Monday, November 28, 2005
นักคิด
โดย ส.
สองสามอาทิตย์นี้มา ฉันกำลังสนใจเรื่องการคิดค้นพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับ Product Design เจอบทสัมภาษณ์ดีไซน์เนอร์จากบริษัทหนึ่ง น่าสนใจดี ดีไซน์เนอร์เล่าถึงแรงบันดาลใจแรกๆที่ทำให้อยากเป็นนักออกแบบ ดีไซน์เนอร์คนนี้บอกว่าสมัยเป็นนักเรียนอยู่โรงเรียนมัธยม ทำงานขับรถสกู๊ตเตอร์ลุยหิมะไปส่งหนังสือพิมพ์ทุกเช้า รถลุยหิมะนี้ใช้ลำบากมาก เพราะมันหนัก แล่นไปก็ส่งเสียงหนวกหู แถมมีควันเหม็น เขาคิดว่ามันน่าจะดีกว่านี้ได้ เลยมานั่งลองคิดลองออกแบบดู เห็นว่าเข้าท่าดี ก็ส่งแบบไปยังบริษัทที่ผลิตเครื่องลุยหิมะนี้ หลายอาทิตย์ผ่านไป บริษัทตอบปฏิเสธกลับมาอย่างสุภาพ ส่งแคทตาล็อกสินค้ามาให้ แถมเสื้อยืด เสื้อแจ๊กเก็ตมาให้
เขาไม่ย่อท้อ เอาแบบมาแก้ไขอีก แล้วทำโมเดลดู เขียนแบบสำหรับการผลิต คิดแคมเปญโฆษณา แล้วเอาไปโชว์ให้บริษัทออกแบบผลิตภัณฑ์ดู บริษัทไม่ได้เอาผลงานเขามาคิดต่อ แต่กลับรับเขาเป็นพนักงานฝึกงาน เขาฝึกงานที่นั่นเรื่อยมาจนมั่นใจว่าตัวเองเป็นดีไซน์เนอร์จริงๆได้ หลังจากจบมหาวิยาลัย บริษัทก็จ้างเป็นดีไซน์เนอร์ประจำ
ฉันอ่านแล้วชอบใจในธรรมชาติกล้าคิดกล้าทำของเด็กที่ตอนหลังมาเป็นดีไซน์เนอร์คนนี้ เอาบทสัมภาษณ์นี้ไปเล่าให้ลีฟัง ลีหัวเราะแล้วบอกว่าตอนเขาเด็กๆ อายุสิบขวบเขาก็ทำแบบนั้นเหมือนกัน บอกว่าตอนเด็กชอบออกไปดักสัตว์เล่น แต่เครื่องดักที่ซื้อมาไม่ค่อยดี เพราะอุปกรณ์ดักจากร้านทำจากเชือก ทำให้สัตว์แทะแล้วหนีออกไปได้ ลีมานั่งออกแบบใหม่เสียเท่ เปลี่ยนวัสดุให้เป็นเหล็ก แล้วก็ส่งจดหมาย พร้อมแบบ ใส่ซองติดแสตมป์ไปยังบริษัทขายเครื่องดักสัตว์นี้ คิดตามประสาเด็กซื่อๆว่าบริษัทน่าจะพัฒนาสินค้าตามความคิดนี้ ไม่ได้คิดหวังจะขายไอเดีย หรือต้องการชื่อเสียงอะไรอย่างที่ผู้ใหญ่คิด สองสามอาทิตย์ถัดมา บริษัทตอบมาแบบสุภาพเหมือนกัน บอกว่าขอบคุณ แต่แบบจะเอามาทำไม่ได้เพราะเขามีเงื่อนไขเรื่องลิขสิทธิ์ เรื่องซับซ้อนที่ลีอายุสิบขวบไม่เข้าใจ จำได้แต่ว่าบทสรุปก็คือว่าเขาบอกว่าขอบคุณ แต่ไม่เอา
ว๊าว... ฉันทึ่งสังคมนี้จัง ไม่ได้ทึ่งตรงที่ว่าความคิดที่เสนอได้รับเลือกหรือไม่ได้รับเลือก แต่ทึ่งที่คนเชื่อมั่นในเสรีภาพว่าเขาทำได้ เพราะเสรีภาพในการเสนอความคิดเป็นส่วนประกอบของชีวิตอย่างที่ไม่ต้องมีใครตั้งคำถามนี่เอง คนถึงได้มีความกล้าที่จะผลักดันประสิทธิภาพของตัวเอง ไปให้ไกลที่สุดเท่าที่คนๆนั้นจะจินตนาการไปได้ โดยไม่หวั่นระแวงเรื่องความเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ ความคิดดีๆนั้นกลั่นมาจากสมองอันบริสุทธิ์ ที่ไม่มีเรื่องคุณวุฒิวัยวุฒิเป็นเครื่องกีดขวาง
คนกล้าทำ เริ่มมาจากคนกล้าคิด คนกล้าคิด เพราะคนมีอิสระในการคิด คนมีอิสระในการคิด เพราะสังคมสนับสนุนให้คนเสนอความคิด และที่สังคมสนับสนุนให้คนเสนอความคิด ก็ย้อนกลับมาที่เพราะคนแต่ละคนเห็นความสำคัญของความคิดของแต่ละคน นี่แหละกระมังที่เป็นเหตุผลว่าทำไม "freedom of individuals" คือคุณค่าที่เขาตั้งไว้ให้เลิศเลอนัก เพราะ freedom นี้เองที่นำอิสระทางความคิดมาสู่การพัฒนา ซึ่งสอดคล้องกับธรรมชาติที่แท้ของมนุษย์.
Tuesday, November 15, 2005
พัก
โดย ส.
ฉันป่วย
ไข้หวัดมันรุมเร้า ให้ร่างกายมันปวดและปวกเปียก ลุกไม่ขึ้น จากที่ปู้ยี่ปู้ยำร่างกายด้วยงานดึกดื่น ไม่หลับไม่นอนมาหลายอาทิตย์ วันนี้ก็ถึงแก่การล้มหมอนนอนเสื่อ
เช้านี้มีงานที่ออฟฟิศรออยู่ กำลังเข้าขั้นเดทไลน์ แต่ก็ช่างมันเถิด ปล่อยให้มันรออยู่อย่างนั้น...
ขลุกขลักๆ ควานหากระปุกยาที่ลิ้นชักหัวเตียง ฉันกระดืบตัวขึ้นจากผ้าห่มช้าๆ เอื้อมมือไปหยิบแก้วน้ำ กระดกเม็ดยาเข้าปาก กลืนน้ำตาม ปล่อยให้ทั้งยาและน้ำไหลระเรื่อยลงคอ แล้วก็สอดตัวกลับเข้าที่นอน ปล่อยตัวให้จมอยู่อย่างนั้น โลกจะวุ่นวายขนาดไหน ปล่อยให้มันเป็นไป ปล่อยยามันออกฤทธิ์ สำแดง กำราบ รู้สึกลมหายใจเข้าออกเป็นเพียงผะแผ่ว
หมอนและที่นอนกำลังดูดฉันละลายลงไปช้าๆ
...
ลืมตาขึ้นมาอีกครั้ง รู้สึกว่าความปวดหายไป มองดูนาฬิกาเห็นว่าบ่ายคล้อยแล้ว แต่แขนขายังซึมกะทืออยู่ ฉันขยับปลายเท้าและนิ้วมือเพื่อเรียกกำลังวังชา แล้วก็ขืนใจเอนหลังลุกขึ้น รู้สึกว่าปอดหายใจเอาลมเข้าได้มากกว่าเดิม ฉันสูดอากาศเย็นๆในห้องเข้าไปอีก ท่ามกลางความเอื่อยเฉื่อยนี้ จิตใจมันมู่ทู่ สมองปฏิบัติการได้เชื่องช้าเสียเหลือเกิน
ฉันเปิดน้ำร้อนอาบ ปล่อยให้น้ำอุ่นเป็นควันไหลบ่าออกมาละลายความซึมกะทือออก ขยับตัวยืดหดให้กล้ามเนื้อทื่อๆกลับมายึดหยุ่นดังเดิม บิดตัวซ้าย บิดตัวขวา ขยับขา ชูแขน เงยหน้าขึ้นแช่อยู่อย่างนั้นชั่วครู่ แล้วฉันก็หมุนก๊อกให้น้ำเย็นไหลมาแทนที่ จากความอุ่นที่เชื่องช้า ก็กลายเป็นความเย็นที่เย็นขึ้นๆไหลมาปะทะผิว ที่นี้เย็นราวกับน้ำที่ไหลออกมาจากตู้เย็น กล้ามเนื้อและผิวกายซู่ขึ้นมาทันใด ฉันหายใจเอาอากาศสดๆจากความเย็นนี้จนสุดปอด จากนั้นก็ปิดก๊อก
...
ฟ้าเริ่มมืดลง ฉันเดินออกมาจากซอย ผ่านคนงานซ่อมถนนที่กำลังเก็บข้าวของเครื่องมือเตรียมกลับบ้าน รู้สึกโล่งเหมือนวันนี้เป็นวันสุดท้ายของโลก เดินมาถึงตึกหัวมุมที่มีโรงเรียนสอนโยคะ คิดในใจ วันนี้รู้สึกเหมือนไร้กาลเวลา
ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ขยับเคลื่อนไหวทุกส่วนของร่างกาย ชั่วโมงผ่านไป เลือดไหลเวียนทั่ว ภาวะไร้กาลเวลานี้ ฉันรู้สึกถึงชีวิตที่เคลื่อนไหวอยู่ใต้ผิวหนังของตัวเอง สังเกตได้ตั้งแต่ปลายนิ้วเท้า ไปจนถึงหนังหัว ดูเหมือนโยคะจะบอกให้รู้หมด ว่าส่วนไหนของร่างกายที่สว่างแจ่มใส และส่วนไหนที่ยังอ่อนปวกเปียก หรือส่วนที่เราละเลย
อาจารย์เขมานันทะเคยเล่าให้ฟังว่า ไปเยี่ยมเพื่อนที่โรงพยาบาลแล้วบอกเพื่อนว่า "ขอให้ป่วยให้สบายนะ" ตอนนั้นฉันฟังแล้วก็สงสัยในใจ อาจารย์พูดอะไร คนป่วยอยู่ มันจะไปสบายได้อย่างไร ถึงวันนี้ ได้ป่วยอยู่คนเดียว ได้สำรวจลมหายใจอยู่คนเดียว สำรวจการเคลื่อนไหวของพลังงานในร่างกายนี้อย่างใกล้ๆ คนเดียว แล้วใจก็สว่างขึ้นมา เข้าใจว่า "ป่วยให้สบาย" ที่อาจารย์เคยพูดถึงก็คือ การพักโลกที่เราไปคิดไปวุ่นวายอยู่ กลับมาสู่ร่างกาย อยู่กับลมหายใจ อยู่กับขณะนี้ ในโลกที่ไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าลมหายใจ นั่นละคือความ "สบาย"
ฟ้ามืดสนิทแล้ว ฉันเดินกลับบ้าน หัวใจส่องสว่าง.
Sunday, November 13, 2005
วันบุญ
โดย ส.
ตั้งแต่อยู่ไกลบ้านเฮามาหลายปี ไม่ค่อยได้มีโอกาสสัมผัสวัฒนธรรมและจิตใจแบบชาวพุทธเท่าไรนัก วันนี้ถือเป็นวันบุญกุศล ได้เข้าฟัง องค์ดาไล ลามะ ตัวเป็นๆ พูดโปรโมตสันติภาพ (peace) และเมตตาธรรม (compassion)
งานนี้จัดที่สเตเดี้ยมที่ปกติเขาใช้จัดงานร๊อคคอนเสิร์ต ไม่ก็เชียร์บอล หรืออะไรอื่นๆที่เป็นป๊อปคัลเจอร์ งานนี้ ฮิส โฮลี่เนส ดาไล ลามะ ท่านมาแปลก เจาะกลุ่มป๊อป
คนมาเข้าฟังงานนี้เยอะมาก เขาว่าถึงหมื่นหกพันคน ฉันกับลีมาซื้อบัตรวินาทีสุดท้าย (ตามเคย) สังเกตเห็นว่ากลุ่มคนที่มาฟังส่วนมากอายุประมาณ ยี่สิบกว่า ถึงสามสิบ สี่สิบ อืมม์ คนรุ่นใหม่นี่มีใจกว้างขวางดี สนใจ เวิลด์ อิชชู (world issues) ถึงว่าเพราะคนกลุ่มนี้สนใจฟังเรื่องสันติภาพกันมาก เขาเลยเลือกสถานที่จัดให้มันร๊อคสุดขีด เห็นหลายคนที่มาฟังแต่งแฟชั่นแบบทิเบ๊ต..ทิเบต... ไม่แดงเลือดหมู ก็เหลืองขมิ้น ใครมีย่ามเยิ่มอะไรดูทิเบต ดูเอเชีย ก็ควักออกมาโชว์สปิริตกันในงาน เห็นคนทิเบตที่มาฟังแต่งชุดประจำชาติก็เยอะ งานนี้เรียกว่ามีสีสันมาก
เข้ามาถึงในสเตเดี้ยม โอ้โห กว้างเหลือเกิน ฮอลล์ใหญ่ราวท้องสนามหลวง แถวเก้าอี้นั่งเรียงถัดสูงขึ้นไปถึงขนาดตึกสี่ชั้น มองลงมาจากแถวที่นั่ง เห็นคนบนเวทีเหลือตัวเล็กเท่ามด จากเวทีมา ตรงกลางสเตเดี้ยมมีก้อนลูกเต๋ายักษ์บรรจุจอทีวีสี่ด้าน ฉายภาพโคลส-อัพ เผื่อคนซื้อตั๋วราคาถูกอย่างเรา จะได้ไม่ต้องเพ่งองค์ท่่านให้ปวดตา
งานนี้เปิดด้วยมีนักการเมืองจากแคลิฟอร์เนียออกมาพูดเกริ่น พูดอยู่นานจนรู้สึกเริ่มเสียดายตังค์ค่าตั๋ว (ไม่ใช่ถูกๆนา...) จนที่สุดยายนั่นก็พูดจบ แล้วองค์ดาไล ลามะ ก็ค่อยเดินออกมา ถึงตอนนี้คนหมื่นกว่าคนในสเตเดี้ยม ก็พร้อมใจกันยืนขึ้นปรบมือ องค์ท่านพนมมือไหว้ไปรอบๆ หลายคนพนมมือไหว้รับ ชื่นใจเราจริงๆ ไม่เคยได้สัมผัสกับผู้นำชาวพุทธที่มีอิทธิพลต่อจิตใจชาวโลกแบบกว้างขวางแบบนี้มาก่อน แหม น้ำตามันเอ่อออกมาซะ
คนทิเบตเขามีการต้อนรับกันโดยวิธีไหว้พร้อมกับเอาหัวโขกกันเบาๆ เห็นองค์ดาไล ลามะพนมมือไหว้ที่อกแล้วเอาหัวของท่านไปโขกกับนักการเมืองคนที่พูดเกริ่นนั้น แนวว่ามิตรภาพเริ่มจากหัว... สัญญาพนมอยู่ที่ใจ
แล้วท่านก็เอาผ้าขาวมาคล้องรับขวัญคนบนเวที คนพวกนี้เป็นคนพื้นเมืองจากแถวเทือกเขาหิมาลัย คนทิเบต คนภูฐาน คนเนปาล เทิร์กกิสถาน และอื่นๆที่จำชื่อไม่ได้ คิดว่าเป็นกลุ่มที่อพยพย้ายเข้ามาอยู่ในอเมริกา คนพวกนี้แต่งตัวน่ารักแบบคนพื้นเมืองหิมาลัย นุ่งผ้าคล้ายๆซิ่นแต่ด้านบนเป็นคอปาดแบบจีน คล้ายๆแบบเชียงใหม่ ผ้าลายทางๆบ้างดอกๆบ้าง น่ารักน่าดู รับขวัญกันเสร็จ คนที่ไม่ได้มีหน้าที่พูดก็ทะยอยลงจากเวทีไป
บนเวทีมีเก้าอี้สองตัว ตัวหนึ่งสำหรับองค์ดาไล ลามะ อีกตัวสำหรับล่าม องค์ท่านเดินมานั่งเก้าอี้ปุ๊บก็ถอดรองเท้าเอาขาขึ้นนั่งขัดสมาธิปั๊บ ท่ามกลางคนเข้าฟังหมื่นกว่าคน ท่านนั่งดูเป็นกันเองเหมือนอยู่บ้านมาก
องค์ดาไลลามะยิ้มแย้มตลอดเวลา ท่านพูดภาษาอังกฤษแบบสำเนียงทิเบต เวลาฟังต้องเงี่ยหูเล็กน้อยถึงจะจับความได้ ท่านมีล่ามมาด้วย เวลาตอนไหนพูดติด ท่านก็จะพูดเป็นภาษาทิเบตแล้วให้คุณล่ามแปลให้ฟัง บางทีก็มีเถียงมีปรึกษากันเล็กน้อยว่าใช้คำถูกหรือไม่ ท่านมีอารมณ์ขันดี ขำตัวเองเวลาพูดคำภาษาอังกฤษยาวๆไม่ได้ ล่ามบอกให้ฟังอีกทีก็ยังพูดไม่ได้ แล้วท่านก็ยิ้มร่า บอกว่าไม่ได้จริงๆ ตรงนี้คนดูขำกันใหญ่
วันนี้ท่านมาพูดในฐานะของผู้นำชาติที่ถูกแย่งแผ่นดินไป มาพูดก็เพื่อหวังนำวิธีคิดวิธีปฏิบัติแบบเมตตาธรรมแผ่ขจรขจาย เพื่อสันติของโลก เพื่อโปรโมต ฮิวแมน ไรท์ (human right) เพื่อหวังว่ากระแสนี้จะไปขยับหูให้รัฐบาลจีนหันมาฟัง เพื่อชุมชนพุทธแถบหิมาลัยจะได้อยู่กันแบบผาสุก
ท่านพูดถึงมุทิตาจิต การมองภายใน เพื่อก่อสันติภาพกับตัวของเราเอง แล้วแผ่มายังครอบครัว สังคม ส่วนรวม ประเทศชาติ การคิดปฏิบัติแบบนี้เท่านั้นจะพาโลกเจริญ
ท่านว่าเคยมีคนถาม ศาสนาใดในโลกนี้ดีที่สุด ท่านบอกว่าถามแบบนี้เหมือนถามว่ากินยาอะไรแล้วแก้โรคได้ดีที่สุด มันไม่มีอะไรดีที่สุดน่ะสิ มันอยู่ที่ว่าเป็นโรคอะไร แล้วต้องแก้ด้วยยาอะไร วิธีปฏิบัติของแต่ละศาสนานั้นขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อม วิธีคิด นิสัยใจคอของผู้ปฏิบัตินั้นๆ จะมาถามว่าอะไรดีที่สุดนั้นมันไม่มีคำตอบ
ท่านว่าศาสนาใดไม่สำคัญ ถ้าให้ดีขอให้มีศาสนาเดียวที่ใจเรายึดเป็นทางเดิน ยึดหลายศาสนาจะพาให้สับสน ไม่รู้จะนับถือพระเจ้าองค์ไหน เดินทางไหน มันเยอะแยะไปหมด ยึดศาสนาเดียว เดินตามทางนั้นไปให้ลึก มองคำสอนให้เห็นแจ้ง แล้วก็จะเดินได้มั่นคง แต่ทั้งนี้ ที่ว่ายึดแต่ศาสนาเดียว ไม่ได้หมายความว่าไม่เคารพศาสนาอื่น คำว่าศรัทธากับเคารพนั้นเป็นคนละความหมายกัน คนอื่นที่เขานับถือของเขาเราก็เคารพไม่ไปก้าวก่าย ท่านว่างั้น (เห็นเลยจากรัฐบาลจีนที่ไม่เคารพพุทธศาสนา ขับไล่ผู้นำพุทธออกจากแผ่นดินพุทธ เผาวัดวาอารามทิ้งเป็นจุณ เพียงเพื่อตอบสนองแนวคิดแบบคอมมิวนิสต์บ้าอำนาจ)
องค์ดาไล ลามะ มีปรารภว่าอยากจะให้ดินแดนแถบเทือกเขาหิมาลัยเป็นดินแดนเสรีธรรมสำหรับชาวพุทธ คือต้องการให้ประเทศต่างๆแถวนั้นรวมตัวกัน (คล้ายๆแบบยุโรป) เพื่อเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพื่อเสรีภาพในการใช้ชีวิต ร่วมมือกันทางเศรษฐกิจ และความเชื่อทางศาสนา แนวคิดนี้ฟังดูดีมากๆ ชาวเขาชนตัวเล็กคนกลุ่มน้อย ทีนับวันมีแต่จะแพ้กระแสจากโลกภายนอก เมื่ออาศัย ธรรม เป็นแรงบวกร่วม จะได้มีพลังสร้างวัฒนธรรมร่วมกัน จากประเทศยิบๆย่อยๆ จะได้มีความมั่นคงขึ้น ฟังแล้วก็สาธุ ขอให้ได้เป็นจริงตามที่ท่านหวังโดยเร็วเถิด
ท่านว่าโลกเราทุกวันนี้ ไม่มีการอยู่แบบประเทศใครประเทศมันเหมือนแต่โบราณอีกแล้ว แต่ละชาติแต่ละประเทศก็ต้องพึ่งพาอาศัยกัน ทั้งเศรษฐกิจ และการเมือง เหมือนกับโลกนี้เป็นบ้านของครอบครัวเดียว ใครจะทำอะไรก็ส่งผลถึงกันหมด หากแต่ละคนในครอบครัวมีธรรมในจิตใจ ความผาสุกก็จะแผ่กระจายกันไปทั้งครอบครัว ท่านคิดแบบตรงๆ ให้เราทำได้แบบตรงๆ เริ่มได้ก่อนจากตัวเราเอง จะคิดดีนี่มันก็แค่พลิกฝ่ามือเองนะ
หลังจากฟังจบ ฉันกับลีก็ไปโบสถ์ ไปรับรสหวานจากเพลงสรรเสริญพระเจ้าของชาวคริสต์ ฉันไม่คิดจะเข้าเป็นคริสเตียนแบบลี แต่ก็ได้อาศัยบ้านของชาวคริสต์ที่นี่เป็นแหล่งพักจิต ไปนั่งตั้งสมาธิภาวนาแบบพุทธๆเรา แถมได้ฟังเพลงเพราะๆพาให้ตัวลอยไปยังสรวงสวรรค์อีกน่ะ อืมม์ อิ่มบุญจัง.
Subscribe to:
Posts (Atom)