Saturday, June 11, 2005

รัฐธรรมนูญในสยาม

ยาสุกิจิ ยาตาเบ เขียน แปลโดย : เออิจิ มูราชิมา

การปฏิวัติและการเปลี่ยนแปลง ในประเทศสยาม : มิถุนายน ๒๔๗๕

*บัณฑิตวิทยาลัยเอเชียแปซิฟิกศึกษา มหาวิทยาลัยวาเซดะ

และนครินทร์ เมฆไตรรัตน์

คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์



*บทความที่กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรมตั้งชื่อว่า "การปฏิวัติและการเปลี่ยนแปลงในประเทศสยาม : มิถุนายน ๒๔๗๕" นี้ เป็นส่วนหนึ่งของงานเขียนขนาดยาวในชื่อ "การปฏิวัติและการเปลี่ยนแปลงในประเทศสยาม" ของยาสุกิจิ ยาตาเบ อดีตอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศสยามในช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงนั้น. ต้นฉบับภาษาญี่ปุ่นพิมพ์ครั้งแรกในวารสารสมาคมญี่ปุ่น-สยาม ฉบับที่ ๕ เดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙



ประเทศสยามนับจากสร้างประเทศขึ้นมา ไม่มีการแบ่งแยกระหว่างการเมืองของรัฐกับเรื่องครอบครัวของพระมหากษัตริย์ การแบ่งแยก ๒ สิ่งออกจากกันนั้น กล่าวได้ว่า เพิ่งเริ่มต้นเมื่อทศวรรษ ๑๘๙๐ นี้เอง เพราะฉะนั้นจึงไม่ควรนับเป็นเรื่องแปลกแต่ประการใดที่รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของสยามสามารถดำรงอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปี ๑๙๓๒ อย่างไรก็ตามได้มีบุคคลที่ไม่เห็นด้วยกับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ดังปรากฏว่ามีคนบางกลุ่มมีความประสงค์ที่จะปฏิรูปการเมือง ตัวอย่างเช่น หลังจากรัชกาลที่ ๖ เสด็จขึ้นครองราชย์ได้ ๒ ปี (คือปี ค.ศ. ๑๙๑๒) ปรากฏว่ามีแผนการที่จะก่อการปฏิวัติขึ้น คณะบุคคลที่เข้าร่วมในขบวนการปฏิวัติในสมัยนั้นมีอยู่ ๒ กลุ่ม กลุ่มหนึ่งเรียกร้องรัฐธรรมนูญราชาธิปไตย อีกกลุ่มหนึ่งมีเป้าหมายสร้างระบอบสาธารณรัฐขึ้น โดยที่ทั้ง ๒ กลุ่มมีเป้าหมายร่วมกันคือ การโค่นล้มการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กระนั้นก็ตามแผนการปฏิวัติในสมัยนั้น ปรากฏว่าไม่ประสบความสำเร็จและถูกจับกุมเสียก่อน โดยที่หลายสิบคนได้ถูกจับกุมในคราวเดียวกัน และได้ถูกลงโทษด้วย

หลังจากนั้นไม่นาน สงครามโลกครั้งที่ ๑ ได้เกิดขึ้น ประเทศสยามได้ถูกชักจูงให้เข้าร่วมสงคราม ในปี ๑๙๑๗ ประเทศสยามได้ประกาศสงคราม และจัดส่งกองทหารอาสาไปแนวรบด้านตะวันตก ด้วยเหตุนี้ประเทศสยามจึงมีฐานะเป็นประเทศผู้ชนะสงคราม และร่วมลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพที่ปารีส รวมทั้งได้เข้าร่วมในองค์การสันนิบาตชาติในฐานะเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้ง ในช่วงเวลาดังกล่าวนี้เอง สถานะของประเทศสยามในสังคมโลกจึงได้รับการปรับปรุงให้ดีกว่าเดิม นโยบายที่เคยบีบคั้นประเทศสยามจากอังกฤษและฝรั่งเศสก็มีการผ่อนคลายเป็นอันมาก การคุกคามต่อเอกราชของสยามก็ดูจะลดน้อยลง นอกจากนั้นการแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เสมอภาค ซึ่งเป็นความต้องการของประเทศสยามมาเป็นเวลาช้านาน ก็ได้เริ่มต้นขึ้นในปี ๑๙๒๕ ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนและภายหลังจากที่รัชกาลที่ ๗ เสด็จขึ้นครองราชย์ การแก้ไขสนธิสัญญาไม่เสมอภาคได้มีผลสำเร็จ และนานาประเทศก็ให้การยอมรับ มีการยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตเหนือประเทศสยาม และมีการฟื้นฟูอำนาจของสยามในการจัดเก็บภาษีศุลกากร

ในช่วงเวลานั้นความสนใจของรัฐบาลและประชาชนทั่วไปอยู่ที่การแก้ไขความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และขาดเวลาเพียงพอที่จะปฏิรูปการเมืองและพัฒนาทรัพยากรภายในประเทศ ความต้องการของปัญญาชนต่อการปกครองในระบอบรัฐธรรมนูญราชาธิปไตยค่อยๆ ทวีความสำคัญมากขึ้น แต่การศึกษาของประชาชนโดยทั่วไป กล่าวได้ว่ายังไม่มีความแพร่หลาย และความคิดทางการเมืองของประชาชนโดยทั่วไปก็ยังมีความด้อยอยู่มาก สื่อมวลชนต่างๆ ก็ยังอยู่ในระดับเริ่มต้น อีกทั้งยังไม่มีเสรีภาพในการพูด ฉะนั้นจึงเป็นเรื่องธรรมดาที่จะไม่มีขบวนการทางการเมืองที่ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างคึกคัก นอกจากนั้นในช่วงเวลานี้ความสำเร็จทางการทูตในระดับหนึ่งส่งผลให้ความชอบธรรมของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม



พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

รัชกาลที่ ๗

ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติในเดือนพฤศจิกายน ๑๙๒๕ ภายหลังจากพระเชษฐาของพระองค์เสด็จสวรรคต พระองค์ทรงมีความคิดที่ก้าวหน้า และทรงดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างการปกครองและการคลัง พระองค์ทรงมีความกล้าหาญที่ลดทอนงบประมาณรายจ่ายของสำนักพระราชวังลงครึ่งหนึ่ง ระเบียบวินัยของข้าราชการซึ่งมีแนวโน้มเสื่อมโทรมลงมาตั้งแต่สมัยรัชกาลก่อน ก็ได้รับการปรับปรุง นอกจากนี้ยังทรงมีพระราชนิยมให้ลดจำนวนข้าราชการชาวต่างประเทศลง เพราะฉะนั้นประชาชนทั้งในระดับล่างและระดับบนก็เริ่มมีความคาดหวังต่อการเปลี่ยนแปลงของรัชกาลใหม่

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงศึกษาที่ประเทศอังกฤษแต่เยาว์วัย ทรงสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยที่ประเทศอังกฤษ และจากโรงเรียนเสนาธิการของประเทศฝรั่งเศส พระองค์ทรงเป็นคนไทยคนแรกที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนเสนาธิการทหารนี้ พระองค์มีแนวพระราชดำริแบบเสรีนิยมค่อนข้างมาก นับจากขึ้นครองราชสมบัติแล้ว เราดูจากภายนอกรู้ได้ว่าพระองค์มีแนวพระราชดำริที่จะเริ่มการปกครองในแบบรัฐธรรมนูญราชาธิปไตย กล่าวคือ ภายหลังจากครองราชย์ได้ไม่นาน พระองค์ทรงปรับปรุงกรรมการองคมนตรีสภา ซึ่งแต่เดิมไม่มีบทบาทและมีแต่ชื่อมานาน โดยทรงปรับปรุงและจัดให้มีกรรมการจำนวน ๔๐ คน ซึ่งได้รับการคัดเลือกมาจากกระทรวงต่างๆ ทำหน้าที่เป็นองค์กรทางด้านนิติบัญญัติ กฎหมายสำคัญๆ ต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการองคมนตรีสภานี้ พระบรมราชโองการในการปฏิรูปกรรมการองคมนตรีสภานี้ กล่าวว่า การปฏิรูปในคราวนี้มีจุดประสงค์เริ่มต้นคือทำให้การปฏิรูปในขั้นต่อไปง่ายขึ้น จัดเป็นการทดลองและฝึกฝนให้กรรมการองคมนตรีสภามีความเข้าใจกระบวนการรัฐสภา จากประกาศนี้ทำให้เราเข้าใจพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ กล่าวคือ คณะกรรมการองคมนตรีสภา เป็นการเตรียมการเพื่อพัฒนาระบบรัฐสภานิติบัญญัติในอนาคต ซึ่งจะต้องปฏิรูปต่อไปอีกหลายขั้นตอน หลังจากนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงแสดงพระราชประสงค์ว่าพระองค์ต้องการให้การเมืองพัฒนาไปเป็นระบบรัฐสภา ในปี ๑๙๓๑ เมื่อพระองค์เสด็จประพาสสหรัฐอเมริกาเพื่อรักษาพระเนตรนั้น พระองค์ได้ให้สัมภาษณ์แก่นักหนังสือพิมพ์ว่า ประเทศสยามจะมีรัฐบาลในระบอบรัฐธรรมนูญในอีกไม่นานนี้ เพราะฉะนั้นพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ จึงจัดอยู่ในระดับขั้นเริ่มต้นของการเตรียมการไปสู่ระบอบรัฐธรรมนูญราชาธิปไตยตามกระแสของโลก เรื่องนี้ไม่มีใครสงสัยเลย อย่างไรก็ตามในช่วงปลายเดือนมิถุนายน ๑๙๓๒ ได้มีการปฏิวัติเกิดขึ้น แต่ก่อนการปฏิวัติในช่วงต้นเดือนมิถุนายน ๑๙๓๒ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้เสด็จฯ แปรพระราชฐานไปประทับ ณ พระราชวังไกลกังวล หัวหิน ในครั้งนั้นพระองค์ได้นำเอาร่างรัฐธรรมนูญพระราชทานไปด้วย การยกร่างรัฐธรรมนูญฯ นี้เป็นผลงานของกรมหมื่นเทวะวงศ์วโรปการ เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ โดยน้อมรับพระราชกระแสรับสั่งจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ในการนี้ เสนาบดีได้ปรึกษากับปลัดทูลฉลอง [พระยาศรีวิสารวาจา-ผู้แปล] และที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศ [เรย์มอนด์ บี. สตีเวนส์, Raymond B. Stevens-ผู้แปล] ยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้น โดยที่การยกร่างรัฐธรรมนูญฯ นี้ถือเป็นความลับชั้นสูงสุด ดังนั้นจึงไม่มีใครล่วงรู้เลยว่า การยกร่างรัฐธรรมนูญได้สำเร็จเรียบร้อยและอยู่ในพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ

เรื่องที่เป็นความลับและไม่มีใครล่วงรู้ได้ดังกล่าวนี้นับเป็นโชคชะตาของประเทศไทย



อำนาจตกอยู่ในมือเจ้านาย

พระบรมราโชบายภายหลังการเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ที่มีความสำคัญมากกว่าการปฏิรูประบบองคมนตรี ได้แก่ การจัดตั้งอภิรัฐมนตรีสภา อภิรัฐมนตรีสภานี้ประกอบด้วยเจ้านายชั้นสูงจำนวน ๔-๖ พระองค์ และเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่กำหนดนโยบายสูงสุดของประเทศ โดยอยู่เหนือกว่าคณะเสนาบดี เรื่องนี้ไม่มีคำอธิบายอย่างเป็นทางการว่าเพราะเหตุใดพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ จึงทรงจัดตั้งอภิรัฐมนตรีสภาขึ้นทันทีภายหลังจากเสด็จขึ้นครองราชย์ แต่ผู้เขียนมีความเข้าใจว่า เพราะพระองค์เป็นพระอนุชาพระองค์เล็กของพระมหากษัตริย์พระองค์ก่อน รวมทั้งได้เสด็จขึ้นครองราชย์อย่างกะทันหัน ฉะนั้นจึงทรงต้องการการสนับสนุนจากเจ้านายชั้นสูง เพื่อให้การปฏิรูปในหลายสิ่งหลายประการประสบความสำเร็จ รวมทั้งการปฏิรูปการเมืองใหม่ด้วย

การจัดตั้งอภิรัฐมนตรีสภานี้ ในระยะแรกประชาชนทุกคนมีความปลื้มปีติ เพราะเป็นปฏิกิริยาต่อการเล่นพวกพ้องและการประจบสอพลอในสมัยรัชกาลก่อน อย่างไรก็ดีข้อบกพร่องของการเมืองมิได้มีสาเหตุมาจากระบบ แต่อยู่ที่ตัวบุคคลที่ใช้ระบบนั้น ดังจะเห็นได้ว่าภายหลังจากการจัดตั้งอภิรัฐมนตรีสภาขึ้นแล้ว ฐานะและอำนาจทางการเมืองของเจ้านายทวีเพิ่มขึ้นเป็นอันมาก นอกจากนั้นตำแหน่งของอภิรัฐมนตรีสภา โดยกฎหมายได้กำหนดไว้ว่าเป็นตำแหน่งเฉพาะของบรรดาเจ้านายเท่านั้น และตำแหน่งเสนาบดีต่างๆ ก็ตกเป็นของเจ้านายเพิ่มขึ้น ดังจะเห็นได้ว่าเมื่อเกิดการปฏิวัติ ๑๙๓๒ ตำแหน่งเสนาบดีรวม ๙ ตำแหน่งนั้น ปรากฏว่า ๖ ตำแหน่งเป็นของเจ้านาย เพราะฉะนั้นในสมัยรัชกาลก่อน บรรดาพวกข้าราชการที่ประจบสอพลอประมาณ ๒-๓ คนมีอำนาจ และถูกวิพากษ์วิจารณ์มาก แต่ครั้นมาถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ปรากฏว่าพวกเจ้านายได้ใช้อำนาจปกครองตามอำเภอใจ ตำแหน่งสำคัญๆ ของรัฐบาลมีลักษณะผูกขาดโดยบรรดาพวกเจ้านาย การเมืองสยามในสมัยนั้นไม่ใช่ว่าจะเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่โดยแท้จริงแล้วเป็นระบอบคณาธิปไตยของพวกเจ้านายเสียมากกว่า และเมื่อจำต้องมีการเลื่อนชั้นข้าราชการตำแหน่งสำคัญๆ ปรากฏว่ามีการใช้เส้นสายเป็นอันมาก ความไม่พอใจของบรรดาข้าราชการพลเรือนและทหารจึงทวีเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้เสนาบดีที่เป็นเจ้านายบางพระองค์ได้ปรากฏข่าวลือว่ามีการใช้ตำแหน่งเสนาบดีแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน และผู้เขียนเคยได้ยินว่ามีคนวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของรัฐบาลว่าเป็นเรื่องแปลกใหม่ แต่ไม่มีความเหมาะสมกับประเทศสยาม ซึ่งพวกเจ้านายบางพระองค์ได้พยายามผลักดันนโยบายที่แปลกใหม่นั้นเพื่อความพึงพอใจของตนเองเป็นสำคัญ และไม่สนใจการสูญเสียผลประโยชน์ของประชาชน ข่าวลือประเภทนี้เราไม่สามารถหาหลักฐานได้ในทุกกรณี แต่เรื่องทำนองนี้ก็มีความสำคัญอยู่ที่ว่า การปรากฏของข่าวลือนั้นแสดงถึงความไม่พึงพอใจของประชาชนต่อการปกครองของเจ้านาย มากกว่าจะเป็นประเด็นว่าเรื่องข่าวลือนั้นมีความจริงหรือไม่

วิธีการแก้ไขความเสื่อมโทรมทางการเมืองของเจ้านายนั้น ปรากฏว่าไม่มีการดำเนินการเลยในช่วงเวลานั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ผู้ทรงตั้งพระราชหฤทัยที่จะปฏิรูปการเมืองในสมัยต้นรัชกาล พระองค์ทรงมีพระพลานามัยไม่สมบูรณ์ เพราะฉะนั้นแนวโน้มของระบอบคณาธิปไตยของเจ้านายที่เลวร้ายจึงพอกพูนและทวีสะสมขึ้น และถึงแม้นว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ จะทรงมีแนวพระราชดำริแบบเสรีนิยม พระองค์ทรงมีความเข้าใจความเป็นไปของโลก อีกทั้งมีพระราชประสงค์จะสถาปนาระบอบรัฐธรรมนูญราชาธิปไตยขึ้น แต่ผู้ที่มีอำนาจในอภิรัฐมนตรี ซึ่งเป็นเจ้านายชั้นสูง ส่วนใหญ่กลับมีความคิดแบบอนุรักษนิยม ที่ต้องการรักษาสถานภาพแบบเดิมเอาไว้ทั้ง ๒ ด้าน ด้านหนึ่ง คือการเมืองภายใน อีกด้านหนึ่ง คือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การสถาปนาระบอบรัฐธรรมนูญราชาธิปไตยในอนาคต ซึ่งโดยหลักการแล้วบรรดาเจ้านายชั้นสูงก็คงไม่คัดค้าน แต่ก็มีปัจจัยหลายสิ่งหลายอย่างทำให้พวกเจ้านายชั้นสูงปล่อยปละละเลยให้สภาพการณ์แบบเดิมดำรงอยู่ การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองซึ่งต้องอาศัยความกล้าหาญอย่างมาก จึงดูเหมือนว่าจะไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงมีอำนาจมากที่สุด ทรงเป็นจอมพลทั้งทหารบกและทหารเรือ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย และเป็นผู้ที่มีอำนาจมากที่สุดในอภิรัฐมนตรีสภา พระองค์ทรงเป็นเจ้าฟ้าต่างพระมารดาของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ และที่สำคัญพระองค์ทรงถูกมองว่าเป็นตัวแทนของกลุ่มอนุรักษนิยม



บรรยากาศที่ต้องการ

การเปลี่ยนแปลง

สถานการณ์รอบข้างพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ เป็นดังกล่าวข้างต้น ส่งผลให้ผู้คนเกิดมีความสงสัยกันว่าพระองค์ทรงมีความสามารถต่อสู้กับแรงกดดันที่ไม่เห็นด้วยกับการปฏิรูปการเมืองได้หรือไม่ และจะทรงตัดสินพระทัยด้วยพระองค์เองเพื่อปฏิรูปการเมืองได้หรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนทั่วไปก็ไม่ได้รับการฝึกฝนทางด้านการเมือง ไม่มีอิสรภาพในการพูด ฉะนั้นการอาศัยวิธีการปฏิรูป คือทำตามกระบวนการกฎหมายด้วยวิธีการสันติ โดยการปลูกฝังที่จะให้มีการแสดงประชามติเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการปฏิรูปนั้น ผู้เขียนมีความเห็นว่า รอไปอีก ๑๐๐ ปี ก็ไม่มีวันสำเร็จ เพราะฉะนั้นจึงไม่มีวิธีการใดนอกจากการลุกขึ้นกระทำการโดยตรงและขับไล่บรรดาเจ้านายอนุรักษนิยมสุดขั้วให้ออกจากตำแหน่ง และบีบบังคับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ให้ทรงยอมรับการเปลี่ยนแปลง ความคิดนี้เป็นความเห็นของบรรดาพวกก้าวหน้ารุ่นหนุ่ม และความขัดแย้งทางความคิดระหว่างกลุ่มอนุรักษนิยมกับพวกก้าวหน้าจึงปรากฏขึ้น

ลักษณะก้าวหน้าของกลุ่มก้าวหน้าหมายความว่าอะไร เรื่องนี้พิจารณาได้ ๒ ด้าน คือด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับด้านของการเมืองภายใน อาจกล่าวได้ว่า ทุกคนมีความเห็นพ้องกันว่าประเทศสยามเป็นประเทศเอกราช แต่ว่าประเทศสยามสามารถกระทำการได้ด้วยตนเอง โดยไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของประเทศมหาอำนาจในด้านการเมืองและเศรษฐกิจหรือไม่ เรื่องนี้น่าสงสัยอยู่เป็นอย่างมาก ถ้าประเทศสยามไม่มีความสามารถเช่นว่านั้นจริงๆ ความเป็นเอกราชของสยามก็เป็นเพียงแต่ชื่อ การปลดปล่อยประเทศสยามให้หลุดพ้นจากอิทธิพลและการบังคับจากต่างชาติ จึงมีความหมายว่าเป็นการฟื้นฟูความเป็นเอกราชของประเทศสยามอย่างแท้จริง ความสำเร็จของการแก้ไขปัญหาที่กล่าวมานี้เป็นเงื่อนไขที่จำเป็นอย่างยิ่งยวด เพื่อทำให้สวัสดิภาพและการพัฒนาของประเทศสยามบรรลุผล ในขณะนั้นนักการเมืองเจ้านายซึ่งตกเป็นทาสของความคิดอนุรักษนิยม และดำรงชีพแบบวันต่อวันโดยรักษาสถานภาพเดิมเอาไว้ การฟื้นฟูเอกราชในทางการเมืองและเศรษฐกิจของประชาชาติ จึงไม่มีความหวังสำหรับการฟื้นฟูอิสรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจ จึงมีความจำเป็นในประการแรก คือการโค่นล้มนักการเมืองเจ้านาย ผู้มีจิตใจแบบอนุรักษนิยม

ประเทศสยามได้รับผลกระเทือนจากเศรษฐกิจตกต่ำหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ ค่อนข้างน้อย แต่ความตกต่ำทางเศรษฐกิจมีความต่อเนื่องและทวีเพิ่มขึ้นทีละเล็กละน้อย ในปี ๑๙๓๐ การส่งออกข้าว ซึ่งเป็นสินค้าสำคัญที่สุดของประเทศสยามซบเซา และราคาข้าวก็ตกต่ำลงอย่างมาก ชีวิตของประชาชนจึงไร้เสถียรภาพ และรัฐบาลก็ขาดรายได้เป็นจำนวนมหาศาล จนถึงปีงบประมาณ ๑๙๓๒ ปรากฏว่าการจัดงบประมาณมีความยากลำบาก จนถึงระดับนี้รัฐบาลก็ตัดสินใจชะลอโครงการต่างๆ และประหยัดรายจ่ายของรัฐบาลลง รวมทั้งได้ตัดสินใจปลดข้าราชการจำนวนมาก และเริ่มเก็บภาษีใหม่หลายชนิด หรือไม่ก็เพิ่มภาษีมากขึ้น ในช่วงเวลานี้รัฐบาลได้กล่าวย้ำหลายวาระว่าประชาชนต้องเสียสละเพื่อความอยู่รอดในสถานการณ์ที่ยากลำบาก แต่เรื่องที่รัฐบาลควรจะเปิดเผยมาก่อนหน้านี้ คือสถานะทางการคลังของประเทศเพื่อขอความเห็นใจจากประชาชนก็ไม่ได้กระทำ ฉะนั้นความไม่พอใจของชนชั้นที่มีทรัพย์และมีการศึกษาจึงเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน บางคนยื่นหนังสือถวายฎีกาเพื่อขอพระมหากรุณาและแสดงความคิดเห็น มีข้อเสนอว่ามาบัดนี้มีความจำเป็นให้ประชาชนผู้เสียภาษีมีส่วนร่วมทางการเมือง การปรากฏของข้อคิดเห็นแบบนี้ แสดงข้อเท็จจริงประการหนึ่งว่า บรรดาพวกเจ้านายได้ผูกขาดอำนาจการเมืองและอยู่ในฐานะมั่งคั่ง โดยไม่มีท่าทีสนใจความเป็นอยู่ของประชาชน ความไม่พอใจสะสมมากขึ้น โดยเหตุนี้เพื่อการปรับปรุงสถานะทางการเมือง เศรษฐกิจของประชาชนในสถานการณ์นั้นจึงมีความจำเป็นต้องปฏิรูปการเมืองอย่างฉับพลัน การโค่นล้มอำนาจของพวกเจ้านาย จึงเป็นวิธีการเดียวที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

สรุปแล้ว สาเหตุแท้จริงการปฏิวัติ ๑๙๓๒ ก็คือการใช้อำนาจตามอำเภอใจ และการไร้ความสามารถของการปกครองของเจ้านายทั้งในทางการเมืองภายในประเทศ และในการจัดความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ความไม่พอใจต่อปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำที่สะสมมามาก และปัญหาการคลังก็เป็นชนวนระเบิดของการเปลี่ยนแปลงโดยฉับพลันครั้งนี้



การฉลอง ๑๕๐ ปี

ของราชวงศ์จักรี

วันที่ ๖ เมษายนของทุกปี เป็นวันที่รัชกาลที่ ๑ ซึ่งเป็นปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์ปัจจุบันเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ ฉะนั้นวันที่ ๖ เมษายนของทุกปีจึงมีงานรัฐพิธี อย่างไรก็ดี วันที่ ๖ เมษายน ในปี ๑๙๓๒ ถือได้ว่าเป็นวันครบรอบ ๑๕๐ ปีของราชวงศ์จักรีด้วย ฉะนั้นจึงได้มีการเตรียมการจัดงานต่างๆ ล่วงหน้ามาก่อน ๒-๓ ปีแล้ว และการจัดงานในปี ๑๙๓๒ ก็เป็นไปอย่างใหญ่โตมโหฬาร เฉพาะอย่างยิ่งในเขตกรุงเทพฯ นอกจากนี้ยังมีพิธีเปิดสะพานพระพุทธยอดฟ้า ซึ่งเชื่อมกรุงเทพฯ กับฝั่งธนบุรี โดยใช้งบประมาณก่อสร้างมหาศาลจำนวน ๒ ล้านบาท เป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งแรก สะพานนี้ออกแบบมาให้สามารถเปิดและปิดเพื่อให้เรือเดินผ่านได้ ขณะเดียวกันในแม่น้ำเจ้าพระยาของวันนั้นยังมีการแสดงแสนยานุภาพของกองทัพเรือ โดยกองทัพเรือจะได้เดินเรือผ่านสะพานนี้เป็นครั้งแรกด้วย

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงฉลองพระองค์แบบโบราณราชประเพณี พระองค์ทรงช้างเครื่อง พระราชินีร่วมเสด็จพระราชดำเนินตามขบวน เมื่อมาถึงบริเวณปะรำพระราชพิธี พระองค์เสด็จประทับรถยนต์ทางด้านหน้า ทางด้านข้างและด้านหลังของขบวนเสด็จฯ มีเหล่าขบวนประกอบพิธี และมีเครื่องดนตรี มีทหารราบ ทหารม้า ทหารปืนใหญ่ ทหารช่าง ทุกหมู่เหล่าแต่งเครื่องแบบเต็มยศร่วมขบวนเสด็จฯ ด้วย ขบวนเสด็จฯ นี้ดำเนินไปอย่างเรียบร้อยและมีระเบียบ นอกจากนี้ในปะรำพิธีมีเจ้านายทุกระดับ และมีข้าราชการทั้งพลเรือนและทหาร ซึ่งมีชื่อเสียงทั้งที่อยู่ในตำแหน่งและนอกตำแหน่ง มีอัครราชทูตจากทุกประเทศ เจ้าหน้าที่การทูตและกงสุลต่างๆ เข้าร่วมพิธี ทุกคนแต่งเครื่องแบบเต็มชั้นยศ รวมทั้งมีการประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่แวววาวและมีสีทองสวยงาม บรรดานายทหารประดับอาวุธ หรือไม่ก็ดาบประจำตำแหน่งและสวมหมวก ทั้งปะรำพิธี และบริเวณประกอบพิธีเต็มไปด้วยสิ่งต่างๆ ดังกล่าว

เดือนเมษายนเป็นฤดูที่ร้อนที่สุดของประเทศสยาม กล่าวคือ มีอุณหภูมิ ๑๖๐ ฟาเรนไฮต์ ทั้งๆ ที่มีอากาศร้อนแบบนี้ ปรากฏว่าบริเวณริมถนนทั้งสองข้างทางมีประชาชนแห่แหนมาเฝ้ารับเสด็จฯ เนืองแน่นไปหมด มีเสียงไชโยดังมาจากทั้งไกลและใกล้ ดูเหมือนว่าจะเป็นรัฐพิธีใหญ่ที่สุด และมีผู้ร่วมรัฐพิธีมากที่สุดของราชวงศ์นี้ ผู้คนที่อยู่ในตำแหน่งและอยู่ในระดับล่างต่างพากันสรรเสริญพระบารมี เหมือนกับว่าเป็นเครื่องแสดงความเจริญและการวัฒนาขั้นสูงสุดของการปกครองของพวกเจ้านาย คนที่เห็นสภาพการณ์ดังกล่าวแล้ว มีใครบ้างจะประเมินได้ว่าจะมีการปฏิวัติเกิดขึ้นในเวลา ๓ เดือนต่อมา

หลังจากทำรัฐพิธีเปิดสะพานพระพุทธยอดฟ้าแล้ว ที่บริเวณสนามหลวงก็ยังมีพระราชพิธีบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในพระราชพิธีนั้น นอกจากพระที่นั่งแล้ว มีปะรำพิธีสำหรับเจ้านาย นักการทูต และข้าราชการ และมีมณฑปตั้งอยู่ทางด้านพระบรมมหาราชวัง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ เสด็จขึ้นไปบนมณฑป ทรงจุดธูปเทียน และทรงกราบพระพุทธรูป ในทางทิศนั้นมองไปแล้วเห็นวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือวัดพระแก้ว อันเป็นสถานที่เก็บพระบรมอัฐิของพระมหากษัตริย์พระองค์ก่อนๆ ในวันนั้นอากาศแจ่มใส แต่มีลมเล็กน้อย ลมที่พัดมาเล็กน้อยทำให้ผู้ร่วมพิธีที่แต่งตัวเต็มยศและมีเหงื่อไหล เกิดมีความสบายในอารมณ์ อย่างไรก็ดีลมที่พัดมานั้นได้ทำให้ไฟที่จุดเทียนดับลง แม้นว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงพยายามหลายครั้ง แต่ก็ไม่สามารถที่จะทำให้ทรงจุดเทียนที่เตรียมไว้ทั้งหมดได้ ในพิธีสำคัญอย่างนี้ ผู้เขียนมีความเห็นว่าควรจะมีฉากกั้นลม แต่ก็ไม่มีใครเตรียมการไว้ ฉะนั้นถ้าย้อนหลังกลับไปพินิจดู เรื่องนี้แสดงลางบอกเหตุ ซึ่งหลังจากนั้นอีกไม่ถึง ๓ เดือน การปฏิวัติก็ถือกำเนิดขึ้น

กลางเดือนมีนาคม ๑๙๓๒ ซึ่งกำลังมีการเตรียมพิธีการใหญ่อยู่นั้น ได้เกิดมีข่าวลือออกมาบ่อยๆ ว่ามีคนวางแผนจะก่อการไม่สงบ โดยอาศัยความชุลมุนวุ่นวายของงานฉลองพระนคร ๑๕๐ ปี ข่าวลือแบบนี้ทำให้จิตใจของผู้คนทั่วไปมีความกังวลใจ เรื่องนี้เป็นความจริง แต่ว่าพิธีการใหญ่ที่ดำเนินการติดต่อกัน ๕ วัน โดยที่มีวันที่ ๖ เมษายน เป็นช่วงกลางของงาน ก็สิ้นสุดลงด้วยความเรียบร้อย และไม่มีเหตุการณ์ร้ายแรงอะไรเกิดขึ้น แต่ว่าเรื่องนี้ผู้เขียนได้รับทราบภายหลังว่ามีแผนการที่จะก่อการปฏิวัติในช่วงพิธี โดยอาศัยช่องว่างที่ข้าราชการและประชาชนกำลังชุลมุนกับงานพิธีเป็นประโยชน์ในการก่อการปฏิวัติ แต่กลุ่มผู้วางแผนการปฏิวัติสำนึกว่าในช่วงงานพิธีนั้นมีประชาชนหลายหมื่นคนรวมทั้งคนต่างชาติเข้าร่วมงาน ถ้าหากเกิดการปฏิวัติขึ้นในโอกาสนั้น ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดเรื่องที่น่ากลัวขึ้น การปฏิวัติในช่วงเวลานั้นจึงถูกระงับไป



การยึดอำนาจของคณะราษฎร

ช่วงเช้าตรู่ของวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๑๙๓๒ การเรียกร้องให้มีการปกครองโดยรัฐธรรมนูญก็ระเบิดขึ้นในที่สุด ผู้เขียนรับทราบเรื่องในภายหลังว่า สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้รับรายงานบ่อยครั้งว่ามีสถานการณ์ไม่น่าไว้วางใจในกองทัพอยู่ แต่พระองค์ท่านทรงไม่สนใจเรื่องดังกล่าวนี้เลย เพราะพระองค์ท่านทรงคิดว่าคนที่พลาดการใช้โอกาสในเหตุการณ์ชุลมุนเมื่องานฉลองพระนคร ๑๕๐ ปี คงจะไม่มีความสามารถก่อการปฏิวัติได้ แต่ในที่สุดอธิบดีกรมตำรวจภูธร [พระยาอธิกรณ์ประกาศ-ผู้แปล] ได้เสนอรายงานหลายครั้ง ก็เลยมีการเตรียมการที่จะจับกุมผู้ต้องสงสัยพร้อมกันในเวลา ๑๑ นาฬิกา ของวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๑๙๓๒ แต่พวกคณะปฏิวัติก็ได้ชิงลงมือกระทำการเสียก่อนเพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนที่จะถูกจับกุม เรื่องที่ทางฝ่ายรัฐบาลดูแคลนข่าวลือเรื่องการปฏิวัตินี้ ผู้เขียนมีความเห็นว่าเป็นการแสดงให้เห็นถึงความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลในระบอบเก่า

ฝ่ายปฏิวัติเป็นนายทหารของกองทัพบก ตั้งแต่ระดับนายพันเอกลงมา นายทหารของกองทัพเรือ และข้าราชการพลเรือนหนุ่มของกระทรวงยุติธรรม เป็นต้น และพวกที่เคยเข้าร่วมการปฏิวัติแผนการปฏิวัติที่ล้มเหลวเมื่อ ๒๐ ปีก่อน ก็เข้ามาร่วมด้วย โดยเริ่มต้นขบวนการของฝ่ายก้าวหน้ามีลักษณะเป็นต่างกลุ่มต่างคิดในเรื่องแผนการการปฏิรูปการเมือง แต่ความคิดของหลายกลุ่มนั้นสามารถประสานกันได้ด้วยสาเหตุใดสาเหตุหนึ่ง เรื่องนี้ทำให้การรวมตัวจัดตั้งเป็นคณะราษฎรสำเร็จขึ้น

จนถึง ๘ โมงเช้าของวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๑๙๓๒ ข่าวการปฏิวัติได้แผ่กระจายไปทั่วกรุงเทพฯ เหมือนกับมีเสียงข่าววิทยุ แต่ว่ากลุ่มใดทำเรื่องอะไร และต่อไปสถานการณ์จะเป็นอย่างไรบ้างนั้น ประชาชนยังคงมีความคลุมเครือ และยังคงดำเนินชีวิตตามปกติ ยกเว้นแต่สถานที่สำคัญที่ใกล้ๆ กับวังของเจ้านาย มีรถถังและกองกำลังทหารรักษาพื้นที่อย่างเข้มงวด ส่วนในร้านค้าทั่วไปยังคงเปิดร้านเหมือนปกติ ไม่มีเสียงปืนดังขึ้นสักครั้งหนึ่งเลย แต่สีหน้าของประชาชนแสดงความตื่นเต้นอยู่บ้าง แต่ว่าสภาพการณ์ของเมืองโดยทั่วไปไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ยกเว้นในบริเวณที่ใกล้วังของเจ้านาย หลังจากนั้นอีกสองสามชั่วโมงจึงรู้ได้ว่าพวกปฏิวัติกลุ่มหนึ่งซึ่งเคยมีข่าวลือออกมานั้นใช้ชื่อว่าคณะราษฎร ได้เริ่มลงมือในช่วงหลังเที่ยงคืน และบุกเข้าไปจับเจ้านายตั้งแต่เช้ามืดนำตัวมาคุมขัง

ฝ่ายปฏิวัติซึ่งประกอบกันขึ้นจากฝ่ายพลเรือนและทหารรวมกันเป็นคณะราษฎร ได้เรียกร้องให้กองทัพบก กองทัพเรือ และผู้บังคับบัญชาการกองกำลังต่างๆ เข้าร่วมกับกองกำลังฝ่ายปฏิวัติ แต่ในช่วงเวลานั้นกองทัพบกและกองทัพเรือเข้าร่วมโดยไม่มีความลังเลใจ ยกเว้นพระยาเสนาสงคราม ผู้บัญชาการกองพลที่ ๑ รักษาพระองค์ ที่ไม่เข้าร่วม จึงถูกยิงในการปฏิวัติในช่วงนั้น มีข่าวลือว่าถูกยิงตายคาที่ แต่ที่จริงถูกยิงทะลุที่ขาเท่านั้น เรื่องนี้เป็นเพียงเหตุการณ์เดียวที่มีการนองเลือดในการปฏิวัติ [ในงานเขียนของยาตาเบกล่าวว่า คณะราษฎรได้บังคับให้พระยาเสนาสงครามเรียกระดมทหารให้มาชุมนุมกัน ซึ่งไม่ถูกต้องกับข้อเท็จจริง ในที่นี้ผู้แปลได้แก้ไขข้อความไปเฉพาะในส่วนนี้-ผู้แปล]

ส่วนหนึ่งของทหารม้าและทหารปืนใหญ่ที่เข้าร่วมในการปฏิวัตินั้น ได้ร่วมกันปลดอาวุธของกองกำลังรักษาพระองค์ ในประมาณ ๕ นาฬิกา ได้ส่งกองกำลังส่วนหนึ่งถึงอธิบดีกรมตำรวจภูธรแจ้งเรื่องการยึดอำนาจและจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ในขณะเดียวกันได้ส่งกองกำลังเข้าล้อมวัง [วังบางขุนพรหม ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของธนาคารแห่งประเทศไทย-ผู้แปล] อันเป็นสถานที่ประทับของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย อธิบดีกรมตำรวจภูธรได้รายงานเรื่องต่างๆ ให้สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตทรงทราบ และได้จัดส่งกำลังตำรวจเพื่อรักษาพระองค์ แต่ก็ล่าช้าไม่ทันการณ์ เพราะว่าวังของพระองค์ได้ถูกห้อมล้อมโดยทหารม้าและทหารราบ ในที่นั้นได้เกิดมีการยิงกันระหว่างทหารกับตำรวจ แต่ทั้ง ๒ ฝ่ายไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ วังของกรมพระนครสวรรค์ฯ นี้มีขนาดใหญ่มโหฬารตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา พระองค์ท่านทรงได้ยินเสียงปืนที่ดังขึ้นหน้าประตูวัง และทรงพยายามหลบหนีไปทางด้านหลังโดยอาศัยเรือ แต่ในแม่น้ำเจ้าพระยานั้นมีเรือปืนของกองทัพเรือ ๒ ลำ ซึ่งอยู่ฝ่ายคณะปฏิวัติทอดสมอจอดอยู่ ฝ่ายทหารเรือได้ติดตามการเคลื่อนไหวภายในวังในท่ามกลางของหมอกในตอนเช้า กองกำลังของฝ่ายปฏิวัติซึ่งบุกเข้าไปทางประตูหน้าของวัง ได้จับกุมสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตได้โดยไม่ยากลำบาก และนำพระองค์ขึ้นรถบรรทุกทหารโดยทรงนั่งในแถวหน้าคนขับ ในช่วงนั้นพระองค์ท่านทรงชุดนอน และถูกฝ่ายปฏิวัตินำไปขังไว้ที่ห้องโถงชั้น ๒ ของพระที่นั่งอนันตสมาคม พระที่นั่งอนันตสมาคมนี้เป็นพระราชวังที่หรูหรามาก สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ โดยใช้เงินก่อสร้าง ๘ ล้านบาท โดยวัสดุหินอ่อนสีขาวที่สั่งมาจากประเทศอิตาลี และจ้างนายช่างอิตาลีออกแบบในสไตล์แบบเรอเนซองส์ คนไทยโดยทั่วไปมีความภูมิใจเป็นอย่างมากว่าเป็นพระราชวังที่มีความสวยงามที่สุด และไม่มีอาคารใดในเขตตะวันออกนับตั้งแต่คลองสุเอซเป็นต้นมาเปรียบเทียบได้ ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้น พระราชพิธีต่างๆ ที่สำคัญมักจะกระทำ ณ พระที่นั่งแห่งนี้ ตัวอย่างเช่น การมอบสารตราตั้งของอัครราชทูตต่างประเทศ ก็ทำที่ห้องโถงของพระราชวังแห่งนี้ การประชุมของอภิรัฐมนตรีสภา รวมทั้งของเสนาบดีสภา ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงเป็นประธานที่ประชุม ก็จัดประชุมกันที่พระที่นั่งนี้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ประทับอยู่ในกรุงเทพฯ จะมีธงประจำพระองค์ ซึ่งมีพื้นเหลืองและมีครุฑสีแดง ยกขึ้นเหนือโดมของพระที่นั่ง อย่างไรก็ดีในเช้าของวันนั้น พระที่นั่งอนันตสมาคมได้กลายเป็นสถานที่คุมขังพวกเจ้านาย ซึ่งพวกคณะราษฎรได้จับกุมสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยานครสวรรค์วรพินิต สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ และสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งเป็นอภิรัฐมนตรี นำมาคุมขัง และอธิบดีกรมตำรวจภูธร พระยาอธิกรณ์ประกาศ ก็ถูกจับกุมและนำมาคุมขังไว้ที่นี้ด้วย

ช่วงเวลาเช้า พระบรมมหาราชวังถูกล้อมโดยกำลังทหาร กองกำลังรักษาพระองค์ ซึ่งรักษาพระบรมมหาราชวังอยู่ได้ถูกปลดอาวุธประจำกาย ข้าราชการกระทรวงวังที่มีปฏิภาณไหวพริบบางคน ได้หลบหนีออกจากพระบรมมหาราชวังโดยไม่ใส่รองเท้า ไปหาเสนาบดีกระทรวงวัง [คือเจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์-ผู้แปล] กับสมุหพระราชมณเฑียร [พระยาสุริวงศ์วิวัฒน์-ผู้แปล] ซึ่งท่านหลังนี้ได้รายงานให้สมเด็จฯ กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ซึ่งประทับนอนชั่วคราวอยู่ใกล้ๆ ให้ทรงทราบ สมเด็จฯ กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธินทรงเป็นอภิรัฐมนตรี และเป็นเสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม รวมทั้งเป็นผู้บังคับบัญชากรมรถไฟด้วย เมื่อพระองค์ทรงทราบข่าวร้ายดังกล่าวแล้ว พระองค์ก็ได้ทรงรีบเสด็จไปยังสถานีรถไฟที่ตั้งอยู่กลางกรุงเทพฯ พร้อมด้วยสมุหพระราชมณเฑียร ได้บัญชาการให้รวบรวมหัวรถจักรหลายคัน เดินรถไฟไปยังทิศใต้ ใช้เวลา ๖ ชั่วโมง ถึงพระราชวังไกลกังวล หัวหิน และถวายรายงานให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงทราบเป็นครั้งแรก ซึ่งพระองค์ยังไม่ทราบเรื่องอะไรเลย ในขณะที่พระองค์ได้ทรงใช้เวลาในช่วงนั้นพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญพระราชทานอยู่



การเรียกร้องและประกาศ

ของคณะราษฎร

คณะราษฎรซึ่งร่วมมือกันอย่างแนบแน่นระหว่างฝ่ายทหารบกกับฝ่ายทหารเรือได้ลงมือแบบฟ้าผ่า จับกุมบุคคลสำคัญตั้งแต่สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตลงมาตลอดจนเจ้านายชั้นสูง รวมทั้งข้าราชการชั้นสูง เช่น อธิบดีกรมตำรวจภูธร เป็นต้น ยึดอำนาจในเขตพระนครในเวลาพริบตา ฝ่ายปฏิวัติได้ประกาศตั้งรัฐบาลใหม่ ในบริเวณชั้นล่างของพระที่นั่งอนันตสมาคม โดยที่ชั้นบนเป็นสถานที่กักขังเจ้านายไว้ และได้ทูลเกล้าฯ ถวายหนังสือกราบบังคมทูลอย่างเป็นทางการถึงพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ โดยทันที ซึ่งเนื้อหาภายในของหนังสือกราบบังคมทูลมีความว่า

"...ด้วยคณะราษฎร ข้าราชการพลเรือนทหารได้ยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินไว้แล้ว และได้เชิญสมเด็จพระบรมวงศานุวงศ์ มีสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต เป็นต้น ไว้เป็นตัวประกัน ถ้าหากคณะราษฎรนี้ถูกทำร้ายด้วยประการใดๆ ก็จะต้องทำร้ายเจ้านายที่จับกุมไว้เป็นการตอบแทน คณะราษฎรไม่ประสงค์จะแย่งชิงราชสมบัติแต่อย่างใด ความประสงค์อันยิ่งใหญ่ก็เพื่อจะให้มีธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน จึงขอเชิญใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทเสด็จกลับคืนสู่พระนครและทรงเป็นกษัตริย์ต่อไป โดยอยู่ใต้ธรรมนูญปกครองแผ่นดิน ซึ่งคณะราษฎรได้สร้างขึ้น ถ้าใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทตอบปฏิเสธก็ดี หรือไม่ตอบภายในหนึ่งชั่วนาฬิกา นับแต่ได้รับหนังสือนี้ก็ดี คณะราษฎรก็จะได้ประกาศใช้ธรรมนูญปกครองแผ่นดิน โดยเลือกเจ้านายพระองค์อื่นที่เห็นสมควรขึ้นเป็นกษัตริย์..."

ผู้ลงนามในหนังสือนั้นคือ พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา พันเอก พระยาทรงสุรเดช และพันเอก พระยาฤทธิอัคเนย์ ผู้นำสาส์นนั้นขึ้นเรือหลวงสุโขทัย ซึ่งมีทหารบก ๑๒๐ คน และทหารเรือ ๗๕ คน เรือมุ่งไปยังพระราชวังไกลกังวล หัวหิน ในขณะเดียวกันได้มีการแจกจ่ายใบปลิวประกาศ "คณะราษฎร" ออกไปในเขตกรุงเทพฯ โดยมีใจความว่า คณะราษฎรได้จับกุมเจ้านายแล้ว ถ้ามีบุคคลต่อต้านคณะราษฎร จะถูกปราบปราม และไม่รับรองความปลอดภัยในชีวิตของเจ้านาย ในขณะเดียวกันได้มีประกาศคณะราษฎรที่มีการจัดพิมพ์เรียบร้อย และมีเนื้อหายืดยาว ประกาศนี้แสดงความรู้สึกของคณะราษฎรต่อระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างไม่ปิดบัง ในที่นี้ผู้เขียนขอยกคำประกาศคณะราษฎร ที่มีเนื้อหาความดังต่อไปนี้

"...เมื่อกษัตริย์องค์นี้ได้ครองราชสมบัติสืบต่อพระเชษฐานั้น ในชั้นต้นราษฎรได้หวังกันว่า กษัตริย์องค์ใหม่นี้คงจะปกครองราษฎรให้ร่มเย็น แต่การณ์หาเป็นไปตามความหวังที่คิดไม่ กษัตริย์คงทรงอำนาจอยู่เหนือกฎหมายตามเดิม ทรงแต่งตั้งญาติวงศ์และคนสอพลอไร้คุณงามความรู้ให้ดำรงตำแหน่งที่สำคัญๆ ไม่ทรงฟังเสียงราษฎร ปล่อยให้ข้าราชการใช้อำนาจหน้าที่ในทางทุจริต มีการรับสินบนในการก่อสร้าง ซื้อของใช้ในราชการ หากำไรในการเปลี่ยนราคาเงิน ผลาญเงินทองของประเทศ ยกพวกเจ้าขึ้นให้สิทธิพิเศษมากกว่าราษฎร ปกครองโดยขาดหลักวิชา ปล่อยให้บ้านเมืองเป็นไปตามยถากรรม ดังที่จะเห็นได้ในความตกต่ำในเศรษฐกิจ และความฝืดเคืองในการทำมาหากิน ซึ่งราษฎรได้รู้กันอยู่ทั่วไปแล้ว รัฐบาลของกษัตริย์เหนือกฎหมายมิสามารถแก้ไขให้ฟื้นขึ้นได้ การที่แก้ไขไม่ได้ก็เพราะรัฐบาลของกษัตริย์นี้มิได้ปกครองประเทศเพื่อราษฎรตามที่รัฐบาลอื่นๆ ได้กระทำกัน รัฐบาลของกษัตริย์ได้ถือเอาราษฎรเป็นทาส (ซึ่งเรียกว่าไพร่บ้างข้าบ้าง) เป็นสัตว์เดรัจฉาน ไม่นึกว่าเป็นมนุษย์ เพราะฉะนั้นแทนที่จะช่วยราษฎรกลับพากันทำนาบนหลังราษฎร จะเห็นได้ว่าภาษีอากรที่บีบคั้นเอาจากราษฎรนั้น กษัตริย์ได้หักเอาไว้ใช้ส่วนตัว ปีหนึ่งเป็นจำนวนหลายล้าน ส่วนราษฎรสิ กว่าจะหาได้แต่น้อยเลือดตาแทบกระเด็น ถึงคราวเสียภาษีราชการหรือภาษีส่วนตัว ถ้าไม่มีเงินรัฐบาลก็ยึดทรัพย์หรือใช้งานโยธา แต่พวกเจ้ากลับนอนกินกันเป็นสุขไม่มีประเทศใดในโลกจะให้เงินเจ้ามากเช่นนี้ นอกจากพระเจ้าซาร์และพระเจ้าไกเซอร์เยอรมัน ซึ่งชนชาตินั้นได้โค่นราชบัลลังก์เสียแล้ว

รัฐบาลของกษัตริย์ได้ปกครองอย่างหลอกลวงไม่ซื่อตรงต่อราษฎร มีเป็นต้นว่าจะบำรุงการทำมาหากินอย่างโน้นอย่างนี้ แต่ครั้นคอยๆ ก็เหลวไป หาได้ทำจริงจังไม่ มิหนำซ้ำกล่าวหมิ่นประมาทราษฎรผู้มีบุญคุณเสียภาษีอากรให้พวกเจ้าได้กิน ว่าราษฎรมีเสียงทางการเมืองไม่ได้ เพราะราษฎรยังโง่ เจ้าก็โง่เพราะเป็นคนชาติเดียวกัน ที่ราษฎรรู้เท่าไม่ถึงเจ้านั้นไม่ใช่เพราะโง่ เป็นเพราะขาดการศึกษาที่พวกเจ้าปกปิดไว้ไม่ให้เรียนเต็มที่ เพราะเกรงว่าราษฎรได้มีการศึกษาก็จะรู้ความชั่วร้ายที่ทำไว้ และคงจะไม่ยอมให้ทำนาบนหลังคน

ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่า ประเทศเรานี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่ของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวง บรรพบุรุษของราษฎรเป็นผู้กู้ให้ประเทศมีอิสรภาพพ้นจากข้าศึก พวกเจ้ามีแต่ชุบมือเปิบและกวาดทรัพย์สมบัติเข้าไว้ตั้งหลายร้อยล้าน เงินเหล่านี้เอามาจากไหน ก็เอามาจากราษฎรเพราะวิธีทำนาบนหลังคนนั่นเอง บ้านเมืองกำลังอัตคัดฝืดเคือง ชาวนาและพ่อแม่ทหารต้องทิ้งนาเพราะทำไม่ได้ผล รัฐบาลไม่บำรุง รัฐบาลไล่คนงานออกอย่างเกลื่อนกลาด นักเรียนที่เรียนสำเร็จแล้ว และทหารที่ปลดกองหนุนไม่มีงานทำจะต้องอดอยากไปตามยถากรรม เหล่านี้เป็นผลของรัฐบาลของกษัตริย์เหนือกฎหมายบีบคั้นข้าราชการผู้น้อยนายสิบและเสมียน เมื่อให้ออกจากงานแล้วไม่ให้เบี้ยบำนาญ ความจริงควรเอาเงินที่กวาดรวบรวมไว้มาจัดบ้านเมืองให้ราษฎรมีงานทำ จึงจะสมควรที่สนองคุณราษฎร ซึ่งได้เสียภาษีอากรให้พวกเจ้าได้ร่ำรวยมานาน แต่พวกเจ้าก็หาได้ทำอย่างใดไม่ คงสูบเลือดกันเรื่อยไป เงินมีเหลือเท่าไรก็เอาฝากต่างประเทศคอยเตรียมหนีเมื่อบ้านเมืองทรุดโทรม ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก การเหล่านี้ย่อมชั่วร้าย

เหตุฉะนั้นราษฎรข้าราชการทหารและพลเรือนที่รู้เท่าถึงการกระทำอันชั่วร้ายของรัฐบาลดังกล่าวแล้ว จึงรวมกำลังตั้งเป็นคณะราษฎรขึ้นและได้ยึดอำนาจของรัฐบาลของกษัตริย์ไว้แล้ว คณะราษฎรเห็นว่าการที่จะแก้ความชั่วร้ายก็โดยที่จะต้องจัดการปกครองโดยมีสภา จะได้ช่วยกันปรึกษาหารือ หลายๆ ความคิดดีกว่าความคิดเดียว ส่วนผู้เป็นประมุขของประเทศนั้น คณะราษฎรไม่มีประสงค์ทำการชิงราชสมบัติ ฉะนั้นจึงขอเชิญให้กษัตริย์องค์นี้ดำรงตำแหน่งกษัตริย์ต่อไป แต่จะต้องอยู่ใต้กฎหมายธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน จะทำอะไรโดยลำพังไม่ได้ นอกจากความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร คณะราษฎรได้แจ้งความเห็นนี้ให้กษัตริย์ทราบแล้ว เวลานี้ยังอยู่ในความรับตอบ ถ้ากษัตริย์ตอบปฏิเสธหรือไม่ตอบภายในกำหนดโดยเห็นแก่ส่วนตน ว่าจะถูกลดอำนาจลงมาก็จะได้ชื่อว่าทรยศต่อชาติ และก็เป็นการจำเป็นที่ประเทศจะต้องมีการปกครองอย่างประชาธิปไตย กล่าวคือ ประมุขของประเทศจะเป็นบุคคลสามัญ ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้ตั้งขึ้น อยู่ในตำแหน่งตามกำหนดเวลา ตามวิธีนี้ราษฎรพึงหวังเถิดว่า ราษฎรจะได้รับความบำรุงอย่างดีที่สุด ทุกๆ คนจะมีงานทำเพราะประเทศของเราเป็นประเทศที่อุดมอยู่แล้วตามสภาพ เมื่อเราได้ยึดเงินที่พวกเจ้ารวบรวมไว้จากการทำนาบนหลังคนตั้งหลายร้อยล้านมาบำรุงประเทศขึ้นแล้ว ประเทศจะต้องเฟื่องฟูขึ้นเป็นแม่นมั่น การปกครองซึ่งคณะราษฎรจะพึงกระทำก็คือ จำต้องจัดวางโครงการอาศัยหลักวิชา ไม่ทำไปเหมือนคนตาบอดเช่นรัฐบาลที่มีกษัตริย์เหนือกฎหมายทำมาแล้ว เป็นหลักใหญ่ๆ ที่คณะราษฎรวางไว้มีอยู่ว่า

๑. จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในทางการเมือง การศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง

๒. จะต้องรักษาความปลอดภัยภายในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก

๓. ต้องบำรุงความสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะจัดหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก

๔. จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอกัน (ไม่ใช่พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่)

๕. จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก ๕ ประการดังกล่าวข้างต้น

๖. จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร

ราษฎรทั้งหลายจงพร้อมใจช่วยคณะราษฎรให้ทำกิจอันคงจะอยู่ชั่วฟ้าดินนี้ให้สำเร็จ คณะราษฎรขอให้ทุกคนที่มิได้ร่วมมือเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลกษัตริย์เหนือกฎหมายพึงตั้งอยู่ในความสงบและตั้งหน้าหากิน อย่าทำการใดๆ อันเป็นการขัดขวางต่อคณะราษฎรนี้ เท่ากับราษฎรช่วยประเทศและช่วยตัวราษฎร บุตร หลาน เหลนของตนเอง ประเทศจะมีความเป็นเอกราชอย่างพร้อมมูล ราษฎรจะได้รับความปลอดภัย ทุกคนจะต้องมีงานทำ ทุกคนจะมีสิทธิเสมอกันและมีเสรีภาพพ้นจากการเป็นไพร่เป็นข้าทาส พวกเจ้าหมดสมัยที่เจ้าจะทำนาบนหลังราษฎร สิ่งที่ทุกคนพึงปรารถนา คือความสุขความเจริญอย่างประเสริฐ ซึ่งเรียกเป็นศัพท์ว่า "ศรีอาริย" นั้นก็จะพึงบังเกิดขึ้นแก่ราษฎรถ้วนหน้า [ผู้แปลใช้เอกสารอ้างอิงจาก สกล เตมิยสูต (รวบรวม). จดหมายเหตุ ประวัติการณ์เปลี่ยนแปลงพระธรรมนูญการปกครองประเทศสยามใหม่. พระนคร : โรงพิมพ์อักษรนิติ, ๒๔๗๕, หน้า ๕-๑๓.]

ถ้าเปรียบเทียบหนังสือกราบบังคมทูลของ ๓ พันเอก กับประกาศคณะราษฎรที่แจกจ่ายในเขตพระนครแล้ว พิจารณาทั้ง ๒ ฉบับ ทุกคนก็คงรู้ได้ทันทีว่า หนังสือที่ทูลเกล้าฯ ถวายถึงพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ เป็นการขอร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นระบอบรัฐธรรมนูญราชาธิปไตย แต่ประกาศคณะราษฎรได้แสดงความคิดว่า หากมีความจำเป็นประเทศสยามอาจปกครองในระบอบสาธารณรัฐ และยังให้ข้อคิดอีกด้วยว่า ระบอบสาธารณรัฐดีกว่าระบอบรัฐธรรมนูญราชาธิปไตย ในความคิดของผู้เขียน ส่วนหนึ่งของคณะราษฎรมีอุดมการณ์สาธารณรัฐนิยมอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะฉะนั้นคำประกาศทำนองนี้จึงถูกร่างขึ้นมา แต่ภายในคณะราษฎรนั้นมีหลายกลุ่ม และมีความคิดเห็นไม่ตรงกันในประเด็นที่ว่า หากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงไม่ตอบตกลงแล้ว วิธีการดำเนินการต่อไปจะเป็นอย่างไร ในที่สุดเมื่อมีการลงมือจริงๆ ข้อเสนอของฝ่ายทหารนั้นได้รับการปฏิบัติ จึงมีแต่การเรียกร้องระบอบรัฐธรรมนูญราชาธิปไตยเพียงประการเดียว หนังสือกราบบังคมทูลถึงพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ จึงปรากฏเป็นเนื้อหาดังกล่าว ส่วนที่เป็นประกาศของคณะราษฎรนั้น ไม่มีเวลาจะปรับปรุงเนื้อหาใหม่ ตามที่ฝ่ายทหารคิดเห็น ในทัศนะของผู้เขียนนั้น การแจกจ่ายประกาศของคณะราษฎรน่าจะเกิดจากการขาดความรอบคอบ อย่างไรก็ตามคำประกาศนี้ได้สร้างช่องว่างที่ประสานได้ยากในโอกาสต่อไประหว่างผู้นำคณะราษฎร กับฝ่ายพระมหากษัตริย์และเจ้านายส่วนหนึ่ง และประกาศนี้เองเป็นจุดเริ่มต้นของการโจมตีจากฝ่ายตรงข้ามว่าคณะราษฎรมีพวกคอมมิวนิสต์อยู่ด้วย ในประกาศดังกล่าวข้างต้นได้กล่าวถึงการยึดทรัพย์สินของเจ้านาย เรื่องนี้ฝ่ายตรงข้ามสามารถยกขึ้นเป็นประเด็น ซึ่งเป็นที่เข้าใจได้ แต่การโจมตีว่ามีฝ่ายคอมมิวนิสต์อยู่ในคณะราษฎรนั้น ผู้เขียนมีความเห็นว่าไม่ตรงกับข้อเท็จจริงแต่ประการใด

เมื่อคณะราษฎรยึดอำนาจในเขตพระนครได้แล้ว ในบ่ายวันนั้นได้เรียกเสนาบดีและปลัดทูลฉลองให้ต้องเข้ามาร่วมประชุม ฝ่ายเสนาบดีที่ไม่ได้ประชุม ได้แก่ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยที่ถูกจับกุมอยู่ และเสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคมซึ่งอยู่ที่หัวหิน เสนาบดีกระทรวงกลาโหมและรองเสนาบดี ซึ่งเดินทางไปราชการในแหลมมลายู เสนาบดีทั้งสี่นี้เป็นเจ้านาย ส่วนเสนาบดีอื่นๆ มาประชุม (และที่เป็นเจ้านาย ได้แก่ เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการคลัง กระทรวงศึกษาธิการ) การประชุมที่พระที่นั่งอนันตสมาคมในช่วงเวลา ๑๖ ถึง ๑๘ นาฬิกา รวม ๒ ชั่วโมง และได้ให้พวกเสนาบดีสัญญาว่าจะทำหน้าที่ที่รับผิดชอบเหมือนอย่างเดิมภายใต้การควบคุมของคณะราษฎร และในการประชุมนี้ แผนการดำเนินงานในระบบสภาผู้แทนราษฎรของคณะราษฎรถูกอธิบาย และมีการโต้เถียงกันระหว่างเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ กับผู้นำคณะราษฎรเกี่ยวกับวิธีการแจ้งกับนานาประเทศว่าจะดำเนินการอย่างไร หลังจากการประชุมเสร็จแล้ว ได้มีประกาศซึ่งลงนามโดยพระยาพหลพลพยุหเสนา มีเนื้อความว่า คณะราษฎรได้ยึดอำนาจการเมือง โดยมีวัตถุประสงค์จะสถาปนารัฐบาลในระบอบรัฐธรรมนูญ และสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตทรงได้เห็นชอบด้วยแล้ว ข้าราชการทุกคนให้ทำหน้าที่ไปตามปกติ หากผู้ใดละทิ้งหน้าที่จะต้องมีความผิด ในขณะเดียวกันได้มีการส่งคนไปแจ้งต่อสถานทูตและสถานกงสุลของทุกประเทศ โดยมีหนังสือบันทึกด้วยวาจาของเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ มีเนื้อความว่า "รัฐบาลชั่วคราว ซึ่งปกครองประเทศไทยในปัจจุบัน จะรักษาความสงบเรียบร้อย ปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของทุกคนที่อยู่ในราชอาณาจักร จะจัดให้มีมาตรการทุกประการที่มีความจำเป็น และรักษาสนธิสัญญาและพันธะต่อต่างประเทศทุกประการ"



การเสด็จกลับพระนคร

ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

ในเวลา ๑๐ โมงครึ่งของวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๑๙๓๒ มีโทรเลขจากหัวหน้าที่ส่งไปหัวหิน ถึงพระยาพหลพลพยุหเสนา โดยโทรเลขฉบับแรกกล่าวว่า พระมหากษัตริย์ยอมรับข้อเรียกร้องของคณะราษฎรแล้ว และพระองค์ทรงตั้งพระราชหฤทัยจะเสด็จนิวัตพระนครทางบก ขอให้ดำเนินการด้วย หลังจากนั้นมีโทรเลขฉบับที่ ๒ โดยฉบับนี้เป็นพระราชหัตถเลขาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ มีถึงคณะราษฎร ซึ่งเนื้อความในโทรเลขฉบับนี้แสดงให้เห็นถึงความรู้สึกสะเทือนใจอย่างมากของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ เอง และทรงแย้มพรายว่าพระองค์อาจจะทรงสละราชสมบัติ โทรเลขฉบับที่ ๒ มีเนื้อหาดังนี้

"...ตามที่คณะทหารมีความปรารถนาจะเชิญให้ข้าพเจ้ากลับพระนคร เป็นกษัตริย์อยู่ใต้พระธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน ข้าพเจ้าเห็นแก่ความเรียบร้อยของอาณาประชาราษฎร์ ไม่อยากให้เสียเลือดเนื้อกับทั้งเพื่อจัดการโดยละม่อมละไม ไม่ให้ขึ้นชื่อว่าจลาจลเสียหายแก่บ้านเมือง และความจริงข้าพเจ้าคิดอยู่แล้วที่จะเปลี่ยนแปลงทำนองนี้ คือมีพระเจ้าแผ่นดินปกครองโดยธรรมนูญ จึงยอมรับที่จะช่วยเป็นตัวเชิด เพื่อให้คุมโครงการตั้งรัฐบาลให้เป็นรูปตามวิธีเปลี่ยนแปลงตั้งพระธรรมนูญโดยสะดวก เพราะว่าข้าพเจ้าจะไม่ยอมรับเป็นตัวเชิด นานาประเทศคงจะไม่รับรองรัฐบาลใหม่นี้ ซึ่งจะเป็นความลำบากยิ่งขึ้นหลายประการ ความจริงข้าพเจ้าเองในเวลานี้ก็ทราบกันอยู่แล้วว่ามีอาการทุพพลภาพ และไม่มีลูกสืบวงศ์สกุล และจะไม่ทนงานไปนานเท่าใดนัก ทั้งไม่มีความปรารถนามักใหญ่ใฝ่สูงให้เกิดศักดิ์ และความสามารถที่จะช่วยพยุงชาติของเราให้เจริญเทียมหน้าเขาบ้าง พูดมานี้เป็นความจริงใจเสมอ" [ผู้แปลใช้เอกสารอ้างอิงจาก สกล เตมิยสูต (รวบรวม). จดหมายเหตุ ประวัติการณ์เปลี่ยนแปลงพระธรรมนูญการปกครองประเทศสยามใหม่. พระนคร : โรงพิมพ์อักษรนิติ, ๒๔๗๕, หน้า ๓๔-๓๕.]

ในเวลาเที่ยงคืนของวันที่ ๒๕ มิถุนายน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ และพระราชินีเสด็จกลับถึงพระนครโดยทางรถไฟ พร้อมกับสมเด็จฯ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ (พ่อตา) ซึ่งอยู่ร่วมในขบวนเสด็จฯ ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ และพระราชินีที่หัวหิน สมเด็จฯ กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ซึ่งแจ้งข่าวการปฏิวัติครั้งแรกที่หัวหินก็ร่วมขบวนเสด็จฯ ด้วย ในช่วงเช้าตรู่ของวันปฏิวัติ ได้มีหัวขบวนรถจักรวิ่งออกจากกรุงเทพฯ ไปอย่างรวดเร็ว แต่ในครั้งนี้ได้เดินทางกลับมาถึงสถานีรถไฟจิตรลดา ซึ่งดูคล้ายกับ "ม้า" ที่หมดกำลังของนายพลที่แพ้สงคราม หัวขบวนรถจักรมีตู้ขบวนเพียงตู้เดียว ภายในและภายนอกสถานีรถไฟจิตรลดา มีทหารฝ่ายปฏิวัติรักษาการอยู่ ผู้ที่มารับเสด็จ ซึ่งเป็นผู้ที่สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ มีเสนาบดีกระทรวงวัง [เจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์, ม.ร.ว.เย็น อิสรเสนา, ๑๘๖๓-๑๙๔๑-ผู้แปล] เพียงคนเดียว เสนาบดีกระทรวงวังนี้มีอายุมากแล้ว เสนาบดีกระทรวงวังได้มองพระพักตร์ด้วยความสลดใจโดยไม่ได้กล่าวอะไร พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ และพระราชินีไม่ได้เสด็จไปพระราชวังดุสิต ซึ่งเป็นที่ประทับประจำ แต่พระองค์เสด็จวังศุโขทัย ซึ่งเป็นวังที่ประทับก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์ โดยมีการรักษาการณ์อย่างเข้มงวดของฝ่ายทหารและตำรวจ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์นั้น มีพระนามว่ากรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา รถยนต์ที่ใช้เสด็จไม่ใช่รถพระที่นั่ง แต่ใช้รถยนต์ธรรมดา ซึ่งรัฐบาลชั่วคราวจัดถวาย จึงทำให้เกิดความรู้สึกว่าไม่ได้ดำรงพระยศเป็นพระมหากษัตริย์เหมือนเดิม และทำให้คนดูเข้าใจได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงของโลกและมีชะตากรรมของพระมหากษัตริย์เกิดขึ้นอย่างน่าเศร้าสลดใจ



ประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว

ช่วงเช้าของวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๑๙๓๒ ผู้นำคณะราษฎรได้ขอเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ผ่านเสนาบดีกระทรวงวัง เวลา ๑๑.๑๕ นาฬิกา พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงให้ผู้นำคณะราษฎร รวม ๙ คนเข้าเฝ้า โดยมีสมุหพระราชมณเฑียร (พระยาสุริวงศ์วิวัฒน์) เป็นผู้นำคณะราษฎรเข้าเฝ้า ฝ่ายคณะราษฎรได้ขอให้มีพระบรมราชโองการอภัยโทษต่อคนที่เข้าร่วมการปฏิวัติ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงรับทันทีและทรงลงพระนามประกาศ พระบรมราชโองการฉบับนี้ได้ประกาศในช่วงเวลาบ่ายของวันนั้น ประกาศนั้นมีข้อความดังนี้

"พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศจงทราบทั่วกันว่า

การที่คณะราษฎรคณะหนึ่ง ซึ่งมีความปรารถนาอันแรงกล้า ในอันที่จะแก้ไขขจัดความเสื่อมโทรมบางประการของรัฐบาลสยามและชาติไทยให้หายไป แล้วจะพากันจรรโลงสยามรัฐและชาติไทยให้เจริญรุ่งเรืองวัฒนาถาวรมั่นคงเท่าเทียมกับชาติและประเทศอื่นต่อไป จึงพากันยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินไว้ด้วยความมุ่งหมายจะให้มีธรรมนูญปกครองแผ่นดินเป็นข้อใหญ่ แล้วร้องขอไปยังเราเพื่อให้เราคงดำรงเป็นกษัตริย์แห่งสยามรัฐต่อไป ภายใต้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินนั้น ทั้งนี้แม้ว่าการจะเป็นไปโดยขัดกับความพอพระทัยพระบรมวงศานุวงศ์บางพระองค์ และขัดกับสมาชิกในรัฐบาลเดิมบางคนก็ดี ก็เป็นธรรมดาที่จะต้องเป็นไปเช่นนั้นในทุกประเทศ ไม่ว่าจะเจริญรุ่งเรืองแล้วเท่าไรๆ ก็ไม่อาจจะก้าวล่วงการนี้เสียได้ ถึงกระนั้นก็พึ่งปรากฏเป็นประวัติการณ์ครั้งแรกของโลกที่การณ์ได้เป็นไปโดยราบรื่นปกติมิได้รุนแรง

และแม้จะได้อัญเชิญพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการบางคนมาประทับและไว้ในพระที่นั่งอนันตสมาคมก็เพียงเพื่อประกันภัยของคณะ และเพื่อให้ดำเนินการลุล่วงไปเท่านั้น หาได้ทำการประทุษร้ายหรือหยาบหยามอย่างใด และไม่มุ่งหมายจะกระทำเช่นนั้นด้วย ได้แต่บำรุงรับไว้ด้วยดี สมควรแก่พระเกียรติยศทุกประการ

อันที่จริงการปกครองด้วยวิธีมีพระธรรมนูญการปกครองนี้ เราก็ได้ดำริอยู่ก่อนแล้ว ที่ราษฎรคณะนี้กระทำมาเป็นการถูกต้องตามนิยมของเราอยู่ และด้วยเจตนาดีต่อประเทศชาติอาณาประชาชนแท้ๆ จนหาการกระทำหรือแต่เพียงเจตนาชั่วร้ายแม้แต่น้อยมิได้

เหตุฉะนี้จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกำหนดดังต่อไปนี้

มาตรา ๑ พระราชกำหนดนี้ให้เรียกว่า พระราชกำหนดนิรโทษกรรมในคราวเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน พุทธศักราช ๒๔๗๕

มาตรา ๒ ให้ใช้พระราชกำหนดนี้ตั้งแต่ขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงลงพระบรมนามาภิไธยเป็นต้นไป

มาตรา ๓ บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นเหล่านี้ไม่ว่าของบุคคลใดๆ ในคณะราษฎรนี้ หากว่าจะเป็นการละเมิดบทกฎหมายใดๆ ก็ดี ห้ามมิให้ถือว่าเป็นการละเมิดกฎหมายเลย" [ผู้แปลใช้เอกสารอ้างอิงจาก สกล เตมิยสูต (รวบรวม). จดหมายเหตุ ประวัติการณ์เปลี่ยนแปลงพระธรรมนูญการปกครองประเทศสยามใหม่. พระนคร : โรงพิมพ์อักษรนิติ, ๒๔๗๕, หน้า ๔๑-๔๔.]

หลังจากนั้นฝ่ายคณะราษฎรได้อ่านร่างธรรมนูญการปกครองแผ่นดินที่เตรียมไว้ และขอให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงลงพระนามทันที แต่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงกล่าวว่า พระองค์มีพระราชประสงค์ขออ่านดูก่อน ฝ่ายคณะราษฎรได้ให้เวลา ๑ ชั่วโมง และได้ขอร้องให้พระองค์ทรงอ่านทั้งหมดโดยเร็ว แต่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงไม่สนพระทัย ได้เสด็จไปยังห้องอื่น ๑ ชั่วโมงผ่านไป ตรัสว่า เวลามีน้อย และมีบางเรื่องที่ไม่เข้าใจทั้งหมด จึงไม่สามารถลงพระนามได้ พระองค์ทรงไม่ยอมลงพระนามโดยง่าย ในท้ายที่สุดฝ่ายคณะราษฎรได้ให้เวลา ๑ วันเต็มๆ จนถึงเวลา ๑๗ นาฬิกาของวันที่ ๒๗ มิถุนายน [ทางเอกสารฝ่ายญี่ปุ่น หอจดหมายเหตุการทูตประเทศญี่ปุ่น A600, 1-27-2 ยาตาเบรายงานถึงรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศญี่ปุ่นในวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๑๙๓๒ (Ko 107) กล่าวว่า ยาตาเบได้พบกับสมุหพระราชมณเฑียรในเวลาเย็นวันที่ ๒๖ มิถุนายน และได้ทราบจากบุคคลท่านนี้โดยตรง โดยที่ในวันเกิดเหตุสมุหพระราชมณเฑียรได้เดินทางไปเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ที่พระราชวังไกลกังวล หัวหิน และได้ตามเสด็จกลับพระนครพร้อมกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ-ผู้แปล นอกจากนี้จากบันทึกส่วนตัวของพระยาศรยุทธเสนีได้ระบุว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ขอเวลา ๗ วัน พลเรือตรี พระยาศรยุทธเสนีนั้นเป็นผู้นำคณะราษฎรเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ที่วังศุโขทัย-ผู้แปล] ในการเข้าเฝ้าครั้งนี้ รวมทั้งในการประชุมกับเสนาบดีในวันก่อน ผู้เขียนได้ทราบว่าหลวงประดิษฐ์มนูธรรมเป็นผู้นำการเจรจา การเรียกร้องของหลวงประดิษฐ์มนูธรรมมีลักษณะไม่ประนีประนอม แต่ท่าทางและมารยาทนั้น มีความสุภาพและอ่อนน้อมมาก

เวลา ๑๕.๓๐ น. ของวันที่ ๒๗ มิถุนายน ผู้นำคณะราษฎรได้ไปที่วังศุโขทัยอีกครั้งหนึ่ง เพื่อรับฟังคำตอบของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ เวลา ๑๗ นาฬิกา ตามที่ตกลงกันไว้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้เสด็จออกมา ความรู้สึกของพระองค์ในช่วงนี้ ไม่อาจทราบทั้งหมดได้ แต่เท่าที่ได้มีการแย้มออกมาอย่างลับๆ มีข้อความที่ได้รับทราบมาว่า พระองค์ได้ตรัสกับผู้นำคณะราษฎรดังต่อไปนี้

"ข้าพเจ้าได้ลงนามในรัฐธรรมนูญนี้ และระบอบรัฐธรรมนูญราชาธิปไตยได้บังเกิดขึ้นแล้ว ข้าพเจ้ามีความประสงค์ขอสละราชสมบัติ ข้าพเจ้ายอมรับคำวิจารณ์ที่ว่าข้าพเจ้าไร้ความสามารถ และไม่สามารถสร้างความเจริญให้บังเกิดขึ้นได้ เรื่องนี้ข้าพเจ้าก็ยอม แต่ข้าพเจ้าได้ทุ่มเทความสามารถทั้งหมดโดยความสุจริตใจเพื่อความผาสุกของประชาชน แต่ประกาศของคณะราษฎรนั้น ได้วิจารณ์และโจมตีการปกครองของข้าพเจ้าอย่างรุนแรงมากที่สุด การถูกโจมตีขนาดนี้ ไม่มีกษัตริย์พระองค์ใดสามารถดำรงพระยศอยู่ได้ ข้าพเจ้าไม่มีรัชทายาท และพลานามัยก็ไม่แข็งแรง ข้าพเจ้าน่าจะสละราชสมบัติและใช้ชีวิตที่เหลือโดยสงบสุข ชีวิตของข้าพเจ้าและพระราชินีทั้งสองคน มีค่าใช้จ่ายไม่มาก"

ฝ่ายผู้นำคณะราษฎร เมื่อได้รับฟังพระราชดำรัสแล้ว ก็ได้อ้อนวอนต่อพระองค์ และสัญญาว่าจะแก้ไขบรรเทาเนื้อหาของประกาศคณะราษฎร ฉะนั้นจึงสามารถเปลี่ยนพระราชประสงค์อย่างเด็ดเดี่ยวที่จะสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้เป็นผลสำเร็จ

เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้ทรงเปลี่ยนพระราชหฤทัยแล้ว พระองค์ได้เสนอว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาสาระของร่างธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน แต่ขอแก้ไขเรื่องเดียว ที่ไม่มีความสำคัญเท่าใดนัก ซึ่งผู้นำคณะราษฎรก็ยอมรับ หลังจากนั้นได้ทรงหยิบปากกาขึ้นอย่างช้าๆ และเขียนคำว่า "ชั่วคราว" ไว้ในย่อหน้าแรกของร่างธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน และทรงลงพระนามในร่างธรรมนูญการปกครองแผ่นดินนั้นด้วย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้ทรงใช้วิธีการรุกที่แปลก คือ พระองค์ท่านทรงมีความคิดว่า ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินที่เกิดอย่างชุลมุนนั้น ทำให้เป็นธรรมนูญการปกครองแผ่นดินชั่วคราว และตั้งคณะกรรมการยกร่างธรรมนูญการปกครองแผ่นดินขึ้นใหม่ เพื่อการสถาปนาธรรมนูญการปกครองแผ่นดินขึ้นอย่างถาวรต่อไป ในขณะนั้นมีข่าวลือออกมาว่า มีการแก้ไขธรรมนูญการปกครองแผ่นดินในประเด็นที่ไม่สำคัญเกิดขึ้น แต่เมื่อได้ทราบว่า การแก้ไขนั้นเป็นเรื่องอะไรแล้ว ทำให้รู้ได้ว่าเรื่องที่แก้ไขนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยหากจะเปรียบเทียบธรรมนูญการปกครองแผ่นดินชั่วคราว [ต่อไปนี้จะเรียกว่ารัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว-ผู้แปล] กับรัฐธรรมนูญฉบับถาวรแล้ว ประเด็นในเรื่องเกียรติยศและพระราชอำนาจของกษัตริย์มีความแตกต่างกันมาก จากนี้เราดูออกได้ว่า พระราชปฏิภาณไหวพริบของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ นั้น มีความรอบคอบ ทั้งๆ ที่ทรงอยู่ในสถานการณ์ที่ถูกบีบบังคับและมีความตึงเครียด อย่างไรก็ตามดังที่กล่าวมาแล้ว มีพระราชประสงค์จะเริ่มระบอบรัฐธรรมนูญ และได้เตรียมการร่างรัฐธรรมนูญไว้แล้ว แต่ก็ต้องทรงยอมรับการบีบบังคับของคณะราษฎรในสถานการณ์ดังกล่าว ความยากลำบากในพระราชหฤทัยของพระองค์เป็นอย่างไร ก็เกินกว่าที่เราจะพอคาดเดาได้ พวกข้าราชบริพารที่อยู่ในสถานที่ที่พระองค์ท่านทรงลงพระนามในรัฐธรรมนูญชั่วคราว เมื่อทราบความนึกคิดของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ แล้ว ทุกคนก็ก้มหน้าและส่งเสียงร้องไห้ ซึ่งเรื่องราวก็ควรที่จะเป็นไปเช่นนั้น

รัฐธรรมนูญชั่วคราว ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงลงพระปรมาภิไธยและประกาศในช่วงเช้าของวันถัดไปนั้น มีผลบังคับใช้นับตั้งแต่วันที่ลงพระนาม ซึ่งก็คือวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๑๙๓๒ คณะราษฎรซึ่งก่อการปฏิวัติโดยฉับพลันในช่วงเช้าตรู่ของวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๑๙๓๒ ได้ใช้เวลาในวันนั้นเพียง ๓ ชั่วโมง ก็สามารถยึดอำนาจสำเร็จ และใช้เวลาอีกเพียง ๔ วัน ก็สามารถสถาปนาระบอบรัฐธรรมนูญขึ้นได้

นับตั้งแต่วันนั้นมา วันที่ ๒๗ มิถุนายน ได้ถูกจัดเป็นวันสำคัญของชาติ และมีการจัดงานเฉลิมฉลองทุกปี



*ประวัติยาสุกิจิ ยาตาเบ

ยาสุกิจิ ยาตาเบ เกิดเมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๑๘๘๒ ที่จังหวัดยามากูจิ สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยฮิโตสุบาชิ ในปี ๑๙๐๗ โดยศึกษาในแผนกกงสุลได้เป็นที่หนึ่ง ในปี ๑๙๐๘ ได้สอบเป็นนักการทูต และได้รับหน้าที่ทางการทูตประจำประเทศจีน ต่อมาได้ประจำเมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย (ประมาณ ๑ ปีเศษ) ประจำเมืองบอมเบย์ ประเทศอินเดีย (๒ ปี) และต่อมาในปี ๑๙๑๖ ได้รับการแต่งตั้งเป็นกงสุลเมืองอะมอย ประเทศจีน ในปี ๑๙๑๙ เดินทางกลับประเทศญี่ปุ่น ปี ๑๙๒๑ เป็นหัวหน้ากองที่สาม ของกรมข่าว กระทรวงการต่างประเทศ ในปี ๑๙๒๔ เป็นเลขานุการเอกประจำสถานเอกอัครราชทูตประจำกรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี ๑๙๒๕ เป็นกงสุลใหญ่ประจำชินเตา ประเทศจีน และเดินทางกลับจากประเทศจีน ในปี ๑๙๒๗

วันที่ ๑๖ มีนาคม ๑๙๒๘ เมื่อมีอายุได้ ๔๖ ปี ยาสุกิจิ ยาตาเบ ได้รับการแต่งตั้งเป็นอัครราชทูตผู้มีอำนาจเต็มประจำประเทศสยาม ได้เดินทางถึงกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๑๙๒๘ และเดินทางออกจากประเทศสยามในวันที่ ๑๕ มกราคม ๑๙๓๖ โดยทำหน้าที่ประจำประเทศสยาม (ไทย) รวม ๗ ปีเศษ

ยาสุกิจิ ยาตาเบ ได้ลาออกจากราชการในปี ๑๙๓๗ เมื่ออายุ ๕๕ ปี จนถึงปี ๑๙๔๑ ได้เป็นประธานสมาคมญี่ปุ่น-ไทย ในช่วงเดือนกรกฎาคม ๑๙๔๒ ได้ร่วมเดินทางมาเยี่ยมเยือนประเทศไทยพร้อมกับคณะของอดีตนายกรัฐมนตรีฮิโรตะ

ยาสุกิจิ ยาตาเบ ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ ๘ ตุลาคม ๑๙๕๘ สิริอายุได้ ๗๖ ปี

Saturday, June 04, 2005

วิวัฒนาการแห่งจิตรกรรมฝาผนังของไทย

ศิลป์ พีระศรี

ศิลปะแบบรัตนโกสินทร์
หลังจากที่ได้เสียกรุงศรีอยุธยาใน พ.ศ. 2310 แล้ว ประเทศไทยก็ต้องประสบความยุ่งยากอยู่เป็นเวลา 10 ปี ซึ่งทำให้ไม่สะดวกแก่การที่จะผลิตศิลปะวัตถุ ราวกลางพุทธศตวรรษที่ 24 ยุคใหม่แห่งความเจริญของประเทศไทยจึงได้เริ่มขึ้น และภายหลังสมัยธนบุรี กรุงเทพพระมหานครก็ได้กลายเป็นเมืองหลวงที่สวยงามของประเทศไทย

ในสมัยนี้มีการสร้างวัดกันขึ้นเป็นจำนวนมาก และมีหลายวัดประดับด้วยจิตรกรรมฝาผนัง ช่างสมัยอยุธยาคงจะได้มาทำงานต่อที่กรุงเทพฯ และ ณ กรุงเทพฯ นี้ก็ได้เกิดมีสกุลช่างเขียนที่สำคัญขึ้น ซึ่งได้ผลิตจิตรกรรมฝาผนังที่สวยงามหลายแห่งติดต่อกันลงมาเป็นเวลาถึง 70 ปี ในครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ 25 ภาพเขียนฝาผนังแบบคลาสสิคก็เริ่มเสื่อมลง ทั้งนี้ก็เพราะไปรับ อิทธิพลจากศิลปะตะวันตกเข้ามา

สกุลช่างรัตนโกสินทร์ได้รวบรวมเอาสกุลช่างไทยอื่นๆไว้ด้วย และด้วยเหตุนี้เราจึงอาจกล่าวได้ว่าสมัยนี้เป็นสมัยคลาสสิคสำหรับจิตรกรรม จากจิตรกรรมฝาผนัง ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ในวัดสุทัศน์เทพวราราม และในวัดสุวรรณาราม จังหวัดธนบุรี...

...สกุลช่างเขียนสมัยรัตนโกสินทร์นี้ได้ครอบคลุมไปถึงจิตรกรรมฝาผนังของวัดหลายวัดทางภาคเหนือของประเทศไทยด้วย จิตรกรรมเหล่านี้แสดงลักษณะแตกต่างไปจากภาพเขียนในภาคกลางของประเทศไทย จิตรกรทางภาคเหนือนิยมเขียนภาพชีวิตประจำวัน ในขณะที่ทางภาคกลางของประเทศไทยนิยมเขียนภาพเรื่องศาสนาหรือเรื่องนิยายต่างๆตามแบบคลาสสิค แม้จะเป็นความจริงที่ว่า ช่างเขียนทางภาคเหนือจะวาดภาพตามแบบคลาสสิคด้วย เป็นต้นว่า ภาพพระพุทธองค์ พระโพธิสัตว์ และเจ้านาย แต่ลักษณะก็คงเป็นภาพเหมือนชีวิตจริง ถ้าเรามองดูภาพที่งดงามเรื่องสังข์ทองในวิหารลายคำ วัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่ เราจะรู้สึกคล้ายกับว่าเราเข้าไปอยู่ในสภาพการณ์ที่เป็นจริงตามความเป็นอยู่เมื่อ 100 ปีก่อน ลวดลายทุกส่วน แม้จนกระทั่งร่างกายได้วาดขึ้นไว้อย่างถูกต้องตรงความจริง และด้วยการสังเกตอย่างเฉียบแหลม

เพราะเหตุว่า ช่างทางภาคเหนือไม่จำต้องทำงานตามกฎเกณฑ์อย่างเข้มงวด เหตุนั้นจึงเป็นการง่ายที่จะสังเกตรู้ความสามารถของช่างเหล่านี้ ในวัดเดียวกัน เราอาจเห็นมีทั้งองค์ประกอบภาพที่งดงามมากกับที่ไม่น่าดูปนกันอยู่ เป็นต้นว่า ที่วัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน เราจะเห็นว่าบางส่วนของภาพเขียน เช่น ภาพบุคคลสามคนกำลังขึ้นสวรรค์ จะวาดขึ้นโดยช่างที่ไม่มีความชำนาญ แต่ในขณะเดียวกันภาพชายหนุ่มกำลังเกี้ยวหญิงสาวนั้น ประดิษฐ์ขึ้นโดยช่างฝีมือชั้นครูจริงๆ ถ้าภาพทั้งหมดนี้ทำขึ้นตามแบบคลาสสิกก็คงจะเป็นการยากอย่างยิ่งที่จะสังเกตเห็นความแตกต่างกันเป็นอันมากของภาพทั้งสองนั้นได้

จิตรกรรมฝาผนังที่เก่าที่สุดในสมัยรัตนโกสินทร์ก็คือ ภาพเขียนในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ณ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ กรุงเทพฯ ซึ่งวาดขึ้นระหว่าง พ.ศ. 2338-2340 ณ ที่นี้เราจะสังเกตเห็นได้ดังกล่าวมาแล้วว่า พื้นหลังของภาพเขียนในสมัยรัตนโกสินทร์จะมีสีคล้ำกว่าพื้นหลังของภาพสมัยอยุธยา ภาพบุคคลต่างๆเป็นจำนวนร้อยๆรูปได้วาดกันขึ้นได้ตลอดฝาผนังทั้ง 4 ด้าน ของพระที่นั่งองค์นี้ และเมื่อเรามองดูภาพเขียนเหล่านี้แล้วเราก็จะรู้สึกยุ่งยากใจที่ไม่รู้ว่าภาพไหนเป็นภาพที่ดีที่สุด แต่กลุ่มภาพเรื่องพระภูริทัตต์กำลังทอดพระเนตรนางรำและนักดนตรีสาวที่สวยงามเพียงกลุ่มเดียว ก็อาจทำให้เราเข้าใจซาบซึ้งถึงคุณค่าอย่างสูงทางศิลปะของภาพเขียนในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ได้...

...จิตรกรรมฝาผนังดั้งเดิม ณ วัดนี้ (วัด [ใหญ่] อินทาราม จังหวัดชลบุรี : ผู้วิจัย) วาดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ คือ ราวกลางพุทธศตวรรษที่ 23 แต่รูปเหล่านี้ก็ได้รับการซ่อมแซมใหม่ใน พ.ศ. 2475 น่าเสียดายที่การซ่อมนี้ทำขึ้นโดยช่างฝีมือเลวและเลยทำลายความงามของภาพเขียนดั้งเดิมเสีย เฉพาะแต่บางแห่งเท่านั้นที่เรายังพอมองเห็นความละเมียดละไมของภาพเขียนเก่าที่เป็นรูปคนเดี่ยวๆ หรือเป็นรูปรวมหมู่ได้

ภาพเขียนเรื่องไตรภูมิขาดความเป็นเอกภาพไปไม่เหมือนกับภาพปางมารผจญ ซึ่งมีความเป็นเอกภาพและมีชีวิตจิตใจมากกว่า ภาพพระพุทธองค์และนางธรณีนั้น วาดขึ้นอย่างสวยงาม และรูปมารกำลังผจญก็แสดงชีวิตจิตใจดี โดยทั่วไปภาพเขียนปางมารผจญนี้ต้องแสดงความน่ากลัว เหตุนั้น ตามลักษณะทั่วไปการวาดจึงดูค่อนข้างหยาบ ถ้าจะนำเอาไปเปรียบเทียบกับภาพอื่นๆที่เขียนขึ้นอย่างประณีต ในเรื่องภาพปางมารผจญนี้คุณค่าทางศิลปะอยู่ที่มีลักษณะตรงกันข้าม ความมีชีวิตจิตใจอยู่ที่ฝ่ายพวกมารก็กำลังแสดงการโจมตีอย่างโหดร้าย ฝ่ายพระพุทธองค์ทรงมีความสงบ ซึ่งแน่พระทัยว่าจะได้ตรัสรู้จึงมิได้ทรงสะดุ้งกลัว

ภาพเขียนดั้งเดิม ณ วัดดุสิตาราม จังหวัดธนบุรี วาดขึ้นในราวกลางพุทธศตวรรษที่ 24 และอยู่ในหมู่ภาพเขียนชั้นคลาสสิครุ่นเดียวกับวัดสุวรรณาราม จังหวัดธนบุรี และวัดสุทัศน์เทพ-วราราม จังหวัดพระนคร เหตุนั้นจึงเป็นการง่ายที่จะแยกภาพที่สวยงามดั้งเดิมเหล่านี้ออกจากภาพอื่นๆ ซึ่งได้รับการซ่อมแซมเพิ่มเติมในเวลาต่อมา ส่วนใหญ่ของภาพเทพชุมนุมซึ่งเขียนเรียงแถวไว้เป็นแนวซ้อนกัน ภาพขนาดใหญ่ปางมารผจญและภาพเรื่องไตรภูมิยังคงรักษาคุณลักษณ์อันงดงามดั้งเดิมของตนไว้ ในขณะที่ภาพอื่นๆ ซึ่งอยู่ระหว่างช่องหน้าต่างได้สูญเสียไปเพราะถูกซ่อมแซมเมื่อราว 30 ปีมาแล้ว
สำหรับภาพเรื่องไตรภูมิส่วนที่น่าสนใจที่สุดก็คือ เมืองนรก ณ ที่นี้ช่างเขียนได้ใช้ความนึกคิดส่วนตัวของเขาแสดงภาพการลงโทษทุกชนิดแก่ผู้กระทำบาป และผู้กระทำบาปส่วนมากก็จะหันหน้าไปยังพระมาลัยและกระทำการเคารพเพื่อจะขอให้หลุดพ้นจากทุกขเวทนา ภาพเรื่อง ไตรภูมินี้มีเขียนอยู่เกือบทุกวัดที่มีจิตรกรรมฝาผนัง แต่ก็ไม่มีแห่งใดเลยที่ภาพเมืองนรกจะได้รับการวาดขึ้นอย่างน่ากลัว และให้ความรู้มากเท่ากับที่วัดดุสิตาราม

จิตรกรรมฝาผนัง ในวัดสุวรรณาราม จังหวัดธนบุรี ได้วาดกันขึ้นในครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ 24 แต่ภาพเขียน ณ ที่นี้ก็คงจะได้เขียนขึ้นโดยช่างหลายคนในระยะต่างๆกัน ในบรรดาภาพเรื่องเวสสันดรชาดกตั้งแต่ผนังเบื้องหลังพระประธานไปจนสุดผนังด้านข้างนั้น มีอยู่หลายภาพที่สวยงามเป็นพิเศษ ภาพที่งามที่สุดภาพหนึ่งก็คือ ตอนที่พระเวสสันดรกำลังลาพระชนกชนนีของพระองค์ ภาพนี้แสดงความรู้สึกที่น่าสงสารมาก ทั้งสีที่ใช้ก็สวยสดด้วย ภาพขบวนเสด็จของพระนางศิริมหามายาทางด้านซ้ายมือของผนังด้านหน้าก็น่าชมเช่นเดียวกัน ขบวนเสด็จนี้ประกอบด้วยช้างหลายเชือกกำลังเดินอย่างได้จังหวะตามแนวที่คดโค้งไปมา บรรดาคนขี่อยู่หลังช้างต่างก็กำลังส่งเสียงคุยและรื่นเริงกันในท่าที่เป็นไปตามธรรมชาติอย่างที่สุด นับได้ว่าเป็นการศึกษาเกี่ยวกับชีวิตของไทยอย่างน่าพิศวง...

...ภาพเขียนในพระวิหารหลวงวัดสุทัศน์เทพวราราม ซึ่งวาดขึ้นราวตอนปลายพุทธศตวรรษที่ 24 นั้นแสดงถึงการกระทำอย่างใจกล้าที่สุดของช่างเขียนไทยในสมัยโบราณ และในขณะเดียวกันก็เป็นเครื่องหมายแสดงถึงความเคารพอย่างยิ่งของชาวไทย และของพระมหากษัตริย์ที่มีต่อองค์พระปฏิมาซึ่งหล่อขึ้น ณ กรุงสุโขทัยในราวกลางพุทธศตวรรษที่ 20 ด้วย ทั้งนี้ก็เพราะวิหารแห่งนี้ได้สร้างขึ้นเพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปองค์นี้โดยเฉพาะ ภายในวิหารอันกว้างใหญ่ประดับด้วยภาพเขียนเต็มไปหมด ตั้งแต่ราว 1 เมตรจากพื้นขึ้นไปจนถึงเพดานอันสูง เสาสี่เหลี่ยมใหญ่นั้นก็ประดับเต็มไปด้วยจิตรกรรมฝาผนังเช่นเดียวกัน จึงเท่ากับว่าวิหารแห่งนี้เป็นพิพิธภัณฑสถานของศิลปะไทยอย่างแท้จริง มีองค์ประกอบภาพมากมายที่เขียนเป็นเรื่องชาดกต่างๆ ตลอดจนภาพดินแดนในเทพนิยายซึ่งประกอบไปด้วยกินนรและกินนรีที่สวยงาม ภาพเมืองสวรรค์ ซึ่งประกอบไปด้วยสัตว์และต้นไม้นานาชนิด ภาพจากเรื่องรามเกียรติ์ เรื่องชีวิตประจำวันของคนธรรมดาสามัญ กล่าวคือ ภาพเขียนเหล่านี้แสดงโลกที่เราอยู่นี้ปะปนกับโลกที่ช่างได้คิดฝันขึ้น เราจะต้องกลอกตามองดูภาพเหล่านี้ไปรอบๆ และมองสูงขึ้นไปจนกระทั่งภาพทั้งหมดหายไปในบรรยากาศที่ค่อนข้างมืดและดูค่อนข้างลี้ลับ ภาพเขียนนางกินนรีที่น่ารักกำลังถูกกินนรเกี้ยวอยู่บนเสาด้านซ้ายต้นที่สองนั้นดูเหมือนจะวาดขึ้นด้วยชีวิตจิตใจมากกว่าวาดโดยพู่กัน ภาพทิวเขาลำเนาไม้ต่างๆก็เป็นแบบไทยอย่างแท้จริงคือ ประกอบไปด้วยสระซึ่งมีน้ำกำลังมีไอระเหยไปเป็นควันออกไปและมีดอกไม้งามๆ ไกลออกไปก็เป็นป่าทึบ สิ่งเหล่านี้เป็นภาพที่ช่างเขียนได้เห็นอยู่รอบตัวเขาทุกวี่ทุกวัน

บนเสาด้านซ้ายต้นแรก เราอาจจะชื่นชมกับภาพเขียนที่สวยงามแสดงถึงพิภพของพวกอสูร ณ ที่นี้เหล่าอสูรกำลังเตรียมจัดการเลี้ยงฉลอง ซึ่งมีการดื่มของมึนเมาอย่างมากมาย เพื่อย้อมน้ำใจให้เข้มแข็งและกล้าหาญ ก่อนที่จะยกทัพขึ้นไปรบกับพระอินทร์

ในภาพถัดจากหน้าต่างบานที่สองบนผนังด้านขวามือ เราจะเห็นมีภาพแสดงถึงการประสูติโอรสของพระโพธิสัตว์ ภาพแผ่นนี้เขียนขึ้นตามแบบเขียนอย่างง่ายๆตรงข้ามกับภาพแบบคลาสสิคอื่นๆ ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ภาพนี้ก็มีสิ่งที่ชักจูงจิตใจของเราอย่างที่ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้ ช่างได้บันทึกภาพซึ่งคงจะได้เกิดขึ้นในบ้านของเขาเองลงไว้อย่างง่ายๆ ดังนั้นจึงอาจนับได้ว่า ภาพนี้ก็คือการบันทึกเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ลงไว้นั่นเอง

จิตรกรรมฝาผนังที่วัดสุทัศน์เทพวรารามจะมีสีค่อนข้างคล้ำ แต่มีองค์ประกอบที่สดใสมากทำให้มีชีวิตขึ้นเป็นแห่งๆ องค์ประกอบภาพที่สดใสงดงามภาพหนึ่งก็คือภาพบนผนังซ้ายสุดทางด้านหน้า ณ ที่นี้ สีแดง สีน้ำตาล และสีเหลือง จะประกอบเป็นภาพที่มีชีวิตจิตใจอย่างน่าดู ตรงกันข้ามกับพื้นสีเขียว ในภาพแผ่นใหญ่นี้ก็จะมีลักษณะเช่นเดียวกับภาพแผ่นอื่นๆ คือ ในชั้นแรก เราจะสังเกตเห็นสถาปัตยกรรมซึ่งใช้เป็นฉากหลังอย่างสวยงาม ต่อมาก็คือความได้สัดส่วนของฝูงชน และท้ายที่สุดก็คือความชื่นชมในลักษณะอันละเมียดละไมของฝูงชนเหล่านี้ ทั้งนี้นับได้ว่า เป็นการค่อยๆยกระดับแห่งการชื่นชมในทางปัญญาอย่างแท้จริง...

...ภาพเขียนเรื่องรามเกียรติ์บนผนังที่วัดราชบูรณะ จังหวัดพิษณุโลก ได้วาดขึ้นในปลายพุทธศตวรรษที่ 24 และมีลักษณะคล้ายคลึงกันมากกับภาพเขียนเรื่องพิภพอสูรในพระวิหารวัดสุทัศน์ฯ ชั่วแต่ลักษณะของบรรดาอาคารบ้านเรือนเท่านั้นที่ดูจะแตกต่างไปจากจิตรกรรมที่กรุงเทพฯ องค์ประกอบของจิตรกรรมฝาผนังที่ดีที่สุด ณ วัดราชบูรณะก็คือ ภาพตอนทศกัณฐ์สั่งเมืองก่อนที่จะออกไปรบกับพระรามเป็นครั้งสุดท้าย รูปร่างของทศกัณฐ์ที่เต็มไปด้วยกำลังวังชานั้นจะดูเด่นอยู่ในที่ประชุมซึ่งดูเงียบเหงา เพราะทราบว่าหัวหน้าที่รักของตนกำลังจะจากไปอย่างไม่มีวันกลับ ส่วนอื่นๆของจิตรกรรมฝาผนังแห่งนี้ เป็นต้นว่า ภาพยักษ์กำลังขี่สัตว์ต่างๆที่น่าเกลียดก็ดูฝีมือค่อนข้างหยาบมาก และเมื่อเปรียบเทียบกับภาพตอนทศกัณฐ์กำลังสั่งเมืองแล้ว เราก็จำต้องคิดว่าหลายตอนของจิตรกรรมฝาผนัง ณ วัดราชบูรณะนี้คงจะวาดขึ้นโดยช่างที่ไม่มีความชำนาญ

จิตรกรรมฝาผนัง ณ วัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่ นับว่าเป็นภาพเขียนที่สำคัญมาก เพราะเหตุว่าภาพเขียน ณ ที่นี้ได้แสดงถึงความรู้สึกและการแสดงออกของศิลปะภาคเหนือ สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับจิตรกรรมฝาผนัง ณ วัดนี้ ซึ่งวาดขึ้นในครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ 24 ก็คือภาพที่เขียนเล่าเรื่องตามชีวิตจริง ดูคล้ายกับว่า ช่างทางภาคเหนือรู้สึกชื่นชมเป็นอันมากในการบันทึกเรื่องจริงและลักษณะซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นอยู่ของเขาเอง ณ ที่นี้จะขอกล่าวถึงจิตรกรรมฝาผนังที่แสดงภาพตอนเจ้าเงาะกำลังเข้าไปในพระราชวังของท้าวสามนต์ ในภาพนี้รูปบุคคลทุกคนจะได้รับการวาดขึ้นตามแบบจริงทั้งสิ้น หลายคนกำลังยั่วเย้าเจ้าเงาะอยู่ด้วยความสนุกสนานตามธรรมชาติ และบางพวกก็มองดูท้าวสามนต์และนางมณฑาว่าจะรู้สึกอย่างไร ในการที่นางรจนามาเลือกเอาเจ้าเงาะเป็นคู่ครอง สำหรับการวางกลุ่มภาพ การวาดเส้นและการแสดงอารมณ์นั้นนับได้ว่าจิตรกรรมฝาผนัง ณ วัดพระสิงห์เป็นภาพเขียนที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งที่ช่างไทยได้เคยทำมา

อีกภาพหนึ่งซึ่งแสดงตอนจ้าวข่ากำลังเดินทางจะเข้าวังของท้าวสามนต์ เพื่อมาให้เจ็ดธิดาเลือกคู่ก็เป็นการแสดงอย่างเฉียบแหลมเกี่ยวกับจ้าวข่าและบริวารที่รู้สึกลังเลใจ เนื่องในการเลือกคู่ครั้งนี้ ภาพนี้ผูกขึ้นอย่างดีและมีโครงการระบายสีอย่างเรื่อยๆเข้ากันได้ดีกับศักดิ์ศรีของบุคคลในภาพ
ที่วัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน ก็เช่นกัน มีจิตรกรรมฝาผนังซึ่งวาดขึ้นในราวต้นพุทธศตวรรษที่ 25 ภาพนี้เขียนขึ้นในแบบชีวิตตามความเป็นจริง ซึ่งดูทั้งน่ารักและน่าสนุก เป็นศิลปะซึ่งแสดงให้เห็นความสุขของชนชาติไทยที่อาศัยอยู่ในดินแดนที่เต็มไปด้วยความสุขสำราญ

ภาพกลุ่มหญิงสาวกำลังเดินไปตลาด แล้วก็มีบรรดาชายหนุ่มคะนองพากันตามเกี้ยว พาราสีนั้น เป็นภาพชีวิตประจำวันซึ่งช่างเขียนคงจะได้เคยเห็นมาหรืออาจจะได้มีส่วนร่วมด้วยก็ได้ ภาพนี้วาดขึ้นอย่างมีเสน่ห์น่ารัก เป็นลักษณะของศิลปะแบบเรียบๆง่ายๆ

ถ้าจะพูดถึงความสำคัญของเรื่องแล้ว ภาพเขียนเรื่องคัทธนะกุมารมีความสำคัญยิ่งกว่าภาพหญิงสาวไปจ่ายตลาดเป็นอันมาก แต่สำหรับในด้านศิลปะ ภาพคัทธนะกุมารก็มีความสำคัญน้อยกว่า ความจริงเวลาเรามองดูภาพเรื่องคัทธนะกุมารนี้ เราจะรู้สึกขัดนัยน์ตา เนื่องจากการวาดรูปไม่ได้สัดส่วน และแบบวาดก็ไม่เป็นทั้งแบบคลาสสิก หรือแบบตามชีวิตจริง หรือแบบสมัยแรกเริ่ม ในการวาดภาพเรื่องนี้ดูคล้ายกับว่า ช่างต้องการจะแสดงความสามารถอย่างดีที่สุดของเขา แต่ก็ไม่สำเร็จตามมุ่งหมาย ตรงกันข้าม จิตรกรรมฝาผนังที่แสดงเป็นสุภาพบุรุษกำลังเกี้ยวหญิงสาวอยู่อีกแห่งหนึ่งนั้น น่าชมเสียจริงๆทั้งการให้สีและการวาด

เท่าที่เราทราบกันในปัจจุบัน ไม่มีวัดใดทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยมีจิตรกรรมฝาผนัง เว้นแต่วัดหน้าพระธาตุ อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา ฝาผนังของพระอุโบสถวัดนี้ประดับด้วยภาพเรื่องชาดกต่างๆปนอยู่กับภาพชีวิตประจำวัน ภาพชีวิตประจำวันนี้จะมีปรากฏอยู่แทบทุกวัด และการที่ศิลปินได้วาดภาพเหล่านี้ขึ้น ก็ไม่ใช่เป็นการกระทำโดยบังเอิญ หากแต่เกิดจากความจำเป็นที่จะต้องแก้มิให้เกิดการวาดภาพซ้ำๆ ในเรื่องที่คล้ายคลึงกันตาม กฎเกณฑ์ ดังนั้น ภาพชีวิตประจำวันนี้จึงใช้เป็นเครื่องแบ่งแยกภาพที่จำต้องเขียนซ้ำๆกันได้อย่างดียิ่ง

เห็นได้ชัดว่า จิตรกรรมฝาผนังในวัดหน้าพระธาตุนี้ ได้ถูกซ่อมแซมเป็นจำนวนมากและซ่อมอย่างเลว เราไม่สามารถจะกล่าวได้อย่างแน่นอนว่าภาพนี้เขียนขึ้นเมื่อใด แต่ถ้าดูตามแบบของการเขียนแล้วก็คงจะทำขึ้นในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 24 เท่ากับเป็นแสงสว่างครั้งสุดท้ายของความงามในอดีต บนผนังด้านขวามือมีองค์ประกอบแสดงภาพสถาปัตยกรรมซึ่งดูคล้ายกับจิตรกรรมฝาผนังในสมัยรัตนโกสินทร์ แต่ 2 ใน 3 ของผนังด้านซ้ายมือจะมีภาพกลุ่มคนอยู่ในองค์ประกอบที่น่าประหลาด ซึ่งเป็นลักษณะแบบใหม่ องค์ประกอบแบบนี้เป็นรูปเส้นโค้งๆไปมาของหมู่ต้นไม้ ซึ่งแสดงว่าเป็นทิวเขาที่ตั้งซับซ้อนกัน คล้ายกับทิวทัศน์แบบจีน แต่ก็ไม่ได้เลียนแบบจีน หากแต่ได้รับการดลใจมาจากธรรมชาติจริงๆ กล่าวตามจริงแล้วบริเวณจังหวัดนครราชสีมาก็ล้อมรอบไปด้วยทิวเขาที่สวยงาม ศิลปินผู้ประดิษฐ์จิตรกรรมฝาผนัง ณ วัดหน้าพระธาตุนี้ก็คงจะเป็นชาวเมืองนี้จึงได้วาดทิวทัศน์บ้านเกิดเมืองนอนของตนไว้

ในบรรดาภาพที่แสดงถึงชีวิตคนธรรมดาสามัญนั้น ภาพที่ดีที่สุดก็คือ ภาพพวกเล่นชนไก่ เราอาจคิดได้ว่า ในขณะที่ช่างกำลังเขียนภาพนี้ ชาวบ้านก็คงจะกำลังดูการเล่นชนไก่อยู่นอกวัด ในขณะเดียวกันจิตรกรรมฝาผนังที่แสดงการแต่งกายพื้นเมืองของชาวบ้านแถบนั้นในศตวรรษที่แล้ว ภาพเกวียนเทียมด้วยวัว และลักษณะพื้นเมืองอื่นๆ ตลอดจนลักษณะของตัวเมืองนครราชสีมาเองเมื่อราว 90 ปีมาแล้วก็น่าสนใจเช่นเดียวกัน...

...หลังจากต้นพุทธศตวรรษที่ 25 แล้ว จิตรกรรมฝาผนังไทยซึ่งเขียนขึ้นตามแบบดั้งเดิมก็เสื่อมลง จะคัดลอกกันไปตามตัวอย่างภาพที่สวยงามที่มีอยู่แต่ก่อน โดยผู้คัดลอกไม่มีความเข้าใจในความงาม รูปที่เขียนซ้ำแบบกันต่อๆมาก็ไม่มีชีวิตจิตใจอีกต่อไป ในขณะเดียวกัน ศิลปะตะวันตกก็ได้แพร่เข้ามาในประเทศไทย และทุกคนก็ตื่นเต้นกับสิ่งแปลกๆนี้ เพราะเป็นของใหม่ เป็นธรรมดาอยู่เองที่ว่าช่างเขียนก็ย่อมจะได้รับอิทธิพลของศิลปะแบบตะวันตก ซึ่งค่อนข้างแข็งกระด้างและมีลักษณะคล้ายภาพถ่ายมากกว่าภาพเขียน ด้วยความปรารถนาที่จะฟื้นฟูจิตรกรรมของไทย และเพื่อจะดัดแปลงให้เป็นของทันสมัย ช่างของเราจึงพยายามที่จะเลียนแบบศิลปะตะวันตก โดยวาดภาพวัตถุทั้งหลายให้เป็นแบบสามมิติทั้งในแบบมีทัศนียวิสัย (perspective) และให้มีปริมาตร (volume) แต่เนื่องจากภาพเขียนของไทยเป็นแบบสองมิติ (คือแบนราบ) และมีทัศนียวิสัยเป็นแบบเส้นขนานกัน (ซึ่งมิใช่แบบวิทยาการ) เพราะฉะนั้นเมื่อช่างเขียนยอมรับเอาคติทางตะวันตกมาใช้ ภาพเขียนของเราก็เลยสูญเสียลักษณะพิเศษโดยเฉพาะของตนเองกลายเป็นศิลปะครึ่งชาติไป ณ ที่นี้เห็นควรกล่าวไว้ด้วยว่า ภาพเขียนแบบดั้งเดิมของไทยนั้นเหมาะดีสำหรับใช้เขียนจิตรกรรม ฝาผนัง แต่แบบของตะวันตกนั้นเหมาะที่จะใช้เป็นภาพเขียนบนผืนผ้าใบ

ตัดตอนมาจาก: ศิลป์ พีระศรี; ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงแปล. "บทความวิวัฒนาการแห่งจิตรกรรมฝาผนังของไทย." อักษรศิลป์. สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยศิลปากร 2537. หน้า 244-253.
: ตีพิมพ์ เผยแพร่ครั้งแรกในวารสารศิลปากร, 2502.

คำแนะนำนักเรียนช่างศิลป์ในวิจิตรศิลปศึกษา

ม.จ. อิทธิเทพสรรค์ กฤดากร

ในข้อความที่จะกล่าวต่อไปนี้ ข้าพเจ้าขอใช้คำว่า "วิจิตรศิลป" แทนคำว่า "ปราณีตศิลป" ซึ่งเป็นคำที่เขาแปลมาจากภาษาอังกฤษว่า "Fine Arts" คำอังกฤษนี้ เขาใช้กันมาตั้งแต่สมัย "วิกตอเรีย" และผู้ที่เริ่มใช้คงจะหมายถึง "ศิลปชั้นสูง" เมื่อก่อนสมัยนั้นขึ้นไปอีก เราเคยได้พบในปาฐากถาของ เซอร์ จอชูอา เรนอลด์ ว่าเขาเรียกศิลปประเภทนี้กันว่า "Polite Arts" ซึ่งแปลได้ว่า "สุภาพศิลป" หมายถึง ศิลปอันควรแก่สุภาพชนชั้นสูง ทำนองเดียวกันกับ "เสริมศิลป" Liberal Arts ซึ่งในสมัยโรมันเป็นศิลปที่คนชั้นสูง คือ "ผู้ที่มีอิสสระภาพ ไม่เป็นทาษของผู้ใด" เท่านั้น มีสิทธิ์ที่จะร่ำเรียนและประกอบเป็นอาชีพได้ ดังนี้ ความหมายในคำว่า "Fine Arts" และคำว่า "Polite Arts" ก็ไม่ผิดอะไรกันนัก และถึงแม้ว่า ลักษณะของศิลปอังกฤษในสมัยนั้น ออกจะสงวนผิวภายนอกและฝีมือมากกว่ารูปทรงก็จริงอยู่ แต่ในที่นี้ก็คงจะไม่ได้หมายถึง "ความปราณีต" ที่เอามาแปลกันเช่นนี้เลย นั่นเป็นแน่ เพราะในทางศิลปแล้ว เมื่อได้ความชำนาญแห่งฝีมือช่าง หลงไปในทางความปราณีต หมดจด เกลี้ยงเกลา และการบรรจงทำอย่างหยุมๆหยิมๆ เท่านั้นแล้ว หรือถือกันว่าคุณภาพเช่นนั้น เป็นสิ่งสำคัญที่สุดของการช่างกันเสียแล้ว ความคล่องแคล่วในการประกอบทำสิ่งที่มีสง่าท่าทางโต ที่เหมาะเจาะกันกับหน้าที่แห่งการงาน เหมาะกันกับความประสงค์และความจำเป็นก็ขาดไป ความเสื่อมโซมก็ตามติดๆกันมาทันที

ความงามของศิลปวัตถุอยู่ที่รูปทรง ที่ส่วนสัด ที่ท่าทาง และศิลปลักษณะอื่นๆอีก ไม่ใช่อยู่ที่ความปราณีตแห่งฝีมือ ซึ่งเป็นการตบตาคนอยู่บนผิวของวัตถุเท่านั้น จึงไม่สู้จะสำคัญอะไรนัก มหาประเทศอื่นๆเขาเรียกศิลปประเภทนี้กันว่า "Les Beaux Arts" บ้าง "Le Belle Arti" บ้าง "Die Sch?nen K?nste" บ้าง ซึ่งหมายถึงความงามอันวิจิตร ในส่วนรูปทรงอันมีสง่าท่าทางใหญ่โต อันเป็นลักษณะของ "ศิลปชั้นสูง" ที่ช่างศิลปอังกฤษเขาหมายถึงนั้น แต่หาใช่ "ความปราณีต" ที่เอามาหลงใช้แปลคำว่า "Fine" กันเอาตรงๆเช่นนี้เป็นแน่ ข้าพเจ้าจึงสมัครเรียกศิลปประเภทนี้ว่า "วิจิตรศิลป" ทำนองเดียวกันกับภาษาฝรั่งเศส อิตาเลีย และเยอรมัน ดังที่เคยใช้มาแล้ว และเชื่อแน่ว่าช่างศิลปแทบทุกคน คงจะปรองดองเห็นพ้องด้วย ทั้งในข้อความที่แถลงมานี้ และในคำที่ข้าพเจ้าสมัครใช้

ในประเทศนี้ ศิลป เป็นเรื่องที่เราทุกคนรู้สึกกันว่าเป็นสิ่งที่เราเคยได้ยินได้ฟังกันมาแล้วจนชินหู จะเป็นเรื่องอะไรก็ไม่ทราบละที่เกี่ยวด้วยความสวยความงาม แต่พอซักกันเข้าก็ยิ่งรัวยิ่งรางกันเข้าทุกที และที่จริงก็ไม่เป็นสิ่งที่หน้าประหลาดใจนัก เพราะตำหรับตำราอย่างใดก็ไม่ปรากฏว่าเคยมีกันไว้ ให้เป็นสิ่งที่จะยึดเอาเป็นหลักในการศึกษาวิชาประเภทนี้กันเสียเลย และนักเรียนช่างศิลปทุกคนก็คงเข้าใจกันไปว่า ความสามารถขีดเขียนด้วยความ "ปราณีต" นี้เอง เป็นความหมายในคำว่า "ปราณีตศิลป" คือ "ศิลป" เรานี่เอง! ความคิดเห็นเช่นนั้น เป็นการทำนายไม่ใช่ความรู้จริง

ในมหาประเทศทั้งหลายนั้น ถ้าจะกล่าวถึงทางแสวงหาความรู้อันเกี่ยวด้วยศิลปแล้ว เขามีกันมากมาย วัตถุตัวอย่างและสมุดสำหรับบำรุงปัญญาในทางนี้ เขาก็มีกันนับด้วยหมื่นด้วยพัน ฝ่ายในประเทศเรานี้จะหาสมุดดีๆเป็นภาษาไทยที่เกี่ยวด้วยศิลป สักเล่มเดียวก็ไม่มี ข้าพเจ้าจึงเห็นว่า เป็นหน้าที่ของพวกที่มีอาวุโสในอาชีพ ที่มีความรู้สึกรับผิดชอบอยู่ในน้ำใจ ว่าเรามีหน้าที่สำคัญอันจะต้องพยายามให้ความรู้อันถูกต้องจริงๆแก่คนในรุ่นหน้า

ความเข้าใจผิดของนักเรียน ปีที่ 1 และปีที่ 2 (ตามที่ข้าพเจ้าได้เคยเป็นมาเองแล้วนั้น)ดูอเนกประการในชั้นต้น ความสามารถในฝีมือและความชำนาญในการขีดเขียนนั้น ก็เป็นแต่เพียงมรรค หาใช้ "ศิลป" อันเป็นผลที่เรามุ่งประกอบทำกันนั้นไม่ วิชาเทฆนิคที่เขาสอนเราในโรงเรียน ซึ่งแม้แต่จะเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับศิลปทุกคนจะต้องเรียนรู้ไว้ก็จริง แต่ถ้าเราเอามาถือเป็นสิ่งสำคัญกันเกินไป ก็จะกลับกลายเป็นสิ่งที่ตัดความสามารถและคุณภาพทางศิลปของเราเสีย การเขียนรูปชีเปลือยก็ไม่ใช่ศิลปอย่างที่มหาชนส่วนมากมักจะหลงเข้าใจกัน การเลียนอย่างให้เหมือนธรรมชาติหรือสิ่งใดๆ อย่างเหมือนจริงไม่มีผิดเลยนั้น ก็ไม่ใช่ศิลปเสียแล้วเหมือนกัน ศิลปนั้นนัยว่าๆต้องเกี่ยวด้วยความงามเสมอก็ไม่จริง ที่ไม่เกี่ยวกับความงามเลยก็มี การที่เรามาศึกษากันที่โรงเรียนวิจิตรศิลปเช่นที่นี่ก็ดูเป็นทีว่า เพื่อให้ได้โอกาสรับคำสั่งสอนของอาจารย์ที่ดีๆและจะได้ทำการงานได้ตามเยี่ยงอย่างของเขานั้น ก็เหลวอีกนะแหละเป็นความหลงเข้าใจผิดของ "นักเดา" ของ "นักทำนาย" ที่เข้าใจกันเอาเองทั้งนั้น
เราไปเรียนที่โรงเรียนศิลปใหญ่ๆโตๆ ที่ลือชื่อว่าดีอย่างวิเศษกัน ก็เพื่อให้ได้โอกาศสมาคมกับช่างศิลปที่รุ่นราวคราวเดียวกันกับตัวเราเอง เพื่อให้คุ้นเคยกับการวิพากษ์อย่างถากถาง และแลกเปลี่ยนความเห็นกันตรงๆ คือให้ได้โต้เถียงกันในเรื่องการงานอย่างจังๆทีเดียว ปัญญาจึงจะแตก ที่เราจะไปโต้เถียงกันกับอาจารย์เช่นเดียวกันนั้นก็เห็นจะไม่ได้เรื่องเป็นแน่ และเมื่อเราคุ้นเคยกันกับการโต้ตอบเช่นนั้นแล้ว ถ้ามีใครเขาติเราอย่างไร ก็จะได้ไม่มัวไปเปลืองเวลาโกรธเขาให้เส้นประสาทเสียเปล่าๆ และจะได้รู้จักกลับเอาข้อความที่เขาติเรานั่นเองมาเป็นเครื่องเตือนสติเราให้สามารถใช้ประกอบความคิดเห็นให้เป็นประโยชน์ต่อไป

การแลกเปลี่ยนความเห็นกันเช่นนี้แหละ ที่ฝรั่งเขาเรียกกันว่า "Discussion" อันเป็นลักษณะของช่างศิลป และคนในสมัยประชาธิปตัย เพราะฉะนั้น เขาจึงถือกันว่า การให้โอกาศให้ช่างศิลปที่รุ่นราวคราวเดียวกัน ได้สมาคมแลกความเห็นกันนั้น เป็นการเจริญปัญญาได้ดียิ่งกว่าวิชา ซึ่งอาจารย์ใดๆจะสอนให้ลูกศิษย์ได้

การที่ได้โอกาศพบอาจารย์หลายๆคน ที่แสดงความเห็นต่างๆกันนั้นก็ไม่ใช่ของเลว เราจะเป็นช่างศิลปที่ดีได้ ก็โดยได้พบได้เห็นได้ยินได้ฟัง ความรู้ความคิดความเห็นจากแง่ต่างๆก่อนที่เราจะลงความเห็นของเราเอง อาจารย์ก็เป็นประโยชน์แก่เราได้ โดยช่วยชักจูงแนะนำเราในทางเหล่านี้ แต่การศึกษาที่ดีจริงแล้ว จะต้องหมายถึงการฝึกนักเรียนให้เป็นผู้ไม่ต้องอาศัยอาจารย์ และลงสุดท้าย เมื่อได้รับปริญญาแล้ว ก็ต้องสามารถเป็นอาจารย์ควมคุมแนะนำตนเองไปได้ โดยไม่ต้องอาศัยผู้ใดเลย

ที่จริง "วิจิตรศิลป" เป็นวิชาที่เราสอนกันไม่ได้และไม่ควรจะสอน แต่วิชาบางอย่างทางทฤษฎีและเทฆนิคอันเกี่ยวด้วยวิจิตรศิลปเป็นวิชาที่สอนได้ และควรจะสอน
วิชาที่สอนไม่ได้และไม่ควรสอนนั้น คือ 1. การประลองหาความคิด Idea และการคิดเห็นเป็นรูป Imagination ในการประกอบการทำศิลปวัตถุ 2. การประลองหาวิธีสำแดงความรู้สึกในดวงจิตต์ด้วยวัตถุ และวิธีทำที่เหมาะเจาะกันกับอุปนิสสัยพิเศษฉะเพาะตัวบุคคลที่เป็นช่าง Mean of Expression

การประดิษฐ์หรือประกอบทำสิ่งทั้งหลาย ย่อมได้กำเนิดจากความคิด อาจารย์ที่พยายามเสี้ยมสอนศิษย์ให้ประกอบความคิดให้เหมือนหรือให้ตรงกันกับความคิดของตนเสมอ และคอยดัดคอยฝืนฝีมือของศิษย์ให้มาเหมือนฝีมือของตนเสมอไปแล้ว เราไม่ควรนับว่าอาจารย์ผู้นั้น มีความหวังดีและซื่อตรงต่อศิษย์เสียเลย เพราะความคิดและฝีมือของมนุษย์นั้นย่อมต่างกันจะให้เหมือนกันไปหมดนั้นเป็นไปไม่ได้… …อาจารย์ที่ดีจริงๆแล้ว ควรจะแนะนำศิษย์ให้ประกอบความคิด และประลองหาวิธีสำแดงฝีมือของตนเองไปในทางที่สะดวกที่สุด ถนัดมือที่สุด และเหมาะกันกับอุปนิสสัยของเขาที่สุด การแนะนำนั้นจะต้องพลิกแพลงให้เหมาะกันกับกาล กับความสามารถและน้ำใจของศิษย์ ไม่เร็วเกินไป ไม่ช้าเกินไป ไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป ให้โอกาศนักเรียนใช้ความคิด ให้ต้องนึกต้องค้นคว้าหาเอาเอง พลิกแพลงเอาเอง ให้รู้จักประกอบความคิดและประลองฝีมือ โดยลำพังตนเองในทางที่ถูกต้อง

วิชาที่สอนได้และควรจะสอนนั้น คือ 1. การฝึกหัดให้รู้จักใช้ตา เพื่อให้สังเกตได้ด้วยความไหวพริบ ให้รู้จักบังคับมือให้กระทำการงานได้คล่องแคล่ว และหัดให้หูมีความรู้สึกสดับฟังได้โดยชัดเจนแล้วเข้าใจ 2. การสอนให้รู้จักใช้และรักษาเครื่องมือไว้ให้สามารถ การสอนให้รู้จักวัตถุเครื่องใช้ต่างๆ และวิธีประกอบทำการงานและธุรการแห่งอาชีพของช่างศิลปหัตถกรรมในทาง เทฆนิค เพื่อให้รู้เท่าถึงงานจะได้รู้จักพลิกแพลงแสดงความคิดได้โดยสะดวก 3. การสอนให้รอบรู้หลักวิชาและศิลปลักษณะต่างๆ ในทางทฤษฎีซึ่งเขานิยมกันว่าถูกต้องตามหลักวิจิตรศาสตร์ aesthetic เพื่อให้สามารถเลือกเฟ้นประกอบการงานได้ในทางที่ถูกต้องและดีเลิศ และถ้าสามารถจะทำได้ก็จะได้คิดเพิ่มพูนนำพาศิลปวิชาช่างให้ก้าวหน้าต่อไปอีก

วิชาเหล่านี้เป็นศิลปวิธีที่สามารถจะสอนกันได้ทั้งนั้น แต่โดยลำพังสิ่งที่สอนกันได้นี้ การประกอบศิลปวัตถุจะเป็นผลสำเร็จดีจริงหาได้ไม่ นักเรียนยังจะต้องประลองให้บังเกิดความสามารถประกอบความคิด การคิดเห็นเป็นรูปขึ้นให้ได้โดยลำพังตนเอง และให้รู้จักวิธีแสดงฝีมือและความรู้สึกในน้ำใจ ให้เหมาะกันกับอุปนิสสัยของตนเอง ในทางที่ถนัดและสะดวกที่สุด ซึ่งช่างศิลปทุกคนจะต้องประลองค้นหากันเอาเอง จึงจะสามารถทำให้บังเกิดความขลัง Elan vital ให้ประกอบ ศิลปนฤมิต Creative Art กันขึ้นได้ดังนี้ การสอนวิจิตรศิลปที่ถูกต้องดีจริงๆแล้ว จะต้องมีโครงการที่รวมวิธีศึกษาทั้งสองนี้ตามส่วนที่สมควรกัน

เมื่อช่างศิลปเขาประกอบทำศิลปวัตถุ สิ่งแรกที่เขาทำนั้น เขาต้องเริ่มด้วยความคิด คือ การคิดเห็นเป็นรูปวัตถุที่เขาจะทำขึ้น อยู่ในสมองของเขาเสียชั้นหนึ่งก่อน ความคิดที่ว่านี้ไม่หมายถึงเรื่องที่เขาจะเล่าอย่างเรื่องราวในสมุดหรือเรื่องที่ช่างเขียนเขาจะต้องเขียนเป็นภาพขึ้นประดับโบสถ์หรือระเบียง หรือเป็นรูปประกอบเนื้อเรื่องในสมุด อันไม่ใช่ "ความคิด" ของช่างศิลปที่เราหมายถึงในที่นี้ เป็นความคิดในเรื่องของนักนิพนธ์

ความคิดที่เราหมายถึงในที่นี้ คือ มูลลักษณะ Motive ที่เขาใช้ประกอบทำเป็นศิลปวัตถุขึ้น ซึ่งเป็นรูปทรง เป็นสี เป็นปึก เป็นแผ่น เป็นส่วนต่างๆ การแสดงความคิดด้วยมูลลักษณะเหล่านี้ เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการประกอบศิลปวัตถุ และการรอบรู้ในศิลปวิธีต่างๆ ที่สามารถจะเรียนหรือสอนกันได้นี้ ก็เป็นประโยชน์แต่เพียงให้ช่างศิลปสามารถแสดงความคิดด้วยมูลลักษณะเหล่านี้ และให้สามารถสำแดงความรู้สึก อันมีอยู่ในดวงจิตต์ของเขาออกมาเป็นวัตถุให้ผู้ที่ดูหรือฟังแล้วเข้าใจสังเกตเห็นได้โดยชัดเจน อันไม่ใช่สิ่งที่ทำให้สำเร็จได้ง่ายๆนัก

ภาวนามัยปัญญา Inspiration ที่นำช่างในอาการที่ประกอบความคิดนั้น ช่างไม่สามารถจะบังคับให้บังเกิดขึ้นเมื่อไรก็ได้ตามใจเขา คนบางคนกล่าวว่าเขาเป็นช่างศิลปเขาจะทำงานของเขายังไม่ได้ จนกว่าจะบังเกิดภาวนามัยปัญญาขึ้นมาเอง ซึ่งข้าพเจ้าเห็นว่า ถ้าเขาจะขืนรอปัญญากันเรื่อยไปก็ตายเปล่า ปัญญาจะเกิดขึ้นมาเองนั้นไม่ได้เลย ภาวนามัยปัญญาจะเกิดได้ก็แต่ผู้ที่หมั่นคิด หมั่นประลอง หมั่นทำ ไม่หยุด ไม่หย่อน และปัญญานั้นจะไม่บังเกิดแก่ผู้ที่เกียจคร้าน ที่ได้แต่นอนรอคอยให้เกิดปัญญาขึ้นมาเอง… …ภาวนามัยปัญญาที่ว่ามานี้ เป็นผลมาจากความรู้ความชำนาญและจากอุปนิสสัยซึ่งเป็นสิ่งที่ริเริ่มให้ช่างสามารถประกอบศิลปวัตถุขึ้นได้ แต่ช่างศิลปจะบังคับให้บังเกิดปัญญาขึ้นมาเองนั้น เขาทำไม่ได้อย่างใจดอก

เมื่อเด็กเอาดินสอหรือ "เครยอง" มาขีดเขียนอะไรเล่น เช่นเขียนเป็นว่าวจุฬา เป็นต้น นั่นเป็นอาการประกอบความคิดของเด็กทีเดียว พอคิดอะไรขึ้นมา เด็กก็มักจะพยายามขีดเขียนเป็นอาการประกอบความคิดสนับสนุนไปพร้อมกันกับสิ่งที่นึกอยู่ในน้ำใจ โดยไม่กระดากหรืออับอายใครอย่างใดเลย แต่เมื่อถึงเวลาเปลี่ยนอายุ เมื่อเด็กกลายเป็นหนุ่มเป็นสาวกันขึ้น ชักกระดากกันขึ้นมาแล้ว และเกิดมีความอายด้วยอาการต่างๆนาๆจึงพากันทิ้งอาการแสดงความรู้สึกในน้ำใจอย่างเปิดเผยที่ได้เคยเป็นมา โดยฝีมือในทางขีดเขียนเป็นรูปเป็นภาพ และโดยมากมักจะหันไปใช้เพลงยาว เป็นวิธีแสดงความคิดที่พลุ่งอยู่ในน้ำใจ ซึ่งกลายเป็นความลับกันไปแล้ว ลักษณะ จิตตศาสตรที่ว่ามานี้เป็นความจริง และก็คงจะสังเกตเห็นได้กันบ้างแล้วทุกคน ผู้ที่เป็นช่างศิลปแทบทุกคนก็คงจะจำได้เหมือนกันว่าสิ่งที่เราเคยขีดเขียนเล่นกัน เมื่อเรายังเป็นเด็กๆกันอยู่นั้น มักจะเวียนมาเป็นปัจจัยให้เราประกอบเป็นความคิดกันบ่อยๆ และเราก็มักจะปรับปรุงแต่งเติมความคิดเหล่านั้นกันอยู่เสมอๆตลอดมาเป็นลำดับ ผลของการประกอบความคิดเห็นเช่นที่ว่ามานี้ได้ปรากฏเป็นภาพ เป็นรูปหุ่น และศิลปวัตถุสำคัญๆกันไปแล้ว เมื่อช่างศิลปเติบโตขึ้น ก็มีอยู่เป็นอันมากการประลองฝีมือของช่างศิลปที่เราว่าสอนกันไม่ได้นั้น ก็คล้ายกันกับการประกอบความคิดไปพร้อมๆกันกับมืออย่างอาการกระทำของเด็กๆดังที่ว่ามาแล้ว จึงเป็นทางที่ช่างศิลปเขาประกอบความคิดและความชำนาญให้ "ปัญญาแตกได้" โดยไม่ต้องมีผู้ใดเสี้ยมสอนให้เลยและที่จริงก็ไม่มีผู้ใดสามารถสอนให้เขาได้ เพราะอาการเช่นนั้นมันต้องเป็นการประลองทำด้วยความคิดและฝีมือ อันบังเกิดจากน้ำใจและดวงจิตต์ โดยฉับพลันออกมาเอง

เมื่อเทียบความตามที่ว่ามานี้แล้ว การสอนวิจิตรศิลปนั้นเราสอนกันได้ก็แต่ในทางทฤษฎีและวิชาเทฆนิคต่างๆ ส่วนการประกอบความคิดนั้น ถึงแม้ว่าอาจารย์จะพยายามอธิบายให้ศิษย์สักเท่าไรก็ไม่เป็นผลดี จะกลับกลายเป็นโทษ และตัดความสามารถของศิษย์เสียด้วยซ้ำ ศิษย์อาจเข้าใจผิดได้ต่างๆนาๆ เพราะในชั้นต้นก็ยังไม่คุ้นเคยกันกับภาษาของช่างศิลป อันประกอบมูลด้วยลักษณะต่างๆเป็นเส้น เป็นรูปทรง เป็นสี เป็นปึก เป็นแผ่นคล้ายๆ กันกับภาพสมมุติ หรือเครื่องหมายสมมุติ สิ่งที่อาจารย์พอจะทำได้ก็มีแต่เพียงแนะนำให้นักเรียนเข้าใจทีละเล็กละน้อยไปก่อน เมื่อคุ้นเคยกันเข้าบ้างแล้ว จึงค่อยเพิ่มวิชาให้ยากขึ้นทวีขึ้นเป็นลำดับกันไป การซักไซ้ไต่ถามฟังความเห็น และสังเกตวิธีที่อาจารย์เขาประกอบความคิดกันนั้น เป็นวิธีบำรุงปัญญาความรู้ได้ดีที่สุด โอกาศให้ได้พบปะสนทนากันกับผู้ที่ชำนาญ และคุ้นเคยกับการงานแห่งอาชีพมากกว่าตัวเราเองทุกๆวัน และโอกาศให้ได้พบปะสนทนากันกับช่างศิลป และช่างหัตถกรรมทุกประเภทงาน ก็เป็นวิธีประกอบปัญญาให้แก่นักเรียนช่างศิลปได้ไม่น้อยไปกว่าสมุดและตำราที่เราไม่มีไว้สำหรับอ่านและพลิกดู

ศิลป ศาสนา และมหาชน
ศิลปนั้น ก็ไม่ผิดอะไรกันกับพระศาสนา ศิลปและศาสนาจะเจริญขึ้นในประเทศใดได้ ก็โดยความเลื่อมใสของมหาชน ประเทศใดไม่มีศิลป ศีลธรรมของคนในประเทศนั้น ก็ไม่ผิดอะไรกันกับคนในประเทศที่ไม่มีศาสนา จะนับว่าประเทศนั้นมีอารยธรรมอันบริบูรณ์นั้นไม่ได้

ศิลปวัตถุนั้นเป็นสิ่งที่ประกอบทำขึ้นด้วยการพินิจพิจารณาสังเกตเลือกเฟ้น และจดจำทำขึ้นไว้ด้วยความสุขุม ให้เป็นวัตถุอันถาวร ไม่วอกแวกฟางฝ้าเหมือนตาเห็น และต้องเป็นสิ่งที่ดีพอที่จะจูงตาและจับใจผู้ดู ชวนให้พินิจพิศดู แล้วทำให้บังเกิดรสซึมซาบเข้าไปในดวงจิตต์ ให้เกิดความชื่นบานสำราญใจหรือเศร้าโศก หรือเลื่อมใสได้ประดุจหัวข้อสำคัญแห่งพระศาสนาอันสามารถจะยึดน้ำใจมนุษย์ไว้ได้

ในขณะนี้ วิจิตรศิลป หรือคณะช่างศิลปหัตถกรรมแห่งประเทศเรามีวงแคบที่สุด ถ้าเอาวงการของเราไปเปรียบกันกับคณะช่างศิลปแห่งมหาประเทศที่รุ่งเรืองทางคุณภาพเช่นนี้แล้ว ก็เท่ากันกับเอาน้ำหยดเดียวไปเปรียบกันกับมหาสมุทร ถึงกระนั้น คนในประเทศเราก็ยังไม่วายคุยโตถึงการช่างไทย คือ "วิจิตรศิลปสยาม" ซึ่งเรารู้สึกกันอยู่ทุกคนว่าเป็นส่วนสำคัญของวัฒนธรรมของเราที่ยังเหลืออยู่ และที่ยังจะพอคุยอวดเขาได้บ้าง แต่ตัวอย่างที่เราชอบอวดชาวต่างประเทศเขานั้น โดยมากก็หาใช่ฝีมือของคนสมัยนี้ เป็นฝีมือของคนในยุคก่อนๆเขา และคนในสมัยเรานี้ก็ไม่มี โอกาศ หรือความสามารถในทางศิลปพอที่จะทำได้เท่าเทียมกันกับงานที่เขาได้ทำขึ้นไว้

ถึงแม้ว่า คนในสมัยนี้จะไม่เห็นความสำคัญของวิจิตรศิลปก็ดี เราไม่ยอมเชื่อเสียเลยว่า วิจิตรศิลปของเราจะซาโซมลงจนศูนย์หายไปเสียสิ้น ถึงแม้ว่าอุปสรรคอันร้ายกาจจะบังเกิดขึ้น หรือผู้ใดที่ใจชั่วจะทำลายศิลปวัตถุทั้งหลายให้หมดสิ้นทั่วทั้งประเทศ แต่เมื่อความปรารถนาของมหาชนหันกลับมาหาสิ่งที่ให้ความสุขแก่ดวงจิตต์และน้ำใจ มากกว่าสิ่งที่กำเนิดความสุขกายและโภคสมบัติ เมื่อความสามารถของช่างหัตถกรรมเข้มแข็งขึ้นมา และเมื่อปัญญาและความคิดของช่างศิลปปราชญ์เปรื่องพร้อมเพรียงกันขึ้นมาใหม่อีกคราวหนึ่งแล้ว "วิจิตรศิลปสยาม" ก็จะฟื้นขึ้นมาใหม่ด้วยเหมือนกัน แต่แน่ละศิลปใหม่ของเรานั้น อาจไม่มีเชื้อศิลปสยามเดิมติดเสียเลย แต่ก็จำเป็นจะต้องมีลักษณะ หรือเชื้อศิลปอย่างใดอย่างหนึ่งมาเจือจานเป็นชะนวนที่ต่อเชื่อมเป็นพืชพันธุ์ให้บังเกิดมีศิลปขึ้นในประเทศนี้อีก ถ้าศิลปสยามของปู่ย่าตายายของเราจะสาปศูนย์ไปเสียทีเดียว ดังศิลปแห่งชนชาวอเมริกาเดิม อันเป็นสิ่งที่น่าเสียดายเป็นนักหนา ศิลปสยามอันจะบังเกิดมีขึ้นมาใหม่อีกนั้น ก็อาจมีลักษณะและทำนองอย่างศิลปแห่งยุโรป ดังที่ได้เป็นมาแล้วในอเมริกาก็อาจเป็นได้ แต่นั่นแหละ ใครบ้างจะไม่เสียดายวิจิตรศิลปอันมีลักษณะพิเศษของประเทศเราที่ได้เคยใช้กันมา ถึงแม้ว่าเราจะผูกพันเสียดายในศิลปลักษณะเดิมของเราสักเท่าไร เราก็ไม่หมายจะหันกลับไปอยู่ตึกอย่างกุฎีของพระสงฆ์ที่วัดโพธิ์ หรืออยู่เรือนชะนิดที่ใช้ใต้ถุนเป็นกะโถนกันต่อไปอีก ศิลปของเราจะต้องเป็นศิลปที่ประกอบขึ้นด้วยวิชาเทฆนิคที่ทันสมัย แต่มีลักษณะเป็นไทยแท้ๆคือไม่เหมือนศิลปลักษณะแห่งประเทศใดๆ เท่าศิลปลักษณะไทยที่เรานิยมและได้เคยใช้กันมาแล้ว

ใครเลยจะทำนายได้ว่า ภายหน้าศิลปในประเทศเราจะขยายตัวไปอย่างไร? ที่พอจะทราบได้ก็คือ ลักษณะของศิลปในอนาคตนั้นจะคล้อยตามวัฒนธรรม และความนิยมของมหาชนซึ่งจะเป็นผู้นำไป และไม่ใช่ตามความนิยมของช่างศิลปเท่านั้น นั่นเป็นของแน่ทีเดียว

ในชั้นต้น อย่าไปหมายถึงวิจิตรศิลปกันนักเลย เราควรจะหมายถึงแต่เพียงคุณภาพของช่างหัตถกรรมพื้นเมือง อันจำเป็นจะต้องปรับให้มีไว้เป็นมาตรฐานอันสมควรเสียก่อน เมื่องานขั้นนี้ดีขึ้นเป็นลำดับกันไปจนถึงมาตรฐานอันดีเลิศแล้ว วิจิตรศิลปก็จะมีกำเนิดตามหัตถกรรมขึ้นมาเองจากพวกช่างหัตถกรรมนั่นเอง ดังที่ได้เป็นมาแล้วในสมัยก่อนๆ การที่เริ่มปรับปรุงด้วยฝึกช่างศิลปก่อนช่างหัตถกรรมนั้น เป็นความคิดที่ได้กระทำกันมาในประเทศเราในอาชีพทั้งหลายแทบทุกประเภทคือ หัดคนชะนิดชี้นิ้วก่อนคนที่จะลงมือทำงาน ผลสุดท้ายก็ไม่มีใครอยากเป็นคนที่จะลงมือทำงาน นั่นก็เป็นธรรมดาของมนุษย์ แต่ผลร้ายไปตกอยู่ที่โภคชีพของประเทศที่เราจะไม่มีช่างหัตถกรรมที่มีฝีมือกันกับเขาได้ และจะต้องใช้ช่างต่างประเทศในทางหัตถกรรมกันตลอดไป ศิลปของเราก็จะไม่มีลักษณะอันเป็นไทยแท้ๆกันได้เลย

วิจิตรศิลปในประเทศใดจะรุ่งเรืองขึ้นจากโรงเรียนวิจิตรศิลปและโรงเรียนช่างหัตถกรรมเท่านั้นไม่ได้เลย นอกจากจะมีการอบรมมหาชนให้รู้จักเลื่อมใสในศิลป สนับสนุนไปด้วยกัน โรงเรียนเหล่านั้นย่อมขาดสัมพันธ์อันจำเป็นสำหรับต่อเชื่อมระหว่างมหาชน คณะช่างหัตถกรรมและ โรงเรียนศิลป ความนิยมเลื่อมใสในศิลปและวัฒนธรรมของประเทศเราจะเจริญอย่างไรได้?

วิจิตรศิลปน้อย (Minor Fine Arts) เช่น วรรณคดี และดนตรีนั้น อาจรุ่งเรืองขึ้นได้ไม่น้อยในหมู่ผู้วิเศษ (Genius) ที่ฉลาดเฉลียวทันๆกันสักสองสามคนเท่านั้น โดยไม่ต้องอาศัยความนิยมของมหาชนสนับสนุนไปด้วยเลย เช่น ในสมัยของเพทราค หรือรับเลย์ หรือในรัชกาลที่ 2 เป็นต้น ส่วนวิจิตรศิลปใหญ่ (Major Fine Arts) คือ ช่างปั้นสลัก จิตรกรรม และสถาปัตยกรรม ซึ่งเป็นงานชนิดนุ่มหนืด อันประกอบขึ้นเป็นรูป เป็นทรง เป็นปึก เป็นแผ่น ที่จำจะต้องอาศัยความสังเกตพินิจพิศดูด้วยนัยน์ตา อันได้เคยรับความฝึกฝนจนชำนาญมาบ้างแล้ว จึงจะดูแล้วรู้จักเห็นได้เข้าใจได้ และโดยที่วัตถุเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ตำตามนุษย์อยู่ ถึงแม้แต่จะไม่อยากดูก็ต้องเห็นเช่นนั้นแล้ว จึงเป็นการจำเป็นที่วิจิตรศิลปประเภทนี้ จะต้องอาศัยมหาชนที่ได้รับความอบรมในทางศิลป รู้จักดู แล้วแลเห็นได้ เข้าใจได้กับเขาจริงๆ

วิจิตรศิลปศึกษาอย่างที่เราหมายถึงนั้น ต้องเป็นการงานที่สามารถนำวัฒนธรรมและ อุตสาหกรรมของประเทศทุกชะนิด ไปสู่ความเจริญเท่าเทียมเสมอหน้ากันกับช่างต่างประเทศเขา และถ้าจะทำได้ ก็จะต้องหมายให้คุณภาพและความสามารถเยี่ยมขึ้นไปกว่าเขาเสียอีก เพราะฉะนั้นเราจึงจำต้องเน้นว่า ผู้ที่จะเป็นช่างศิลปกับเขาแล้ว จึงจำเป็นจะต้องเลือกสรรค์เอาฉะเพาะแต่ผู้ที่อุดมด้วยการศึกษาอย่างบริบูรณ์ และจะต้องเป็นผู้ที่มีอุปนิสสัยเป็นช่างศิลปจริงๆที่แสดงให้เห็นได้ชัดเจนแล้ว การสมัครเข้ามาเป็นช่างศิลปนั้นเอง ก็ควรจะเป็นการกระทำด้วยความเลื่อมใส อันจะอดกลั้นไว้ไม่ได้แล้ว อย่างพระสงฆ์ที่ท่านสละได้หมดสำหรับพระศาสนา ช่างศิลปของเราก็จะต้องสละได้หมดสำหรับการนฤมิตคิดทำของ และเพื่อศิลปเท่านั้น ไม่สนใจใยดีในลาภยศอำนาจวาสนาหรือการบ้านการเมืองอย่างไรเลย เราจะยังชีวิตอยู่เพื่อศิลป ซึ่งเราถือว่าเป็นศาสนาของเรา เช่นนั้นแล้ว ความรุ่งเรืองในทางศิลปแห่งประเทศนี้ ก็คงไม่ไกลไปนัก แต่ก็จะไม่เป็นผลสำเร็จได้เลย ถ้ามหาชนไม่เข้าใจจุดหมายของพวกเราดังว่ามานี้

ในการประกอบอาชีพของช่างศิลปต่อไปภายหน้า ขอให้นักเรียนและช่างศิลปทุกๆคนตรึกตรองด้วยความเพ่งเล็งไปให้ไกลสักหน่อยหนึ่ง และคิดดูทางได้ทางเสียแห่ง
อาชีพของท่านว่า

(1) ในการประกอบทำศิลปวัตถุต่างๆขึ้นนั้น ถ้าเราจะคิดทำของให้ใช้ได้เหมาะเจาะจริงๆแล้ว เป็นการจำเป็นที่สุดที่เราจะต้องรู้จักตลาดและความประสงค์ของผู้ซื้อ ตลาดสินค้าของเรามีแล้วหรือไม่? อยู่ที่ไหนกัน? ของที่เราจะประดิษฐ์คิดทำขึ้นนั้น เราจะทำขึ้นทำไมกัน? เราจะเรียนศิลปวิชาเหล่านี้ไปเพื่อทำรูปหุ่นไปตั้งเกะกะอยู่ตามมุมห้อง และเขียนรูปเข้ากรอบไว้ไปเที่ยวติดตามหอแสดงในพิพิธภัณฑ์อย่างที่ฝรั่งเรียกกันว่า "อาคาเดมี" เช่นนั้นหรือ? ถ้าเช่นนั้นแล้วโรงเรียนวิจิตรศิลปของเราก็มีจุดหมายอย่างโรงเรียนวิจิตรศิลปของมหาประเทศเขาอย่างเต็มที่ คือ ไม่หมายประกอบประโยชน์อย่างใด นอกจากการเรียนวิจิตรศิลปไว้สอนนักเรียนช่างศิลปให้ไปสอนวิจิตรศิลปให้นักเรียนช่างศิลปสอนวิจิตรศิลปให้นักเรียนช่างศิลป ฯลฯ กันต่อๆไป และเรียวลงไปทุกที เหมือนตัวเลข 0,999,999 ไม่รู้จักเต็มหน่วย เพราะวิชาที่เราเรียนไปนั้น จะไม่มีโอกาศประกอบเป็นศิลปนฤมิตอันเป็นประโยชน์แห่งชีวิตเราจริงๆเลย ศิลป "อาคาเดมิก" นั้นดีสำหรับประเทศที่รุ่งเรืองทางโภคชีพ และอุตสาหกรรมแล้ว แต่ประเทศเราต้องการศิลปนฤมิต ศิลปอุตสาหกรรมและตลาด ซึ่งเรามีแล้วหรือไม่?

(2) เราเรียนเป็นช่างศิลป อันหมายถึงผู้ใช้ความคิดทำและออกแบบอย่าง แบบอย่างที่เราประกอบขึ้นนั้น ช่างหัตถกรรมเขามีหน้าที่เป็นผู้ประกอบทำขึ้นด้วยความชำนาญ ช่างหัตถกรรมที่เราจะต้องร่วมมือด้วยนั้น อยู่ที่ไหน? มีประเภทใดบ้าง? เราควรจะรู้จักความสามารถของเขาว่าเขาเป็นไทย หรือเป็นช่างต่างประเทศ? ถ้าเป็นช่างต่างประเทศ ช่างเหล่านั้นเขาเข้าใจศิลปลักษณะสยามได้ดีหรือไม่? ถ้าไม่เข้าใจ เราควรจะผูกแบบโดยอนุโลมตามเป็นทำนองของช่างต่างประเทศพวกนั้นหรือ? เราจะทำเช่นนั้นได้ดีจริงๆหรือ? หรือเราจะควรทำศิลปวัตถุพันทางคือ ออกแบบเป็นไทยแต่ใช้ฝีมือเป็นเทศกันเรื่อยไป? ถ้าเราจะใช้ช่างหัตถกรรมที่เป็นไทย ช่างพวกนั้นเขาประกอบการศึกษาและหัดฝีมือทางปฏิบัติงานกันที่ไหน? อย่างไร? จึงจะมีฝีมือทั้งคุณภาพและสามารถพอที่จะทำการงานตามแบบ และตัวอย่างของเราได้ดีจริงๆ

(3) เมื่อเราสำเร็จการศึกษาในทางทฤษฎีจากโรงเรียนแล้ว เราจะไปเรียนปฏิบัติงานกันที่ไหน? เราจะไปประกอบอาชีพกันอย่างไร? ในสำนักงานโรงงาน หรือสถานใด? จะยัดเยียดกันเข้าไปทำราชการกันเรื่อยไปหรือ? หรือจะหาญออกไปลองสู้ช่างต่างประเทศที่ยึดตลาดกันไว้หมดแล้ว? ช่างต่างประเทศพวกนั้น หรือเขาจะยอมสอนวิธีปฏิบัติงานให้แก่เรา? เมื่อเขารู้กันอยู่แล้วว่าเราจะไปคิดแย่งงานมาจากเขา นอกจากช่างต่างประเทศพวกนี้แล้ว นักเรียนช่างยังต้องสู้อาจารย์ที่เคยสอนเรามา สู้โรงเรียนที่เราได้เคยเรียนวิชากันมา เหมือนเด็กที่ต้องคิดสู้บิดามารดาของตนเอง

ว่าถึงช่างศิลปโดยฉะเพาะแล้ว ปัญหาที่เป็นหรือตายกันจริงๆนั้น อยู่ที่ตลาด อยู่ที่การฝึกสอนช่างหัตถกรรมพื้นเมือง และอยู่ที่สำนักงานหรือโรงงาน หรือคณะหัตถกรรมและพาณิชยการที่จะจัดการควบคุมกันประกอบอาชีพ และเพื่อชิงเอาอิสสระภาพในทางหัตถกรรมคืนมาให้ช่างไทย ปัญหาเหล่านี้ข้าพเจ้าก็ได้เคยคิดแก้ไว้บ้างแล้ว แต่จำจะต้องขอให้ท่านผู้ที่มีน้ำใจเลื่อมใสในศิลปจริงๆทุกคน ได้โปรดสนับสนุนช่วยกันคิดแก้ไขปรับปรุงกันไปจนเป็นผลสำเร็จให้จงได้ เพื่อฟื้นวัฒนธรรมและศิลปสยามให้กลับรุ่งเรืองทันสมัยขึ้นมา และภายหน้าจะได้เจริญขึ้นเป็นลำดับกันต่อๆไป

ตัดตอนมาจาก: ม.จ. อิทธิเทพสรรค์ กฤดากร. "คำแนะนำนักเรียนช่างศิลป์ในวิจิตรศิลปศึกษา." เรื่องเกี่ยวกับสถาปัตยกรรม. พิมพ์เป็นที่ระลึกในการพระราชทานเพลิงศพ,กรม ศิลปากร พ.ศ. 2478, หน้า 103-147.