพวกสื่อที่จ้องจะขายยาทาจั๊กกะแร้ขาว จะไม่มามัวนั่งกังวลเรื่องแฟชั่นผมเผ้าจนเกินเหตุ เอาเวลาไปหาการศึกษามาพัฒนาตนจะดีกว่า แลัววันหนึ่งเขาก็จะรู้กันเอง
เภา
รัฐธรรมนูญในสยาม (ฉบับเพิ่มเติม)
เภาลูกรัก,
ได้อ่าน "เดือนรํฐธรรมนูญ" ที่ส่งมาแล้ว น่าสนใจดี ความจริงเรื่องเปลี่ยนแปลงการปกครองของเราเทื่อปี 2475 นี้ถือว่าเป็น " Very Controvesial Topic " ทีเดียว ยังถกเถียงกันไม่จบจนทุกวันนี้
พ่อไม่ตัดสินว่าใครผิดและใครถูก และคิดว่ามันเป็นกรรม (ทั้งดีและร้าย) ของประเทศและของทุกๆฝ่ายที่จะต้องเป็นอย่างนี้ …ในสมัย ร. 6 มีการ
modernize ประเทศมากซึ่งต้องเสียเงินมาก เมื่อมาถึง ร. 7 เศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก และไทยก็ได้รับผลกระทบด้วย มีการเอาข้าราชการออก (Lay off- ซึ่งเทียบกันไม่ได้เลยเมื่อพนักงานบริษัททั่วประเทศถูก lay off เมื่อคราวฟองสะบู่แตกเมื่อสิบปีที่แล้ว))
ทหารถูกหยามเกียรติโดยเอานายทหารยศนายร้อยที่ทำผิดมาโบยต่อหน้าแถวทหาร ผู้มีอำนาจในแผ่นดินก็เป็นเจ้านายส่วนใหญ่เพราะมีความรู้ดี เนื่องจากได้ไปเรียนต่างประเทศ ทำให้คนรุ่นใหม่ที่หัว liberal ไม่พอใจ นายปรีดี พนมยง ซึ่งไปเรียนด้วยทุนรัฐบาลที่ฝรั่งเศส เกิดขัดแย้งกับเจ้าองค์หนึ่งซึ่งเป็นทูตที่นั่น (เป็นผู้ดูแลนักเรียนไทยด้วย)… อยากจะเล่าที่เป็นเกร็ดให้ฟัง
…ผู้ที่ได้รับมอบหมายให้นำสานส์ไปถวายในหลวงที่พระราชวังไกลกังวลเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 คือ นาวาตรี.หลวงศุภชลาสัย (บุง ศุภชลาสัย -พ่อป้าปิ่นเพื่อนพ่อ) หลวงศุภชลาสัยอยู่ฝ่ายปฎิวัติทั้งๆที่เป็นลูกเขยของกรมหลวงชุมพร เล่ากันว่าเมื่อเรือหลวงสุโขทัยไปถึงหัวหินก็จอดทอดสมออยู่หน้าวัง แล้วเอาเรือเล็กลงเพื่อให้หลวงศุภฯถือสานส์ไปเข้าเฝ้า หลวงศุภฯกลัวมากต้องดื่มบรั่นดีย้อมใจก่อนลงเรือเล็กหลายกรึ๊บ
มีคำสั่งมาจากกรุงเทพว่า ถ้าได้เวลาที่ตกลงกันแล้วคณะที่เข้าเฝ้ายังไม่กลับออกมาให้ใช้ปืนเรือยิงถล่มวังทันที เพราะคงแปลว่าผู้นำสานส์ถูกทหารรักษาวังจับหรือถูกยิงตายแล้ว เมื่อหลวงศุภฯเข้าไปอยู่ตรงหน้าพระที่นั่ง ทรงทักว่า"นี่ตาบุง แกก็เอากับเขาด้วยหรือ ? " ทำเอาคุณหลวงขาสั่นผับๆ …
สถานการณ์ในช่วงนี้สับสนมาก ข้าราชการและผู้มีความรู้แบ่งกันเป็นสองฝ่าย แต่ชาวบ้านจริงๆนั้นไม่รู้เรื่องอะไรเลย ซึ่งดูจะเป็นเหตุผลสนับสนุนฝ่ายที่อยู่ข้างกษัตริย์ว่า "ราษฎร์ไทยยังไม่พร้อม" แต่ฝ่ายปฎิวัติอ้างว่าฝ่ายกษัตริย์หวงอำนาจ เรื่องนี้ถ้าดูประเทศเราที่เป็นประชาธิปไตยกันต่อมาก็จะเห็นว่า ไม่มีอะไรดีขึ้นเป็นพิเศษ ที่มันเจริญขึ้นเพราะมันต้องเจริญทางวัตถุโดยธรรมชาติ แต่ทางจิตใจและความเป็นอยู่ของชาวบ้านเลวลง
มีเรื่องตลกเล่ากันว่า ชาวบ้านต่างจังหวัดพากันสงสัยว่า"รัฐธรรมนูญที่จะพระราชทานราษฎรนั้นจะส่งมาทางเรือหรือทางรถ" … พวกเขาไม่รู้เลยว่ารัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยคืออะไร ! ดังนั้นจนถึงบัดนี้แม้จะมีการเลือกตั้งแต่ชาวบ้านก็ยังขายเสียงให้เขาเข้าไปคอร์รัปชั่นภาษีของตัวเอง ในคณะราษฎร์นั้นต่อมาก็แตกกันเอง มีการรัฐประหารหลายครั้งเพื่อแย่งอำนาจกัน เพราะจุดร่วมมีเหมือนกันอย่างเดียวคือเปลี่ยนการปกครอง ซึ่งตอนนั้นบอกว่าทำเพื่อประชาชน ใบแถลงการของคณะราษฎร์ที่จาบจ้วงในหลวงอย่างยิ่งนั้นเป็นเหตุสำคัญทีทำให้เกิดความโกรธแค้นและความระแวงจากฝ่ายที่ถือหางฝ่ายเจ้า
แม้จนกระทั้งเมื่อในหลวง ร. 8 ต้องพระแสงปืนสวรรคต ก็มีคนเชื่อว่าเป็นแผนการของพวกคณะราษฎร์บางคน และยังเชื่ออย่างฝังหัวมาจนทุกวันนี้
ในหนังสือบันทึกของ ม.จหญิงพูนพิศมัย ดิสกุล ได้เขียนเล่าไว้ระหว่างเดินทางจากหัวหินไปกัวลาลำเปอร์ (ตอนนั้นประทับอยู่ที่วังไกลกังวลด้วย) ไม่กลับพระนครพร้องกับ ร.7 ได้บรรยายถึงความวิตกที่จะต้องได้รับความไม่เป็นธรรมจากฝ่ายที่ล้มล้างกษัตริย์ไว้มากมาย และมองฝ่ายปฎิวัติอย่างที่ฝ่ายซาร์นิโคลัสที่สองมองฝ่ายบอล เชวิค
ว่าที่จริงแม้ว่าประเทศเราตอนนั้นจะต้องมรสุมของเรื่องเศรษฐกิจโลกแต่ก็ไม่ใช่มาก เพราะเราอุดมสมบูรณ์จริงๆ คำว่าในน้ำมีปลาในนามีข้าวนั้นถูกที่สุด และสังคมก็ไม่เหมือนกัน ถูกปลดจากงานก็มาอยู่บ้านพ่อแม่พี่น้องมีข้าวปลากิน เดียวนี้แม้ทรัพยากรจะลดน้อยลงไปและพลเมืองเพิ่มขึ้น
เราก็ยังอุดมสมบูรณ์ ไม่เคยมีคนอดตายในประเทศไทย แต่ฝ่ายก่อการก็อ้างในใบปลิวว่าประชาชนถูกกดขี่และยากเข็ญเพราะฝ่ายกษัตริย์ เขาเอาตัวอย่างของฝรั่งมาซึ่งคนเขาอดตายจริงๆในหน้าหนาวเมื่อตอนที่ฝ่ายก่อการเข้าเฝ้าเมื่อในหลวงเสด็จถึงพระนครแล้ว ได้ทรงตรัสถามคณะผู้ก่อการว่ารู้จักประเทศไทยดีพอแล้วหรือ พวกเขาก็ตอบไม่ได้ แต่ตอบไปว่าก็ค่อยๆทำไป
ในโลกนี้ในทุกๆส่วนของสังคม เช่นประเทศ องค์กร บริษัท กองทัพ จะมีคนอยู่สองกลุ่มเสมอไป กลุ่มหนึ่งมีจำนวนน้อยเป็นผู้ปกครอง อีกกลุ่มหนึ่งเป็นผู้ถูกปกครองและมีจำนวนมากกว่า (เป็นปิรามิด) ถ้าผู้ถูกปกครองทำตัวไม่เป็นที่พอใจของคนส่วนมากก็จะต้องมีผู้พยายามเปลี่ยนแปลงเสมอเมื่อมีโอกาส และในกลุ่มของผู้ปกครองเองก็มีการล้มล้าง แก่งแยกอำนาจกันเอง ดังนั้นถ้ามองโลกในแง่ของ "อนิจจัง" ก็จะเห็นสัจธรรม ผู้ที่ก่อการปฎิวัติต่อมาก็ล้มล้างกันเอง ต้องหนีไปอยู่ต่างประเทศจนตายก็มี หลายคน
เรื่องที่พ่อเขียนนี้ดูสะเปะสะปะชอบกล เพราะพ่อไม่ใช่นักวิชาการ การเขียนจึงไม่เป็นขั้นเป็นตอนเพราะไม่ได้ค้นคว้าหาข้อมูลมาอ้างอิงเลย เขียนตามความรู้และความทรงจำที่มีอยู่เท่านั้น ถ้าลูกจะศึกษาเรื่องพวกนี้มีหนังสือให้อ่านมากมาย คนที่เขียนไว้มากเช่น ดร.ชัยอนันต์ สมุทรวณิชย์ เป็นต้น ค้นจากเว็บต่างๆก็มีมาก แต่ขอให้ศึกษาอย่างนักศึกษา อย่า ' in ' กับข้างใดข้างหนึ่ง เพราะที่เราอ่านมานั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของเรื่องราว
ส่วนที่เรายังไม่รู้มีมากกว่า
พ่อ
ได้อ่าน "เดือนรํฐธรรมนูญ" ที่ส่งมาแล้ว น่าสนใจดี ความจริงเรื่องเปลี่ยนแปลงการปกครองของเราเทื่อปี 2475 นี้ถือว่าเป็น " Very Controvesial Topic " ทีเดียว ยังถกเถียงกันไม่จบจนทุกวันนี้
พ่อไม่ตัดสินว่าใครผิดและใครถูก และคิดว่ามันเป็นกรรม (ทั้งดีและร้าย) ของประเทศและของทุกๆฝ่ายที่จะต้องเป็นอย่างนี้ …ในสมัย ร. 6 มีการ
modernize ประเทศมากซึ่งต้องเสียเงินมาก เมื่อมาถึง ร. 7 เศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก และไทยก็ได้รับผลกระทบด้วย มีการเอาข้าราชการออก (Lay off- ซึ่งเทียบกันไม่ได้เลยเมื่อพนักงานบริษัททั่วประเทศถูก lay off เมื่อคราวฟองสะบู่แตกเมื่อสิบปีที่แล้ว))
ทหารถูกหยามเกียรติโดยเอานายทหารยศนายร้อยที่ทำผิดมาโบยต่อหน้าแถวทหาร ผู้มีอำนาจในแผ่นดินก็เป็นเจ้านายส่วนใหญ่เพราะมีความรู้ดี เนื่องจากได้ไปเรียนต่างประเทศ ทำให้คนรุ่นใหม่ที่หัว liberal ไม่พอใจ นายปรีดี พนมยง ซึ่งไปเรียนด้วยทุนรัฐบาลที่ฝรั่งเศส เกิดขัดแย้งกับเจ้าองค์หนึ่งซึ่งเป็นทูตที่นั่น (เป็นผู้ดูแลนักเรียนไทยด้วย)… อยากจะเล่าที่เป็นเกร็ดให้ฟัง
…ผู้ที่ได้รับมอบหมายให้นำสานส์ไปถวายในหลวงที่พระราชวังไกลกังวลเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 คือ นาวาตรี.หลวงศุภชลาสัย (บุง ศุภชลาสัย -พ่อป้าปิ่นเพื่อนพ่อ) หลวงศุภชลาสัยอยู่ฝ่ายปฎิวัติทั้งๆที่เป็นลูกเขยของกรมหลวงชุมพร เล่ากันว่าเมื่อเรือหลวงสุโขทัยไปถึงหัวหินก็จอดทอดสมออยู่หน้าวัง แล้วเอาเรือเล็กลงเพื่อให้หลวงศุภฯถือสานส์ไปเข้าเฝ้า หลวงศุภฯกลัวมากต้องดื่มบรั่นดีย้อมใจก่อนลงเรือเล็กหลายกรึ๊บ
มีคำสั่งมาจากกรุงเทพว่า ถ้าได้เวลาที่ตกลงกันแล้วคณะที่เข้าเฝ้ายังไม่กลับออกมาให้ใช้ปืนเรือยิงถล่มวังทันที เพราะคงแปลว่าผู้นำสานส์ถูกทหารรักษาวังจับหรือถูกยิงตายแล้ว เมื่อหลวงศุภฯเข้าไปอยู่ตรงหน้าพระที่นั่ง ทรงทักว่า"นี่ตาบุง แกก็เอากับเขาด้วยหรือ ? " ทำเอาคุณหลวงขาสั่นผับๆ …
สถานการณ์ในช่วงนี้สับสนมาก ข้าราชการและผู้มีความรู้แบ่งกันเป็นสองฝ่าย แต่ชาวบ้านจริงๆนั้นไม่รู้เรื่องอะไรเลย ซึ่งดูจะเป็นเหตุผลสนับสนุนฝ่ายที่อยู่ข้างกษัตริย์ว่า "ราษฎร์ไทยยังไม่พร้อม" แต่ฝ่ายปฎิวัติอ้างว่าฝ่ายกษัตริย์หวงอำนาจ เรื่องนี้ถ้าดูประเทศเราที่เป็นประชาธิปไตยกันต่อมาก็จะเห็นว่า ไม่มีอะไรดีขึ้นเป็นพิเศษ ที่มันเจริญขึ้นเพราะมันต้องเจริญทางวัตถุโดยธรรมชาติ แต่ทางจิตใจและความเป็นอยู่ของชาวบ้านเลวลง
มีเรื่องตลกเล่ากันว่า ชาวบ้านต่างจังหวัดพากันสงสัยว่า"รัฐธรรมนูญที่จะพระราชทานราษฎรนั้นจะส่งมาทางเรือหรือทางรถ" … พวกเขาไม่รู้เลยว่ารัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยคืออะไร ! ดังนั้นจนถึงบัดนี้แม้จะมีการเลือกตั้งแต่ชาวบ้านก็ยังขายเสียงให้เขาเข้าไปคอร์รัปชั่นภาษีของตัวเอง ในคณะราษฎร์นั้นต่อมาก็แตกกันเอง มีการรัฐประหารหลายครั้งเพื่อแย่งอำนาจกัน เพราะจุดร่วมมีเหมือนกันอย่างเดียวคือเปลี่ยนการปกครอง ซึ่งตอนนั้นบอกว่าทำเพื่อประชาชน ใบแถลงการของคณะราษฎร์ที่จาบจ้วงในหลวงอย่างยิ่งนั้นเป็นเหตุสำคัญทีทำให้เกิดความโกรธแค้นและความระแวงจากฝ่ายที่ถือหางฝ่ายเจ้า
แม้จนกระทั้งเมื่อในหลวง ร. 8 ต้องพระแสงปืนสวรรคต ก็มีคนเชื่อว่าเป็นแผนการของพวกคณะราษฎร์บางคน และยังเชื่ออย่างฝังหัวมาจนทุกวันนี้
ในหนังสือบันทึกของ ม.จหญิงพูนพิศมัย ดิสกุล ได้เขียนเล่าไว้ระหว่างเดินทางจากหัวหินไปกัวลาลำเปอร์ (ตอนนั้นประทับอยู่ที่วังไกลกังวลด้วย) ไม่กลับพระนครพร้องกับ ร.7 ได้บรรยายถึงความวิตกที่จะต้องได้รับความไม่เป็นธรรมจากฝ่ายที่ล้มล้างกษัตริย์ไว้มากมาย และมองฝ่ายปฎิวัติอย่างที่ฝ่ายซาร์นิโคลัสที่สองมองฝ่ายบอล เชวิค
ว่าที่จริงแม้ว่าประเทศเราตอนนั้นจะต้องมรสุมของเรื่องเศรษฐกิจโลกแต่ก็ไม่ใช่มาก เพราะเราอุดมสมบูรณ์จริงๆ คำว่าในน้ำมีปลาในนามีข้าวนั้นถูกที่สุด และสังคมก็ไม่เหมือนกัน ถูกปลดจากงานก็มาอยู่บ้านพ่อแม่พี่น้องมีข้าวปลากิน เดียวนี้แม้ทรัพยากรจะลดน้อยลงไปและพลเมืองเพิ่มขึ้น
เราก็ยังอุดมสมบูรณ์ ไม่เคยมีคนอดตายในประเทศไทย แต่ฝ่ายก่อการก็อ้างในใบปลิวว่าประชาชนถูกกดขี่และยากเข็ญเพราะฝ่ายกษัตริย์ เขาเอาตัวอย่างของฝรั่งมาซึ่งคนเขาอดตายจริงๆในหน้าหนาวเมื่อตอนที่ฝ่ายก่อการเข้าเฝ้าเมื่อในหลวงเสด็จถึงพระนครแล้ว ได้ทรงตรัสถามคณะผู้ก่อการว่ารู้จักประเทศไทยดีพอแล้วหรือ พวกเขาก็ตอบไม่ได้ แต่ตอบไปว่าก็ค่อยๆทำไป
ในโลกนี้ในทุกๆส่วนของสังคม เช่นประเทศ องค์กร บริษัท กองทัพ จะมีคนอยู่สองกลุ่มเสมอไป กลุ่มหนึ่งมีจำนวนน้อยเป็นผู้ปกครอง อีกกลุ่มหนึ่งเป็นผู้ถูกปกครองและมีจำนวนมากกว่า (เป็นปิรามิด) ถ้าผู้ถูกปกครองทำตัวไม่เป็นที่พอใจของคนส่วนมากก็จะต้องมีผู้พยายามเปลี่ยนแปลงเสมอเมื่อมีโอกาส และในกลุ่มของผู้ปกครองเองก็มีการล้มล้าง แก่งแยกอำนาจกันเอง ดังนั้นถ้ามองโลกในแง่ของ "อนิจจัง" ก็จะเห็นสัจธรรม ผู้ที่ก่อการปฎิวัติต่อมาก็ล้มล้างกันเอง ต้องหนีไปอยู่ต่างประเทศจนตายก็มี หลายคน
เรื่องที่พ่อเขียนนี้ดูสะเปะสะปะชอบกล เพราะพ่อไม่ใช่นักวิชาการ การเขียนจึงไม่เป็นขั้นเป็นตอนเพราะไม่ได้ค้นคว้าหาข้อมูลมาอ้างอิงเลย เขียนตามความรู้และความทรงจำที่มีอยู่เท่านั้น ถ้าลูกจะศึกษาเรื่องพวกนี้มีหนังสือให้อ่านมากมาย คนที่เขียนไว้มากเช่น ดร.ชัยอนันต์ สมุทรวณิชย์ เป็นต้น ค้นจากเว็บต่างๆก็มีมาก แต่ขอให้ศึกษาอย่างนักศึกษา อย่า ' in ' กับข้างใดข้างหนึ่ง เพราะที่เราอ่านมานั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของเรื่องราว
ส่วนที่เรายังไม่รู้มีมากกว่า
พ่อ
Saturday, June 11, 2005
รัฐธรรมนูญในสยาม
ยาสุกิจิ ยาตาเบ เขียน แปลโดย : เออิจิ มูราชิมา
การปฏิวัติและการเปลี่ยนแปลง ในประเทศสยาม : มิถุนายน ๒๔๗๕
*บัณฑิตวิทยาลัยเอเชียแปซิฟิกศึกษา มหาวิทยาลัยวาเซดะ
และนครินทร์ เมฆไตรรัตน์
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
*บทความที่กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรมตั้งชื่อว่า "การปฏิวัติและการเปลี่ยนแปลงในประเทศสยาม : มิถุนายน ๒๔๗๕" นี้ เป็นส่วนหนึ่งของงานเขียนขนาดยาวในชื่อ "การปฏิวัติและการเปลี่ยนแปลงในประเทศสยาม" ของยาสุกิจิ ยาตาเบ อดีตอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศสยามในช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงนั้น. ต้นฉบับภาษาญี่ปุ่นพิมพ์ครั้งแรกในวารสารสมาคมญี่ปุ่น-สยาม ฉบับที่ ๕ เดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙
ประเทศสยามนับจากสร้างประเทศขึ้นมา ไม่มีการแบ่งแยกระหว่างการเมืองของรัฐกับเรื่องครอบครัวของพระมหากษัตริย์ การแบ่งแยก ๒ สิ่งออกจากกันนั้น กล่าวได้ว่า เพิ่งเริ่มต้นเมื่อทศวรรษ ๑๘๙๐ นี้เอง เพราะฉะนั้นจึงไม่ควรนับเป็นเรื่องแปลกแต่ประการใดที่รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของสยามสามารถดำรงอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปี ๑๙๓๒ อย่างไรก็ตามได้มีบุคคลที่ไม่เห็นด้วยกับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ดังปรากฏว่ามีคนบางกลุ่มมีความประสงค์ที่จะปฏิรูปการเมือง ตัวอย่างเช่น หลังจากรัชกาลที่ ๖ เสด็จขึ้นครองราชย์ได้ ๒ ปี (คือปี ค.ศ. ๑๙๑๒) ปรากฏว่ามีแผนการที่จะก่อการปฏิวัติขึ้น คณะบุคคลที่เข้าร่วมในขบวนการปฏิวัติในสมัยนั้นมีอยู่ ๒ กลุ่ม กลุ่มหนึ่งเรียกร้องรัฐธรรมนูญราชาธิปไตย อีกกลุ่มหนึ่งมีเป้าหมายสร้างระบอบสาธารณรัฐขึ้น โดยที่ทั้ง ๒ กลุ่มมีเป้าหมายร่วมกันคือ การโค่นล้มการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กระนั้นก็ตามแผนการปฏิวัติในสมัยนั้น ปรากฏว่าไม่ประสบความสำเร็จและถูกจับกุมเสียก่อน โดยที่หลายสิบคนได้ถูกจับกุมในคราวเดียวกัน และได้ถูกลงโทษด้วย
หลังจากนั้นไม่นาน สงครามโลกครั้งที่ ๑ ได้เกิดขึ้น ประเทศสยามได้ถูกชักจูงให้เข้าร่วมสงคราม ในปี ๑๙๑๗ ประเทศสยามได้ประกาศสงคราม และจัดส่งกองทหารอาสาไปแนวรบด้านตะวันตก ด้วยเหตุนี้ประเทศสยามจึงมีฐานะเป็นประเทศผู้ชนะสงคราม และร่วมลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพที่ปารีส รวมทั้งได้เข้าร่วมในองค์การสันนิบาตชาติในฐานะเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้ง ในช่วงเวลาดังกล่าวนี้เอง สถานะของประเทศสยามในสังคมโลกจึงได้รับการปรับปรุงให้ดีกว่าเดิม นโยบายที่เคยบีบคั้นประเทศสยามจากอังกฤษและฝรั่งเศสก็มีการผ่อนคลายเป็นอันมาก การคุกคามต่อเอกราชของสยามก็ดูจะลดน้อยลง นอกจากนั้นการแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เสมอภาค ซึ่งเป็นความต้องการของประเทศสยามมาเป็นเวลาช้านาน ก็ได้เริ่มต้นขึ้นในปี ๑๙๒๕ ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนและภายหลังจากที่รัชกาลที่ ๗ เสด็จขึ้นครองราชย์ การแก้ไขสนธิสัญญาไม่เสมอภาคได้มีผลสำเร็จ และนานาประเทศก็ให้การยอมรับ มีการยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตเหนือประเทศสยาม และมีการฟื้นฟูอำนาจของสยามในการจัดเก็บภาษีศุลกากร
ในช่วงเวลานั้นความสนใจของรัฐบาลและประชาชนทั่วไปอยู่ที่การแก้ไขความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และขาดเวลาเพียงพอที่จะปฏิรูปการเมืองและพัฒนาทรัพยากรภายในประเทศ ความต้องการของปัญญาชนต่อการปกครองในระบอบรัฐธรรมนูญราชาธิปไตยค่อยๆ ทวีความสำคัญมากขึ้น แต่การศึกษาของประชาชนโดยทั่วไป กล่าวได้ว่ายังไม่มีความแพร่หลาย และความคิดทางการเมืองของประชาชนโดยทั่วไปก็ยังมีความด้อยอยู่มาก สื่อมวลชนต่างๆ ก็ยังอยู่ในระดับเริ่มต้น อีกทั้งยังไม่มีเสรีภาพในการพูด ฉะนั้นจึงเป็นเรื่องธรรมดาที่จะไม่มีขบวนการทางการเมืองที่ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างคึกคัก นอกจากนั้นในช่วงเวลานี้ความสำเร็จทางการทูตในระดับหนึ่งส่งผลให้ความชอบธรรมของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ ๗
ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติในเดือนพฤศจิกายน ๑๙๒๕ ภายหลังจากพระเชษฐาของพระองค์เสด็จสวรรคต พระองค์ทรงมีความคิดที่ก้าวหน้า และทรงดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างการปกครองและการคลัง พระองค์ทรงมีความกล้าหาญที่ลดทอนงบประมาณรายจ่ายของสำนักพระราชวังลงครึ่งหนึ่ง ระเบียบวินัยของข้าราชการซึ่งมีแนวโน้มเสื่อมโทรมลงมาตั้งแต่สมัยรัชกาลก่อน ก็ได้รับการปรับปรุง นอกจากนี้ยังทรงมีพระราชนิยมให้ลดจำนวนข้าราชการชาวต่างประเทศลง เพราะฉะนั้นประชาชนทั้งในระดับล่างและระดับบนก็เริ่มมีความคาดหวังต่อการเปลี่ยนแปลงของรัชกาลใหม่
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงศึกษาที่ประเทศอังกฤษแต่เยาว์วัย ทรงสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยที่ประเทศอังกฤษ และจากโรงเรียนเสนาธิการของประเทศฝรั่งเศส พระองค์ทรงเป็นคนไทยคนแรกที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนเสนาธิการทหารนี้ พระองค์มีแนวพระราชดำริแบบเสรีนิยมค่อนข้างมาก นับจากขึ้นครองราชสมบัติแล้ว เราดูจากภายนอกรู้ได้ว่าพระองค์มีแนวพระราชดำริที่จะเริ่มการปกครองในแบบรัฐธรรมนูญราชาธิปไตย กล่าวคือ ภายหลังจากครองราชย์ได้ไม่นาน พระองค์ทรงปรับปรุงกรรมการองคมนตรีสภา ซึ่งแต่เดิมไม่มีบทบาทและมีแต่ชื่อมานาน โดยทรงปรับปรุงและจัดให้มีกรรมการจำนวน ๔๐ คน ซึ่งได้รับการคัดเลือกมาจากกระทรวงต่างๆ ทำหน้าที่เป็นองค์กรทางด้านนิติบัญญัติ กฎหมายสำคัญๆ ต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการองคมนตรีสภานี้ พระบรมราชโองการในการปฏิรูปกรรมการองคมนตรีสภานี้ กล่าวว่า การปฏิรูปในคราวนี้มีจุดประสงค์เริ่มต้นคือทำให้การปฏิรูปในขั้นต่อไปง่ายขึ้น จัดเป็นการทดลองและฝึกฝนให้กรรมการองคมนตรีสภามีความเข้าใจกระบวนการรัฐสภา จากประกาศนี้ทำให้เราเข้าใจพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ กล่าวคือ คณะกรรมการองคมนตรีสภา เป็นการเตรียมการเพื่อพัฒนาระบบรัฐสภานิติบัญญัติในอนาคต ซึ่งจะต้องปฏิรูปต่อไปอีกหลายขั้นตอน หลังจากนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงแสดงพระราชประสงค์ว่าพระองค์ต้องการให้การเมืองพัฒนาไปเป็นระบบรัฐสภา ในปี ๑๙๓๑ เมื่อพระองค์เสด็จประพาสสหรัฐอเมริกาเพื่อรักษาพระเนตรนั้น พระองค์ได้ให้สัมภาษณ์แก่นักหนังสือพิมพ์ว่า ประเทศสยามจะมีรัฐบาลในระบอบรัฐธรรมนูญในอีกไม่นานนี้ เพราะฉะนั้นพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ จึงจัดอยู่ในระดับขั้นเริ่มต้นของการเตรียมการไปสู่ระบอบรัฐธรรมนูญราชาธิปไตยตามกระแสของโลก เรื่องนี้ไม่มีใครสงสัยเลย อย่างไรก็ตามในช่วงปลายเดือนมิถุนายน ๑๙๓๒ ได้มีการปฏิวัติเกิดขึ้น แต่ก่อนการปฏิวัติในช่วงต้นเดือนมิถุนายน ๑๙๓๒ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้เสด็จฯ แปรพระราชฐานไปประทับ ณ พระราชวังไกลกังวล หัวหิน ในครั้งนั้นพระองค์ได้นำเอาร่างรัฐธรรมนูญพระราชทานไปด้วย การยกร่างรัฐธรรมนูญฯ นี้เป็นผลงานของกรมหมื่นเทวะวงศ์วโรปการ เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ โดยน้อมรับพระราชกระแสรับสั่งจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ในการนี้ เสนาบดีได้ปรึกษากับปลัดทูลฉลอง [พระยาศรีวิสารวาจา-ผู้แปล] และที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศ [เรย์มอนด์ บี. สตีเวนส์, Raymond B. Stevens-ผู้แปล] ยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้น โดยที่การยกร่างรัฐธรรมนูญฯ นี้ถือเป็นความลับชั้นสูงสุด ดังนั้นจึงไม่มีใครล่วงรู้เลยว่า การยกร่างรัฐธรรมนูญได้สำเร็จเรียบร้อยและอยู่ในพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ
เรื่องที่เป็นความลับและไม่มีใครล่วงรู้ได้ดังกล่าวนี้นับเป็นโชคชะตาของประเทศไทย
อำนาจตกอยู่ในมือเจ้านาย
พระบรมราโชบายภายหลังการเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ที่มีความสำคัญมากกว่าการปฏิรูประบบองคมนตรี ได้แก่ การจัดตั้งอภิรัฐมนตรีสภา อภิรัฐมนตรีสภานี้ประกอบด้วยเจ้านายชั้นสูงจำนวน ๔-๖ พระองค์ และเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่กำหนดนโยบายสูงสุดของประเทศ โดยอยู่เหนือกว่าคณะเสนาบดี เรื่องนี้ไม่มีคำอธิบายอย่างเป็นทางการว่าเพราะเหตุใดพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ จึงทรงจัดตั้งอภิรัฐมนตรีสภาขึ้นทันทีภายหลังจากเสด็จขึ้นครองราชย์ แต่ผู้เขียนมีความเข้าใจว่า เพราะพระองค์เป็นพระอนุชาพระองค์เล็กของพระมหากษัตริย์พระองค์ก่อน รวมทั้งได้เสด็จขึ้นครองราชย์อย่างกะทันหัน ฉะนั้นจึงทรงต้องการการสนับสนุนจากเจ้านายชั้นสูง เพื่อให้การปฏิรูปในหลายสิ่งหลายประการประสบความสำเร็จ รวมทั้งการปฏิรูปการเมืองใหม่ด้วย
การจัดตั้งอภิรัฐมนตรีสภานี้ ในระยะแรกประชาชนทุกคนมีความปลื้มปีติ เพราะเป็นปฏิกิริยาต่อการเล่นพวกพ้องและการประจบสอพลอในสมัยรัชกาลก่อน อย่างไรก็ดีข้อบกพร่องของการเมืองมิได้มีสาเหตุมาจากระบบ แต่อยู่ที่ตัวบุคคลที่ใช้ระบบนั้น ดังจะเห็นได้ว่าภายหลังจากการจัดตั้งอภิรัฐมนตรีสภาขึ้นแล้ว ฐานะและอำนาจทางการเมืองของเจ้านายทวีเพิ่มขึ้นเป็นอันมาก นอกจากนั้นตำแหน่งของอภิรัฐมนตรีสภา โดยกฎหมายได้กำหนดไว้ว่าเป็นตำแหน่งเฉพาะของบรรดาเจ้านายเท่านั้น และตำแหน่งเสนาบดีต่างๆ ก็ตกเป็นของเจ้านายเพิ่มขึ้น ดังจะเห็นได้ว่าเมื่อเกิดการปฏิวัติ ๑๙๓๒ ตำแหน่งเสนาบดีรวม ๙ ตำแหน่งนั้น ปรากฏว่า ๖ ตำแหน่งเป็นของเจ้านาย เพราะฉะนั้นในสมัยรัชกาลก่อน บรรดาพวกข้าราชการที่ประจบสอพลอประมาณ ๒-๓ คนมีอำนาจ และถูกวิพากษ์วิจารณ์มาก แต่ครั้นมาถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ปรากฏว่าพวกเจ้านายได้ใช้อำนาจปกครองตามอำเภอใจ ตำแหน่งสำคัญๆ ของรัฐบาลมีลักษณะผูกขาดโดยบรรดาพวกเจ้านาย การเมืองสยามในสมัยนั้นไม่ใช่ว่าจะเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่โดยแท้จริงแล้วเป็นระบอบคณาธิปไตยของพวกเจ้านายเสียมากกว่า และเมื่อจำต้องมีการเลื่อนชั้นข้าราชการตำแหน่งสำคัญๆ ปรากฏว่ามีการใช้เส้นสายเป็นอันมาก ความไม่พอใจของบรรดาข้าราชการพลเรือนและทหารจึงทวีเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้เสนาบดีที่เป็นเจ้านายบางพระองค์ได้ปรากฏข่าวลือว่ามีการใช้ตำแหน่งเสนาบดีแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน และผู้เขียนเคยได้ยินว่ามีคนวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของรัฐบาลว่าเป็นเรื่องแปลกใหม่ แต่ไม่มีความเหมาะสมกับประเทศสยาม ซึ่งพวกเจ้านายบางพระองค์ได้พยายามผลักดันนโยบายที่แปลกใหม่นั้นเพื่อความพึงพอใจของตนเองเป็นสำคัญ และไม่สนใจการสูญเสียผลประโยชน์ของประชาชน ข่าวลือประเภทนี้เราไม่สามารถหาหลักฐานได้ในทุกกรณี แต่เรื่องทำนองนี้ก็มีความสำคัญอยู่ที่ว่า การปรากฏของข่าวลือนั้นแสดงถึงความไม่พึงพอใจของประชาชนต่อการปกครองของเจ้านาย มากกว่าจะเป็นประเด็นว่าเรื่องข่าวลือนั้นมีความจริงหรือไม่
วิธีการแก้ไขความเสื่อมโทรมทางการเมืองของเจ้านายนั้น ปรากฏว่าไม่มีการดำเนินการเลยในช่วงเวลานั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ผู้ทรงตั้งพระราชหฤทัยที่จะปฏิรูปการเมืองในสมัยต้นรัชกาล พระองค์ทรงมีพระพลานามัยไม่สมบูรณ์ เพราะฉะนั้นแนวโน้มของระบอบคณาธิปไตยของเจ้านายที่เลวร้ายจึงพอกพูนและทวีสะสมขึ้น และถึงแม้นว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ จะทรงมีแนวพระราชดำริแบบเสรีนิยม พระองค์ทรงมีความเข้าใจความเป็นไปของโลก อีกทั้งมีพระราชประสงค์จะสถาปนาระบอบรัฐธรรมนูญราชาธิปไตยขึ้น แต่ผู้ที่มีอำนาจในอภิรัฐมนตรี ซึ่งเป็นเจ้านายชั้นสูง ส่วนใหญ่กลับมีความคิดแบบอนุรักษนิยม ที่ต้องการรักษาสถานภาพแบบเดิมเอาไว้ทั้ง ๒ ด้าน ด้านหนึ่ง คือการเมืองภายใน อีกด้านหนึ่ง คือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การสถาปนาระบอบรัฐธรรมนูญราชาธิปไตยในอนาคต ซึ่งโดยหลักการแล้วบรรดาเจ้านายชั้นสูงก็คงไม่คัดค้าน แต่ก็มีปัจจัยหลายสิ่งหลายอย่างทำให้พวกเจ้านายชั้นสูงปล่อยปละละเลยให้สภาพการณ์แบบเดิมดำรงอยู่ การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองซึ่งต้องอาศัยความกล้าหาญอย่างมาก จึงดูเหมือนว่าจะไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงมีอำนาจมากที่สุด ทรงเป็นจอมพลทั้งทหารบกและทหารเรือ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย และเป็นผู้ที่มีอำนาจมากที่สุดในอภิรัฐมนตรีสภา พระองค์ทรงเป็นเจ้าฟ้าต่างพระมารดาของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ และที่สำคัญพระองค์ทรงถูกมองว่าเป็นตัวแทนของกลุ่มอนุรักษนิยม
บรรยากาศที่ต้องการ
การเปลี่ยนแปลง
สถานการณ์รอบข้างพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ เป็นดังกล่าวข้างต้น ส่งผลให้ผู้คนเกิดมีความสงสัยกันว่าพระองค์ทรงมีความสามารถต่อสู้กับแรงกดดันที่ไม่เห็นด้วยกับการปฏิรูปการเมืองได้หรือไม่ และจะทรงตัดสินพระทัยด้วยพระองค์เองเพื่อปฏิรูปการเมืองได้หรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนทั่วไปก็ไม่ได้รับการฝึกฝนทางด้านการเมือง ไม่มีอิสรภาพในการพูด ฉะนั้นการอาศัยวิธีการปฏิรูป คือทำตามกระบวนการกฎหมายด้วยวิธีการสันติ โดยการปลูกฝังที่จะให้มีการแสดงประชามติเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการปฏิรูปนั้น ผู้เขียนมีความเห็นว่า รอไปอีก ๑๐๐ ปี ก็ไม่มีวันสำเร็จ เพราะฉะนั้นจึงไม่มีวิธีการใดนอกจากการลุกขึ้นกระทำการโดยตรงและขับไล่บรรดาเจ้านายอนุรักษนิยมสุดขั้วให้ออกจากตำแหน่ง และบีบบังคับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ให้ทรงยอมรับการเปลี่ยนแปลง ความคิดนี้เป็นความเห็นของบรรดาพวกก้าวหน้ารุ่นหนุ่ม และความขัดแย้งทางความคิดระหว่างกลุ่มอนุรักษนิยมกับพวกก้าวหน้าจึงปรากฏขึ้น
ลักษณะก้าวหน้าของกลุ่มก้าวหน้าหมายความว่าอะไร เรื่องนี้พิจารณาได้ ๒ ด้าน คือด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับด้านของการเมืองภายใน อาจกล่าวได้ว่า ทุกคนมีความเห็นพ้องกันว่าประเทศสยามเป็นประเทศเอกราช แต่ว่าประเทศสยามสามารถกระทำการได้ด้วยตนเอง โดยไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของประเทศมหาอำนาจในด้านการเมืองและเศรษฐกิจหรือไม่ เรื่องนี้น่าสงสัยอยู่เป็นอย่างมาก ถ้าประเทศสยามไม่มีความสามารถเช่นว่านั้นจริงๆ ความเป็นเอกราชของสยามก็เป็นเพียงแต่ชื่อ การปลดปล่อยประเทศสยามให้หลุดพ้นจากอิทธิพลและการบังคับจากต่างชาติ จึงมีความหมายว่าเป็นการฟื้นฟูความเป็นเอกราชของประเทศสยามอย่างแท้จริง ความสำเร็จของการแก้ไขปัญหาที่กล่าวมานี้เป็นเงื่อนไขที่จำเป็นอย่างยิ่งยวด เพื่อทำให้สวัสดิภาพและการพัฒนาของประเทศสยามบรรลุผล ในขณะนั้นนักการเมืองเจ้านายซึ่งตกเป็นทาสของความคิดอนุรักษนิยม และดำรงชีพแบบวันต่อวันโดยรักษาสถานภาพเดิมเอาไว้ การฟื้นฟูเอกราชในทางการเมืองและเศรษฐกิจของประชาชาติ จึงไม่มีความหวังสำหรับการฟื้นฟูอิสรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจ จึงมีความจำเป็นในประการแรก คือการโค่นล้มนักการเมืองเจ้านาย ผู้มีจิตใจแบบอนุรักษนิยม
ประเทศสยามได้รับผลกระเทือนจากเศรษฐกิจตกต่ำหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ ค่อนข้างน้อย แต่ความตกต่ำทางเศรษฐกิจมีความต่อเนื่องและทวีเพิ่มขึ้นทีละเล็กละน้อย ในปี ๑๙๓๐ การส่งออกข้าว ซึ่งเป็นสินค้าสำคัญที่สุดของประเทศสยามซบเซา และราคาข้าวก็ตกต่ำลงอย่างมาก ชีวิตของประชาชนจึงไร้เสถียรภาพ และรัฐบาลก็ขาดรายได้เป็นจำนวนมหาศาล จนถึงปีงบประมาณ ๑๙๓๒ ปรากฏว่าการจัดงบประมาณมีความยากลำบาก จนถึงระดับนี้รัฐบาลก็ตัดสินใจชะลอโครงการต่างๆ และประหยัดรายจ่ายของรัฐบาลลง รวมทั้งได้ตัดสินใจปลดข้าราชการจำนวนมาก และเริ่มเก็บภาษีใหม่หลายชนิด หรือไม่ก็เพิ่มภาษีมากขึ้น ในช่วงเวลานี้รัฐบาลได้กล่าวย้ำหลายวาระว่าประชาชนต้องเสียสละเพื่อความอยู่รอดในสถานการณ์ที่ยากลำบาก แต่เรื่องที่รัฐบาลควรจะเปิดเผยมาก่อนหน้านี้ คือสถานะทางการคลังของประเทศเพื่อขอความเห็นใจจากประชาชนก็ไม่ได้กระทำ ฉะนั้นความไม่พอใจของชนชั้นที่มีทรัพย์และมีการศึกษาจึงเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน บางคนยื่นหนังสือถวายฎีกาเพื่อขอพระมหากรุณาและแสดงความคิดเห็น มีข้อเสนอว่ามาบัดนี้มีความจำเป็นให้ประชาชนผู้เสียภาษีมีส่วนร่วมทางการเมือง การปรากฏของข้อคิดเห็นแบบนี้ แสดงข้อเท็จจริงประการหนึ่งว่า บรรดาพวกเจ้านายได้ผูกขาดอำนาจการเมืองและอยู่ในฐานะมั่งคั่ง โดยไม่มีท่าทีสนใจความเป็นอยู่ของประชาชน ความไม่พอใจสะสมมากขึ้น โดยเหตุนี้เพื่อการปรับปรุงสถานะทางการเมือง เศรษฐกิจของประชาชนในสถานการณ์นั้นจึงมีความจำเป็นต้องปฏิรูปการเมืองอย่างฉับพลัน การโค่นล้มอำนาจของพวกเจ้านาย จึงเป็นวิธีการเดียวที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
สรุปแล้ว สาเหตุแท้จริงการปฏิวัติ ๑๙๓๒ ก็คือการใช้อำนาจตามอำเภอใจ และการไร้ความสามารถของการปกครองของเจ้านายทั้งในทางการเมืองภายในประเทศ และในการจัดความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ความไม่พอใจต่อปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำที่สะสมมามาก และปัญหาการคลังก็เป็นชนวนระเบิดของการเปลี่ยนแปลงโดยฉับพลันครั้งนี้
การฉลอง ๑๕๐ ปี
ของราชวงศ์จักรี
วันที่ ๖ เมษายนของทุกปี เป็นวันที่รัชกาลที่ ๑ ซึ่งเป็นปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์ปัจจุบันเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ ฉะนั้นวันที่ ๖ เมษายนของทุกปีจึงมีงานรัฐพิธี อย่างไรก็ดี วันที่ ๖ เมษายน ในปี ๑๙๓๒ ถือได้ว่าเป็นวันครบรอบ ๑๕๐ ปีของราชวงศ์จักรีด้วย ฉะนั้นจึงได้มีการเตรียมการจัดงานต่างๆ ล่วงหน้ามาก่อน ๒-๓ ปีแล้ว และการจัดงานในปี ๑๙๓๒ ก็เป็นไปอย่างใหญ่โตมโหฬาร เฉพาะอย่างยิ่งในเขตกรุงเทพฯ นอกจากนี้ยังมีพิธีเปิดสะพานพระพุทธยอดฟ้า ซึ่งเชื่อมกรุงเทพฯ กับฝั่งธนบุรี โดยใช้งบประมาณก่อสร้างมหาศาลจำนวน ๒ ล้านบาท เป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งแรก สะพานนี้ออกแบบมาให้สามารถเปิดและปิดเพื่อให้เรือเดินผ่านได้ ขณะเดียวกันในแม่น้ำเจ้าพระยาของวันนั้นยังมีการแสดงแสนยานุภาพของกองทัพเรือ โดยกองทัพเรือจะได้เดินเรือผ่านสะพานนี้เป็นครั้งแรกด้วย
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงฉลองพระองค์แบบโบราณราชประเพณี พระองค์ทรงช้างเครื่อง พระราชินีร่วมเสด็จพระราชดำเนินตามขบวน เมื่อมาถึงบริเวณปะรำพระราชพิธี พระองค์เสด็จประทับรถยนต์ทางด้านหน้า ทางด้านข้างและด้านหลังของขบวนเสด็จฯ มีเหล่าขบวนประกอบพิธี และมีเครื่องดนตรี มีทหารราบ ทหารม้า ทหารปืนใหญ่ ทหารช่าง ทุกหมู่เหล่าแต่งเครื่องแบบเต็มยศร่วมขบวนเสด็จฯ ด้วย ขบวนเสด็จฯ นี้ดำเนินไปอย่างเรียบร้อยและมีระเบียบ นอกจากนี้ในปะรำพิธีมีเจ้านายทุกระดับ และมีข้าราชการทั้งพลเรือนและทหาร ซึ่งมีชื่อเสียงทั้งที่อยู่ในตำแหน่งและนอกตำแหน่ง มีอัครราชทูตจากทุกประเทศ เจ้าหน้าที่การทูตและกงสุลต่างๆ เข้าร่วมพิธี ทุกคนแต่งเครื่องแบบเต็มชั้นยศ รวมทั้งมีการประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่แวววาวและมีสีทองสวยงาม บรรดานายทหารประดับอาวุธ หรือไม่ก็ดาบประจำตำแหน่งและสวมหมวก ทั้งปะรำพิธี และบริเวณประกอบพิธีเต็มไปด้วยสิ่งต่างๆ ดังกล่าว
เดือนเมษายนเป็นฤดูที่ร้อนที่สุดของประเทศสยาม กล่าวคือ มีอุณหภูมิ ๑๖๐ ฟาเรนไฮต์ ทั้งๆ ที่มีอากาศร้อนแบบนี้ ปรากฏว่าบริเวณริมถนนทั้งสองข้างทางมีประชาชนแห่แหนมาเฝ้ารับเสด็จฯ เนืองแน่นไปหมด มีเสียงไชโยดังมาจากทั้งไกลและใกล้ ดูเหมือนว่าจะเป็นรัฐพิธีใหญ่ที่สุด และมีผู้ร่วมรัฐพิธีมากที่สุดของราชวงศ์นี้ ผู้คนที่อยู่ในตำแหน่งและอยู่ในระดับล่างต่างพากันสรรเสริญพระบารมี เหมือนกับว่าเป็นเครื่องแสดงความเจริญและการวัฒนาขั้นสูงสุดของการปกครองของพวกเจ้านาย คนที่เห็นสภาพการณ์ดังกล่าวแล้ว มีใครบ้างจะประเมินได้ว่าจะมีการปฏิวัติเกิดขึ้นในเวลา ๓ เดือนต่อมา
หลังจากทำรัฐพิธีเปิดสะพานพระพุทธยอดฟ้าแล้ว ที่บริเวณสนามหลวงก็ยังมีพระราชพิธีบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในพระราชพิธีนั้น นอกจากพระที่นั่งแล้ว มีปะรำพิธีสำหรับเจ้านาย นักการทูต และข้าราชการ และมีมณฑปตั้งอยู่ทางด้านพระบรมมหาราชวัง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ เสด็จขึ้นไปบนมณฑป ทรงจุดธูปเทียน และทรงกราบพระพุทธรูป ในทางทิศนั้นมองไปแล้วเห็นวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือวัดพระแก้ว อันเป็นสถานที่เก็บพระบรมอัฐิของพระมหากษัตริย์พระองค์ก่อนๆ ในวันนั้นอากาศแจ่มใส แต่มีลมเล็กน้อย ลมที่พัดมาเล็กน้อยทำให้ผู้ร่วมพิธีที่แต่งตัวเต็มยศและมีเหงื่อไหล เกิดมีความสบายในอารมณ์ อย่างไรก็ดีลมที่พัดมานั้นได้ทำให้ไฟที่จุดเทียนดับลง แม้นว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงพยายามหลายครั้ง แต่ก็ไม่สามารถที่จะทำให้ทรงจุดเทียนที่เตรียมไว้ทั้งหมดได้ ในพิธีสำคัญอย่างนี้ ผู้เขียนมีความเห็นว่าควรจะมีฉากกั้นลม แต่ก็ไม่มีใครเตรียมการไว้ ฉะนั้นถ้าย้อนหลังกลับไปพินิจดู เรื่องนี้แสดงลางบอกเหตุ ซึ่งหลังจากนั้นอีกไม่ถึง ๓ เดือน การปฏิวัติก็ถือกำเนิดขึ้น
กลางเดือนมีนาคม ๑๙๓๒ ซึ่งกำลังมีการเตรียมพิธีการใหญ่อยู่นั้น ได้เกิดมีข่าวลือออกมาบ่อยๆ ว่ามีคนวางแผนจะก่อการไม่สงบ โดยอาศัยความชุลมุนวุ่นวายของงานฉลองพระนคร ๑๕๐ ปี ข่าวลือแบบนี้ทำให้จิตใจของผู้คนทั่วไปมีความกังวลใจ เรื่องนี้เป็นความจริง แต่ว่าพิธีการใหญ่ที่ดำเนินการติดต่อกัน ๕ วัน โดยที่มีวันที่ ๖ เมษายน เป็นช่วงกลางของงาน ก็สิ้นสุดลงด้วยความเรียบร้อย และไม่มีเหตุการณ์ร้ายแรงอะไรเกิดขึ้น แต่ว่าเรื่องนี้ผู้เขียนได้รับทราบภายหลังว่ามีแผนการที่จะก่อการปฏิวัติในช่วงพิธี โดยอาศัยช่องว่างที่ข้าราชการและประชาชนกำลังชุลมุนกับงานพิธีเป็นประโยชน์ในการก่อการปฏิวัติ แต่กลุ่มผู้วางแผนการปฏิวัติสำนึกว่าในช่วงงานพิธีนั้นมีประชาชนหลายหมื่นคนรวมทั้งคนต่างชาติเข้าร่วมงาน ถ้าหากเกิดการปฏิวัติขึ้นในโอกาสนั้น ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดเรื่องที่น่ากลัวขึ้น การปฏิวัติในช่วงเวลานั้นจึงถูกระงับไป
การยึดอำนาจของคณะราษฎร
ช่วงเช้าตรู่ของวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๑๙๓๒ การเรียกร้องให้มีการปกครองโดยรัฐธรรมนูญก็ระเบิดขึ้นในที่สุด ผู้เขียนรับทราบเรื่องในภายหลังว่า สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้รับรายงานบ่อยครั้งว่ามีสถานการณ์ไม่น่าไว้วางใจในกองทัพอยู่ แต่พระองค์ท่านทรงไม่สนใจเรื่องดังกล่าวนี้เลย เพราะพระองค์ท่านทรงคิดว่าคนที่พลาดการใช้โอกาสในเหตุการณ์ชุลมุนเมื่องานฉลองพระนคร ๑๕๐ ปี คงจะไม่มีความสามารถก่อการปฏิวัติได้ แต่ในที่สุดอธิบดีกรมตำรวจภูธร [พระยาอธิกรณ์ประกาศ-ผู้แปล] ได้เสนอรายงานหลายครั้ง ก็เลยมีการเตรียมการที่จะจับกุมผู้ต้องสงสัยพร้อมกันในเวลา ๑๑ นาฬิกา ของวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๑๙๓๒ แต่พวกคณะปฏิวัติก็ได้ชิงลงมือกระทำการเสียก่อนเพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนที่จะถูกจับกุม เรื่องที่ทางฝ่ายรัฐบาลดูแคลนข่าวลือเรื่องการปฏิวัตินี้ ผู้เขียนมีความเห็นว่าเป็นการแสดงให้เห็นถึงความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลในระบอบเก่า
ฝ่ายปฏิวัติเป็นนายทหารของกองทัพบก ตั้งแต่ระดับนายพันเอกลงมา นายทหารของกองทัพเรือ และข้าราชการพลเรือนหนุ่มของกระทรวงยุติธรรม เป็นต้น และพวกที่เคยเข้าร่วมการปฏิวัติแผนการปฏิวัติที่ล้มเหลวเมื่อ ๒๐ ปีก่อน ก็เข้ามาร่วมด้วย โดยเริ่มต้นขบวนการของฝ่ายก้าวหน้ามีลักษณะเป็นต่างกลุ่มต่างคิดในเรื่องแผนการการปฏิรูปการเมือง แต่ความคิดของหลายกลุ่มนั้นสามารถประสานกันได้ด้วยสาเหตุใดสาเหตุหนึ่ง เรื่องนี้ทำให้การรวมตัวจัดตั้งเป็นคณะราษฎรสำเร็จขึ้น
จนถึง ๘ โมงเช้าของวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๑๙๓๒ ข่าวการปฏิวัติได้แผ่กระจายไปทั่วกรุงเทพฯ เหมือนกับมีเสียงข่าววิทยุ แต่ว่ากลุ่มใดทำเรื่องอะไร และต่อไปสถานการณ์จะเป็นอย่างไรบ้างนั้น ประชาชนยังคงมีความคลุมเครือ และยังคงดำเนินชีวิตตามปกติ ยกเว้นแต่สถานที่สำคัญที่ใกล้ๆ กับวังของเจ้านาย มีรถถังและกองกำลังทหารรักษาพื้นที่อย่างเข้มงวด ส่วนในร้านค้าทั่วไปยังคงเปิดร้านเหมือนปกติ ไม่มีเสียงปืนดังขึ้นสักครั้งหนึ่งเลย แต่สีหน้าของประชาชนแสดงความตื่นเต้นอยู่บ้าง แต่ว่าสภาพการณ์ของเมืองโดยทั่วไปไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ยกเว้นในบริเวณที่ใกล้วังของเจ้านาย หลังจากนั้นอีกสองสามชั่วโมงจึงรู้ได้ว่าพวกปฏิวัติกลุ่มหนึ่งซึ่งเคยมีข่าวลือออกมานั้นใช้ชื่อว่าคณะราษฎร ได้เริ่มลงมือในช่วงหลังเที่ยงคืน และบุกเข้าไปจับเจ้านายตั้งแต่เช้ามืดนำตัวมาคุมขัง
ฝ่ายปฏิวัติซึ่งประกอบกันขึ้นจากฝ่ายพลเรือนและทหารรวมกันเป็นคณะราษฎร ได้เรียกร้องให้กองทัพบก กองทัพเรือ และผู้บังคับบัญชาการกองกำลังต่างๆ เข้าร่วมกับกองกำลังฝ่ายปฏิวัติ แต่ในช่วงเวลานั้นกองทัพบกและกองทัพเรือเข้าร่วมโดยไม่มีความลังเลใจ ยกเว้นพระยาเสนาสงคราม ผู้บัญชาการกองพลที่ ๑ รักษาพระองค์ ที่ไม่เข้าร่วม จึงถูกยิงในการปฏิวัติในช่วงนั้น มีข่าวลือว่าถูกยิงตายคาที่ แต่ที่จริงถูกยิงทะลุที่ขาเท่านั้น เรื่องนี้เป็นเพียงเหตุการณ์เดียวที่มีการนองเลือดในการปฏิวัติ [ในงานเขียนของยาตาเบกล่าวว่า คณะราษฎรได้บังคับให้พระยาเสนาสงครามเรียกระดมทหารให้มาชุมนุมกัน ซึ่งไม่ถูกต้องกับข้อเท็จจริง ในที่นี้ผู้แปลได้แก้ไขข้อความไปเฉพาะในส่วนนี้-ผู้แปล]
ส่วนหนึ่งของทหารม้าและทหารปืนใหญ่ที่เข้าร่วมในการปฏิวัตินั้น ได้ร่วมกันปลดอาวุธของกองกำลังรักษาพระองค์ ในประมาณ ๕ นาฬิกา ได้ส่งกองกำลังส่วนหนึ่งถึงอธิบดีกรมตำรวจภูธรแจ้งเรื่องการยึดอำนาจและจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ในขณะเดียวกันได้ส่งกองกำลังเข้าล้อมวัง [วังบางขุนพรหม ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของธนาคารแห่งประเทศไทย-ผู้แปล] อันเป็นสถานที่ประทับของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย อธิบดีกรมตำรวจภูธรได้รายงานเรื่องต่างๆ ให้สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตทรงทราบ และได้จัดส่งกำลังตำรวจเพื่อรักษาพระองค์ แต่ก็ล่าช้าไม่ทันการณ์ เพราะว่าวังของพระองค์ได้ถูกห้อมล้อมโดยทหารม้าและทหารราบ ในที่นั้นได้เกิดมีการยิงกันระหว่างทหารกับตำรวจ แต่ทั้ง ๒ ฝ่ายไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ วังของกรมพระนครสวรรค์ฯ นี้มีขนาดใหญ่มโหฬารตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา พระองค์ท่านทรงได้ยินเสียงปืนที่ดังขึ้นหน้าประตูวัง และทรงพยายามหลบหนีไปทางด้านหลังโดยอาศัยเรือ แต่ในแม่น้ำเจ้าพระยานั้นมีเรือปืนของกองทัพเรือ ๒ ลำ ซึ่งอยู่ฝ่ายคณะปฏิวัติทอดสมอจอดอยู่ ฝ่ายทหารเรือได้ติดตามการเคลื่อนไหวภายในวังในท่ามกลางของหมอกในตอนเช้า กองกำลังของฝ่ายปฏิวัติซึ่งบุกเข้าไปทางประตูหน้าของวัง ได้จับกุมสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตได้โดยไม่ยากลำบาก และนำพระองค์ขึ้นรถบรรทุกทหารโดยทรงนั่งในแถวหน้าคนขับ ในช่วงนั้นพระองค์ท่านทรงชุดนอน และถูกฝ่ายปฏิวัตินำไปขังไว้ที่ห้องโถงชั้น ๒ ของพระที่นั่งอนันตสมาคม พระที่นั่งอนันตสมาคมนี้เป็นพระราชวังที่หรูหรามาก สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ โดยใช้เงินก่อสร้าง ๘ ล้านบาท โดยวัสดุหินอ่อนสีขาวที่สั่งมาจากประเทศอิตาลี และจ้างนายช่างอิตาลีออกแบบในสไตล์แบบเรอเนซองส์ คนไทยโดยทั่วไปมีความภูมิใจเป็นอย่างมากว่าเป็นพระราชวังที่มีความสวยงามที่สุด และไม่มีอาคารใดในเขตตะวันออกนับตั้งแต่คลองสุเอซเป็นต้นมาเปรียบเทียบได้ ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้น พระราชพิธีต่างๆ ที่สำคัญมักจะกระทำ ณ พระที่นั่งแห่งนี้ ตัวอย่างเช่น การมอบสารตราตั้งของอัครราชทูตต่างประเทศ ก็ทำที่ห้องโถงของพระราชวังแห่งนี้ การประชุมของอภิรัฐมนตรีสภา รวมทั้งของเสนาบดีสภา ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงเป็นประธานที่ประชุม ก็จัดประชุมกันที่พระที่นั่งนี้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ประทับอยู่ในกรุงเทพฯ จะมีธงประจำพระองค์ ซึ่งมีพื้นเหลืองและมีครุฑสีแดง ยกขึ้นเหนือโดมของพระที่นั่ง อย่างไรก็ดีในเช้าของวันนั้น พระที่นั่งอนันตสมาคมได้กลายเป็นสถานที่คุมขังพวกเจ้านาย ซึ่งพวกคณะราษฎรได้จับกุมสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยานครสวรรค์วรพินิต สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ และสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งเป็นอภิรัฐมนตรี นำมาคุมขัง และอธิบดีกรมตำรวจภูธร พระยาอธิกรณ์ประกาศ ก็ถูกจับกุมและนำมาคุมขังไว้ที่นี้ด้วย
ช่วงเวลาเช้า พระบรมมหาราชวังถูกล้อมโดยกำลังทหาร กองกำลังรักษาพระองค์ ซึ่งรักษาพระบรมมหาราชวังอยู่ได้ถูกปลดอาวุธประจำกาย ข้าราชการกระทรวงวังที่มีปฏิภาณไหวพริบบางคน ได้หลบหนีออกจากพระบรมมหาราชวังโดยไม่ใส่รองเท้า ไปหาเสนาบดีกระทรวงวัง [คือเจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์-ผู้แปล] กับสมุหพระราชมณเฑียร [พระยาสุริวงศ์วิวัฒน์-ผู้แปล] ซึ่งท่านหลังนี้ได้รายงานให้สมเด็จฯ กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ซึ่งประทับนอนชั่วคราวอยู่ใกล้ๆ ให้ทรงทราบ สมเด็จฯ กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธินทรงเป็นอภิรัฐมนตรี และเป็นเสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม รวมทั้งเป็นผู้บังคับบัญชากรมรถไฟด้วย เมื่อพระองค์ทรงทราบข่าวร้ายดังกล่าวแล้ว พระองค์ก็ได้ทรงรีบเสด็จไปยังสถานีรถไฟที่ตั้งอยู่กลางกรุงเทพฯ พร้อมด้วยสมุหพระราชมณเฑียร ได้บัญชาการให้รวบรวมหัวรถจักรหลายคัน เดินรถไฟไปยังทิศใต้ ใช้เวลา ๖ ชั่วโมง ถึงพระราชวังไกลกังวล หัวหิน และถวายรายงานให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงทราบเป็นครั้งแรก ซึ่งพระองค์ยังไม่ทราบเรื่องอะไรเลย ในขณะที่พระองค์ได้ทรงใช้เวลาในช่วงนั้นพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญพระราชทานอยู่
การเรียกร้องและประกาศ
ของคณะราษฎร
คณะราษฎรซึ่งร่วมมือกันอย่างแนบแน่นระหว่างฝ่ายทหารบกกับฝ่ายทหารเรือได้ลงมือแบบฟ้าผ่า จับกุมบุคคลสำคัญตั้งแต่สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตลงมาตลอดจนเจ้านายชั้นสูง รวมทั้งข้าราชการชั้นสูง เช่น อธิบดีกรมตำรวจภูธร เป็นต้น ยึดอำนาจในเขตพระนครในเวลาพริบตา ฝ่ายปฏิวัติได้ประกาศตั้งรัฐบาลใหม่ ในบริเวณชั้นล่างของพระที่นั่งอนันตสมาคม โดยที่ชั้นบนเป็นสถานที่กักขังเจ้านายไว้ และได้ทูลเกล้าฯ ถวายหนังสือกราบบังคมทูลอย่างเป็นทางการถึงพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ โดยทันที ซึ่งเนื้อหาภายในของหนังสือกราบบังคมทูลมีความว่า
"...ด้วยคณะราษฎร ข้าราชการพลเรือนทหารได้ยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินไว้แล้ว และได้เชิญสมเด็จพระบรมวงศานุวงศ์ มีสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต เป็นต้น ไว้เป็นตัวประกัน ถ้าหากคณะราษฎรนี้ถูกทำร้ายด้วยประการใดๆ ก็จะต้องทำร้ายเจ้านายที่จับกุมไว้เป็นการตอบแทน คณะราษฎรไม่ประสงค์จะแย่งชิงราชสมบัติแต่อย่างใด ความประสงค์อันยิ่งใหญ่ก็เพื่อจะให้มีธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน จึงขอเชิญใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทเสด็จกลับคืนสู่พระนครและทรงเป็นกษัตริย์ต่อไป โดยอยู่ใต้ธรรมนูญปกครองแผ่นดิน ซึ่งคณะราษฎรได้สร้างขึ้น ถ้าใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทตอบปฏิเสธก็ดี หรือไม่ตอบภายในหนึ่งชั่วนาฬิกา นับแต่ได้รับหนังสือนี้ก็ดี คณะราษฎรก็จะได้ประกาศใช้ธรรมนูญปกครองแผ่นดิน โดยเลือกเจ้านายพระองค์อื่นที่เห็นสมควรขึ้นเป็นกษัตริย์..."
ผู้ลงนามในหนังสือนั้นคือ พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา พันเอก พระยาทรงสุรเดช และพันเอก พระยาฤทธิอัคเนย์ ผู้นำสาส์นนั้นขึ้นเรือหลวงสุโขทัย ซึ่งมีทหารบก ๑๒๐ คน และทหารเรือ ๗๕ คน เรือมุ่งไปยังพระราชวังไกลกังวล หัวหิน ในขณะเดียวกันได้มีการแจกจ่ายใบปลิวประกาศ "คณะราษฎร" ออกไปในเขตกรุงเทพฯ โดยมีใจความว่า คณะราษฎรได้จับกุมเจ้านายแล้ว ถ้ามีบุคคลต่อต้านคณะราษฎร จะถูกปราบปราม และไม่รับรองความปลอดภัยในชีวิตของเจ้านาย ในขณะเดียวกันได้มีประกาศคณะราษฎรที่มีการจัดพิมพ์เรียบร้อย และมีเนื้อหายืดยาว ประกาศนี้แสดงความรู้สึกของคณะราษฎรต่อระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างไม่ปิดบัง ในที่นี้ผู้เขียนขอยกคำประกาศคณะราษฎร ที่มีเนื้อหาความดังต่อไปนี้
"...เมื่อกษัตริย์องค์นี้ได้ครองราชสมบัติสืบต่อพระเชษฐานั้น ในชั้นต้นราษฎรได้หวังกันว่า กษัตริย์องค์ใหม่นี้คงจะปกครองราษฎรให้ร่มเย็น แต่การณ์หาเป็นไปตามความหวังที่คิดไม่ กษัตริย์คงทรงอำนาจอยู่เหนือกฎหมายตามเดิม ทรงแต่งตั้งญาติวงศ์และคนสอพลอไร้คุณงามความรู้ให้ดำรงตำแหน่งที่สำคัญๆ ไม่ทรงฟังเสียงราษฎร ปล่อยให้ข้าราชการใช้อำนาจหน้าที่ในทางทุจริต มีการรับสินบนในการก่อสร้าง ซื้อของใช้ในราชการ หากำไรในการเปลี่ยนราคาเงิน ผลาญเงินทองของประเทศ ยกพวกเจ้าขึ้นให้สิทธิพิเศษมากกว่าราษฎร ปกครองโดยขาดหลักวิชา ปล่อยให้บ้านเมืองเป็นไปตามยถากรรม ดังที่จะเห็นได้ในความตกต่ำในเศรษฐกิจ และความฝืดเคืองในการทำมาหากิน ซึ่งราษฎรได้รู้กันอยู่ทั่วไปแล้ว รัฐบาลของกษัตริย์เหนือกฎหมายมิสามารถแก้ไขให้ฟื้นขึ้นได้ การที่แก้ไขไม่ได้ก็เพราะรัฐบาลของกษัตริย์นี้มิได้ปกครองประเทศเพื่อราษฎรตามที่รัฐบาลอื่นๆ ได้กระทำกัน รัฐบาลของกษัตริย์ได้ถือเอาราษฎรเป็นทาส (ซึ่งเรียกว่าไพร่บ้างข้าบ้าง) เป็นสัตว์เดรัจฉาน ไม่นึกว่าเป็นมนุษย์ เพราะฉะนั้นแทนที่จะช่วยราษฎรกลับพากันทำนาบนหลังราษฎร จะเห็นได้ว่าภาษีอากรที่บีบคั้นเอาจากราษฎรนั้น กษัตริย์ได้หักเอาไว้ใช้ส่วนตัว ปีหนึ่งเป็นจำนวนหลายล้าน ส่วนราษฎรสิ กว่าจะหาได้แต่น้อยเลือดตาแทบกระเด็น ถึงคราวเสียภาษีราชการหรือภาษีส่วนตัว ถ้าไม่มีเงินรัฐบาลก็ยึดทรัพย์หรือใช้งานโยธา แต่พวกเจ้ากลับนอนกินกันเป็นสุขไม่มีประเทศใดในโลกจะให้เงินเจ้ามากเช่นนี้ นอกจากพระเจ้าซาร์และพระเจ้าไกเซอร์เยอรมัน ซึ่งชนชาตินั้นได้โค่นราชบัลลังก์เสียแล้ว
รัฐบาลของกษัตริย์ได้ปกครองอย่างหลอกลวงไม่ซื่อตรงต่อราษฎร มีเป็นต้นว่าจะบำรุงการทำมาหากินอย่างโน้นอย่างนี้ แต่ครั้นคอยๆ ก็เหลวไป หาได้ทำจริงจังไม่ มิหนำซ้ำกล่าวหมิ่นประมาทราษฎรผู้มีบุญคุณเสียภาษีอากรให้พวกเจ้าได้กิน ว่าราษฎรมีเสียงทางการเมืองไม่ได้ เพราะราษฎรยังโง่ เจ้าก็โง่เพราะเป็นคนชาติเดียวกัน ที่ราษฎรรู้เท่าไม่ถึงเจ้านั้นไม่ใช่เพราะโง่ เป็นเพราะขาดการศึกษาที่พวกเจ้าปกปิดไว้ไม่ให้เรียนเต็มที่ เพราะเกรงว่าราษฎรได้มีการศึกษาก็จะรู้ความชั่วร้ายที่ทำไว้ และคงจะไม่ยอมให้ทำนาบนหลังคน
ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่า ประเทศเรานี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่ของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวง บรรพบุรุษของราษฎรเป็นผู้กู้ให้ประเทศมีอิสรภาพพ้นจากข้าศึก พวกเจ้ามีแต่ชุบมือเปิบและกวาดทรัพย์สมบัติเข้าไว้ตั้งหลายร้อยล้าน เงินเหล่านี้เอามาจากไหน ก็เอามาจากราษฎรเพราะวิธีทำนาบนหลังคนนั่นเอง บ้านเมืองกำลังอัตคัดฝืดเคือง ชาวนาและพ่อแม่ทหารต้องทิ้งนาเพราะทำไม่ได้ผล รัฐบาลไม่บำรุง รัฐบาลไล่คนงานออกอย่างเกลื่อนกลาด นักเรียนที่เรียนสำเร็จแล้ว และทหารที่ปลดกองหนุนไม่มีงานทำจะต้องอดอยากไปตามยถากรรม เหล่านี้เป็นผลของรัฐบาลของกษัตริย์เหนือกฎหมายบีบคั้นข้าราชการผู้น้อยนายสิบและเสมียน เมื่อให้ออกจากงานแล้วไม่ให้เบี้ยบำนาญ ความจริงควรเอาเงินที่กวาดรวบรวมไว้มาจัดบ้านเมืองให้ราษฎรมีงานทำ จึงจะสมควรที่สนองคุณราษฎร ซึ่งได้เสียภาษีอากรให้พวกเจ้าได้ร่ำรวยมานาน แต่พวกเจ้าก็หาได้ทำอย่างใดไม่ คงสูบเลือดกันเรื่อยไป เงินมีเหลือเท่าไรก็เอาฝากต่างประเทศคอยเตรียมหนีเมื่อบ้านเมืองทรุดโทรม ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก การเหล่านี้ย่อมชั่วร้าย
เหตุฉะนั้นราษฎรข้าราชการทหารและพลเรือนที่รู้เท่าถึงการกระทำอันชั่วร้ายของรัฐบาลดังกล่าวแล้ว จึงรวมกำลังตั้งเป็นคณะราษฎรขึ้นและได้ยึดอำนาจของรัฐบาลของกษัตริย์ไว้แล้ว คณะราษฎรเห็นว่าการที่จะแก้ความชั่วร้ายก็โดยที่จะต้องจัดการปกครองโดยมีสภา จะได้ช่วยกันปรึกษาหารือ หลายๆ ความคิดดีกว่าความคิดเดียว ส่วนผู้เป็นประมุขของประเทศนั้น คณะราษฎรไม่มีประสงค์ทำการชิงราชสมบัติ ฉะนั้นจึงขอเชิญให้กษัตริย์องค์นี้ดำรงตำแหน่งกษัตริย์ต่อไป แต่จะต้องอยู่ใต้กฎหมายธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน จะทำอะไรโดยลำพังไม่ได้ นอกจากความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร คณะราษฎรได้แจ้งความเห็นนี้ให้กษัตริย์ทราบแล้ว เวลานี้ยังอยู่ในความรับตอบ ถ้ากษัตริย์ตอบปฏิเสธหรือไม่ตอบภายในกำหนดโดยเห็นแก่ส่วนตน ว่าจะถูกลดอำนาจลงมาก็จะได้ชื่อว่าทรยศต่อชาติ และก็เป็นการจำเป็นที่ประเทศจะต้องมีการปกครองอย่างประชาธิปไตย กล่าวคือ ประมุขของประเทศจะเป็นบุคคลสามัญ ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้ตั้งขึ้น อยู่ในตำแหน่งตามกำหนดเวลา ตามวิธีนี้ราษฎรพึงหวังเถิดว่า ราษฎรจะได้รับความบำรุงอย่างดีที่สุด ทุกๆ คนจะมีงานทำเพราะประเทศของเราเป็นประเทศที่อุดมอยู่แล้วตามสภาพ เมื่อเราได้ยึดเงินที่พวกเจ้ารวบรวมไว้จากการทำนาบนหลังคนตั้งหลายร้อยล้านมาบำรุงประเทศขึ้นแล้ว ประเทศจะต้องเฟื่องฟูขึ้นเป็นแม่นมั่น การปกครองซึ่งคณะราษฎรจะพึงกระทำก็คือ จำต้องจัดวางโครงการอาศัยหลักวิชา ไม่ทำไปเหมือนคนตาบอดเช่นรัฐบาลที่มีกษัตริย์เหนือกฎหมายทำมาแล้ว เป็นหลักใหญ่ๆ ที่คณะราษฎรวางไว้มีอยู่ว่า
๑. จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในทางการเมือง การศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง
๒. จะต้องรักษาความปลอดภัยภายในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก
๓. ต้องบำรุงความสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะจัดหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก
๔. จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอกัน (ไม่ใช่พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่)
๕. จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก ๕ ประการดังกล่าวข้างต้น
๖. จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร
ราษฎรทั้งหลายจงพร้อมใจช่วยคณะราษฎรให้ทำกิจอันคงจะอยู่ชั่วฟ้าดินนี้ให้สำเร็จ คณะราษฎรขอให้ทุกคนที่มิได้ร่วมมือเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลกษัตริย์เหนือกฎหมายพึงตั้งอยู่ในความสงบและตั้งหน้าหากิน อย่าทำการใดๆ อันเป็นการขัดขวางต่อคณะราษฎรนี้ เท่ากับราษฎรช่วยประเทศและช่วยตัวราษฎร บุตร หลาน เหลนของตนเอง ประเทศจะมีความเป็นเอกราชอย่างพร้อมมูล ราษฎรจะได้รับความปลอดภัย ทุกคนจะต้องมีงานทำ ทุกคนจะมีสิทธิเสมอกันและมีเสรีภาพพ้นจากการเป็นไพร่เป็นข้าทาส พวกเจ้าหมดสมัยที่เจ้าจะทำนาบนหลังราษฎร สิ่งที่ทุกคนพึงปรารถนา คือความสุขความเจริญอย่างประเสริฐ ซึ่งเรียกเป็นศัพท์ว่า "ศรีอาริย" นั้นก็จะพึงบังเกิดขึ้นแก่ราษฎรถ้วนหน้า [ผู้แปลใช้เอกสารอ้างอิงจาก สกล เตมิยสูต (รวบรวม). จดหมายเหตุ ประวัติการณ์เปลี่ยนแปลงพระธรรมนูญการปกครองประเทศสยามใหม่. พระนคร : โรงพิมพ์อักษรนิติ, ๒๔๗๕, หน้า ๕-๑๓.]
ถ้าเปรียบเทียบหนังสือกราบบังคมทูลของ ๓ พันเอก กับประกาศคณะราษฎรที่แจกจ่ายในเขตพระนครแล้ว พิจารณาทั้ง ๒ ฉบับ ทุกคนก็คงรู้ได้ทันทีว่า หนังสือที่ทูลเกล้าฯ ถวายถึงพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ เป็นการขอร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นระบอบรัฐธรรมนูญราชาธิปไตย แต่ประกาศคณะราษฎรได้แสดงความคิดว่า หากมีความจำเป็นประเทศสยามอาจปกครองในระบอบสาธารณรัฐ และยังให้ข้อคิดอีกด้วยว่า ระบอบสาธารณรัฐดีกว่าระบอบรัฐธรรมนูญราชาธิปไตย ในความคิดของผู้เขียน ส่วนหนึ่งของคณะราษฎรมีอุดมการณ์สาธารณรัฐนิยมอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะฉะนั้นคำประกาศทำนองนี้จึงถูกร่างขึ้นมา แต่ภายในคณะราษฎรนั้นมีหลายกลุ่ม และมีความคิดเห็นไม่ตรงกันในประเด็นที่ว่า หากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงไม่ตอบตกลงแล้ว วิธีการดำเนินการต่อไปจะเป็นอย่างไร ในที่สุดเมื่อมีการลงมือจริงๆ ข้อเสนอของฝ่ายทหารนั้นได้รับการปฏิบัติ จึงมีแต่การเรียกร้องระบอบรัฐธรรมนูญราชาธิปไตยเพียงประการเดียว หนังสือกราบบังคมทูลถึงพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ จึงปรากฏเป็นเนื้อหาดังกล่าว ส่วนที่เป็นประกาศของคณะราษฎรนั้น ไม่มีเวลาจะปรับปรุงเนื้อหาใหม่ ตามที่ฝ่ายทหารคิดเห็น ในทัศนะของผู้เขียนนั้น การแจกจ่ายประกาศของคณะราษฎรน่าจะเกิดจากการขาดความรอบคอบ อย่างไรก็ตามคำประกาศนี้ได้สร้างช่องว่างที่ประสานได้ยากในโอกาสต่อไประหว่างผู้นำคณะราษฎร กับฝ่ายพระมหากษัตริย์และเจ้านายส่วนหนึ่ง และประกาศนี้เองเป็นจุดเริ่มต้นของการโจมตีจากฝ่ายตรงข้ามว่าคณะราษฎรมีพวกคอมมิวนิสต์อยู่ด้วย ในประกาศดังกล่าวข้างต้นได้กล่าวถึงการยึดทรัพย์สินของเจ้านาย เรื่องนี้ฝ่ายตรงข้ามสามารถยกขึ้นเป็นประเด็น ซึ่งเป็นที่เข้าใจได้ แต่การโจมตีว่ามีฝ่ายคอมมิวนิสต์อยู่ในคณะราษฎรนั้น ผู้เขียนมีความเห็นว่าไม่ตรงกับข้อเท็จจริงแต่ประการใด
เมื่อคณะราษฎรยึดอำนาจในเขตพระนครได้แล้ว ในบ่ายวันนั้นได้เรียกเสนาบดีและปลัดทูลฉลองให้ต้องเข้ามาร่วมประชุม ฝ่ายเสนาบดีที่ไม่ได้ประชุม ได้แก่ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยที่ถูกจับกุมอยู่ และเสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคมซึ่งอยู่ที่หัวหิน เสนาบดีกระทรวงกลาโหมและรองเสนาบดี ซึ่งเดินทางไปราชการในแหลมมลายู เสนาบดีทั้งสี่นี้เป็นเจ้านาย ส่วนเสนาบดีอื่นๆ มาประชุม (และที่เป็นเจ้านาย ได้แก่ เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการคลัง กระทรวงศึกษาธิการ) การประชุมที่พระที่นั่งอนันตสมาคมในช่วงเวลา ๑๖ ถึง ๑๘ นาฬิกา รวม ๒ ชั่วโมง และได้ให้พวกเสนาบดีสัญญาว่าจะทำหน้าที่ที่รับผิดชอบเหมือนอย่างเดิมภายใต้การควบคุมของคณะราษฎร และในการประชุมนี้ แผนการดำเนินงานในระบบสภาผู้แทนราษฎรของคณะราษฎรถูกอธิบาย และมีการโต้เถียงกันระหว่างเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ กับผู้นำคณะราษฎรเกี่ยวกับวิธีการแจ้งกับนานาประเทศว่าจะดำเนินการอย่างไร หลังจากการประชุมเสร็จแล้ว ได้มีประกาศซึ่งลงนามโดยพระยาพหลพลพยุหเสนา มีเนื้อความว่า คณะราษฎรได้ยึดอำนาจการเมือง โดยมีวัตถุประสงค์จะสถาปนารัฐบาลในระบอบรัฐธรรมนูญ และสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตทรงได้เห็นชอบด้วยแล้ว ข้าราชการทุกคนให้ทำหน้าที่ไปตามปกติ หากผู้ใดละทิ้งหน้าที่จะต้องมีความผิด ในขณะเดียวกันได้มีการส่งคนไปแจ้งต่อสถานทูตและสถานกงสุลของทุกประเทศ โดยมีหนังสือบันทึกด้วยวาจาของเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ มีเนื้อความว่า "รัฐบาลชั่วคราว ซึ่งปกครองประเทศไทยในปัจจุบัน จะรักษาความสงบเรียบร้อย ปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของทุกคนที่อยู่ในราชอาณาจักร จะจัดให้มีมาตรการทุกประการที่มีความจำเป็น และรักษาสนธิสัญญาและพันธะต่อต่างประเทศทุกประการ"
การเสด็จกลับพระนคร
ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
ในเวลา ๑๐ โมงครึ่งของวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๑๙๓๒ มีโทรเลขจากหัวหน้าที่ส่งไปหัวหิน ถึงพระยาพหลพลพยุหเสนา โดยโทรเลขฉบับแรกกล่าวว่า พระมหากษัตริย์ยอมรับข้อเรียกร้องของคณะราษฎรแล้ว และพระองค์ทรงตั้งพระราชหฤทัยจะเสด็จนิวัตพระนครทางบก ขอให้ดำเนินการด้วย หลังจากนั้นมีโทรเลขฉบับที่ ๒ โดยฉบับนี้เป็นพระราชหัตถเลขาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ มีถึงคณะราษฎร ซึ่งเนื้อความในโทรเลขฉบับนี้แสดงให้เห็นถึงความรู้สึกสะเทือนใจอย่างมากของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ เอง และทรงแย้มพรายว่าพระองค์อาจจะทรงสละราชสมบัติ โทรเลขฉบับที่ ๒ มีเนื้อหาดังนี้
"...ตามที่คณะทหารมีความปรารถนาจะเชิญให้ข้าพเจ้ากลับพระนคร เป็นกษัตริย์อยู่ใต้พระธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน ข้าพเจ้าเห็นแก่ความเรียบร้อยของอาณาประชาราษฎร์ ไม่อยากให้เสียเลือดเนื้อกับทั้งเพื่อจัดการโดยละม่อมละไม ไม่ให้ขึ้นชื่อว่าจลาจลเสียหายแก่บ้านเมือง และความจริงข้าพเจ้าคิดอยู่แล้วที่จะเปลี่ยนแปลงทำนองนี้ คือมีพระเจ้าแผ่นดินปกครองโดยธรรมนูญ จึงยอมรับที่จะช่วยเป็นตัวเชิด เพื่อให้คุมโครงการตั้งรัฐบาลให้เป็นรูปตามวิธีเปลี่ยนแปลงตั้งพระธรรมนูญโดยสะดวก เพราะว่าข้าพเจ้าจะไม่ยอมรับเป็นตัวเชิด นานาประเทศคงจะไม่รับรองรัฐบาลใหม่นี้ ซึ่งจะเป็นความลำบากยิ่งขึ้นหลายประการ ความจริงข้าพเจ้าเองในเวลานี้ก็ทราบกันอยู่แล้วว่ามีอาการทุพพลภาพ และไม่มีลูกสืบวงศ์สกุล และจะไม่ทนงานไปนานเท่าใดนัก ทั้งไม่มีความปรารถนามักใหญ่ใฝ่สูงให้เกิดศักดิ์ และความสามารถที่จะช่วยพยุงชาติของเราให้เจริญเทียมหน้าเขาบ้าง พูดมานี้เป็นความจริงใจเสมอ" [ผู้แปลใช้เอกสารอ้างอิงจาก สกล เตมิยสูต (รวบรวม). จดหมายเหตุ ประวัติการณ์เปลี่ยนแปลงพระธรรมนูญการปกครองประเทศสยามใหม่. พระนคร : โรงพิมพ์อักษรนิติ, ๒๔๗๕, หน้า ๓๔-๓๕.]
ในเวลาเที่ยงคืนของวันที่ ๒๕ มิถุนายน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ และพระราชินีเสด็จกลับถึงพระนครโดยทางรถไฟ พร้อมกับสมเด็จฯ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ (พ่อตา) ซึ่งอยู่ร่วมในขบวนเสด็จฯ ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ และพระราชินีที่หัวหิน สมเด็จฯ กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ซึ่งแจ้งข่าวการปฏิวัติครั้งแรกที่หัวหินก็ร่วมขบวนเสด็จฯ ด้วย ในช่วงเช้าตรู่ของวันปฏิวัติ ได้มีหัวขบวนรถจักรวิ่งออกจากกรุงเทพฯ ไปอย่างรวดเร็ว แต่ในครั้งนี้ได้เดินทางกลับมาถึงสถานีรถไฟจิตรลดา ซึ่งดูคล้ายกับ "ม้า" ที่หมดกำลังของนายพลที่แพ้สงคราม หัวขบวนรถจักรมีตู้ขบวนเพียงตู้เดียว ภายในและภายนอกสถานีรถไฟจิตรลดา มีทหารฝ่ายปฏิวัติรักษาการอยู่ ผู้ที่มารับเสด็จ ซึ่งเป็นผู้ที่สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ มีเสนาบดีกระทรวงวัง [เจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์, ม.ร.ว.เย็น อิสรเสนา, ๑๘๖๓-๑๙๔๑-ผู้แปล] เพียงคนเดียว เสนาบดีกระทรวงวังนี้มีอายุมากแล้ว เสนาบดีกระทรวงวังได้มองพระพักตร์ด้วยความสลดใจโดยไม่ได้กล่าวอะไร พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ และพระราชินีไม่ได้เสด็จไปพระราชวังดุสิต ซึ่งเป็นที่ประทับประจำ แต่พระองค์เสด็จวังศุโขทัย ซึ่งเป็นวังที่ประทับก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์ โดยมีการรักษาการณ์อย่างเข้มงวดของฝ่ายทหารและตำรวจ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์นั้น มีพระนามว่ากรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา รถยนต์ที่ใช้เสด็จไม่ใช่รถพระที่นั่ง แต่ใช้รถยนต์ธรรมดา ซึ่งรัฐบาลชั่วคราวจัดถวาย จึงทำให้เกิดความรู้สึกว่าไม่ได้ดำรงพระยศเป็นพระมหากษัตริย์เหมือนเดิม และทำให้คนดูเข้าใจได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงของโลกและมีชะตากรรมของพระมหากษัตริย์เกิดขึ้นอย่างน่าเศร้าสลดใจ
ประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว
ช่วงเช้าของวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๑๙๓๒ ผู้นำคณะราษฎรได้ขอเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ผ่านเสนาบดีกระทรวงวัง เวลา ๑๑.๑๕ นาฬิกา พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงให้ผู้นำคณะราษฎร รวม ๙ คนเข้าเฝ้า โดยมีสมุหพระราชมณเฑียร (พระยาสุริวงศ์วิวัฒน์) เป็นผู้นำคณะราษฎรเข้าเฝ้า ฝ่ายคณะราษฎรได้ขอให้มีพระบรมราชโองการอภัยโทษต่อคนที่เข้าร่วมการปฏิวัติ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงรับทันทีและทรงลงพระนามประกาศ พระบรมราชโองการฉบับนี้ได้ประกาศในช่วงเวลาบ่ายของวันนั้น ประกาศนั้นมีข้อความดังนี้
"พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศจงทราบทั่วกันว่า
การที่คณะราษฎรคณะหนึ่ง ซึ่งมีความปรารถนาอันแรงกล้า ในอันที่จะแก้ไขขจัดความเสื่อมโทรมบางประการของรัฐบาลสยามและชาติไทยให้หายไป แล้วจะพากันจรรโลงสยามรัฐและชาติไทยให้เจริญรุ่งเรืองวัฒนาถาวรมั่นคงเท่าเทียมกับชาติและประเทศอื่นต่อไป จึงพากันยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินไว้ด้วยความมุ่งหมายจะให้มีธรรมนูญปกครองแผ่นดินเป็นข้อใหญ่ แล้วร้องขอไปยังเราเพื่อให้เราคงดำรงเป็นกษัตริย์แห่งสยามรัฐต่อไป ภายใต้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินนั้น ทั้งนี้แม้ว่าการจะเป็นไปโดยขัดกับความพอพระทัยพระบรมวงศานุวงศ์บางพระองค์ และขัดกับสมาชิกในรัฐบาลเดิมบางคนก็ดี ก็เป็นธรรมดาที่จะต้องเป็นไปเช่นนั้นในทุกประเทศ ไม่ว่าจะเจริญรุ่งเรืองแล้วเท่าไรๆ ก็ไม่อาจจะก้าวล่วงการนี้เสียได้ ถึงกระนั้นก็พึ่งปรากฏเป็นประวัติการณ์ครั้งแรกของโลกที่การณ์ได้เป็นไปโดยราบรื่นปกติมิได้รุนแรง
และแม้จะได้อัญเชิญพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการบางคนมาประทับและไว้ในพระที่นั่งอนันตสมาคมก็เพียงเพื่อประกันภัยของคณะ และเพื่อให้ดำเนินการลุล่วงไปเท่านั้น หาได้ทำการประทุษร้ายหรือหยาบหยามอย่างใด และไม่มุ่งหมายจะกระทำเช่นนั้นด้วย ได้แต่บำรุงรับไว้ด้วยดี สมควรแก่พระเกียรติยศทุกประการ
อันที่จริงการปกครองด้วยวิธีมีพระธรรมนูญการปกครองนี้ เราก็ได้ดำริอยู่ก่อนแล้ว ที่ราษฎรคณะนี้กระทำมาเป็นการถูกต้องตามนิยมของเราอยู่ และด้วยเจตนาดีต่อประเทศชาติอาณาประชาชนแท้ๆ จนหาการกระทำหรือแต่เพียงเจตนาชั่วร้ายแม้แต่น้อยมิได้
เหตุฉะนี้จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกำหนดดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชกำหนดนี้ให้เรียกว่า พระราชกำหนดนิรโทษกรรมในคราวเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน พุทธศักราช ๒๔๗๕
มาตรา ๒ ให้ใช้พระราชกำหนดนี้ตั้งแต่ขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงลงพระบรมนามาภิไธยเป็นต้นไป
มาตรา ๓ บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นเหล่านี้ไม่ว่าของบุคคลใดๆ ในคณะราษฎรนี้ หากว่าจะเป็นการละเมิดบทกฎหมายใดๆ ก็ดี ห้ามมิให้ถือว่าเป็นการละเมิดกฎหมายเลย" [ผู้แปลใช้เอกสารอ้างอิงจาก สกล เตมิยสูต (รวบรวม). จดหมายเหตุ ประวัติการณ์เปลี่ยนแปลงพระธรรมนูญการปกครองประเทศสยามใหม่. พระนคร : โรงพิมพ์อักษรนิติ, ๒๔๗๕, หน้า ๔๑-๔๔.]
หลังจากนั้นฝ่ายคณะราษฎรได้อ่านร่างธรรมนูญการปกครองแผ่นดินที่เตรียมไว้ และขอให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงลงพระนามทันที แต่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงกล่าวว่า พระองค์มีพระราชประสงค์ขออ่านดูก่อน ฝ่ายคณะราษฎรได้ให้เวลา ๑ ชั่วโมง และได้ขอร้องให้พระองค์ทรงอ่านทั้งหมดโดยเร็ว แต่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงไม่สนพระทัย ได้เสด็จไปยังห้องอื่น ๑ ชั่วโมงผ่านไป ตรัสว่า เวลามีน้อย และมีบางเรื่องที่ไม่เข้าใจทั้งหมด จึงไม่สามารถลงพระนามได้ พระองค์ทรงไม่ยอมลงพระนามโดยง่าย ในท้ายที่สุดฝ่ายคณะราษฎรได้ให้เวลา ๑ วันเต็มๆ จนถึงเวลา ๑๗ นาฬิกาของวันที่ ๒๗ มิถุนายน [ทางเอกสารฝ่ายญี่ปุ่น หอจดหมายเหตุการทูตประเทศญี่ปุ่น A600, 1-27-2 ยาตาเบรายงานถึงรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศญี่ปุ่นในวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๑๙๓๒ (Ko 107) กล่าวว่า ยาตาเบได้พบกับสมุหพระราชมณเฑียรในเวลาเย็นวันที่ ๒๖ มิถุนายน และได้ทราบจากบุคคลท่านนี้โดยตรง โดยที่ในวันเกิดเหตุสมุหพระราชมณเฑียรได้เดินทางไปเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ที่พระราชวังไกลกังวล หัวหิน และได้ตามเสด็จกลับพระนครพร้อมกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ-ผู้แปล นอกจากนี้จากบันทึกส่วนตัวของพระยาศรยุทธเสนีได้ระบุว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ขอเวลา ๗ วัน พลเรือตรี พระยาศรยุทธเสนีนั้นเป็นผู้นำคณะราษฎรเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ที่วังศุโขทัย-ผู้แปล] ในการเข้าเฝ้าครั้งนี้ รวมทั้งในการประชุมกับเสนาบดีในวันก่อน ผู้เขียนได้ทราบว่าหลวงประดิษฐ์มนูธรรมเป็นผู้นำการเจรจา การเรียกร้องของหลวงประดิษฐ์มนูธรรมมีลักษณะไม่ประนีประนอม แต่ท่าทางและมารยาทนั้น มีความสุภาพและอ่อนน้อมมาก
เวลา ๑๕.๓๐ น. ของวันที่ ๒๗ มิถุนายน ผู้นำคณะราษฎรได้ไปที่วังศุโขทัยอีกครั้งหนึ่ง เพื่อรับฟังคำตอบของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ เวลา ๑๗ นาฬิกา ตามที่ตกลงกันไว้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้เสด็จออกมา ความรู้สึกของพระองค์ในช่วงนี้ ไม่อาจทราบทั้งหมดได้ แต่เท่าที่ได้มีการแย้มออกมาอย่างลับๆ มีข้อความที่ได้รับทราบมาว่า พระองค์ได้ตรัสกับผู้นำคณะราษฎรดังต่อไปนี้
"ข้าพเจ้าได้ลงนามในรัฐธรรมนูญนี้ และระบอบรัฐธรรมนูญราชาธิปไตยได้บังเกิดขึ้นแล้ว ข้าพเจ้ามีความประสงค์ขอสละราชสมบัติ ข้าพเจ้ายอมรับคำวิจารณ์ที่ว่าข้าพเจ้าไร้ความสามารถ และไม่สามารถสร้างความเจริญให้บังเกิดขึ้นได้ เรื่องนี้ข้าพเจ้าก็ยอม แต่ข้าพเจ้าได้ทุ่มเทความสามารถทั้งหมดโดยความสุจริตใจเพื่อความผาสุกของประชาชน แต่ประกาศของคณะราษฎรนั้น ได้วิจารณ์และโจมตีการปกครองของข้าพเจ้าอย่างรุนแรงมากที่สุด การถูกโจมตีขนาดนี้ ไม่มีกษัตริย์พระองค์ใดสามารถดำรงพระยศอยู่ได้ ข้าพเจ้าไม่มีรัชทายาท และพลานามัยก็ไม่แข็งแรง ข้าพเจ้าน่าจะสละราชสมบัติและใช้ชีวิตที่เหลือโดยสงบสุข ชีวิตของข้าพเจ้าและพระราชินีทั้งสองคน มีค่าใช้จ่ายไม่มาก"
ฝ่ายผู้นำคณะราษฎร เมื่อได้รับฟังพระราชดำรัสแล้ว ก็ได้อ้อนวอนต่อพระองค์ และสัญญาว่าจะแก้ไขบรรเทาเนื้อหาของประกาศคณะราษฎร ฉะนั้นจึงสามารถเปลี่ยนพระราชประสงค์อย่างเด็ดเดี่ยวที่จะสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้เป็นผลสำเร็จ
เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้ทรงเปลี่ยนพระราชหฤทัยแล้ว พระองค์ได้เสนอว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาสาระของร่างธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน แต่ขอแก้ไขเรื่องเดียว ที่ไม่มีความสำคัญเท่าใดนัก ซึ่งผู้นำคณะราษฎรก็ยอมรับ หลังจากนั้นได้ทรงหยิบปากกาขึ้นอย่างช้าๆ และเขียนคำว่า "ชั่วคราว" ไว้ในย่อหน้าแรกของร่างธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน และทรงลงพระนามในร่างธรรมนูญการปกครองแผ่นดินนั้นด้วย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้ทรงใช้วิธีการรุกที่แปลก คือ พระองค์ท่านทรงมีความคิดว่า ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินที่เกิดอย่างชุลมุนนั้น ทำให้เป็นธรรมนูญการปกครองแผ่นดินชั่วคราว และตั้งคณะกรรมการยกร่างธรรมนูญการปกครองแผ่นดินขึ้นใหม่ เพื่อการสถาปนาธรรมนูญการปกครองแผ่นดินขึ้นอย่างถาวรต่อไป ในขณะนั้นมีข่าวลือออกมาว่า มีการแก้ไขธรรมนูญการปกครองแผ่นดินในประเด็นที่ไม่สำคัญเกิดขึ้น แต่เมื่อได้ทราบว่า การแก้ไขนั้นเป็นเรื่องอะไรแล้ว ทำให้รู้ได้ว่าเรื่องที่แก้ไขนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยหากจะเปรียบเทียบธรรมนูญการปกครองแผ่นดินชั่วคราว [ต่อไปนี้จะเรียกว่ารัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว-ผู้แปล] กับรัฐธรรมนูญฉบับถาวรแล้ว ประเด็นในเรื่องเกียรติยศและพระราชอำนาจของกษัตริย์มีความแตกต่างกันมาก จากนี้เราดูออกได้ว่า พระราชปฏิภาณไหวพริบของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ นั้น มีความรอบคอบ ทั้งๆ ที่ทรงอยู่ในสถานการณ์ที่ถูกบีบบังคับและมีความตึงเครียด อย่างไรก็ตามดังที่กล่าวมาแล้ว มีพระราชประสงค์จะเริ่มระบอบรัฐธรรมนูญ และได้เตรียมการร่างรัฐธรรมนูญไว้แล้ว แต่ก็ต้องทรงยอมรับการบีบบังคับของคณะราษฎรในสถานการณ์ดังกล่าว ความยากลำบากในพระราชหฤทัยของพระองค์เป็นอย่างไร ก็เกินกว่าที่เราจะพอคาดเดาได้ พวกข้าราชบริพารที่อยู่ในสถานที่ที่พระองค์ท่านทรงลงพระนามในรัฐธรรมนูญชั่วคราว เมื่อทราบความนึกคิดของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ แล้ว ทุกคนก็ก้มหน้าและส่งเสียงร้องไห้ ซึ่งเรื่องราวก็ควรที่จะเป็นไปเช่นนั้น
รัฐธรรมนูญชั่วคราว ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงลงพระปรมาภิไธยและประกาศในช่วงเช้าของวันถัดไปนั้น มีผลบังคับใช้นับตั้งแต่วันที่ลงพระนาม ซึ่งก็คือวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๑๙๓๒ คณะราษฎรซึ่งก่อการปฏิวัติโดยฉับพลันในช่วงเช้าตรู่ของวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๑๙๓๒ ได้ใช้เวลาในวันนั้นเพียง ๓ ชั่วโมง ก็สามารถยึดอำนาจสำเร็จ และใช้เวลาอีกเพียง ๔ วัน ก็สามารถสถาปนาระบอบรัฐธรรมนูญขึ้นได้
นับตั้งแต่วันนั้นมา วันที่ ๒๗ มิถุนายน ได้ถูกจัดเป็นวันสำคัญของชาติ และมีการจัดงานเฉลิมฉลองทุกปี
*ประวัติยาสุกิจิ ยาตาเบ
ยาสุกิจิ ยาตาเบ เกิดเมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๑๘๘๒ ที่จังหวัดยามากูจิ สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยฮิโตสุบาชิ ในปี ๑๙๐๗ โดยศึกษาในแผนกกงสุลได้เป็นที่หนึ่ง ในปี ๑๙๐๘ ได้สอบเป็นนักการทูต และได้รับหน้าที่ทางการทูตประจำประเทศจีน ต่อมาได้ประจำเมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย (ประมาณ ๑ ปีเศษ) ประจำเมืองบอมเบย์ ประเทศอินเดีย (๒ ปี) และต่อมาในปี ๑๙๑๖ ได้รับการแต่งตั้งเป็นกงสุลเมืองอะมอย ประเทศจีน ในปี ๑๙๑๙ เดินทางกลับประเทศญี่ปุ่น ปี ๑๙๒๑ เป็นหัวหน้ากองที่สาม ของกรมข่าว กระทรวงการต่างประเทศ ในปี ๑๙๒๔ เป็นเลขานุการเอกประจำสถานเอกอัครราชทูตประจำกรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี ๑๙๒๕ เป็นกงสุลใหญ่ประจำชินเตา ประเทศจีน และเดินทางกลับจากประเทศจีน ในปี ๑๙๒๗
วันที่ ๑๖ มีนาคม ๑๙๒๘ เมื่อมีอายุได้ ๔๖ ปี ยาสุกิจิ ยาตาเบ ได้รับการแต่งตั้งเป็นอัครราชทูตผู้มีอำนาจเต็มประจำประเทศสยาม ได้เดินทางถึงกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๑๙๒๘ และเดินทางออกจากประเทศสยามในวันที่ ๑๕ มกราคม ๑๙๓๖ โดยทำหน้าที่ประจำประเทศสยาม (ไทย) รวม ๗ ปีเศษ
ยาสุกิจิ ยาตาเบ ได้ลาออกจากราชการในปี ๑๙๓๗ เมื่ออายุ ๕๕ ปี จนถึงปี ๑๙๔๑ ได้เป็นประธานสมาคมญี่ปุ่น-ไทย ในช่วงเดือนกรกฎาคม ๑๙๔๒ ได้ร่วมเดินทางมาเยี่ยมเยือนประเทศไทยพร้อมกับคณะของอดีตนายกรัฐมนตรีฮิโรตะ
ยาสุกิจิ ยาตาเบ ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ ๘ ตุลาคม ๑๙๕๘ สิริอายุได้ ๗๖ ปี
การปฏิวัติและการเปลี่ยนแปลง ในประเทศสยาม : มิถุนายน ๒๔๗๕
*บัณฑิตวิทยาลัยเอเชียแปซิฟิกศึกษา มหาวิทยาลัยวาเซดะ
และนครินทร์ เมฆไตรรัตน์
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
*บทความที่กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรมตั้งชื่อว่า "การปฏิวัติและการเปลี่ยนแปลงในประเทศสยาม : มิถุนายน ๒๔๗๕" นี้ เป็นส่วนหนึ่งของงานเขียนขนาดยาวในชื่อ "การปฏิวัติและการเปลี่ยนแปลงในประเทศสยาม" ของยาสุกิจิ ยาตาเบ อดีตอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศสยามในช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงนั้น. ต้นฉบับภาษาญี่ปุ่นพิมพ์ครั้งแรกในวารสารสมาคมญี่ปุ่น-สยาม ฉบับที่ ๕ เดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙
ประเทศสยามนับจากสร้างประเทศขึ้นมา ไม่มีการแบ่งแยกระหว่างการเมืองของรัฐกับเรื่องครอบครัวของพระมหากษัตริย์ การแบ่งแยก ๒ สิ่งออกจากกันนั้น กล่าวได้ว่า เพิ่งเริ่มต้นเมื่อทศวรรษ ๑๘๙๐ นี้เอง เพราะฉะนั้นจึงไม่ควรนับเป็นเรื่องแปลกแต่ประการใดที่รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของสยามสามารถดำรงอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปี ๑๙๓๒ อย่างไรก็ตามได้มีบุคคลที่ไม่เห็นด้วยกับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ดังปรากฏว่ามีคนบางกลุ่มมีความประสงค์ที่จะปฏิรูปการเมือง ตัวอย่างเช่น หลังจากรัชกาลที่ ๖ เสด็จขึ้นครองราชย์ได้ ๒ ปี (คือปี ค.ศ. ๑๙๑๒) ปรากฏว่ามีแผนการที่จะก่อการปฏิวัติขึ้น คณะบุคคลที่เข้าร่วมในขบวนการปฏิวัติในสมัยนั้นมีอยู่ ๒ กลุ่ม กลุ่มหนึ่งเรียกร้องรัฐธรรมนูญราชาธิปไตย อีกกลุ่มหนึ่งมีเป้าหมายสร้างระบอบสาธารณรัฐขึ้น โดยที่ทั้ง ๒ กลุ่มมีเป้าหมายร่วมกันคือ การโค่นล้มการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กระนั้นก็ตามแผนการปฏิวัติในสมัยนั้น ปรากฏว่าไม่ประสบความสำเร็จและถูกจับกุมเสียก่อน โดยที่หลายสิบคนได้ถูกจับกุมในคราวเดียวกัน และได้ถูกลงโทษด้วย
หลังจากนั้นไม่นาน สงครามโลกครั้งที่ ๑ ได้เกิดขึ้น ประเทศสยามได้ถูกชักจูงให้เข้าร่วมสงคราม ในปี ๑๙๑๗ ประเทศสยามได้ประกาศสงคราม และจัดส่งกองทหารอาสาไปแนวรบด้านตะวันตก ด้วยเหตุนี้ประเทศสยามจึงมีฐานะเป็นประเทศผู้ชนะสงคราม และร่วมลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพที่ปารีส รวมทั้งได้เข้าร่วมในองค์การสันนิบาตชาติในฐานะเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้ง ในช่วงเวลาดังกล่าวนี้เอง สถานะของประเทศสยามในสังคมโลกจึงได้รับการปรับปรุงให้ดีกว่าเดิม นโยบายที่เคยบีบคั้นประเทศสยามจากอังกฤษและฝรั่งเศสก็มีการผ่อนคลายเป็นอันมาก การคุกคามต่อเอกราชของสยามก็ดูจะลดน้อยลง นอกจากนั้นการแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เสมอภาค ซึ่งเป็นความต้องการของประเทศสยามมาเป็นเวลาช้านาน ก็ได้เริ่มต้นขึ้นในปี ๑๙๒๕ ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนและภายหลังจากที่รัชกาลที่ ๗ เสด็จขึ้นครองราชย์ การแก้ไขสนธิสัญญาไม่เสมอภาคได้มีผลสำเร็จ และนานาประเทศก็ให้การยอมรับ มีการยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตเหนือประเทศสยาม และมีการฟื้นฟูอำนาจของสยามในการจัดเก็บภาษีศุลกากร
ในช่วงเวลานั้นความสนใจของรัฐบาลและประชาชนทั่วไปอยู่ที่การแก้ไขความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และขาดเวลาเพียงพอที่จะปฏิรูปการเมืองและพัฒนาทรัพยากรภายในประเทศ ความต้องการของปัญญาชนต่อการปกครองในระบอบรัฐธรรมนูญราชาธิปไตยค่อยๆ ทวีความสำคัญมากขึ้น แต่การศึกษาของประชาชนโดยทั่วไป กล่าวได้ว่ายังไม่มีความแพร่หลาย และความคิดทางการเมืองของประชาชนโดยทั่วไปก็ยังมีความด้อยอยู่มาก สื่อมวลชนต่างๆ ก็ยังอยู่ในระดับเริ่มต้น อีกทั้งยังไม่มีเสรีภาพในการพูด ฉะนั้นจึงเป็นเรื่องธรรมดาที่จะไม่มีขบวนการทางการเมืองที่ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างคึกคัก นอกจากนั้นในช่วงเวลานี้ความสำเร็จทางการทูตในระดับหนึ่งส่งผลให้ความชอบธรรมของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ ๗
ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติในเดือนพฤศจิกายน ๑๙๒๕ ภายหลังจากพระเชษฐาของพระองค์เสด็จสวรรคต พระองค์ทรงมีความคิดที่ก้าวหน้า และทรงดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างการปกครองและการคลัง พระองค์ทรงมีความกล้าหาญที่ลดทอนงบประมาณรายจ่ายของสำนักพระราชวังลงครึ่งหนึ่ง ระเบียบวินัยของข้าราชการซึ่งมีแนวโน้มเสื่อมโทรมลงมาตั้งแต่สมัยรัชกาลก่อน ก็ได้รับการปรับปรุง นอกจากนี้ยังทรงมีพระราชนิยมให้ลดจำนวนข้าราชการชาวต่างประเทศลง เพราะฉะนั้นประชาชนทั้งในระดับล่างและระดับบนก็เริ่มมีความคาดหวังต่อการเปลี่ยนแปลงของรัชกาลใหม่
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงศึกษาที่ประเทศอังกฤษแต่เยาว์วัย ทรงสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยที่ประเทศอังกฤษ และจากโรงเรียนเสนาธิการของประเทศฝรั่งเศส พระองค์ทรงเป็นคนไทยคนแรกที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนเสนาธิการทหารนี้ พระองค์มีแนวพระราชดำริแบบเสรีนิยมค่อนข้างมาก นับจากขึ้นครองราชสมบัติแล้ว เราดูจากภายนอกรู้ได้ว่าพระองค์มีแนวพระราชดำริที่จะเริ่มการปกครองในแบบรัฐธรรมนูญราชาธิปไตย กล่าวคือ ภายหลังจากครองราชย์ได้ไม่นาน พระองค์ทรงปรับปรุงกรรมการองคมนตรีสภา ซึ่งแต่เดิมไม่มีบทบาทและมีแต่ชื่อมานาน โดยทรงปรับปรุงและจัดให้มีกรรมการจำนวน ๔๐ คน ซึ่งได้รับการคัดเลือกมาจากกระทรวงต่างๆ ทำหน้าที่เป็นองค์กรทางด้านนิติบัญญัติ กฎหมายสำคัญๆ ต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการองคมนตรีสภานี้ พระบรมราชโองการในการปฏิรูปกรรมการองคมนตรีสภานี้ กล่าวว่า การปฏิรูปในคราวนี้มีจุดประสงค์เริ่มต้นคือทำให้การปฏิรูปในขั้นต่อไปง่ายขึ้น จัดเป็นการทดลองและฝึกฝนให้กรรมการองคมนตรีสภามีความเข้าใจกระบวนการรัฐสภา จากประกาศนี้ทำให้เราเข้าใจพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ กล่าวคือ คณะกรรมการองคมนตรีสภา เป็นการเตรียมการเพื่อพัฒนาระบบรัฐสภานิติบัญญัติในอนาคต ซึ่งจะต้องปฏิรูปต่อไปอีกหลายขั้นตอน หลังจากนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงแสดงพระราชประสงค์ว่าพระองค์ต้องการให้การเมืองพัฒนาไปเป็นระบบรัฐสภา ในปี ๑๙๓๑ เมื่อพระองค์เสด็จประพาสสหรัฐอเมริกาเพื่อรักษาพระเนตรนั้น พระองค์ได้ให้สัมภาษณ์แก่นักหนังสือพิมพ์ว่า ประเทศสยามจะมีรัฐบาลในระบอบรัฐธรรมนูญในอีกไม่นานนี้ เพราะฉะนั้นพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ จึงจัดอยู่ในระดับขั้นเริ่มต้นของการเตรียมการไปสู่ระบอบรัฐธรรมนูญราชาธิปไตยตามกระแสของโลก เรื่องนี้ไม่มีใครสงสัยเลย อย่างไรก็ตามในช่วงปลายเดือนมิถุนายน ๑๙๓๒ ได้มีการปฏิวัติเกิดขึ้น แต่ก่อนการปฏิวัติในช่วงต้นเดือนมิถุนายน ๑๙๓๒ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้เสด็จฯ แปรพระราชฐานไปประทับ ณ พระราชวังไกลกังวล หัวหิน ในครั้งนั้นพระองค์ได้นำเอาร่างรัฐธรรมนูญพระราชทานไปด้วย การยกร่างรัฐธรรมนูญฯ นี้เป็นผลงานของกรมหมื่นเทวะวงศ์วโรปการ เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ โดยน้อมรับพระราชกระแสรับสั่งจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ในการนี้ เสนาบดีได้ปรึกษากับปลัดทูลฉลอง [พระยาศรีวิสารวาจา-ผู้แปล] และที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศ [เรย์มอนด์ บี. สตีเวนส์, Raymond B. Stevens-ผู้แปล] ยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้น โดยที่การยกร่างรัฐธรรมนูญฯ นี้ถือเป็นความลับชั้นสูงสุด ดังนั้นจึงไม่มีใครล่วงรู้เลยว่า การยกร่างรัฐธรรมนูญได้สำเร็จเรียบร้อยและอยู่ในพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ
เรื่องที่เป็นความลับและไม่มีใครล่วงรู้ได้ดังกล่าวนี้นับเป็นโชคชะตาของประเทศไทย
อำนาจตกอยู่ในมือเจ้านาย
พระบรมราโชบายภายหลังการเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ที่มีความสำคัญมากกว่าการปฏิรูประบบองคมนตรี ได้แก่ การจัดตั้งอภิรัฐมนตรีสภา อภิรัฐมนตรีสภานี้ประกอบด้วยเจ้านายชั้นสูงจำนวน ๔-๖ พระองค์ และเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่กำหนดนโยบายสูงสุดของประเทศ โดยอยู่เหนือกว่าคณะเสนาบดี เรื่องนี้ไม่มีคำอธิบายอย่างเป็นทางการว่าเพราะเหตุใดพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ จึงทรงจัดตั้งอภิรัฐมนตรีสภาขึ้นทันทีภายหลังจากเสด็จขึ้นครองราชย์ แต่ผู้เขียนมีความเข้าใจว่า เพราะพระองค์เป็นพระอนุชาพระองค์เล็กของพระมหากษัตริย์พระองค์ก่อน รวมทั้งได้เสด็จขึ้นครองราชย์อย่างกะทันหัน ฉะนั้นจึงทรงต้องการการสนับสนุนจากเจ้านายชั้นสูง เพื่อให้การปฏิรูปในหลายสิ่งหลายประการประสบความสำเร็จ รวมทั้งการปฏิรูปการเมืองใหม่ด้วย
การจัดตั้งอภิรัฐมนตรีสภานี้ ในระยะแรกประชาชนทุกคนมีความปลื้มปีติ เพราะเป็นปฏิกิริยาต่อการเล่นพวกพ้องและการประจบสอพลอในสมัยรัชกาลก่อน อย่างไรก็ดีข้อบกพร่องของการเมืองมิได้มีสาเหตุมาจากระบบ แต่อยู่ที่ตัวบุคคลที่ใช้ระบบนั้น ดังจะเห็นได้ว่าภายหลังจากการจัดตั้งอภิรัฐมนตรีสภาขึ้นแล้ว ฐานะและอำนาจทางการเมืองของเจ้านายทวีเพิ่มขึ้นเป็นอันมาก นอกจากนั้นตำแหน่งของอภิรัฐมนตรีสภา โดยกฎหมายได้กำหนดไว้ว่าเป็นตำแหน่งเฉพาะของบรรดาเจ้านายเท่านั้น และตำแหน่งเสนาบดีต่างๆ ก็ตกเป็นของเจ้านายเพิ่มขึ้น ดังจะเห็นได้ว่าเมื่อเกิดการปฏิวัติ ๑๙๓๒ ตำแหน่งเสนาบดีรวม ๙ ตำแหน่งนั้น ปรากฏว่า ๖ ตำแหน่งเป็นของเจ้านาย เพราะฉะนั้นในสมัยรัชกาลก่อน บรรดาพวกข้าราชการที่ประจบสอพลอประมาณ ๒-๓ คนมีอำนาจ และถูกวิพากษ์วิจารณ์มาก แต่ครั้นมาถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ปรากฏว่าพวกเจ้านายได้ใช้อำนาจปกครองตามอำเภอใจ ตำแหน่งสำคัญๆ ของรัฐบาลมีลักษณะผูกขาดโดยบรรดาพวกเจ้านาย การเมืองสยามในสมัยนั้นไม่ใช่ว่าจะเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่โดยแท้จริงแล้วเป็นระบอบคณาธิปไตยของพวกเจ้านายเสียมากกว่า และเมื่อจำต้องมีการเลื่อนชั้นข้าราชการตำแหน่งสำคัญๆ ปรากฏว่ามีการใช้เส้นสายเป็นอันมาก ความไม่พอใจของบรรดาข้าราชการพลเรือนและทหารจึงทวีเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้เสนาบดีที่เป็นเจ้านายบางพระองค์ได้ปรากฏข่าวลือว่ามีการใช้ตำแหน่งเสนาบดีแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน และผู้เขียนเคยได้ยินว่ามีคนวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของรัฐบาลว่าเป็นเรื่องแปลกใหม่ แต่ไม่มีความเหมาะสมกับประเทศสยาม ซึ่งพวกเจ้านายบางพระองค์ได้พยายามผลักดันนโยบายที่แปลกใหม่นั้นเพื่อความพึงพอใจของตนเองเป็นสำคัญ และไม่สนใจการสูญเสียผลประโยชน์ของประชาชน ข่าวลือประเภทนี้เราไม่สามารถหาหลักฐานได้ในทุกกรณี แต่เรื่องทำนองนี้ก็มีความสำคัญอยู่ที่ว่า การปรากฏของข่าวลือนั้นแสดงถึงความไม่พึงพอใจของประชาชนต่อการปกครองของเจ้านาย มากกว่าจะเป็นประเด็นว่าเรื่องข่าวลือนั้นมีความจริงหรือไม่
วิธีการแก้ไขความเสื่อมโทรมทางการเมืองของเจ้านายนั้น ปรากฏว่าไม่มีการดำเนินการเลยในช่วงเวลานั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ผู้ทรงตั้งพระราชหฤทัยที่จะปฏิรูปการเมืองในสมัยต้นรัชกาล พระองค์ทรงมีพระพลานามัยไม่สมบูรณ์ เพราะฉะนั้นแนวโน้มของระบอบคณาธิปไตยของเจ้านายที่เลวร้ายจึงพอกพูนและทวีสะสมขึ้น และถึงแม้นว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ จะทรงมีแนวพระราชดำริแบบเสรีนิยม พระองค์ทรงมีความเข้าใจความเป็นไปของโลก อีกทั้งมีพระราชประสงค์จะสถาปนาระบอบรัฐธรรมนูญราชาธิปไตยขึ้น แต่ผู้ที่มีอำนาจในอภิรัฐมนตรี ซึ่งเป็นเจ้านายชั้นสูง ส่วนใหญ่กลับมีความคิดแบบอนุรักษนิยม ที่ต้องการรักษาสถานภาพแบบเดิมเอาไว้ทั้ง ๒ ด้าน ด้านหนึ่ง คือการเมืองภายใน อีกด้านหนึ่ง คือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การสถาปนาระบอบรัฐธรรมนูญราชาธิปไตยในอนาคต ซึ่งโดยหลักการแล้วบรรดาเจ้านายชั้นสูงก็คงไม่คัดค้าน แต่ก็มีปัจจัยหลายสิ่งหลายอย่างทำให้พวกเจ้านายชั้นสูงปล่อยปละละเลยให้สภาพการณ์แบบเดิมดำรงอยู่ การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองซึ่งต้องอาศัยความกล้าหาญอย่างมาก จึงดูเหมือนว่าจะไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงมีอำนาจมากที่สุด ทรงเป็นจอมพลทั้งทหารบกและทหารเรือ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย และเป็นผู้ที่มีอำนาจมากที่สุดในอภิรัฐมนตรีสภา พระองค์ทรงเป็นเจ้าฟ้าต่างพระมารดาของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ และที่สำคัญพระองค์ทรงถูกมองว่าเป็นตัวแทนของกลุ่มอนุรักษนิยม
บรรยากาศที่ต้องการ
การเปลี่ยนแปลง
สถานการณ์รอบข้างพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ เป็นดังกล่าวข้างต้น ส่งผลให้ผู้คนเกิดมีความสงสัยกันว่าพระองค์ทรงมีความสามารถต่อสู้กับแรงกดดันที่ไม่เห็นด้วยกับการปฏิรูปการเมืองได้หรือไม่ และจะทรงตัดสินพระทัยด้วยพระองค์เองเพื่อปฏิรูปการเมืองได้หรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนทั่วไปก็ไม่ได้รับการฝึกฝนทางด้านการเมือง ไม่มีอิสรภาพในการพูด ฉะนั้นการอาศัยวิธีการปฏิรูป คือทำตามกระบวนการกฎหมายด้วยวิธีการสันติ โดยการปลูกฝังที่จะให้มีการแสดงประชามติเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการปฏิรูปนั้น ผู้เขียนมีความเห็นว่า รอไปอีก ๑๐๐ ปี ก็ไม่มีวันสำเร็จ เพราะฉะนั้นจึงไม่มีวิธีการใดนอกจากการลุกขึ้นกระทำการโดยตรงและขับไล่บรรดาเจ้านายอนุรักษนิยมสุดขั้วให้ออกจากตำแหน่ง และบีบบังคับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ให้ทรงยอมรับการเปลี่ยนแปลง ความคิดนี้เป็นความเห็นของบรรดาพวกก้าวหน้ารุ่นหนุ่ม และความขัดแย้งทางความคิดระหว่างกลุ่มอนุรักษนิยมกับพวกก้าวหน้าจึงปรากฏขึ้น
ลักษณะก้าวหน้าของกลุ่มก้าวหน้าหมายความว่าอะไร เรื่องนี้พิจารณาได้ ๒ ด้าน คือด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับด้านของการเมืองภายใน อาจกล่าวได้ว่า ทุกคนมีความเห็นพ้องกันว่าประเทศสยามเป็นประเทศเอกราช แต่ว่าประเทศสยามสามารถกระทำการได้ด้วยตนเอง โดยไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของประเทศมหาอำนาจในด้านการเมืองและเศรษฐกิจหรือไม่ เรื่องนี้น่าสงสัยอยู่เป็นอย่างมาก ถ้าประเทศสยามไม่มีความสามารถเช่นว่านั้นจริงๆ ความเป็นเอกราชของสยามก็เป็นเพียงแต่ชื่อ การปลดปล่อยประเทศสยามให้หลุดพ้นจากอิทธิพลและการบังคับจากต่างชาติ จึงมีความหมายว่าเป็นการฟื้นฟูความเป็นเอกราชของประเทศสยามอย่างแท้จริง ความสำเร็จของการแก้ไขปัญหาที่กล่าวมานี้เป็นเงื่อนไขที่จำเป็นอย่างยิ่งยวด เพื่อทำให้สวัสดิภาพและการพัฒนาของประเทศสยามบรรลุผล ในขณะนั้นนักการเมืองเจ้านายซึ่งตกเป็นทาสของความคิดอนุรักษนิยม และดำรงชีพแบบวันต่อวันโดยรักษาสถานภาพเดิมเอาไว้ การฟื้นฟูเอกราชในทางการเมืองและเศรษฐกิจของประชาชาติ จึงไม่มีความหวังสำหรับการฟื้นฟูอิสรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจ จึงมีความจำเป็นในประการแรก คือการโค่นล้มนักการเมืองเจ้านาย ผู้มีจิตใจแบบอนุรักษนิยม
ประเทศสยามได้รับผลกระเทือนจากเศรษฐกิจตกต่ำหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ ค่อนข้างน้อย แต่ความตกต่ำทางเศรษฐกิจมีความต่อเนื่องและทวีเพิ่มขึ้นทีละเล็กละน้อย ในปี ๑๙๓๐ การส่งออกข้าว ซึ่งเป็นสินค้าสำคัญที่สุดของประเทศสยามซบเซา และราคาข้าวก็ตกต่ำลงอย่างมาก ชีวิตของประชาชนจึงไร้เสถียรภาพ และรัฐบาลก็ขาดรายได้เป็นจำนวนมหาศาล จนถึงปีงบประมาณ ๑๙๓๒ ปรากฏว่าการจัดงบประมาณมีความยากลำบาก จนถึงระดับนี้รัฐบาลก็ตัดสินใจชะลอโครงการต่างๆ และประหยัดรายจ่ายของรัฐบาลลง รวมทั้งได้ตัดสินใจปลดข้าราชการจำนวนมาก และเริ่มเก็บภาษีใหม่หลายชนิด หรือไม่ก็เพิ่มภาษีมากขึ้น ในช่วงเวลานี้รัฐบาลได้กล่าวย้ำหลายวาระว่าประชาชนต้องเสียสละเพื่อความอยู่รอดในสถานการณ์ที่ยากลำบาก แต่เรื่องที่รัฐบาลควรจะเปิดเผยมาก่อนหน้านี้ คือสถานะทางการคลังของประเทศเพื่อขอความเห็นใจจากประชาชนก็ไม่ได้กระทำ ฉะนั้นความไม่พอใจของชนชั้นที่มีทรัพย์และมีการศึกษาจึงเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน บางคนยื่นหนังสือถวายฎีกาเพื่อขอพระมหากรุณาและแสดงความคิดเห็น มีข้อเสนอว่ามาบัดนี้มีความจำเป็นให้ประชาชนผู้เสียภาษีมีส่วนร่วมทางการเมือง การปรากฏของข้อคิดเห็นแบบนี้ แสดงข้อเท็จจริงประการหนึ่งว่า บรรดาพวกเจ้านายได้ผูกขาดอำนาจการเมืองและอยู่ในฐานะมั่งคั่ง โดยไม่มีท่าทีสนใจความเป็นอยู่ของประชาชน ความไม่พอใจสะสมมากขึ้น โดยเหตุนี้เพื่อการปรับปรุงสถานะทางการเมือง เศรษฐกิจของประชาชนในสถานการณ์นั้นจึงมีความจำเป็นต้องปฏิรูปการเมืองอย่างฉับพลัน การโค่นล้มอำนาจของพวกเจ้านาย จึงเป็นวิธีการเดียวที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
สรุปแล้ว สาเหตุแท้จริงการปฏิวัติ ๑๙๓๒ ก็คือการใช้อำนาจตามอำเภอใจ และการไร้ความสามารถของการปกครองของเจ้านายทั้งในทางการเมืองภายในประเทศ และในการจัดความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ความไม่พอใจต่อปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำที่สะสมมามาก และปัญหาการคลังก็เป็นชนวนระเบิดของการเปลี่ยนแปลงโดยฉับพลันครั้งนี้
การฉลอง ๑๕๐ ปี
ของราชวงศ์จักรี
วันที่ ๖ เมษายนของทุกปี เป็นวันที่รัชกาลที่ ๑ ซึ่งเป็นปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์ปัจจุบันเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ ฉะนั้นวันที่ ๖ เมษายนของทุกปีจึงมีงานรัฐพิธี อย่างไรก็ดี วันที่ ๖ เมษายน ในปี ๑๙๓๒ ถือได้ว่าเป็นวันครบรอบ ๑๕๐ ปีของราชวงศ์จักรีด้วย ฉะนั้นจึงได้มีการเตรียมการจัดงานต่างๆ ล่วงหน้ามาก่อน ๒-๓ ปีแล้ว และการจัดงานในปี ๑๙๓๒ ก็เป็นไปอย่างใหญ่โตมโหฬาร เฉพาะอย่างยิ่งในเขตกรุงเทพฯ นอกจากนี้ยังมีพิธีเปิดสะพานพระพุทธยอดฟ้า ซึ่งเชื่อมกรุงเทพฯ กับฝั่งธนบุรี โดยใช้งบประมาณก่อสร้างมหาศาลจำนวน ๒ ล้านบาท เป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งแรก สะพานนี้ออกแบบมาให้สามารถเปิดและปิดเพื่อให้เรือเดินผ่านได้ ขณะเดียวกันในแม่น้ำเจ้าพระยาของวันนั้นยังมีการแสดงแสนยานุภาพของกองทัพเรือ โดยกองทัพเรือจะได้เดินเรือผ่านสะพานนี้เป็นครั้งแรกด้วย
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงฉลองพระองค์แบบโบราณราชประเพณี พระองค์ทรงช้างเครื่อง พระราชินีร่วมเสด็จพระราชดำเนินตามขบวน เมื่อมาถึงบริเวณปะรำพระราชพิธี พระองค์เสด็จประทับรถยนต์ทางด้านหน้า ทางด้านข้างและด้านหลังของขบวนเสด็จฯ มีเหล่าขบวนประกอบพิธี และมีเครื่องดนตรี มีทหารราบ ทหารม้า ทหารปืนใหญ่ ทหารช่าง ทุกหมู่เหล่าแต่งเครื่องแบบเต็มยศร่วมขบวนเสด็จฯ ด้วย ขบวนเสด็จฯ นี้ดำเนินไปอย่างเรียบร้อยและมีระเบียบ นอกจากนี้ในปะรำพิธีมีเจ้านายทุกระดับ และมีข้าราชการทั้งพลเรือนและทหาร ซึ่งมีชื่อเสียงทั้งที่อยู่ในตำแหน่งและนอกตำแหน่ง มีอัครราชทูตจากทุกประเทศ เจ้าหน้าที่การทูตและกงสุลต่างๆ เข้าร่วมพิธี ทุกคนแต่งเครื่องแบบเต็มชั้นยศ รวมทั้งมีการประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่แวววาวและมีสีทองสวยงาม บรรดานายทหารประดับอาวุธ หรือไม่ก็ดาบประจำตำแหน่งและสวมหมวก ทั้งปะรำพิธี และบริเวณประกอบพิธีเต็มไปด้วยสิ่งต่างๆ ดังกล่าว
เดือนเมษายนเป็นฤดูที่ร้อนที่สุดของประเทศสยาม กล่าวคือ มีอุณหภูมิ ๑๖๐ ฟาเรนไฮต์ ทั้งๆ ที่มีอากาศร้อนแบบนี้ ปรากฏว่าบริเวณริมถนนทั้งสองข้างทางมีประชาชนแห่แหนมาเฝ้ารับเสด็จฯ เนืองแน่นไปหมด มีเสียงไชโยดังมาจากทั้งไกลและใกล้ ดูเหมือนว่าจะเป็นรัฐพิธีใหญ่ที่สุด และมีผู้ร่วมรัฐพิธีมากที่สุดของราชวงศ์นี้ ผู้คนที่อยู่ในตำแหน่งและอยู่ในระดับล่างต่างพากันสรรเสริญพระบารมี เหมือนกับว่าเป็นเครื่องแสดงความเจริญและการวัฒนาขั้นสูงสุดของการปกครองของพวกเจ้านาย คนที่เห็นสภาพการณ์ดังกล่าวแล้ว มีใครบ้างจะประเมินได้ว่าจะมีการปฏิวัติเกิดขึ้นในเวลา ๓ เดือนต่อมา
หลังจากทำรัฐพิธีเปิดสะพานพระพุทธยอดฟ้าแล้ว ที่บริเวณสนามหลวงก็ยังมีพระราชพิธีบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในพระราชพิธีนั้น นอกจากพระที่นั่งแล้ว มีปะรำพิธีสำหรับเจ้านาย นักการทูต และข้าราชการ และมีมณฑปตั้งอยู่ทางด้านพระบรมมหาราชวัง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ เสด็จขึ้นไปบนมณฑป ทรงจุดธูปเทียน และทรงกราบพระพุทธรูป ในทางทิศนั้นมองไปแล้วเห็นวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือวัดพระแก้ว อันเป็นสถานที่เก็บพระบรมอัฐิของพระมหากษัตริย์พระองค์ก่อนๆ ในวันนั้นอากาศแจ่มใส แต่มีลมเล็กน้อย ลมที่พัดมาเล็กน้อยทำให้ผู้ร่วมพิธีที่แต่งตัวเต็มยศและมีเหงื่อไหล เกิดมีความสบายในอารมณ์ อย่างไรก็ดีลมที่พัดมานั้นได้ทำให้ไฟที่จุดเทียนดับลง แม้นว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงพยายามหลายครั้ง แต่ก็ไม่สามารถที่จะทำให้ทรงจุดเทียนที่เตรียมไว้ทั้งหมดได้ ในพิธีสำคัญอย่างนี้ ผู้เขียนมีความเห็นว่าควรจะมีฉากกั้นลม แต่ก็ไม่มีใครเตรียมการไว้ ฉะนั้นถ้าย้อนหลังกลับไปพินิจดู เรื่องนี้แสดงลางบอกเหตุ ซึ่งหลังจากนั้นอีกไม่ถึง ๓ เดือน การปฏิวัติก็ถือกำเนิดขึ้น
กลางเดือนมีนาคม ๑๙๓๒ ซึ่งกำลังมีการเตรียมพิธีการใหญ่อยู่นั้น ได้เกิดมีข่าวลือออกมาบ่อยๆ ว่ามีคนวางแผนจะก่อการไม่สงบ โดยอาศัยความชุลมุนวุ่นวายของงานฉลองพระนคร ๑๕๐ ปี ข่าวลือแบบนี้ทำให้จิตใจของผู้คนทั่วไปมีความกังวลใจ เรื่องนี้เป็นความจริง แต่ว่าพิธีการใหญ่ที่ดำเนินการติดต่อกัน ๕ วัน โดยที่มีวันที่ ๖ เมษายน เป็นช่วงกลางของงาน ก็สิ้นสุดลงด้วยความเรียบร้อย และไม่มีเหตุการณ์ร้ายแรงอะไรเกิดขึ้น แต่ว่าเรื่องนี้ผู้เขียนได้รับทราบภายหลังว่ามีแผนการที่จะก่อการปฏิวัติในช่วงพิธี โดยอาศัยช่องว่างที่ข้าราชการและประชาชนกำลังชุลมุนกับงานพิธีเป็นประโยชน์ในการก่อการปฏิวัติ แต่กลุ่มผู้วางแผนการปฏิวัติสำนึกว่าในช่วงงานพิธีนั้นมีประชาชนหลายหมื่นคนรวมทั้งคนต่างชาติเข้าร่วมงาน ถ้าหากเกิดการปฏิวัติขึ้นในโอกาสนั้น ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดเรื่องที่น่ากลัวขึ้น การปฏิวัติในช่วงเวลานั้นจึงถูกระงับไป
การยึดอำนาจของคณะราษฎร
ช่วงเช้าตรู่ของวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๑๙๓๒ การเรียกร้องให้มีการปกครองโดยรัฐธรรมนูญก็ระเบิดขึ้นในที่สุด ผู้เขียนรับทราบเรื่องในภายหลังว่า สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้รับรายงานบ่อยครั้งว่ามีสถานการณ์ไม่น่าไว้วางใจในกองทัพอยู่ แต่พระองค์ท่านทรงไม่สนใจเรื่องดังกล่าวนี้เลย เพราะพระองค์ท่านทรงคิดว่าคนที่พลาดการใช้โอกาสในเหตุการณ์ชุลมุนเมื่องานฉลองพระนคร ๑๕๐ ปี คงจะไม่มีความสามารถก่อการปฏิวัติได้ แต่ในที่สุดอธิบดีกรมตำรวจภูธร [พระยาอธิกรณ์ประกาศ-ผู้แปล] ได้เสนอรายงานหลายครั้ง ก็เลยมีการเตรียมการที่จะจับกุมผู้ต้องสงสัยพร้อมกันในเวลา ๑๑ นาฬิกา ของวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๑๙๓๒ แต่พวกคณะปฏิวัติก็ได้ชิงลงมือกระทำการเสียก่อนเพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนที่จะถูกจับกุม เรื่องที่ทางฝ่ายรัฐบาลดูแคลนข่าวลือเรื่องการปฏิวัตินี้ ผู้เขียนมีความเห็นว่าเป็นการแสดงให้เห็นถึงความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลในระบอบเก่า
ฝ่ายปฏิวัติเป็นนายทหารของกองทัพบก ตั้งแต่ระดับนายพันเอกลงมา นายทหารของกองทัพเรือ และข้าราชการพลเรือนหนุ่มของกระทรวงยุติธรรม เป็นต้น และพวกที่เคยเข้าร่วมการปฏิวัติแผนการปฏิวัติที่ล้มเหลวเมื่อ ๒๐ ปีก่อน ก็เข้ามาร่วมด้วย โดยเริ่มต้นขบวนการของฝ่ายก้าวหน้ามีลักษณะเป็นต่างกลุ่มต่างคิดในเรื่องแผนการการปฏิรูปการเมือง แต่ความคิดของหลายกลุ่มนั้นสามารถประสานกันได้ด้วยสาเหตุใดสาเหตุหนึ่ง เรื่องนี้ทำให้การรวมตัวจัดตั้งเป็นคณะราษฎรสำเร็จขึ้น
จนถึง ๘ โมงเช้าของวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๑๙๓๒ ข่าวการปฏิวัติได้แผ่กระจายไปทั่วกรุงเทพฯ เหมือนกับมีเสียงข่าววิทยุ แต่ว่ากลุ่มใดทำเรื่องอะไร และต่อไปสถานการณ์จะเป็นอย่างไรบ้างนั้น ประชาชนยังคงมีความคลุมเครือ และยังคงดำเนินชีวิตตามปกติ ยกเว้นแต่สถานที่สำคัญที่ใกล้ๆ กับวังของเจ้านาย มีรถถังและกองกำลังทหารรักษาพื้นที่อย่างเข้มงวด ส่วนในร้านค้าทั่วไปยังคงเปิดร้านเหมือนปกติ ไม่มีเสียงปืนดังขึ้นสักครั้งหนึ่งเลย แต่สีหน้าของประชาชนแสดงความตื่นเต้นอยู่บ้าง แต่ว่าสภาพการณ์ของเมืองโดยทั่วไปไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ยกเว้นในบริเวณที่ใกล้วังของเจ้านาย หลังจากนั้นอีกสองสามชั่วโมงจึงรู้ได้ว่าพวกปฏิวัติกลุ่มหนึ่งซึ่งเคยมีข่าวลือออกมานั้นใช้ชื่อว่าคณะราษฎร ได้เริ่มลงมือในช่วงหลังเที่ยงคืน และบุกเข้าไปจับเจ้านายตั้งแต่เช้ามืดนำตัวมาคุมขัง
ฝ่ายปฏิวัติซึ่งประกอบกันขึ้นจากฝ่ายพลเรือนและทหารรวมกันเป็นคณะราษฎร ได้เรียกร้องให้กองทัพบก กองทัพเรือ และผู้บังคับบัญชาการกองกำลังต่างๆ เข้าร่วมกับกองกำลังฝ่ายปฏิวัติ แต่ในช่วงเวลานั้นกองทัพบกและกองทัพเรือเข้าร่วมโดยไม่มีความลังเลใจ ยกเว้นพระยาเสนาสงคราม ผู้บัญชาการกองพลที่ ๑ รักษาพระองค์ ที่ไม่เข้าร่วม จึงถูกยิงในการปฏิวัติในช่วงนั้น มีข่าวลือว่าถูกยิงตายคาที่ แต่ที่จริงถูกยิงทะลุที่ขาเท่านั้น เรื่องนี้เป็นเพียงเหตุการณ์เดียวที่มีการนองเลือดในการปฏิวัติ [ในงานเขียนของยาตาเบกล่าวว่า คณะราษฎรได้บังคับให้พระยาเสนาสงครามเรียกระดมทหารให้มาชุมนุมกัน ซึ่งไม่ถูกต้องกับข้อเท็จจริง ในที่นี้ผู้แปลได้แก้ไขข้อความไปเฉพาะในส่วนนี้-ผู้แปล]
ส่วนหนึ่งของทหารม้าและทหารปืนใหญ่ที่เข้าร่วมในการปฏิวัตินั้น ได้ร่วมกันปลดอาวุธของกองกำลังรักษาพระองค์ ในประมาณ ๕ นาฬิกา ได้ส่งกองกำลังส่วนหนึ่งถึงอธิบดีกรมตำรวจภูธรแจ้งเรื่องการยึดอำนาจและจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ในขณะเดียวกันได้ส่งกองกำลังเข้าล้อมวัง [วังบางขุนพรหม ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของธนาคารแห่งประเทศไทย-ผู้แปล] อันเป็นสถานที่ประทับของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย อธิบดีกรมตำรวจภูธรได้รายงานเรื่องต่างๆ ให้สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตทรงทราบ และได้จัดส่งกำลังตำรวจเพื่อรักษาพระองค์ แต่ก็ล่าช้าไม่ทันการณ์ เพราะว่าวังของพระองค์ได้ถูกห้อมล้อมโดยทหารม้าและทหารราบ ในที่นั้นได้เกิดมีการยิงกันระหว่างทหารกับตำรวจ แต่ทั้ง ๒ ฝ่ายไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ วังของกรมพระนครสวรรค์ฯ นี้มีขนาดใหญ่มโหฬารตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา พระองค์ท่านทรงได้ยินเสียงปืนที่ดังขึ้นหน้าประตูวัง และทรงพยายามหลบหนีไปทางด้านหลังโดยอาศัยเรือ แต่ในแม่น้ำเจ้าพระยานั้นมีเรือปืนของกองทัพเรือ ๒ ลำ ซึ่งอยู่ฝ่ายคณะปฏิวัติทอดสมอจอดอยู่ ฝ่ายทหารเรือได้ติดตามการเคลื่อนไหวภายในวังในท่ามกลางของหมอกในตอนเช้า กองกำลังของฝ่ายปฏิวัติซึ่งบุกเข้าไปทางประตูหน้าของวัง ได้จับกุมสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตได้โดยไม่ยากลำบาก และนำพระองค์ขึ้นรถบรรทุกทหารโดยทรงนั่งในแถวหน้าคนขับ ในช่วงนั้นพระองค์ท่านทรงชุดนอน และถูกฝ่ายปฏิวัตินำไปขังไว้ที่ห้องโถงชั้น ๒ ของพระที่นั่งอนันตสมาคม พระที่นั่งอนันตสมาคมนี้เป็นพระราชวังที่หรูหรามาก สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ โดยใช้เงินก่อสร้าง ๘ ล้านบาท โดยวัสดุหินอ่อนสีขาวที่สั่งมาจากประเทศอิตาลี และจ้างนายช่างอิตาลีออกแบบในสไตล์แบบเรอเนซองส์ คนไทยโดยทั่วไปมีความภูมิใจเป็นอย่างมากว่าเป็นพระราชวังที่มีความสวยงามที่สุด และไม่มีอาคารใดในเขตตะวันออกนับตั้งแต่คลองสุเอซเป็นต้นมาเปรียบเทียบได้ ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้น พระราชพิธีต่างๆ ที่สำคัญมักจะกระทำ ณ พระที่นั่งแห่งนี้ ตัวอย่างเช่น การมอบสารตราตั้งของอัครราชทูตต่างประเทศ ก็ทำที่ห้องโถงของพระราชวังแห่งนี้ การประชุมของอภิรัฐมนตรีสภา รวมทั้งของเสนาบดีสภา ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงเป็นประธานที่ประชุม ก็จัดประชุมกันที่พระที่นั่งนี้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ประทับอยู่ในกรุงเทพฯ จะมีธงประจำพระองค์ ซึ่งมีพื้นเหลืองและมีครุฑสีแดง ยกขึ้นเหนือโดมของพระที่นั่ง อย่างไรก็ดีในเช้าของวันนั้น พระที่นั่งอนันตสมาคมได้กลายเป็นสถานที่คุมขังพวกเจ้านาย ซึ่งพวกคณะราษฎรได้จับกุมสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยานครสวรรค์วรพินิต สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ และสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งเป็นอภิรัฐมนตรี นำมาคุมขัง และอธิบดีกรมตำรวจภูธร พระยาอธิกรณ์ประกาศ ก็ถูกจับกุมและนำมาคุมขังไว้ที่นี้ด้วย
ช่วงเวลาเช้า พระบรมมหาราชวังถูกล้อมโดยกำลังทหาร กองกำลังรักษาพระองค์ ซึ่งรักษาพระบรมมหาราชวังอยู่ได้ถูกปลดอาวุธประจำกาย ข้าราชการกระทรวงวังที่มีปฏิภาณไหวพริบบางคน ได้หลบหนีออกจากพระบรมมหาราชวังโดยไม่ใส่รองเท้า ไปหาเสนาบดีกระทรวงวัง [คือเจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์-ผู้แปล] กับสมุหพระราชมณเฑียร [พระยาสุริวงศ์วิวัฒน์-ผู้แปล] ซึ่งท่านหลังนี้ได้รายงานให้สมเด็จฯ กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ซึ่งประทับนอนชั่วคราวอยู่ใกล้ๆ ให้ทรงทราบ สมเด็จฯ กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธินทรงเป็นอภิรัฐมนตรี และเป็นเสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม รวมทั้งเป็นผู้บังคับบัญชากรมรถไฟด้วย เมื่อพระองค์ทรงทราบข่าวร้ายดังกล่าวแล้ว พระองค์ก็ได้ทรงรีบเสด็จไปยังสถานีรถไฟที่ตั้งอยู่กลางกรุงเทพฯ พร้อมด้วยสมุหพระราชมณเฑียร ได้บัญชาการให้รวบรวมหัวรถจักรหลายคัน เดินรถไฟไปยังทิศใต้ ใช้เวลา ๖ ชั่วโมง ถึงพระราชวังไกลกังวล หัวหิน และถวายรายงานให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงทราบเป็นครั้งแรก ซึ่งพระองค์ยังไม่ทราบเรื่องอะไรเลย ในขณะที่พระองค์ได้ทรงใช้เวลาในช่วงนั้นพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญพระราชทานอยู่
การเรียกร้องและประกาศ
ของคณะราษฎร
คณะราษฎรซึ่งร่วมมือกันอย่างแนบแน่นระหว่างฝ่ายทหารบกกับฝ่ายทหารเรือได้ลงมือแบบฟ้าผ่า จับกุมบุคคลสำคัญตั้งแต่สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตลงมาตลอดจนเจ้านายชั้นสูง รวมทั้งข้าราชการชั้นสูง เช่น อธิบดีกรมตำรวจภูธร เป็นต้น ยึดอำนาจในเขตพระนครในเวลาพริบตา ฝ่ายปฏิวัติได้ประกาศตั้งรัฐบาลใหม่ ในบริเวณชั้นล่างของพระที่นั่งอนันตสมาคม โดยที่ชั้นบนเป็นสถานที่กักขังเจ้านายไว้ และได้ทูลเกล้าฯ ถวายหนังสือกราบบังคมทูลอย่างเป็นทางการถึงพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ โดยทันที ซึ่งเนื้อหาภายในของหนังสือกราบบังคมทูลมีความว่า
"...ด้วยคณะราษฎร ข้าราชการพลเรือนทหารได้ยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินไว้แล้ว และได้เชิญสมเด็จพระบรมวงศานุวงศ์ มีสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต เป็นต้น ไว้เป็นตัวประกัน ถ้าหากคณะราษฎรนี้ถูกทำร้ายด้วยประการใดๆ ก็จะต้องทำร้ายเจ้านายที่จับกุมไว้เป็นการตอบแทน คณะราษฎรไม่ประสงค์จะแย่งชิงราชสมบัติแต่อย่างใด ความประสงค์อันยิ่งใหญ่ก็เพื่อจะให้มีธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน จึงขอเชิญใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทเสด็จกลับคืนสู่พระนครและทรงเป็นกษัตริย์ต่อไป โดยอยู่ใต้ธรรมนูญปกครองแผ่นดิน ซึ่งคณะราษฎรได้สร้างขึ้น ถ้าใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทตอบปฏิเสธก็ดี หรือไม่ตอบภายในหนึ่งชั่วนาฬิกา นับแต่ได้รับหนังสือนี้ก็ดี คณะราษฎรก็จะได้ประกาศใช้ธรรมนูญปกครองแผ่นดิน โดยเลือกเจ้านายพระองค์อื่นที่เห็นสมควรขึ้นเป็นกษัตริย์..."
ผู้ลงนามในหนังสือนั้นคือ พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา พันเอก พระยาทรงสุรเดช และพันเอก พระยาฤทธิอัคเนย์ ผู้นำสาส์นนั้นขึ้นเรือหลวงสุโขทัย ซึ่งมีทหารบก ๑๒๐ คน และทหารเรือ ๗๕ คน เรือมุ่งไปยังพระราชวังไกลกังวล หัวหิน ในขณะเดียวกันได้มีการแจกจ่ายใบปลิวประกาศ "คณะราษฎร" ออกไปในเขตกรุงเทพฯ โดยมีใจความว่า คณะราษฎรได้จับกุมเจ้านายแล้ว ถ้ามีบุคคลต่อต้านคณะราษฎร จะถูกปราบปราม และไม่รับรองความปลอดภัยในชีวิตของเจ้านาย ในขณะเดียวกันได้มีประกาศคณะราษฎรที่มีการจัดพิมพ์เรียบร้อย และมีเนื้อหายืดยาว ประกาศนี้แสดงความรู้สึกของคณะราษฎรต่อระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างไม่ปิดบัง ในที่นี้ผู้เขียนขอยกคำประกาศคณะราษฎร ที่มีเนื้อหาความดังต่อไปนี้
"...เมื่อกษัตริย์องค์นี้ได้ครองราชสมบัติสืบต่อพระเชษฐานั้น ในชั้นต้นราษฎรได้หวังกันว่า กษัตริย์องค์ใหม่นี้คงจะปกครองราษฎรให้ร่มเย็น แต่การณ์หาเป็นไปตามความหวังที่คิดไม่ กษัตริย์คงทรงอำนาจอยู่เหนือกฎหมายตามเดิม ทรงแต่งตั้งญาติวงศ์และคนสอพลอไร้คุณงามความรู้ให้ดำรงตำแหน่งที่สำคัญๆ ไม่ทรงฟังเสียงราษฎร ปล่อยให้ข้าราชการใช้อำนาจหน้าที่ในทางทุจริต มีการรับสินบนในการก่อสร้าง ซื้อของใช้ในราชการ หากำไรในการเปลี่ยนราคาเงิน ผลาญเงินทองของประเทศ ยกพวกเจ้าขึ้นให้สิทธิพิเศษมากกว่าราษฎร ปกครองโดยขาดหลักวิชา ปล่อยให้บ้านเมืองเป็นไปตามยถากรรม ดังที่จะเห็นได้ในความตกต่ำในเศรษฐกิจ และความฝืดเคืองในการทำมาหากิน ซึ่งราษฎรได้รู้กันอยู่ทั่วไปแล้ว รัฐบาลของกษัตริย์เหนือกฎหมายมิสามารถแก้ไขให้ฟื้นขึ้นได้ การที่แก้ไขไม่ได้ก็เพราะรัฐบาลของกษัตริย์นี้มิได้ปกครองประเทศเพื่อราษฎรตามที่รัฐบาลอื่นๆ ได้กระทำกัน รัฐบาลของกษัตริย์ได้ถือเอาราษฎรเป็นทาส (ซึ่งเรียกว่าไพร่บ้างข้าบ้าง) เป็นสัตว์เดรัจฉาน ไม่นึกว่าเป็นมนุษย์ เพราะฉะนั้นแทนที่จะช่วยราษฎรกลับพากันทำนาบนหลังราษฎร จะเห็นได้ว่าภาษีอากรที่บีบคั้นเอาจากราษฎรนั้น กษัตริย์ได้หักเอาไว้ใช้ส่วนตัว ปีหนึ่งเป็นจำนวนหลายล้าน ส่วนราษฎรสิ กว่าจะหาได้แต่น้อยเลือดตาแทบกระเด็น ถึงคราวเสียภาษีราชการหรือภาษีส่วนตัว ถ้าไม่มีเงินรัฐบาลก็ยึดทรัพย์หรือใช้งานโยธา แต่พวกเจ้ากลับนอนกินกันเป็นสุขไม่มีประเทศใดในโลกจะให้เงินเจ้ามากเช่นนี้ นอกจากพระเจ้าซาร์และพระเจ้าไกเซอร์เยอรมัน ซึ่งชนชาตินั้นได้โค่นราชบัลลังก์เสียแล้ว
รัฐบาลของกษัตริย์ได้ปกครองอย่างหลอกลวงไม่ซื่อตรงต่อราษฎร มีเป็นต้นว่าจะบำรุงการทำมาหากินอย่างโน้นอย่างนี้ แต่ครั้นคอยๆ ก็เหลวไป หาได้ทำจริงจังไม่ มิหนำซ้ำกล่าวหมิ่นประมาทราษฎรผู้มีบุญคุณเสียภาษีอากรให้พวกเจ้าได้กิน ว่าราษฎรมีเสียงทางการเมืองไม่ได้ เพราะราษฎรยังโง่ เจ้าก็โง่เพราะเป็นคนชาติเดียวกัน ที่ราษฎรรู้เท่าไม่ถึงเจ้านั้นไม่ใช่เพราะโง่ เป็นเพราะขาดการศึกษาที่พวกเจ้าปกปิดไว้ไม่ให้เรียนเต็มที่ เพราะเกรงว่าราษฎรได้มีการศึกษาก็จะรู้ความชั่วร้ายที่ทำไว้ และคงจะไม่ยอมให้ทำนาบนหลังคน
ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่า ประเทศเรานี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่ของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวง บรรพบุรุษของราษฎรเป็นผู้กู้ให้ประเทศมีอิสรภาพพ้นจากข้าศึก พวกเจ้ามีแต่ชุบมือเปิบและกวาดทรัพย์สมบัติเข้าไว้ตั้งหลายร้อยล้าน เงินเหล่านี้เอามาจากไหน ก็เอามาจากราษฎรเพราะวิธีทำนาบนหลังคนนั่นเอง บ้านเมืองกำลังอัตคัดฝืดเคือง ชาวนาและพ่อแม่ทหารต้องทิ้งนาเพราะทำไม่ได้ผล รัฐบาลไม่บำรุง รัฐบาลไล่คนงานออกอย่างเกลื่อนกลาด นักเรียนที่เรียนสำเร็จแล้ว และทหารที่ปลดกองหนุนไม่มีงานทำจะต้องอดอยากไปตามยถากรรม เหล่านี้เป็นผลของรัฐบาลของกษัตริย์เหนือกฎหมายบีบคั้นข้าราชการผู้น้อยนายสิบและเสมียน เมื่อให้ออกจากงานแล้วไม่ให้เบี้ยบำนาญ ความจริงควรเอาเงินที่กวาดรวบรวมไว้มาจัดบ้านเมืองให้ราษฎรมีงานทำ จึงจะสมควรที่สนองคุณราษฎร ซึ่งได้เสียภาษีอากรให้พวกเจ้าได้ร่ำรวยมานาน แต่พวกเจ้าก็หาได้ทำอย่างใดไม่ คงสูบเลือดกันเรื่อยไป เงินมีเหลือเท่าไรก็เอาฝากต่างประเทศคอยเตรียมหนีเมื่อบ้านเมืองทรุดโทรม ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก การเหล่านี้ย่อมชั่วร้าย
เหตุฉะนั้นราษฎรข้าราชการทหารและพลเรือนที่รู้เท่าถึงการกระทำอันชั่วร้ายของรัฐบาลดังกล่าวแล้ว จึงรวมกำลังตั้งเป็นคณะราษฎรขึ้นและได้ยึดอำนาจของรัฐบาลของกษัตริย์ไว้แล้ว คณะราษฎรเห็นว่าการที่จะแก้ความชั่วร้ายก็โดยที่จะต้องจัดการปกครองโดยมีสภา จะได้ช่วยกันปรึกษาหารือ หลายๆ ความคิดดีกว่าความคิดเดียว ส่วนผู้เป็นประมุขของประเทศนั้น คณะราษฎรไม่มีประสงค์ทำการชิงราชสมบัติ ฉะนั้นจึงขอเชิญให้กษัตริย์องค์นี้ดำรงตำแหน่งกษัตริย์ต่อไป แต่จะต้องอยู่ใต้กฎหมายธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน จะทำอะไรโดยลำพังไม่ได้ นอกจากความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร คณะราษฎรได้แจ้งความเห็นนี้ให้กษัตริย์ทราบแล้ว เวลานี้ยังอยู่ในความรับตอบ ถ้ากษัตริย์ตอบปฏิเสธหรือไม่ตอบภายในกำหนดโดยเห็นแก่ส่วนตน ว่าจะถูกลดอำนาจลงมาก็จะได้ชื่อว่าทรยศต่อชาติ และก็เป็นการจำเป็นที่ประเทศจะต้องมีการปกครองอย่างประชาธิปไตย กล่าวคือ ประมุขของประเทศจะเป็นบุคคลสามัญ ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้ตั้งขึ้น อยู่ในตำแหน่งตามกำหนดเวลา ตามวิธีนี้ราษฎรพึงหวังเถิดว่า ราษฎรจะได้รับความบำรุงอย่างดีที่สุด ทุกๆ คนจะมีงานทำเพราะประเทศของเราเป็นประเทศที่อุดมอยู่แล้วตามสภาพ เมื่อเราได้ยึดเงินที่พวกเจ้ารวบรวมไว้จากการทำนาบนหลังคนตั้งหลายร้อยล้านมาบำรุงประเทศขึ้นแล้ว ประเทศจะต้องเฟื่องฟูขึ้นเป็นแม่นมั่น การปกครองซึ่งคณะราษฎรจะพึงกระทำก็คือ จำต้องจัดวางโครงการอาศัยหลักวิชา ไม่ทำไปเหมือนคนตาบอดเช่นรัฐบาลที่มีกษัตริย์เหนือกฎหมายทำมาแล้ว เป็นหลักใหญ่ๆ ที่คณะราษฎรวางไว้มีอยู่ว่า
๑. จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในทางการเมือง การศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง
๒. จะต้องรักษาความปลอดภัยภายในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก
๓. ต้องบำรุงความสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะจัดหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก
๔. จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอกัน (ไม่ใช่พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่)
๕. จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก ๕ ประการดังกล่าวข้างต้น
๖. จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร
ราษฎรทั้งหลายจงพร้อมใจช่วยคณะราษฎรให้ทำกิจอันคงจะอยู่ชั่วฟ้าดินนี้ให้สำเร็จ คณะราษฎรขอให้ทุกคนที่มิได้ร่วมมือเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลกษัตริย์เหนือกฎหมายพึงตั้งอยู่ในความสงบและตั้งหน้าหากิน อย่าทำการใดๆ อันเป็นการขัดขวางต่อคณะราษฎรนี้ เท่ากับราษฎรช่วยประเทศและช่วยตัวราษฎร บุตร หลาน เหลนของตนเอง ประเทศจะมีความเป็นเอกราชอย่างพร้อมมูล ราษฎรจะได้รับความปลอดภัย ทุกคนจะต้องมีงานทำ ทุกคนจะมีสิทธิเสมอกันและมีเสรีภาพพ้นจากการเป็นไพร่เป็นข้าทาส พวกเจ้าหมดสมัยที่เจ้าจะทำนาบนหลังราษฎร สิ่งที่ทุกคนพึงปรารถนา คือความสุขความเจริญอย่างประเสริฐ ซึ่งเรียกเป็นศัพท์ว่า "ศรีอาริย" นั้นก็จะพึงบังเกิดขึ้นแก่ราษฎรถ้วนหน้า [ผู้แปลใช้เอกสารอ้างอิงจาก สกล เตมิยสูต (รวบรวม). จดหมายเหตุ ประวัติการณ์เปลี่ยนแปลงพระธรรมนูญการปกครองประเทศสยามใหม่. พระนคร : โรงพิมพ์อักษรนิติ, ๒๔๗๕, หน้า ๕-๑๓.]
ถ้าเปรียบเทียบหนังสือกราบบังคมทูลของ ๓ พันเอก กับประกาศคณะราษฎรที่แจกจ่ายในเขตพระนครแล้ว พิจารณาทั้ง ๒ ฉบับ ทุกคนก็คงรู้ได้ทันทีว่า หนังสือที่ทูลเกล้าฯ ถวายถึงพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ เป็นการขอร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นระบอบรัฐธรรมนูญราชาธิปไตย แต่ประกาศคณะราษฎรได้แสดงความคิดว่า หากมีความจำเป็นประเทศสยามอาจปกครองในระบอบสาธารณรัฐ และยังให้ข้อคิดอีกด้วยว่า ระบอบสาธารณรัฐดีกว่าระบอบรัฐธรรมนูญราชาธิปไตย ในความคิดของผู้เขียน ส่วนหนึ่งของคณะราษฎรมีอุดมการณ์สาธารณรัฐนิยมอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะฉะนั้นคำประกาศทำนองนี้จึงถูกร่างขึ้นมา แต่ภายในคณะราษฎรนั้นมีหลายกลุ่ม และมีความคิดเห็นไม่ตรงกันในประเด็นที่ว่า หากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงไม่ตอบตกลงแล้ว วิธีการดำเนินการต่อไปจะเป็นอย่างไร ในที่สุดเมื่อมีการลงมือจริงๆ ข้อเสนอของฝ่ายทหารนั้นได้รับการปฏิบัติ จึงมีแต่การเรียกร้องระบอบรัฐธรรมนูญราชาธิปไตยเพียงประการเดียว หนังสือกราบบังคมทูลถึงพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ จึงปรากฏเป็นเนื้อหาดังกล่าว ส่วนที่เป็นประกาศของคณะราษฎรนั้น ไม่มีเวลาจะปรับปรุงเนื้อหาใหม่ ตามที่ฝ่ายทหารคิดเห็น ในทัศนะของผู้เขียนนั้น การแจกจ่ายประกาศของคณะราษฎรน่าจะเกิดจากการขาดความรอบคอบ อย่างไรก็ตามคำประกาศนี้ได้สร้างช่องว่างที่ประสานได้ยากในโอกาสต่อไประหว่างผู้นำคณะราษฎร กับฝ่ายพระมหากษัตริย์และเจ้านายส่วนหนึ่ง และประกาศนี้เองเป็นจุดเริ่มต้นของการโจมตีจากฝ่ายตรงข้ามว่าคณะราษฎรมีพวกคอมมิวนิสต์อยู่ด้วย ในประกาศดังกล่าวข้างต้นได้กล่าวถึงการยึดทรัพย์สินของเจ้านาย เรื่องนี้ฝ่ายตรงข้ามสามารถยกขึ้นเป็นประเด็น ซึ่งเป็นที่เข้าใจได้ แต่การโจมตีว่ามีฝ่ายคอมมิวนิสต์อยู่ในคณะราษฎรนั้น ผู้เขียนมีความเห็นว่าไม่ตรงกับข้อเท็จจริงแต่ประการใด
เมื่อคณะราษฎรยึดอำนาจในเขตพระนครได้แล้ว ในบ่ายวันนั้นได้เรียกเสนาบดีและปลัดทูลฉลองให้ต้องเข้ามาร่วมประชุม ฝ่ายเสนาบดีที่ไม่ได้ประชุม ได้แก่ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยที่ถูกจับกุมอยู่ และเสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคมซึ่งอยู่ที่หัวหิน เสนาบดีกระทรวงกลาโหมและรองเสนาบดี ซึ่งเดินทางไปราชการในแหลมมลายู เสนาบดีทั้งสี่นี้เป็นเจ้านาย ส่วนเสนาบดีอื่นๆ มาประชุม (และที่เป็นเจ้านาย ได้แก่ เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการคลัง กระทรวงศึกษาธิการ) การประชุมที่พระที่นั่งอนันตสมาคมในช่วงเวลา ๑๖ ถึง ๑๘ นาฬิกา รวม ๒ ชั่วโมง และได้ให้พวกเสนาบดีสัญญาว่าจะทำหน้าที่ที่รับผิดชอบเหมือนอย่างเดิมภายใต้การควบคุมของคณะราษฎร และในการประชุมนี้ แผนการดำเนินงานในระบบสภาผู้แทนราษฎรของคณะราษฎรถูกอธิบาย และมีการโต้เถียงกันระหว่างเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ กับผู้นำคณะราษฎรเกี่ยวกับวิธีการแจ้งกับนานาประเทศว่าจะดำเนินการอย่างไร หลังจากการประชุมเสร็จแล้ว ได้มีประกาศซึ่งลงนามโดยพระยาพหลพลพยุหเสนา มีเนื้อความว่า คณะราษฎรได้ยึดอำนาจการเมือง โดยมีวัตถุประสงค์จะสถาปนารัฐบาลในระบอบรัฐธรรมนูญ และสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตทรงได้เห็นชอบด้วยแล้ว ข้าราชการทุกคนให้ทำหน้าที่ไปตามปกติ หากผู้ใดละทิ้งหน้าที่จะต้องมีความผิด ในขณะเดียวกันได้มีการส่งคนไปแจ้งต่อสถานทูตและสถานกงสุลของทุกประเทศ โดยมีหนังสือบันทึกด้วยวาจาของเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ มีเนื้อความว่า "รัฐบาลชั่วคราว ซึ่งปกครองประเทศไทยในปัจจุบัน จะรักษาความสงบเรียบร้อย ปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของทุกคนที่อยู่ในราชอาณาจักร จะจัดให้มีมาตรการทุกประการที่มีความจำเป็น และรักษาสนธิสัญญาและพันธะต่อต่างประเทศทุกประการ"
การเสด็จกลับพระนคร
ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
ในเวลา ๑๐ โมงครึ่งของวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๑๙๓๒ มีโทรเลขจากหัวหน้าที่ส่งไปหัวหิน ถึงพระยาพหลพลพยุหเสนา โดยโทรเลขฉบับแรกกล่าวว่า พระมหากษัตริย์ยอมรับข้อเรียกร้องของคณะราษฎรแล้ว และพระองค์ทรงตั้งพระราชหฤทัยจะเสด็จนิวัตพระนครทางบก ขอให้ดำเนินการด้วย หลังจากนั้นมีโทรเลขฉบับที่ ๒ โดยฉบับนี้เป็นพระราชหัตถเลขาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ มีถึงคณะราษฎร ซึ่งเนื้อความในโทรเลขฉบับนี้แสดงให้เห็นถึงความรู้สึกสะเทือนใจอย่างมากของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ เอง และทรงแย้มพรายว่าพระองค์อาจจะทรงสละราชสมบัติ โทรเลขฉบับที่ ๒ มีเนื้อหาดังนี้
"...ตามที่คณะทหารมีความปรารถนาจะเชิญให้ข้าพเจ้ากลับพระนคร เป็นกษัตริย์อยู่ใต้พระธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน ข้าพเจ้าเห็นแก่ความเรียบร้อยของอาณาประชาราษฎร์ ไม่อยากให้เสียเลือดเนื้อกับทั้งเพื่อจัดการโดยละม่อมละไม ไม่ให้ขึ้นชื่อว่าจลาจลเสียหายแก่บ้านเมือง และความจริงข้าพเจ้าคิดอยู่แล้วที่จะเปลี่ยนแปลงทำนองนี้ คือมีพระเจ้าแผ่นดินปกครองโดยธรรมนูญ จึงยอมรับที่จะช่วยเป็นตัวเชิด เพื่อให้คุมโครงการตั้งรัฐบาลให้เป็นรูปตามวิธีเปลี่ยนแปลงตั้งพระธรรมนูญโดยสะดวก เพราะว่าข้าพเจ้าจะไม่ยอมรับเป็นตัวเชิด นานาประเทศคงจะไม่รับรองรัฐบาลใหม่นี้ ซึ่งจะเป็นความลำบากยิ่งขึ้นหลายประการ ความจริงข้าพเจ้าเองในเวลานี้ก็ทราบกันอยู่แล้วว่ามีอาการทุพพลภาพ และไม่มีลูกสืบวงศ์สกุล และจะไม่ทนงานไปนานเท่าใดนัก ทั้งไม่มีความปรารถนามักใหญ่ใฝ่สูงให้เกิดศักดิ์ และความสามารถที่จะช่วยพยุงชาติของเราให้เจริญเทียมหน้าเขาบ้าง พูดมานี้เป็นความจริงใจเสมอ" [ผู้แปลใช้เอกสารอ้างอิงจาก สกล เตมิยสูต (รวบรวม). จดหมายเหตุ ประวัติการณ์เปลี่ยนแปลงพระธรรมนูญการปกครองประเทศสยามใหม่. พระนคร : โรงพิมพ์อักษรนิติ, ๒๔๗๕, หน้า ๓๔-๓๕.]
ในเวลาเที่ยงคืนของวันที่ ๒๕ มิถุนายน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ และพระราชินีเสด็จกลับถึงพระนครโดยทางรถไฟ พร้อมกับสมเด็จฯ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ (พ่อตา) ซึ่งอยู่ร่วมในขบวนเสด็จฯ ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ และพระราชินีที่หัวหิน สมเด็จฯ กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ซึ่งแจ้งข่าวการปฏิวัติครั้งแรกที่หัวหินก็ร่วมขบวนเสด็จฯ ด้วย ในช่วงเช้าตรู่ของวันปฏิวัติ ได้มีหัวขบวนรถจักรวิ่งออกจากกรุงเทพฯ ไปอย่างรวดเร็ว แต่ในครั้งนี้ได้เดินทางกลับมาถึงสถานีรถไฟจิตรลดา ซึ่งดูคล้ายกับ "ม้า" ที่หมดกำลังของนายพลที่แพ้สงคราม หัวขบวนรถจักรมีตู้ขบวนเพียงตู้เดียว ภายในและภายนอกสถานีรถไฟจิตรลดา มีทหารฝ่ายปฏิวัติรักษาการอยู่ ผู้ที่มารับเสด็จ ซึ่งเป็นผู้ที่สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ มีเสนาบดีกระทรวงวัง [เจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์, ม.ร.ว.เย็น อิสรเสนา, ๑๘๖๓-๑๙๔๑-ผู้แปล] เพียงคนเดียว เสนาบดีกระทรวงวังนี้มีอายุมากแล้ว เสนาบดีกระทรวงวังได้มองพระพักตร์ด้วยความสลดใจโดยไม่ได้กล่าวอะไร พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ และพระราชินีไม่ได้เสด็จไปพระราชวังดุสิต ซึ่งเป็นที่ประทับประจำ แต่พระองค์เสด็จวังศุโขทัย ซึ่งเป็นวังที่ประทับก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์ โดยมีการรักษาการณ์อย่างเข้มงวดของฝ่ายทหารและตำรวจ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์นั้น มีพระนามว่ากรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา รถยนต์ที่ใช้เสด็จไม่ใช่รถพระที่นั่ง แต่ใช้รถยนต์ธรรมดา ซึ่งรัฐบาลชั่วคราวจัดถวาย จึงทำให้เกิดความรู้สึกว่าไม่ได้ดำรงพระยศเป็นพระมหากษัตริย์เหมือนเดิม และทำให้คนดูเข้าใจได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงของโลกและมีชะตากรรมของพระมหากษัตริย์เกิดขึ้นอย่างน่าเศร้าสลดใจ
ประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว
ช่วงเช้าของวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๑๙๓๒ ผู้นำคณะราษฎรได้ขอเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ผ่านเสนาบดีกระทรวงวัง เวลา ๑๑.๑๕ นาฬิกา พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงให้ผู้นำคณะราษฎร รวม ๙ คนเข้าเฝ้า โดยมีสมุหพระราชมณเฑียร (พระยาสุริวงศ์วิวัฒน์) เป็นผู้นำคณะราษฎรเข้าเฝ้า ฝ่ายคณะราษฎรได้ขอให้มีพระบรมราชโองการอภัยโทษต่อคนที่เข้าร่วมการปฏิวัติ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงรับทันทีและทรงลงพระนามประกาศ พระบรมราชโองการฉบับนี้ได้ประกาศในช่วงเวลาบ่ายของวันนั้น ประกาศนั้นมีข้อความดังนี้
"พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศจงทราบทั่วกันว่า
การที่คณะราษฎรคณะหนึ่ง ซึ่งมีความปรารถนาอันแรงกล้า ในอันที่จะแก้ไขขจัดความเสื่อมโทรมบางประการของรัฐบาลสยามและชาติไทยให้หายไป แล้วจะพากันจรรโลงสยามรัฐและชาติไทยให้เจริญรุ่งเรืองวัฒนาถาวรมั่นคงเท่าเทียมกับชาติและประเทศอื่นต่อไป จึงพากันยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินไว้ด้วยความมุ่งหมายจะให้มีธรรมนูญปกครองแผ่นดินเป็นข้อใหญ่ แล้วร้องขอไปยังเราเพื่อให้เราคงดำรงเป็นกษัตริย์แห่งสยามรัฐต่อไป ภายใต้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินนั้น ทั้งนี้แม้ว่าการจะเป็นไปโดยขัดกับความพอพระทัยพระบรมวงศานุวงศ์บางพระองค์ และขัดกับสมาชิกในรัฐบาลเดิมบางคนก็ดี ก็เป็นธรรมดาที่จะต้องเป็นไปเช่นนั้นในทุกประเทศ ไม่ว่าจะเจริญรุ่งเรืองแล้วเท่าไรๆ ก็ไม่อาจจะก้าวล่วงการนี้เสียได้ ถึงกระนั้นก็พึ่งปรากฏเป็นประวัติการณ์ครั้งแรกของโลกที่การณ์ได้เป็นไปโดยราบรื่นปกติมิได้รุนแรง
และแม้จะได้อัญเชิญพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการบางคนมาประทับและไว้ในพระที่นั่งอนันตสมาคมก็เพียงเพื่อประกันภัยของคณะ และเพื่อให้ดำเนินการลุล่วงไปเท่านั้น หาได้ทำการประทุษร้ายหรือหยาบหยามอย่างใด และไม่มุ่งหมายจะกระทำเช่นนั้นด้วย ได้แต่บำรุงรับไว้ด้วยดี สมควรแก่พระเกียรติยศทุกประการ
อันที่จริงการปกครองด้วยวิธีมีพระธรรมนูญการปกครองนี้ เราก็ได้ดำริอยู่ก่อนแล้ว ที่ราษฎรคณะนี้กระทำมาเป็นการถูกต้องตามนิยมของเราอยู่ และด้วยเจตนาดีต่อประเทศชาติอาณาประชาชนแท้ๆ จนหาการกระทำหรือแต่เพียงเจตนาชั่วร้ายแม้แต่น้อยมิได้
เหตุฉะนี้จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกำหนดดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชกำหนดนี้ให้เรียกว่า พระราชกำหนดนิรโทษกรรมในคราวเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน พุทธศักราช ๒๔๗๕
มาตรา ๒ ให้ใช้พระราชกำหนดนี้ตั้งแต่ขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงลงพระบรมนามาภิไธยเป็นต้นไป
มาตรา ๓ บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นเหล่านี้ไม่ว่าของบุคคลใดๆ ในคณะราษฎรนี้ หากว่าจะเป็นการละเมิดบทกฎหมายใดๆ ก็ดี ห้ามมิให้ถือว่าเป็นการละเมิดกฎหมายเลย" [ผู้แปลใช้เอกสารอ้างอิงจาก สกล เตมิยสูต (รวบรวม). จดหมายเหตุ ประวัติการณ์เปลี่ยนแปลงพระธรรมนูญการปกครองประเทศสยามใหม่. พระนคร : โรงพิมพ์อักษรนิติ, ๒๔๗๕, หน้า ๔๑-๔๔.]
หลังจากนั้นฝ่ายคณะราษฎรได้อ่านร่างธรรมนูญการปกครองแผ่นดินที่เตรียมไว้ และขอให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงลงพระนามทันที แต่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงกล่าวว่า พระองค์มีพระราชประสงค์ขออ่านดูก่อน ฝ่ายคณะราษฎรได้ให้เวลา ๑ ชั่วโมง และได้ขอร้องให้พระองค์ทรงอ่านทั้งหมดโดยเร็ว แต่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงไม่สนพระทัย ได้เสด็จไปยังห้องอื่น ๑ ชั่วโมงผ่านไป ตรัสว่า เวลามีน้อย และมีบางเรื่องที่ไม่เข้าใจทั้งหมด จึงไม่สามารถลงพระนามได้ พระองค์ทรงไม่ยอมลงพระนามโดยง่าย ในท้ายที่สุดฝ่ายคณะราษฎรได้ให้เวลา ๑ วันเต็มๆ จนถึงเวลา ๑๗ นาฬิกาของวันที่ ๒๗ มิถุนายน [ทางเอกสารฝ่ายญี่ปุ่น หอจดหมายเหตุการทูตประเทศญี่ปุ่น A600, 1-27-2 ยาตาเบรายงานถึงรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศญี่ปุ่นในวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๑๙๓๒ (Ko 107) กล่าวว่า ยาตาเบได้พบกับสมุหพระราชมณเฑียรในเวลาเย็นวันที่ ๒๖ มิถุนายน และได้ทราบจากบุคคลท่านนี้โดยตรง โดยที่ในวันเกิดเหตุสมุหพระราชมณเฑียรได้เดินทางไปเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ที่พระราชวังไกลกังวล หัวหิน และได้ตามเสด็จกลับพระนครพร้อมกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ-ผู้แปล นอกจากนี้จากบันทึกส่วนตัวของพระยาศรยุทธเสนีได้ระบุว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ขอเวลา ๗ วัน พลเรือตรี พระยาศรยุทธเสนีนั้นเป็นผู้นำคณะราษฎรเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ที่วังศุโขทัย-ผู้แปล] ในการเข้าเฝ้าครั้งนี้ รวมทั้งในการประชุมกับเสนาบดีในวันก่อน ผู้เขียนได้ทราบว่าหลวงประดิษฐ์มนูธรรมเป็นผู้นำการเจรจา การเรียกร้องของหลวงประดิษฐ์มนูธรรมมีลักษณะไม่ประนีประนอม แต่ท่าทางและมารยาทนั้น มีความสุภาพและอ่อนน้อมมาก
เวลา ๑๕.๓๐ น. ของวันที่ ๒๗ มิถุนายน ผู้นำคณะราษฎรได้ไปที่วังศุโขทัยอีกครั้งหนึ่ง เพื่อรับฟังคำตอบของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ เวลา ๑๗ นาฬิกา ตามที่ตกลงกันไว้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้เสด็จออกมา ความรู้สึกของพระองค์ในช่วงนี้ ไม่อาจทราบทั้งหมดได้ แต่เท่าที่ได้มีการแย้มออกมาอย่างลับๆ มีข้อความที่ได้รับทราบมาว่า พระองค์ได้ตรัสกับผู้นำคณะราษฎรดังต่อไปนี้
"ข้าพเจ้าได้ลงนามในรัฐธรรมนูญนี้ และระบอบรัฐธรรมนูญราชาธิปไตยได้บังเกิดขึ้นแล้ว ข้าพเจ้ามีความประสงค์ขอสละราชสมบัติ ข้าพเจ้ายอมรับคำวิจารณ์ที่ว่าข้าพเจ้าไร้ความสามารถ และไม่สามารถสร้างความเจริญให้บังเกิดขึ้นได้ เรื่องนี้ข้าพเจ้าก็ยอม แต่ข้าพเจ้าได้ทุ่มเทความสามารถทั้งหมดโดยความสุจริตใจเพื่อความผาสุกของประชาชน แต่ประกาศของคณะราษฎรนั้น ได้วิจารณ์และโจมตีการปกครองของข้าพเจ้าอย่างรุนแรงมากที่สุด การถูกโจมตีขนาดนี้ ไม่มีกษัตริย์พระองค์ใดสามารถดำรงพระยศอยู่ได้ ข้าพเจ้าไม่มีรัชทายาท และพลานามัยก็ไม่แข็งแรง ข้าพเจ้าน่าจะสละราชสมบัติและใช้ชีวิตที่เหลือโดยสงบสุข ชีวิตของข้าพเจ้าและพระราชินีทั้งสองคน มีค่าใช้จ่ายไม่มาก"
ฝ่ายผู้นำคณะราษฎร เมื่อได้รับฟังพระราชดำรัสแล้ว ก็ได้อ้อนวอนต่อพระองค์ และสัญญาว่าจะแก้ไขบรรเทาเนื้อหาของประกาศคณะราษฎร ฉะนั้นจึงสามารถเปลี่ยนพระราชประสงค์อย่างเด็ดเดี่ยวที่จะสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้เป็นผลสำเร็จ
เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้ทรงเปลี่ยนพระราชหฤทัยแล้ว พระองค์ได้เสนอว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาสาระของร่างธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน แต่ขอแก้ไขเรื่องเดียว ที่ไม่มีความสำคัญเท่าใดนัก ซึ่งผู้นำคณะราษฎรก็ยอมรับ หลังจากนั้นได้ทรงหยิบปากกาขึ้นอย่างช้าๆ และเขียนคำว่า "ชั่วคราว" ไว้ในย่อหน้าแรกของร่างธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน และทรงลงพระนามในร่างธรรมนูญการปกครองแผ่นดินนั้นด้วย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้ทรงใช้วิธีการรุกที่แปลก คือ พระองค์ท่านทรงมีความคิดว่า ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินที่เกิดอย่างชุลมุนนั้น ทำให้เป็นธรรมนูญการปกครองแผ่นดินชั่วคราว และตั้งคณะกรรมการยกร่างธรรมนูญการปกครองแผ่นดินขึ้นใหม่ เพื่อการสถาปนาธรรมนูญการปกครองแผ่นดินขึ้นอย่างถาวรต่อไป ในขณะนั้นมีข่าวลือออกมาว่า มีการแก้ไขธรรมนูญการปกครองแผ่นดินในประเด็นที่ไม่สำคัญเกิดขึ้น แต่เมื่อได้ทราบว่า การแก้ไขนั้นเป็นเรื่องอะไรแล้ว ทำให้รู้ได้ว่าเรื่องที่แก้ไขนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยหากจะเปรียบเทียบธรรมนูญการปกครองแผ่นดินชั่วคราว [ต่อไปนี้จะเรียกว่ารัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว-ผู้แปล] กับรัฐธรรมนูญฉบับถาวรแล้ว ประเด็นในเรื่องเกียรติยศและพระราชอำนาจของกษัตริย์มีความแตกต่างกันมาก จากนี้เราดูออกได้ว่า พระราชปฏิภาณไหวพริบของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ นั้น มีความรอบคอบ ทั้งๆ ที่ทรงอยู่ในสถานการณ์ที่ถูกบีบบังคับและมีความตึงเครียด อย่างไรก็ตามดังที่กล่าวมาแล้ว มีพระราชประสงค์จะเริ่มระบอบรัฐธรรมนูญ และได้เตรียมการร่างรัฐธรรมนูญไว้แล้ว แต่ก็ต้องทรงยอมรับการบีบบังคับของคณะราษฎรในสถานการณ์ดังกล่าว ความยากลำบากในพระราชหฤทัยของพระองค์เป็นอย่างไร ก็เกินกว่าที่เราจะพอคาดเดาได้ พวกข้าราชบริพารที่อยู่ในสถานที่ที่พระองค์ท่านทรงลงพระนามในรัฐธรรมนูญชั่วคราว เมื่อทราบความนึกคิดของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ แล้ว ทุกคนก็ก้มหน้าและส่งเสียงร้องไห้ ซึ่งเรื่องราวก็ควรที่จะเป็นไปเช่นนั้น
รัฐธรรมนูญชั่วคราว ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงลงพระปรมาภิไธยและประกาศในช่วงเช้าของวันถัดไปนั้น มีผลบังคับใช้นับตั้งแต่วันที่ลงพระนาม ซึ่งก็คือวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๑๙๓๒ คณะราษฎรซึ่งก่อการปฏิวัติโดยฉับพลันในช่วงเช้าตรู่ของวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๑๙๓๒ ได้ใช้เวลาในวันนั้นเพียง ๓ ชั่วโมง ก็สามารถยึดอำนาจสำเร็จ และใช้เวลาอีกเพียง ๔ วัน ก็สามารถสถาปนาระบอบรัฐธรรมนูญขึ้นได้
นับตั้งแต่วันนั้นมา วันที่ ๒๗ มิถุนายน ได้ถูกจัดเป็นวันสำคัญของชาติ และมีการจัดงานเฉลิมฉลองทุกปี
*ประวัติยาสุกิจิ ยาตาเบ
ยาสุกิจิ ยาตาเบ เกิดเมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๑๘๘๒ ที่จังหวัดยามากูจิ สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยฮิโตสุบาชิ ในปี ๑๙๐๗ โดยศึกษาในแผนกกงสุลได้เป็นที่หนึ่ง ในปี ๑๙๐๘ ได้สอบเป็นนักการทูต และได้รับหน้าที่ทางการทูตประจำประเทศจีน ต่อมาได้ประจำเมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย (ประมาณ ๑ ปีเศษ) ประจำเมืองบอมเบย์ ประเทศอินเดีย (๒ ปี) และต่อมาในปี ๑๙๑๖ ได้รับการแต่งตั้งเป็นกงสุลเมืองอะมอย ประเทศจีน ในปี ๑๙๑๙ เดินทางกลับประเทศญี่ปุ่น ปี ๑๙๒๑ เป็นหัวหน้ากองที่สาม ของกรมข่าว กระทรวงการต่างประเทศ ในปี ๑๙๒๔ เป็นเลขานุการเอกประจำสถานเอกอัครราชทูตประจำกรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี ๑๙๒๕ เป็นกงสุลใหญ่ประจำชินเตา ประเทศจีน และเดินทางกลับจากประเทศจีน ในปี ๑๙๒๗
วันที่ ๑๖ มีนาคม ๑๙๒๘ เมื่อมีอายุได้ ๔๖ ปี ยาสุกิจิ ยาตาเบ ได้รับการแต่งตั้งเป็นอัครราชทูตผู้มีอำนาจเต็มประจำประเทศสยาม ได้เดินทางถึงกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๑๙๒๘ และเดินทางออกจากประเทศสยามในวันที่ ๑๕ มกราคม ๑๙๓๖ โดยทำหน้าที่ประจำประเทศสยาม (ไทย) รวม ๗ ปีเศษ
ยาสุกิจิ ยาตาเบ ได้ลาออกจากราชการในปี ๑๙๓๗ เมื่ออายุ ๕๕ ปี จนถึงปี ๑๙๔๑ ได้เป็นประธานสมาคมญี่ปุ่น-ไทย ในช่วงเดือนกรกฎาคม ๑๙๔๒ ได้ร่วมเดินทางมาเยี่ยมเยือนประเทศไทยพร้อมกับคณะของอดีตนายกรัฐมนตรีฮิโรตะ
ยาสุกิจิ ยาตาเบ ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ ๘ ตุลาคม ๑๙๕๘ สิริอายุได้ ๗๖ ปี
Subscribe to:
Posts (Atom)