Wednesday, September 21, 2005

แต่งแบบยิว












โดย ส.

อยู่ต่างแดนมาหลายปี ก็เพิ่งจะได้เปิดหูเปิดตาไปงานแต่งงานกับเขาก็คราวนี้

เอมี่ เจ้าสาวงานนี้ โตมาจากครอบครัวยิว อาลัน เจ้าบ่าวก็เป็นยิว พ่อแม่อพยพย้ายมาจากอิสราเอลแท้ๆ เพราะฉะนั้นงานแต่งงานนี้ก็เป็นแบบยิวแท้ ที่ว่าแบบยิวเป็นแบบไหนไม่เคยเห็น ก็จะมาเล่าสู่กันฟัง

ประเพณียิวเป็นประเพณีที่เต็มไปด้วยสัญลักษณ์ ในงานนี้มีสัญลักษณ์ทั้งที่เป็นตามประเพณีเดิม และสัญลักษณ์ที่เอมี่สร้างสรรค์ขึ้นเพื่อจรุงตาและจรุงใจแก่ผู้ที่มาร่วมพิธี เริ่มตั้งแต่สถานที่จัดงาน เป็นรีสอร์ตเล็กๆอยู่นอกเมือง ติดอ่าวเล็กๆ น้ำในอ่าวไหลมาจากมหาสมุทรแอตแลนติก ตัวรีสอร์ตมีศาลาท่าน้ำยื่นเป็นสะพานออกไป ไว้สำหรับสังสรรค์ เยื้องออกไปมีสนามหญ้ากว้าง รอบรายไปด้วยต้นไม้ใหญ่น้้อย บ้างก็ไม้น้ำกร่อย บ้างก็น้ำจืด เอมี่กับอาลันเลือกใช้บริเวณลานสนามกว้างนี้เป็นที่ประกอบพิธี

ตัวปรำพิธีอยู่ใกล้กับตลิ่ง เป็นเพิงทำจากผ้าสี่เหลี่ยมง่ายๆ ผูกติดกับเสาไม้สี่เสา ภาษาฮิบรูเรียกว่า อุปปาห์ (Huppah) เป็นที่สำหรับเจ้าบ่าวและเจ้าสาว สาบานตน โดยมีแรบไบ (พระยิว) เป็นพยาน ผ้าผูกเพิงนี้เป็นผ้าไหมเพ้นท์ลาย เป็นรูปต้นไม้ใหญ่สองต้นยืนอยู่ด้วยกัน มีดาวเดือนรายรอบ ผืนผ้านี้เจ้าสาวศิลปินลงมือเพ้นท์ด้วยตัวเอง อุปปาห์มีความหมายว่าคือบ้านที่เขาทั้งสองร่วมกันสร้างขึ้น ริมขอบตลิ่งด้านหลังอุปปาห์ มีต้นสนอยู่สองต้นยืนเคียงชะลูดคู่ เอมี่จงใจเลือกตำแหน่งนี้เป็นฉากหลังให้กับงานพิธี ต้นไม้สองต้นยืนคู่กัน เติบโต เช่นเดียวกันกับคนทั้งสอง

เอมี่สวยมากในงานวันนี้ ชุดยาวเปิดไหล่สีขาวประดับประดาไปด้วยลูกปัดระยิบสีแชมเปญ ผู้คนที่มาร่วมงานก็แต่งตัวสวยงามสดใส น้ำในอ่าวสะท้อนแดดเป็นประกาย เสียงเพลงปี่เป่าระเริงเรื่อยปกคลุมบรรยากาศของสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ เจ้าบ่าวเจ้าสาวเริ่มสาบานตน​ ณ เวลาสามโมงสามสิบหกนาที ตัวเลขทวีคูณจากสิบแปด อันถือเป็นตัวเลขศักดิ์สิทธ์ในประเพณียิว นอกจากนี้เอมี่ยังอธิบายความผูกพันส่วนตัวกับจำนวนนี้ว่า ยายเอมี่แต่งงานหลังจากทวดแต่งสามสิบหกปี จากนั้นอีกสามสิบหกปีต่อมาแม่เอมี่ก็แต่งงาน และจนถึงเวลานี้ก็เป็นวาระครบรอบสามสิบหกปีอีกครั้งในวันแต่งงานของเธอเอง รายละเอียดเล็กๆน้อยๆแบบนี้ บางทีก็เป็นเรื่องน่าชวนฉงน

ในประเพณียิว การเดินวนเป็นวงกลมสามรอบถือเป็นสิ่งที่นำโชคดีมาให้ ในพิธี มีการให้เจ้าบ่าวเดินวนรอบเจ้าสาวสามรอบ และกลับกัน เจ้าสาวเดินวนเจ้าบ่าวสามรอบ มีการให้พรเจ็ดประการ และสาบานตนโดยแรบไบเป็นผู้นำพิธี มีการอ่านสัญญาการแต่งงาน มีการดื่มไวน์จากแก้วร่วมกัน

สาบานตนเสร็จ ก็เอาแก้วไวน์นั้นมาเหยียบให้แตก เป็นการประกาศ ว่า ณ บัดนี้ ข้าทั้งสองตั้งใจมั่นว่าจะก้าวเข้าสู่ภาวะใหม่ เป็นภาวะที่สมบูรณ์ ภาวะของคนที่เติบโตขึ้น แก้วหมายถึงร่างกาย เป็นภาชนะบรรจุจิตวิญญาณ หากจะก้าวไปสู่แดนแห่งจิตวิญญาณ ก็ต้องข้ามผ่านร่างกายไปเสียก่อน การแต่งงานในความเชื่อของยิว ไม่ใช่เพียงเป็นเรื่องของการใช้ชีวิตหญิงและชายคู่หนึ่งเท่านั้น แต่เป็นการหลอมรวมเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับพระเจ้า เพื่อเข้าสู่ภาวะสมบูรณ์ หากคิดแบบการศาสนา เรื่องเหยียบแก้วนี้ก็เห็นว่าลึกซึ้งดี แต่หากคิดแบบชาวบ้านทั่วไป การเหยียบแก้วก็ไม่น่าจะมีอะไรมากไปกว่าการที่เจ้าบ่าวประกาศว่า ณ บัดนี้เป็นต้นไป ความบริสุทธิ์ของเธอจะแตกดับด้วยน้ำมือเขา ไม่ว่าจะเป็นประเด็นใดก็ตาม การเหยียบแก้วในพิธีแต่งงานนี้ก็เป็นไคลแมกซ์ในที่ทุกคนรอคอย เป็นจุดที่นำไปสู่การเฉลิมฉลอง

จากนั้น ก็มีการร้องเพลงภาษาฮิบรูร่วมกัน นำโดยแรบไบ จบเพลงบ่าวสาวก็เดินออกจากพิธี โดยมีครอบครัวเดินตาม แล้วนักเป่าปี่ก็เป่าเพลงฉลองเริงรื่น ประกอบกับเสียงร้่องภาษาฮิบรู... ฮาวา นากีลาฮาวา นากีลาฮาวา นากีลาเฮ รันเนนนา... คนร้องเป็นก็ร้องตามกันไป

โดยปกติแล้ว หลังงานพิธีของงานแต่งแบบตะวันตกทั่วไป เพื่อความสนุกสนานและเก๋ไก๋ บ่าวสาวจะขับรถเปิดประทุนออกไปแล้วบีบแตรดังๆเพื่อประกาศความสุขสราญใจ แต่เผอิญที่รีสอร์ตนี้มีแต่น้ำ เอมี่กับอาลันก็ใช้พายเรือแทน เป็นเรือคานูสำหรับนักท่องเที่ยว พายไปเสียไกล สองคนแอบขึ้นฝั่งที่ไหนไม่รู้ กลับมาอีกทีก็ถึงเวลางานเลี้ยง

หลังจากที่แขกเหรื่อจับกลุ่มทักทายกัน กินดื่มหนุบหนับกันพอหอมปากหอมคอ ถ่ายรูปกันเป็นที่ฉ่ำใจแล้ว สักพักก็ทะยอยเข้าไปในงานเลี้ยง แต่ก่อนจะไปนั่งที่โต๊ะ แขกแต่ละคนก็ต้องไปเอาป้ายชื่อของตัวเองก่อน เพราะในป้ายชืื่อระบุว่าต้องไปนั่งโต๊ะไหน การจัดให้ใครนั่งตรงไหนกับใครนี้ หากเจ้าภาพดูแลดี เขาก็จะจัดให้คนรู้จักกันนั่งโต๊ะเดียวกัน หรือใกล้ๆกัน หากใครไม่กินเส้นกับใครก็จะถูกจัดให้นั่งอยู่คนละมุมห้อง การตกแต่งโต๊ะอาหารงานนี้ก็จัดได้งดงามเต็มที่ โต๊ะปูผ้าขาวมีแก้วจานชามเครื่องเงินวางขนาบนับไม่ถ้วนชิ้น แก้วไวน์แก้วน้ำมีการรินเตรียมไว้ให้เรียบร้อย กลางโต๊ะทุกโต๊ะมีดอกไม้ช่อใหญ่สวยหรูประดับ ทุกอย่างดูสดชื่นเริงร่า และสมเกียรติเจ้าภาพ

ระหว่างหาที่นั่งกันนี้ วงดนตรีก็เล่นเพลงคลอบรรยากาศไป สลัดเริ่มทะยอยมาเสริฟ เป็นสลัดผักที่มีกลีบดอกไม้หลากสีโรยหน้า เล็งดูก็เห็นว่าเป็นดอกบานชื่น และดาวเรือง ประดับประดามาเพื่อความสวยงามหวานหยดย้อย

พอคนเริ่มเต็ม นักดนตรีเป่าปี่ก็เริ่มบรรเลงเพลงดังขึ้น คราวนี้เป็นเพลงที่เรียกแขกให้ออกมาร่วมเต้นเฉลิมฉลอง การเต้นนี้เป็นการเต้นแบบประเพณียิว เรียกว่า ฮอร่า (Hora) เริ่มด้วยบ่าวสาวและพ่อแม่จับมือกัน แล้วก็เต้นขยับเท้ากันไปเป็นวงกลม ระหว่างขยับเท้าไปก็มีการเชื้อเชิญให้แขกมา "ร่วมวง" คว้ามือใครได้ก็ให้มาสนุกด้วยกัน คว้ากันไปคว้ากันมา จากวงเล็กๆก็กลายเป็นล้นฟลอร์ คนที่ไม่ได้ร่วมวงก็ยืนดูรอบๆ ตบมือตามกันไป รอเผื่อสบโอกาสให้คว้ามือใครหมับได้ ก็จะได้เข้าไปร่วมวง

ตามประเพณี ระหว่างที่เต้นฮอร่ากันนี้ เจ้าบ่าวเจ้าสาวก็จะถูกยกขึ้นนั่งเก้าอี้ หนุ่มๆแข็งแรงก็ช่วยกันแบกทูนหัว แล้วก็แห่กันไปรอบๆ ระหว่างอยู่บนเก้าอี้แห่ เจ้าสาวก็หยิบผ้าเช็ดหน้าสีขาวออกมาโบกให้เจ้าหนุ่มคว้า คว้าได้แล้วก็จับกันคนละชาย โบกสะบัดอย่างสนุกสนาน แห่เสร็จแล้วก็ลง กลับมาเต้นกันไปรอบๆอีก

ระหว่างนี้ บางคนรู้จักเต้นแบบที่ผาดโผนหน่อยก็จะออกมาโชว์ออฟ ส่วนมากนำโดยญาติผู้ใหญ่ที่เป็นผู้ชาย เป็นการโชว์ความแข็งแกร่งเยี่ยงชายชาตรีแบบหนึ่ง คนที่เต้นนี้จะเข้าไปยืนกลางวง แล้วนั่งยองๆเกือบติดพื้น แล้วก็สลับขาไปมาอย่างรวดเร็ว ยิ่งเร็วมาก ก็ยิ่งแมนมาก ถ้าจะให้สนุกขึ้นต้องมีคู่ อาลันกับน้าชายเต้นคู่สลับขานี้ได้น่าตื่นเต้นมาก

พอเหนื่อยก็กลับมาจับมือเป็นวง แล้วก็ขยับขาร่วมกันไปรอบๆอีก วงขยายใหญ่ขึ้นก็จะมีคนเข้าไปตรงกลางแล้วเริ่มวงเล็กๆใหม่ ขยายออกใหญ่ขึ้น แล้วก็เข้าไปเริ่มใหม่อยู่อย่างนี้ไม่รู้จักเหน็ดจักเหนื่อย นักดนตรีเห็นคนสนุกก็บรรเลงไม่เลิก แต่ละคนที่ใส่ชุดสวยมาก็ไม่มีใครอมพะนำ ทุกคนออกไปเต้นไปเซิ้งกันอย่างสนุกสนาน จนในที่สุดดนตรียอมจบลง คนก็เดินกลับมาที่โต๊ะ กินดื่มให้อิ่มหนำ เก็บแรงไว้เต้นรอบสอง

รอบสองนี้ไม่ใช่ดนตรีประเพณีแล้ว แต่เป็นดนตรีสำหรับลีลาศ มีการเปิดฟลอร์โดยบ่าวสาว และพ่อแม่ของทั้งคู่ จากนั้นแขกเหรื่อก็ค่อยๆทะยอยออกมาขยับส่าย มีทั้งสวิง ฟร๊อกสตรอท แทงโก้ ซาลซ่า และบอซซาโนว่า สาวใหญ่หนุ่มใหญ่จะเต้นกันเก่งเป็นพิเศษสำหรับดนตรีแบบนี้ คนนั่งที่โต๊ะเต้นไม่เป็นก็คุยกันไปกินกันไปตามประสา ระหว่างนี้ก็มีการตัดขนมปังแจกจ่าย เป็นขนมปังแบบยิวที่ทำตามประเพณี เรียกว่า ชาล่าห์ (Challah) เป็นขนมปังชิ้นยาวดูเหมือนเปียถัก รสชาดหวานเล็กน้อย เป็นขนมปังสำหรับงานพิธี เจ้าภาพตัดแบ่งให้ทุกคนกินกันคนละนิดละหน่อยเป็นเพื่อเป็นพร

จากนี้ก็ไม่ต่างจากงานเลี้ยงทั่วไปที่เจ้าภาพจะออกมากล่าวให้พรบ่าวสาว แม่ของเจ้าสาวงานนี้พูดได้จับใจคนเป็นพิเศษ และด้วยความที่แม่ของเอมี่ป่วยเป็นมะเร็งอยู่ ทุกคนก็จะให้กำลังใจเป็นพิเศษด้วยการยืนขึ้นปรบมือให้หลังจากที่พูดจบ จากนั้น พ่อเจ้าสาว เพื่อนเจ้าสาว ก็ออกมาพูดทักทาย ให้พร และขอบคุณกันไปตามลำดับ

ได้มาร่วมงานนี้แล้วก็ต้องขอขอบคุณเอมี่ ที่เชิญมาให้ร่วมเห็นเป็นบุญ กลับมาบ้านแล้วก็นึกถึงงานแต่งขันหมากแบบไทย ซึ่งก็น่าจะสนุกไม่แพ้งานแต่งแบบยิว ถ้ากลับเมืองไทยแล้วได้ไปงานขันหมากแท้ๆแบบมีโห่เพราะๆสักครั้งคงประเสริฐ ใครรู้จักใครที่จะแต่งแบบขันหมากช่วยบอกด้วย จะขอไปร่วม.

Wednesday, September 14, 2005

ดินแดนแห่งโอกาส


โดย ส.

ใบไม้ร่วงอีกแล้ว ข่าวเรื่องพายุแคทริน่ายังโต้กันไม่หยุดหย่อน ผู้คนแตกเป็นสองฝ่ายเหมือนเดิม โต้กันไม่เว้นเรื่องฉกฉวยโอกาสทางการเมือง รีพับลิกัน กับ เดโมแครต

มีเสียงร่ำลือหนาหู "จอร์จ บุช เกลียดคนดำ" ไม่ก็ "เพราะเป็นคนดำรัฐบาลถึงชักช้า" ไม่ก็ "ถ้าเป็นคนขาวป่านนี้ปัญหาแก้ไขเรียบร้อยไปแล้ว" วิทยุได้ทีเปิดโต้วาทีเรื่องเหยียดสีผิวเพื่อดึงเรตติ้ง คนโทรเข้ามากรรโชกบ้างคร่ำครวญบ้างถึงความไม่เท่าเทียมระหว่างคนขาว กับคนดำ

ได้ยินแล้วก็เศร้าใจที่เห็นหลายคนมัวแต่หมกมุ่นอยู่กับเรื่องความไม่เท่าเทียมนี้ ทั้งๆที่กระแสเงินบริจาคที่หลั่งไหลเข้ามาไม่หยุดหย่อนนั้นมาจากคนทั่วประเทศ ทั้งขาวและดำ ไม่มีใครเลยที่เขียนระบุในเช็คว่าเงินบริจาคนี้เพื่อคนขาวเท่านั้น หรือเงินบริจาคนี้เพื่อคนดำเท่านั้น ทีมทหารตำรวจตระเวณหาคนตกหล่นที่ยากลำบาก ทุกคนอยากช่วย ไม่เกี่ยงว่าใครสีผิวใด

แต่ยังมีคนผิวดำไม่น้อยที่ติดใจแต่ในเรื่องความต้อยต่ำของตน และมองเห็นโลกมีแต่ความไม่ยุติธรรม ก็เพราะข้อยเกิดมาเป็นคนดำนี่หนาถึงได้จนต้อยต่ำ เพราะเป็นคนดำถึงมีแต่คนดูถูก เพราะเป็นคนดำสังคมถึงต้องมาช่วยเหลือ แต่กระนั้น สังคมก็ยังไม่ยุติธรรมต่อข้อย... ได้ยินอย่างนี้แล้วก็สงสัยเหลือเกินว่า ณ ดินแดนแห่งโอกาสและเสรีภาพนี้ อะไรหนอที่เป็นกำแพงกั้นเสรีภาพและโอกาสของคนพวกนี้?

ก็จริงอยู่ที่บรรพบุรุษของคนดำส่วนมากถูกพรากมาจากถิ่นบ้านเกิด มาเป็นข้าทาส มาเป็นพลเมืองชั้นต่ำ ลูกหลานที่เกิดมาก็ถูกกีดกันไม่ให้เป็นใหญ่หรือมีความรู้เกินหน้าคนขาว แต่เรื่องนี้ก็เป็นเหตุที่จบเกินครึ่งศตวรรษมาแล้ว ณ ทุกวันนี้ ไม่เห็นมีใครถูกเขี่ยออกจากโรงเรียนเพราะเป็นคนดำ ไม่มีใครปิดโอกาสการเรียนรู้ใคร ใครอยากเจริญก้าวหน้าแค่ไหน ก็ทำไปเท่าที่แรงและโอกาสพึงมี แต่น่าเศร้าที่ยังมีคนดำอยู่อีกมาก ที่ยังเกาะยึดเลือกที่จะจ้องมองแต่อดีต อดีตอันขมขื่นของปู่ย่าตายายของตน ทั้งที่ปัจจุบันโอกาสทางการศึกษามีแล้ว อนาคตเปิดไว้เท่าทัดเทียมใครๆแล้ว แต่ยังกลับเลือกที่จะมองแต่อดีต ก่นด่าแต่ความไม่เท่าเทียมของโลกนี้ เกลียดโชคชะตาที่พามาเกิดเป็นคนดำ แล้วพวกเขาก็ยืนอยู่ที่เดิม ที่เดียวกับที่ปู่ย่าตายายเขาเคยยืน

แล้วความจริงที่ซ้ำๆซากๆ ก็กลับมาในความคิดฉันอีกครั้ง ชีวิตคนเราไม่มีใครเลือกเกิดได้ แต่ว่าเลือกกระทำสิ่งต่างๆได้ ทุกคนสามารถเปลี่ยนแปลงชะตาชีวิตของตนได้หากใฝ่พยายาม ทุกวันนี้ ดินแดนแห่งเสรีภาพเปิดประตูแห่งโอกาสให้ทุกคนเท่ากันแล้ว หากยังมีแต่ตัวอคติเท่านั้น ที่บิดเบือนการมองเห็นของคนอีกหลายๆคน อคติที่ทำให้คนมองเห็นแต่เรื่องน่าก่นด่า ยิ่งด่าก็ยิ่งเกลียดชัง ถ้ายังจำกัดอคติไม่ได้ เรื่องเหยียดสีผิวก็ไม่ไปไหน ตัวเองเหยียดตัวเองอยู่แบบนี้ สีผิวก็พาลแต่จะติดแน่นหนาอยู่ที่ใจ ล้างอย่างไรก็ไม่ออก.

Tuesday, September 06, 2005

ชีวิตในฟาร์ม


โดย ส.

หยุดสามวันนี้มาค้างบ้านลี บ้านหลังเล็กน่ารักในฟาร์มที่ดินกว้างใหญ่ไพศาล บ้านแต่ละหลังในละแวกไม่มีรั้วรอบขอบชิด แต่ปลอดภัย ไม่มีใครต้องล็อคประตูเวลาออกไปไหน ที่นี่มีสวนป่าฟรีให้เดินเล่น มีแม่น้ำเล็กๆให้เดินข้าม (ชื่อลิตเติ้ลริเวอร์) มีหมาฟรีให้เล่น (สองตัว) ตัวหนึ่งชื่อบิสกิต อีกตัวชื่อเมซี่ บิสกิตอายุมากแล้ว แต่ชอบเล่นกินลูกบอลอย่างบ้าคลั่ง บทพี่แกอยากจะเล่น ก็จะมาเฝ้าหน้าประตูบ้านลี พร้อมเสียงแฮ่กๆเป็นสัญลักษณ์ บิสกิตเล่นลูกบอลได้ไม่มีเว้นวันเวลาราชการ เกมโปรดคือชักคะเย่อลูกบอล

ฟาร์มนี้มีม้าปลดระวางอยู่สี่ตัว สีขาวสองตัว สีน้ำตาลสองตัว วันๆก็ไม่ทำอะไร ยืนเขย่งกินหญ้า เห็นคนเดินผ่านก็จะเสนอหน้าและหัวใหญ่ๆมาให้ลูบคลำ ทำปากยื่นมาหา... ก็ม้าเหงา

วันนี้ตื่นเช้าเพราะอากาศดี เริ่มเข้าใบไม้ร่วงแล้ว ลมเย็นฉ่ำพัดมาเรื่อยๆ ออกไปจ๊อกกิ้งตามทาง เริ่มตั้งแต่บ้านลี เลี้ยวไปยังโรงนาสองโรงที่อยู่ถัดไป บ้านเพื่อนบ้านสามสี่หลังที่ตั้งอยู่ห่างๆกัน วิ่งเอื่อยมาเรื่อยข้างทางสิบห้านาทีทางก็มีแต่ต้นไม้ ทุ่งหญ้า กับหินกรวดใหญ่ๆ ตามสองข้างทางมีเสียงหวบๆดังขึ้นอยู่เป็นระยะๆ เมื่อเพ่งมองก็เห็นได้ว่าเป็นวัว บางตัวเดินผลุบๆโผล่ๆทำหลบซ่อน นึกว่าเราไม่เห็น ต้องยืนเฉยเป็นหินให้มันลืมว่าเราเป็นผู้สัญจร...

วิ่งมาพักใหญ่ เหลียวทางซ้ายเห็นต้นไม้แก่ดูราวเป็นร้อยปี เหยียดกิ่งยึกยือออกหาแสง แผ่ร่มกว้างออกใหญ่ไพศาล ต้นติดๆก็มีอาการไม่แพ้กัน เลื้อยเลี้ยวหลบหลีก หาทางอยู่รอดด้วยการแย่งแสงกันและกัน แต่ละต้นดูราวกับมีวิญญาณสิง หากเดินมากลางคืนคงเสียวสันหลังพิลึก

มีกระดาษดินสอก็อดไม่ได้ที่จะต้องบันทึกภาพไว้เป็นแรงบันดาลใจ แสงดีๆแบบนี้อยู่นอกบ้านวาดรูปได้ทั้งวัน เดี๋ยวหิวก็เดินกลับไปทำกับข้าวกินที่บ้าน แล้วก็ออกมาเล่นใหม่

ใช้ชีวิตในฟาร์มแบบนี้ไม่มีอะไรขาดหาย มีแต่จะพอกพูน ไม่อยากกลับเข้าเมืองแล้ว... แง้