Saturday, June 11, 2005

รัฐธรรมนูญในสยาม

ยาสุกิจิ ยาตาเบ เขียน แปลโดย : เออิจิ มูราชิมา

การปฏิวัติและการเปลี่ยนแปลง ในประเทศสยาม : มิถุนายน ๒๔๗๕

*บัณฑิตวิทยาลัยเอเชียแปซิฟิกศึกษา มหาวิทยาลัยวาเซดะ

และนครินทร์ เมฆไตรรัตน์

คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์



*บทความที่กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรมตั้งชื่อว่า "การปฏิวัติและการเปลี่ยนแปลงในประเทศสยาม : มิถุนายน ๒๔๗๕" นี้ เป็นส่วนหนึ่งของงานเขียนขนาดยาวในชื่อ "การปฏิวัติและการเปลี่ยนแปลงในประเทศสยาม" ของยาสุกิจิ ยาตาเบ อดีตอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศสยามในช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงนั้น. ต้นฉบับภาษาญี่ปุ่นพิมพ์ครั้งแรกในวารสารสมาคมญี่ปุ่น-สยาม ฉบับที่ ๕ เดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙



ประเทศสยามนับจากสร้างประเทศขึ้นมา ไม่มีการแบ่งแยกระหว่างการเมืองของรัฐกับเรื่องครอบครัวของพระมหากษัตริย์ การแบ่งแยก ๒ สิ่งออกจากกันนั้น กล่าวได้ว่า เพิ่งเริ่มต้นเมื่อทศวรรษ ๑๘๙๐ นี้เอง เพราะฉะนั้นจึงไม่ควรนับเป็นเรื่องแปลกแต่ประการใดที่รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของสยามสามารถดำรงอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปี ๑๙๓๒ อย่างไรก็ตามได้มีบุคคลที่ไม่เห็นด้วยกับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ดังปรากฏว่ามีคนบางกลุ่มมีความประสงค์ที่จะปฏิรูปการเมือง ตัวอย่างเช่น หลังจากรัชกาลที่ ๖ เสด็จขึ้นครองราชย์ได้ ๒ ปี (คือปี ค.ศ. ๑๙๑๒) ปรากฏว่ามีแผนการที่จะก่อการปฏิวัติขึ้น คณะบุคคลที่เข้าร่วมในขบวนการปฏิวัติในสมัยนั้นมีอยู่ ๒ กลุ่ม กลุ่มหนึ่งเรียกร้องรัฐธรรมนูญราชาธิปไตย อีกกลุ่มหนึ่งมีเป้าหมายสร้างระบอบสาธารณรัฐขึ้น โดยที่ทั้ง ๒ กลุ่มมีเป้าหมายร่วมกันคือ การโค่นล้มการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กระนั้นก็ตามแผนการปฏิวัติในสมัยนั้น ปรากฏว่าไม่ประสบความสำเร็จและถูกจับกุมเสียก่อน โดยที่หลายสิบคนได้ถูกจับกุมในคราวเดียวกัน และได้ถูกลงโทษด้วย

หลังจากนั้นไม่นาน สงครามโลกครั้งที่ ๑ ได้เกิดขึ้น ประเทศสยามได้ถูกชักจูงให้เข้าร่วมสงคราม ในปี ๑๙๑๗ ประเทศสยามได้ประกาศสงคราม และจัดส่งกองทหารอาสาไปแนวรบด้านตะวันตก ด้วยเหตุนี้ประเทศสยามจึงมีฐานะเป็นประเทศผู้ชนะสงคราม และร่วมลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพที่ปารีส รวมทั้งได้เข้าร่วมในองค์การสันนิบาตชาติในฐานะเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้ง ในช่วงเวลาดังกล่าวนี้เอง สถานะของประเทศสยามในสังคมโลกจึงได้รับการปรับปรุงให้ดีกว่าเดิม นโยบายที่เคยบีบคั้นประเทศสยามจากอังกฤษและฝรั่งเศสก็มีการผ่อนคลายเป็นอันมาก การคุกคามต่อเอกราชของสยามก็ดูจะลดน้อยลง นอกจากนั้นการแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เสมอภาค ซึ่งเป็นความต้องการของประเทศสยามมาเป็นเวลาช้านาน ก็ได้เริ่มต้นขึ้นในปี ๑๙๒๕ ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนและภายหลังจากที่รัชกาลที่ ๗ เสด็จขึ้นครองราชย์ การแก้ไขสนธิสัญญาไม่เสมอภาคได้มีผลสำเร็จ และนานาประเทศก็ให้การยอมรับ มีการยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตเหนือประเทศสยาม และมีการฟื้นฟูอำนาจของสยามในการจัดเก็บภาษีศุลกากร

ในช่วงเวลานั้นความสนใจของรัฐบาลและประชาชนทั่วไปอยู่ที่การแก้ไขความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และขาดเวลาเพียงพอที่จะปฏิรูปการเมืองและพัฒนาทรัพยากรภายในประเทศ ความต้องการของปัญญาชนต่อการปกครองในระบอบรัฐธรรมนูญราชาธิปไตยค่อยๆ ทวีความสำคัญมากขึ้น แต่การศึกษาของประชาชนโดยทั่วไป กล่าวได้ว่ายังไม่มีความแพร่หลาย และความคิดทางการเมืองของประชาชนโดยทั่วไปก็ยังมีความด้อยอยู่มาก สื่อมวลชนต่างๆ ก็ยังอยู่ในระดับเริ่มต้น อีกทั้งยังไม่มีเสรีภาพในการพูด ฉะนั้นจึงเป็นเรื่องธรรมดาที่จะไม่มีขบวนการทางการเมืองที่ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างคึกคัก นอกจากนั้นในช่วงเวลานี้ความสำเร็จทางการทูตในระดับหนึ่งส่งผลให้ความชอบธรรมของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม



พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

รัชกาลที่ ๗

ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติในเดือนพฤศจิกายน ๑๙๒๕ ภายหลังจากพระเชษฐาของพระองค์เสด็จสวรรคต พระองค์ทรงมีความคิดที่ก้าวหน้า และทรงดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างการปกครองและการคลัง พระองค์ทรงมีความกล้าหาญที่ลดทอนงบประมาณรายจ่ายของสำนักพระราชวังลงครึ่งหนึ่ง ระเบียบวินัยของข้าราชการซึ่งมีแนวโน้มเสื่อมโทรมลงมาตั้งแต่สมัยรัชกาลก่อน ก็ได้รับการปรับปรุง นอกจากนี้ยังทรงมีพระราชนิยมให้ลดจำนวนข้าราชการชาวต่างประเทศลง เพราะฉะนั้นประชาชนทั้งในระดับล่างและระดับบนก็เริ่มมีความคาดหวังต่อการเปลี่ยนแปลงของรัชกาลใหม่

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงศึกษาที่ประเทศอังกฤษแต่เยาว์วัย ทรงสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยที่ประเทศอังกฤษ และจากโรงเรียนเสนาธิการของประเทศฝรั่งเศส พระองค์ทรงเป็นคนไทยคนแรกที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนเสนาธิการทหารนี้ พระองค์มีแนวพระราชดำริแบบเสรีนิยมค่อนข้างมาก นับจากขึ้นครองราชสมบัติแล้ว เราดูจากภายนอกรู้ได้ว่าพระองค์มีแนวพระราชดำริที่จะเริ่มการปกครองในแบบรัฐธรรมนูญราชาธิปไตย กล่าวคือ ภายหลังจากครองราชย์ได้ไม่นาน พระองค์ทรงปรับปรุงกรรมการองคมนตรีสภา ซึ่งแต่เดิมไม่มีบทบาทและมีแต่ชื่อมานาน โดยทรงปรับปรุงและจัดให้มีกรรมการจำนวน ๔๐ คน ซึ่งได้รับการคัดเลือกมาจากกระทรวงต่างๆ ทำหน้าที่เป็นองค์กรทางด้านนิติบัญญัติ กฎหมายสำคัญๆ ต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการองคมนตรีสภานี้ พระบรมราชโองการในการปฏิรูปกรรมการองคมนตรีสภานี้ กล่าวว่า การปฏิรูปในคราวนี้มีจุดประสงค์เริ่มต้นคือทำให้การปฏิรูปในขั้นต่อไปง่ายขึ้น จัดเป็นการทดลองและฝึกฝนให้กรรมการองคมนตรีสภามีความเข้าใจกระบวนการรัฐสภา จากประกาศนี้ทำให้เราเข้าใจพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ กล่าวคือ คณะกรรมการองคมนตรีสภา เป็นการเตรียมการเพื่อพัฒนาระบบรัฐสภานิติบัญญัติในอนาคต ซึ่งจะต้องปฏิรูปต่อไปอีกหลายขั้นตอน หลังจากนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงแสดงพระราชประสงค์ว่าพระองค์ต้องการให้การเมืองพัฒนาไปเป็นระบบรัฐสภา ในปี ๑๙๓๑ เมื่อพระองค์เสด็จประพาสสหรัฐอเมริกาเพื่อรักษาพระเนตรนั้น พระองค์ได้ให้สัมภาษณ์แก่นักหนังสือพิมพ์ว่า ประเทศสยามจะมีรัฐบาลในระบอบรัฐธรรมนูญในอีกไม่นานนี้ เพราะฉะนั้นพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ จึงจัดอยู่ในระดับขั้นเริ่มต้นของการเตรียมการไปสู่ระบอบรัฐธรรมนูญราชาธิปไตยตามกระแสของโลก เรื่องนี้ไม่มีใครสงสัยเลย อย่างไรก็ตามในช่วงปลายเดือนมิถุนายน ๑๙๓๒ ได้มีการปฏิวัติเกิดขึ้น แต่ก่อนการปฏิวัติในช่วงต้นเดือนมิถุนายน ๑๙๓๒ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้เสด็จฯ แปรพระราชฐานไปประทับ ณ พระราชวังไกลกังวล หัวหิน ในครั้งนั้นพระองค์ได้นำเอาร่างรัฐธรรมนูญพระราชทานไปด้วย การยกร่างรัฐธรรมนูญฯ นี้เป็นผลงานของกรมหมื่นเทวะวงศ์วโรปการ เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ โดยน้อมรับพระราชกระแสรับสั่งจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ในการนี้ เสนาบดีได้ปรึกษากับปลัดทูลฉลอง [พระยาศรีวิสารวาจา-ผู้แปล] และที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศ [เรย์มอนด์ บี. สตีเวนส์, Raymond B. Stevens-ผู้แปล] ยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้น โดยที่การยกร่างรัฐธรรมนูญฯ นี้ถือเป็นความลับชั้นสูงสุด ดังนั้นจึงไม่มีใครล่วงรู้เลยว่า การยกร่างรัฐธรรมนูญได้สำเร็จเรียบร้อยและอยู่ในพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ

เรื่องที่เป็นความลับและไม่มีใครล่วงรู้ได้ดังกล่าวนี้นับเป็นโชคชะตาของประเทศไทย



อำนาจตกอยู่ในมือเจ้านาย

พระบรมราโชบายภายหลังการเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ที่มีความสำคัญมากกว่าการปฏิรูประบบองคมนตรี ได้แก่ การจัดตั้งอภิรัฐมนตรีสภา อภิรัฐมนตรีสภานี้ประกอบด้วยเจ้านายชั้นสูงจำนวน ๔-๖ พระองค์ และเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่กำหนดนโยบายสูงสุดของประเทศ โดยอยู่เหนือกว่าคณะเสนาบดี เรื่องนี้ไม่มีคำอธิบายอย่างเป็นทางการว่าเพราะเหตุใดพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ จึงทรงจัดตั้งอภิรัฐมนตรีสภาขึ้นทันทีภายหลังจากเสด็จขึ้นครองราชย์ แต่ผู้เขียนมีความเข้าใจว่า เพราะพระองค์เป็นพระอนุชาพระองค์เล็กของพระมหากษัตริย์พระองค์ก่อน รวมทั้งได้เสด็จขึ้นครองราชย์อย่างกะทันหัน ฉะนั้นจึงทรงต้องการการสนับสนุนจากเจ้านายชั้นสูง เพื่อให้การปฏิรูปในหลายสิ่งหลายประการประสบความสำเร็จ รวมทั้งการปฏิรูปการเมืองใหม่ด้วย

การจัดตั้งอภิรัฐมนตรีสภานี้ ในระยะแรกประชาชนทุกคนมีความปลื้มปีติ เพราะเป็นปฏิกิริยาต่อการเล่นพวกพ้องและการประจบสอพลอในสมัยรัชกาลก่อน อย่างไรก็ดีข้อบกพร่องของการเมืองมิได้มีสาเหตุมาจากระบบ แต่อยู่ที่ตัวบุคคลที่ใช้ระบบนั้น ดังจะเห็นได้ว่าภายหลังจากการจัดตั้งอภิรัฐมนตรีสภาขึ้นแล้ว ฐานะและอำนาจทางการเมืองของเจ้านายทวีเพิ่มขึ้นเป็นอันมาก นอกจากนั้นตำแหน่งของอภิรัฐมนตรีสภา โดยกฎหมายได้กำหนดไว้ว่าเป็นตำแหน่งเฉพาะของบรรดาเจ้านายเท่านั้น และตำแหน่งเสนาบดีต่างๆ ก็ตกเป็นของเจ้านายเพิ่มขึ้น ดังจะเห็นได้ว่าเมื่อเกิดการปฏิวัติ ๑๙๓๒ ตำแหน่งเสนาบดีรวม ๙ ตำแหน่งนั้น ปรากฏว่า ๖ ตำแหน่งเป็นของเจ้านาย เพราะฉะนั้นในสมัยรัชกาลก่อน บรรดาพวกข้าราชการที่ประจบสอพลอประมาณ ๒-๓ คนมีอำนาจ และถูกวิพากษ์วิจารณ์มาก แต่ครั้นมาถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ปรากฏว่าพวกเจ้านายได้ใช้อำนาจปกครองตามอำเภอใจ ตำแหน่งสำคัญๆ ของรัฐบาลมีลักษณะผูกขาดโดยบรรดาพวกเจ้านาย การเมืองสยามในสมัยนั้นไม่ใช่ว่าจะเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่โดยแท้จริงแล้วเป็นระบอบคณาธิปไตยของพวกเจ้านายเสียมากกว่า และเมื่อจำต้องมีการเลื่อนชั้นข้าราชการตำแหน่งสำคัญๆ ปรากฏว่ามีการใช้เส้นสายเป็นอันมาก ความไม่พอใจของบรรดาข้าราชการพลเรือนและทหารจึงทวีเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้เสนาบดีที่เป็นเจ้านายบางพระองค์ได้ปรากฏข่าวลือว่ามีการใช้ตำแหน่งเสนาบดีแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน และผู้เขียนเคยได้ยินว่ามีคนวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของรัฐบาลว่าเป็นเรื่องแปลกใหม่ แต่ไม่มีความเหมาะสมกับประเทศสยาม ซึ่งพวกเจ้านายบางพระองค์ได้พยายามผลักดันนโยบายที่แปลกใหม่นั้นเพื่อความพึงพอใจของตนเองเป็นสำคัญ และไม่สนใจการสูญเสียผลประโยชน์ของประชาชน ข่าวลือประเภทนี้เราไม่สามารถหาหลักฐานได้ในทุกกรณี แต่เรื่องทำนองนี้ก็มีความสำคัญอยู่ที่ว่า การปรากฏของข่าวลือนั้นแสดงถึงความไม่พึงพอใจของประชาชนต่อการปกครองของเจ้านาย มากกว่าจะเป็นประเด็นว่าเรื่องข่าวลือนั้นมีความจริงหรือไม่

วิธีการแก้ไขความเสื่อมโทรมทางการเมืองของเจ้านายนั้น ปรากฏว่าไม่มีการดำเนินการเลยในช่วงเวลานั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ผู้ทรงตั้งพระราชหฤทัยที่จะปฏิรูปการเมืองในสมัยต้นรัชกาล พระองค์ทรงมีพระพลานามัยไม่สมบูรณ์ เพราะฉะนั้นแนวโน้มของระบอบคณาธิปไตยของเจ้านายที่เลวร้ายจึงพอกพูนและทวีสะสมขึ้น และถึงแม้นว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ จะทรงมีแนวพระราชดำริแบบเสรีนิยม พระองค์ทรงมีความเข้าใจความเป็นไปของโลก อีกทั้งมีพระราชประสงค์จะสถาปนาระบอบรัฐธรรมนูญราชาธิปไตยขึ้น แต่ผู้ที่มีอำนาจในอภิรัฐมนตรี ซึ่งเป็นเจ้านายชั้นสูง ส่วนใหญ่กลับมีความคิดแบบอนุรักษนิยม ที่ต้องการรักษาสถานภาพแบบเดิมเอาไว้ทั้ง ๒ ด้าน ด้านหนึ่ง คือการเมืองภายใน อีกด้านหนึ่ง คือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การสถาปนาระบอบรัฐธรรมนูญราชาธิปไตยในอนาคต ซึ่งโดยหลักการแล้วบรรดาเจ้านายชั้นสูงก็คงไม่คัดค้าน แต่ก็มีปัจจัยหลายสิ่งหลายอย่างทำให้พวกเจ้านายชั้นสูงปล่อยปละละเลยให้สภาพการณ์แบบเดิมดำรงอยู่ การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองซึ่งต้องอาศัยความกล้าหาญอย่างมาก จึงดูเหมือนว่าจะไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงมีอำนาจมากที่สุด ทรงเป็นจอมพลทั้งทหารบกและทหารเรือ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย และเป็นผู้ที่มีอำนาจมากที่สุดในอภิรัฐมนตรีสภา พระองค์ทรงเป็นเจ้าฟ้าต่างพระมารดาของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ และที่สำคัญพระองค์ทรงถูกมองว่าเป็นตัวแทนของกลุ่มอนุรักษนิยม



บรรยากาศที่ต้องการ

การเปลี่ยนแปลง

สถานการณ์รอบข้างพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ เป็นดังกล่าวข้างต้น ส่งผลให้ผู้คนเกิดมีความสงสัยกันว่าพระองค์ทรงมีความสามารถต่อสู้กับแรงกดดันที่ไม่เห็นด้วยกับการปฏิรูปการเมืองได้หรือไม่ และจะทรงตัดสินพระทัยด้วยพระองค์เองเพื่อปฏิรูปการเมืองได้หรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนทั่วไปก็ไม่ได้รับการฝึกฝนทางด้านการเมือง ไม่มีอิสรภาพในการพูด ฉะนั้นการอาศัยวิธีการปฏิรูป คือทำตามกระบวนการกฎหมายด้วยวิธีการสันติ โดยการปลูกฝังที่จะให้มีการแสดงประชามติเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการปฏิรูปนั้น ผู้เขียนมีความเห็นว่า รอไปอีก ๑๐๐ ปี ก็ไม่มีวันสำเร็จ เพราะฉะนั้นจึงไม่มีวิธีการใดนอกจากการลุกขึ้นกระทำการโดยตรงและขับไล่บรรดาเจ้านายอนุรักษนิยมสุดขั้วให้ออกจากตำแหน่ง และบีบบังคับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ให้ทรงยอมรับการเปลี่ยนแปลง ความคิดนี้เป็นความเห็นของบรรดาพวกก้าวหน้ารุ่นหนุ่ม และความขัดแย้งทางความคิดระหว่างกลุ่มอนุรักษนิยมกับพวกก้าวหน้าจึงปรากฏขึ้น

ลักษณะก้าวหน้าของกลุ่มก้าวหน้าหมายความว่าอะไร เรื่องนี้พิจารณาได้ ๒ ด้าน คือด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับด้านของการเมืองภายใน อาจกล่าวได้ว่า ทุกคนมีความเห็นพ้องกันว่าประเทศสยามเป็นประเทศเอกราช แต่ว่าประเทศสยามสามารถกระทำการได้ด้วยตนเอง โดยไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของประเทศมหาอำนาจในด้านการเมืองและเศรษฐกิจหรือไม่ เรื่องนี้น่าสงสัยอยู่เป็นอย่างมาก ถ้าประเทศสยามไม่มีความสามารถเช่นว่านั้นจริงๆ ความเป็นเอกราชของสยามก็เป็นเพียงแต่ชื่อ การปลดปล่อยประเทศสยามให้หลุดพ้นจากอิทธิพลและการบังคับจากต่างชาติ จึงมีความหมายว่าเป็นการฟื้นฟูความเป็นเอกราชของประเทศสยามอย่างแท้จริง ความสำเร็จของการแก้ไขปัญหาที่กล่าวมานี้เป็นเงื่อนไขที่จำเป็นอย่างยิ่งยวด เพื่อทำให้สวัสดิภาพและการพัฒนาของประเทศสยามบรรลุผล ในขณะนั้นนักการเมืองเจ้านายซึ่งตกเป็นทาสของความคิดอนุรักษนิยม และดำรงชีพแบบวันต่อวันโดยรักษาสถานภาพเดิมเอาไว้ การฟื้นฟูเอกราชในทางการเมืองและเศรษฐกิจของประชาชาติ จึงไม่มีความหวังสำหรับการฟื้นฟูอิสรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจ จึงมีความจำเป็นในประการแรก คือการโค่นล้มนักการเมืองเจ้านาย ผู้มีจิตใจแบบอนุรักษนิยม

ประเทศสยามได้รับผลกระเทือนจากเศรษฐกิจตกต่ำหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ ค่อนข้างน้อย แต่ความตกต่ำทางเศรษฐกิจมีความต่อเนื่องและทวีเพิ่มขึ้นทีละเล็กละน้อย ในปี ๑๙๓๐ การส่งออกข้าว ซึ่งเป็นสินค้าสำคัญที่สุดของประเทศสยามซบเซา และราคาข้าวก็ตกต่ำลงอย่างมาก ชีวิตของประชาชนจึงไร้เสถียรภาพ และรัฐบาลก็ขาดรายได้เป็นจำนวนมหาศาล จนถึงปีงบประมาณ ๑๙๓๒ ปรากฏว่าการจัดงบประมาณมีความยากลำบาก จนถึงระดับนี้รัฐบาลก็ตัดสินใจชะลอโครงการต่างๆ และประหยัดรายจ่ายของรัฐบาลลง รวมทั้งได้ตัดสินใจปลดข้าราชการจำนวนมาก และเริ่มเก็บภาษีใหม่หลายชนิด หรือไม่ก็เพิ่มภาษีมากขึ้น ในช่วงเวลานี้รัฐบาลได้กล่าวย้ำหลายวาระว่าประชาชนต้องเสียสละเพื่อความอยู่รอดในสถานการณ์ที่ยากลำบาก แต่เรื่องที่รัฐบาลควรจะเปิดเผยมาก่อนหน้านี้ คือสถานะทางการคลังของประเทศเพื่อขอความเห็นใจจากประชาชนก็ไม่ได้กระทำ ฉะนั้นความไม่พอใจของชนชั้นที่มีทรัพย์และมีการศึกษาจึงเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน บางคนยื่นหนังสือถวายฎีกาเพื่อขอพระมหากรุณาและแสดงความคิดเห็น มีข้อเสนอว่ามาบัดนี้มีความจำเป็นให้ประชาชนผู้เสียภาษีมีส่วนร่วมทางการเมือง การปรากฏของข้อคิดเห็นแบบนี้ แสดงข้อเท็จจริงประการหนึ่งว่า บรรดาพวกเจ้านายได้ผูกขาดอำนาจการเมืองและอยู่ในฐานะมั่งคั่ง โดยไม่มีท่าทีสนใจความเป็นอยู่ของประชาชน ความไม่พอใจสะสมมากขึ้น โดยเหตุนี้เพื่อการปรับปรุงสถานะทางการเมือง เศรษฐกิจของประชาชนในสถานการณ์นั้นจึงมีความจำเป็นต้องปฏิรูปการเมืองอย่างฉับพลัน การโค่นล้มอำนาจของพวกเจ้านาย จึงเป็นวิธีการเดียวที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

สรุปแล้ว สาเหตุแท้จริงการปฏิวัติ ๑๙๓๒ ก็คือการใช้อำนาจตามอำเภอใจ และการไร้ความสามารถของการปกครองของเจ้านายทั้งในทางการเมืองภายในประเทศ และในการจัดความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ความไม่พอใจต่อปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำที่สะสมมามาก และปัญหาการคลังก็เป็นชนวนระเบิดของการเปลี่ยนแปลงโดยฉับพลันครั้งนี้



การฉลอง ๑๕๐ ปี

ของราชวงศ์จักรี

วันที่ ๖ เมษายนของทุกปี เป็นวันที่รัชกาลที่ ๑ ซึ่งเป็นปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์ปัจจุบันเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ ฉะนั้นวันที่ ๖ เมษายนของทุกปีจึงมีงานรัฐพิธี อย่างไรก็ดี วันที่ ๖ เมษายน ในปี ๑๙๓๒ ถือได้ว่าเป็นวันครบรอบ ๑๕๐ ปีของราชวงศ์จักรีด้วย ฉะนั้นจึงได้มีการเตรียมการจัดงานต่างๆ ล่วงหน้ามาก่อน ๒-๓ ปีแล้ว และการจัดงานในปี ๑๙๓๒ ก็เป็นไปอย่างใหญ่โตมโหฬาร เฉพาะอย่างยิ่งในเขตกรุงเทพฯ นอกจากนี้ยังมีพิธีเปิดสะพานพระพุทธยอดฟ้า ซึ่งเชื่อมกรุงเทพฯ กับฝั่งธนบุรี โดยใช้งบประมาณก่อสร้างมหาศาลจำนวน ๒ ล้านบาท เป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งแรก สะพานนี้ออกแบบมาให้สามารถเปิดและปิดเพื่อให้เรือเดินผ่านได้ ขณะเดียวกันในแม่น้ำเจ้าพระยาของวันนั้นยังมีการแสดงแสนยานุภาพของกองทัพเรือ โดยกองทัพเรือจะได้เดินเรือผ่านสะพานนี้เป็นครั้งแรกด้วย

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงฉลองพระองค์แบบโบราณราชประเพณี พระองค์ทรงช้างเครื่อง พระราชินีร่วมเสด็จพระราชดำเนินตามขบวน เมื่อมาถึงบริเวณปะรำพระราชพิธี พระองค์เสด็จประทับรถยนต์ทางด้านหน้า ทางด้านข้างและด้านหลังของขบวนเสด็จฯ มีเหล่าขบวนประกอบพิธี และมีเครื่องดนตรี มีทหารราบ ทหารม้า ทหารปืนใหญ่ ทหารช่าง ทุกหมู่เหล่าแต่งเครื่องแบบเต็มยศร่วมขบวนเสด็จฯ ด้วย ขบวนเสด็จฯ นี้ดำเนินไปอย่างเรียบร้อยและมีระเบียบ นอกจากนี้ในปะรำพิธีมีเจ้านายทุกระดับ และมีข้าราชการทั้งพลเรือนและทหาร ซึ่งมีชื่อเสียงทั้งที่อยู่ในตำแหน่งและนอกตำแหน่ง มีอัครราชทูตจากทุกประเทศ เจ้าหน้าที่การทูตและกงสุลต่างๆ เข้าร่วมพิธี ทุกคนแต่งเครื่องแบบเต็มชั้นยศ รวมทั้งมีการประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่แวววาวและมีสีทองสวยงาม บรรดานายทหารประดับอาวุธ หรือไม่ก็ดาบประจำตำแหน่งและสวมหมวก ทั้งปะรำพิธี และบริเวณประกอบพิธีเต็มไปด้วยสิ่งต่างๆ ดังกล่าว

เดือนเมษายนเป็นฤดูที่ร้อนที่สุดของประเทศสยาม กล่าวคือ มีอุณหภูมิ ๑๖๐ ฟาเรนไฮต์ ทั้งๆ ที่มีอากาศร้อนแบบนี้ ปรากฏว่าบริเวณริมถนนทั้งสองข้างทางมีประชาชนแห่แหนมาเฝ้ารับเสด็จฯ เนืองแน่นไปหมด มีเสียงไชโยดังมาจากทั้งไกลและใกล้ ดูเหมือนว่าจะเป็นรัฐพิธีใหญ่ที่สุด และมีผู้ร่วมรัฐพิธีมากที่สุดของราชวงศ์นี้ ผู้คนที่อยู่ในตำแหน่งและอยู่ในระดับล่างต่างพากันสรรเสริญพระบารมี เหมือนกับว่าเป็นเครื่องแสดงความเจริญและการวัฒนาขั้นสูงสุดของการปกครองของพวกเจ้านาย คนที่เห็นสภาพการณ์ดังกล่าวแล้ว มีใครบ้างจะประเมินได้ว่าจะมีการปฏิวัติเกิดขึ้นในเวลา ๓ เดือนต่อมา

หลังจากทำรัฐพิธีเปิดสะพานพระพุทธยอดฟ้าแล้ว ที่บริเวณสนามหลวงก็ยังมีพระราชพิธีบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในพระราชพิธีนั้น นอกจากพระที่นั่งแล้ว มีปะรำพิธีสำหรับเจ้านาย นักการทูต และข้าราชการ และมีมณฑปตั้งอยู่ทางด้านพระบรมมหาราชวัง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ เสด็จขึ้นไปบนมณฑป ทรงจุดธูปเทียน และทรงกราบพระพุทธรูป ในทางทิศนั้นมองไปแล้วเห็นวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือวัดพระแก้ว อันเป็นสถานที่เก็บพระบรมอัฐิของพระมหากษัตริย์พระองค์ก่อนๆ ในวันนั้นอากาศแจ่มใส แต่มีลมเล็กน้อย ลมที่พัดมาเล็กน้อยทำให้ผู้ร่วมพิธีที่แต่งตัวเต็มยศและมีเหงื่อไหล เกิดมีความสบายในอารมณ์ อย่างไรก็ดีลมที่พัดมานั้นได้ทำให้ไฟที่จุดเทียนดับลง แม้นว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงพยายามหลายครั้ง แต่ก็ไม่สามารถที่จะทำให้ทรงจุดเทียนที่เตรียมไว้ทั้งหมดได้ ในพิธีสำคัญอย่างนี้ ผู้เขียนมีความเห็นว่าควรจะมีฉากกั้นลม แต่ก็ไม่มีใครเตรียมการไว้ ฉะนั้นถ้าย้อนหลังกลับไปพินิจดู เรื่องนี้แสดงลางบอกเหตุ ซึ่งหลังจากนั้นอีกไม่ถึง ๓ เดือน การปฏิวัติก็ถือกำเนิดขึ้น

กลางเดือนมีนาคม ๑๙๓๒ ซึ่งกำลังมีการเตรียมพิธีการใหญ่อยู่นั้น ได้เกิดมีข่าวลือออกมาบ่อยๆ ว่ามีคนวางแผนจะก่อการไม่สงบ โดยอาศัยความชุลมุนวุ่นวายของงานฉลองพระนคร ๑๕๐ ปี ข่าวลือแบบนี้ทำให้จิตใจของผู้คนทั่วไปมีความกังวลใจ เรื่องนี้เป็นความจริง แต่ว่าพิธีการใหญ่ที่ดำเนินการติดต่อกัน ๕ วัน โดยที่มีวันที่ ๖ เมษายน เป็นช่วงกลางของงาน ก็สิ้นสุดลงด้วยความเรียบร้อย และไม่มีเหตุการณ์ร้ายแรงอะไรเกิดขึ้น แต่ว่าเรื่องนี้ผู้เขียนได้รับทราบภายหลังว่ามีแผนการที่จะก่อการปฏิวัติในช่วงพิธี โดยอาศัยช่องว่างที่ข้าราชการและประชาชนกำลังชุลมุนกับงานพิธีเป็นประโยชน์ในการก่อการปฏิวัติ แต่กลุ่มผู้วางแผนการปฏิวัติสำนึกว่าในช่วงงานพิธีนั้นมีประชาชนหลายหมื่นคนรวมทั้งคนต่างชาติเข้าร่วมงาน ถ้าหากเกิดการปฏิวัติขึ้นในโอกาสนั้น ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดเรื่องที่น่ากลัวขึ้น การปฏิวัติในช่วงเวลานั้นจึงถูกระงับไป



การยึดอำนาจของคณะราษฎร

ช่วงเช้าตรู่ของวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๑๙๓๒ การเรียกร้องให้มีการปกครองโดยรัฐธรรมนูญก็ระเบิดขึ้นในที่สุด ผู้เขียนรับทราบเรื่องในภายหลังว่า สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้รับรายงานบ่อยครั้งว่ามีสถานการณ์ไม่น่าไว้วางใจในกองทัพอยู่ แต่พระองค์ท่านทรงไม่สนใจเรื่องดังกล่าวนี้เลย เพราะพระองค์ท่านทรงคิดว่าคนที่พลาดการใช้โอกาสในเหตุการณ์ชุลมุนเมื่องานฉลองพระนคร ๑๕๐ ปี คงจะไม่มีความสามารถก่อการปฏิวัติได้ แต่ในที่สุดอธิบดีกรมตำรวจภูธร [พระยาอธิกรณ์ประกาศ-ผู้แปล] ได้เสนอรายงานหลายครั้ง ก็เลยมีการเตรียมการที่จะจับกุมผู้ต้องสงสัยพร้อมกันในเวลา ๑๑ นาฬิกา ของวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๑๙๓๒ แต่พวกคณะปฏิวัติก็ได้ชิงลงมือกระทำการเสียก่อนเพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนที่จะถูกจับกุม เรื่องที่ทางฝ่ายรัฐบาลดูแคลนข่าวลือเรื่องการปฏิวัตินี้ ผู้เขียนมีความเห็นว่าเป็นการแสดงให้เห็นถึงความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลในระบอบเก่า

ฝ่ายปฏิวัติเป็นนายทหารของกองทัพบก ตั้งแต่ระดับนายพันเอกลงมา นายทหารของกองทัพเรือ และข้าราชการพลเรือนหนุ่มของกระทรวงยุติธรรม เป็นต้น และพวกที่เคยเข้าร่วมการปฏิวัติแผนการปฏิวัติที่ล้มเหลวเมื่อ ๒๐ ปีก่อน ก็เข้ามาร่วมด้วย โดยเริ่มต้นขบวนการของฝ่ายก้าวหน้ามีลักษณะเป็นต่างกลุ่มต่างคิดในเรื่องแผนการการปฏิรูปการเมือง แต่ความคิดของหลายกลุ่มนั้นสามารถประสานกันได้ด้วยสาเหตุใดสาเหตุหนึ่ง เรื่องนี้ทำให้การรวมตัวจัดตั้งเป็นคณะราษฎรสำเร็จขึ้น

จนถึง ๘ โมงเช้าของวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๑๙๓๒ ข่าวการปฏิวัติได้แผ่กระจายไปทั่วกรุงเทพฯ เหมือนกับมีเสียงข่าววิทยุ แต่ว่ากลุ่มใดทำเรื่องอะไร และต่อไปสถานการณ์จะเป็นอย่างไรบ้างนั้น ประชาชนยังคงมีความคลุมเครือ และยังคงดำเนินชีวิตตามปกติ ยกเว้นแต่สถานที่สำคัญที่ใกล้ๆ กับวังของเจ้านาย มีรถถังและกองกำลังทหารรักษาพื้นที่อย่างเข้มงวด ส่วนในร้านค้าทั่วไปยังคงเปิดร้านเหมือนปกติ ไม่มีเสียงปืนดังขึ้นสักครั้งหนึ่งเลย แต่สีหน้าของประชาชนแสดงความตื่นเต้นอยู่บ้าง แต่ว่าสภาพการณ์ของเมืองโดยทั่วไปไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ยกเว้นในบริเวณที่ใกล้วังของเจ้านาย หลังจากนั้นอีกสองสามชั่วโมงจึงรู้ได้ว่าพวกปฏิวัติกลุ่มหนึ่งซึ่งเคยมีข่าวลือออกมานั้นใช้ชื่อว่าคณะราษฎร ได้เริ่มลงมือในช่วงหลังเที่ยงคืน และบุกเข้าไปจับเจ้านายตั้งแต่เช้ามืดนำตัวมาคุมขัง

ฝ่ายปฏิวัติซึ่งประกอบกันขึ้นจากฝ่ายพลเรือนและทหารรวมกันเป็นคณะราษฎร ได้เรียกร้องให้กองทัพบก กองทัพเรือ และผู้บังคับบัญชาการกองกำลังต่างๆ เข้าร่วมกับกองกำลังฝ่ายปฏิวัติ แต่ในช่วงเวลานั้นกองทัพบกและกองทัพเรือเข้าร่วมโดยไม่มีความลังเลใจ ยกเว้นพระยาเสนาสงคราม ผู้บัญชาการกองพลที่ ๑ รักษาพระองค์ ที่ไม่เข้าร่วม จึงถูกยิงในการปฏิวัติในช่วงนั้น มีข่าวลือว่าถูกยิงตายคาที่ แต่ที่จริงถูกยิงทะลุที่ขาเท่านั้น เรื่องนี้เป็นเพียงเหตุการณ์เดียวที่มีการนองเลือดในการปฏิวัติ [ในงานเขียนของยาตาเบกล่าวว่า คณะราษฎรได้บังคับให้พระยาเสนาสงครามเรียกระดมทหารให้มาชุมนุมกัน ซึ่งไม่ถูกต้องกับข้อเท็จจริง ในที่นี้ผู้แปลได้แก้ไขข้อความไปเฉพาะในส่วนนี้-ผู้แปล]

ส่วนหนึ่งของทหารม้าและทหารปืนใหญ่ที่เข้าร่วมในการปฏิวัตินั้น ได้ร่วมกันปลดอาวุธของกองกำลังรักษาพระองค์ ในประมาณ ๕ นาฬิกา ได้ส่งกองกำลังส่วนหนึ่งถึงอธิบดีกรมตำรวจภูธรแจ้งเรื่องการยึดอำนาจและจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ในขณะเดียวกันได้ส่งกองกำลังเข้าล้อมวัง [วังบางขุนพรหม ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของธนาคารแห่งประเทศไทย-ผู้แปล] อันเป็นสถานที่ประทับของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย อธิบดีกรมตำรวจภูธรได้รายงานเรื่องต่างๆ ให้สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตทรงทราบ และได้จัดส่งกำลังตำรวจเพื่อรักษาพระองค์ แต่ก็ล่าช้าไม่ทันการณ์ เพราะว่าวังของพระองค์ได้ถูกห้อมล้อมโดยทหารม้าและทหารราบ ในที่นั้นได้เกิดมีการยิงกันระหว่างทหารกับตำรวจ แต่ทั้ง ๒ ฝ่ายไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ วังของกรมพระนครสวรรค์ฯ นี้มีขนาดใหญ่มโหฬารตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา พระองค์ท่านทรงได้ยินเสียงปืนที่ดังขึ้นหน้าประตูวัง และทรงพยายามหลบหนีไปทางด้านหลังโดยอาศัยเรือ แต่ในแม่น้ำเจ้าพระยานั้นมีเรือปืนของกองทัพเรือ ๒ ลำ ซึ่งอยู่ฝ่ายคณะปฏิวัติทอดสมอจอดอยู่ ฝ่ายทหารเรือได้ติดตามการเคลื่อนไหวภายในวังในท่ามกลางของหมอกในตอนเช้า กองกำลังของฝ่ายปฏิวัติซึ่งบุกเข้าไปทางประตูหน้าของวัง ได้จับกุมสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตได้โดยไม่ยากลำบาก และนำพระองค์ขึ้นรถบรรทุกทหารโดยทรงนั่งในแถวหน้าคนขับ ในช่วงนั้นพระองค์ท่านทรงชุดนอน และถูกฝ่ายปฏิวัตินำไปขังไว้ที่ห้องโถงชั้น ๒ ของพระที่นั่งอนันตสมาคม พระที่นั่งอนันตสมาคมนี้เป็นพระราชวังที่หรูหรามาก สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ โดยใช้เงินก่อสร้าง ๘ ล้านบาท โดยวัสดุหินอ่อนสีขาวที่สั่งมาจากประเทศอิตาลี และจ้างนายช่างอิตาลีออกแบบในสไตล์แบบเรอเนซองส์ คนไทยโดยทั่วไปมีความภูมิใจเป็นอย่างมากว่าเป็นพระราชวังที่มีความสวยงามที่สุด และไม่มีอาคารใดในเขตตะวันออกนับตั้งแต่คลองสุเอซเป็นต้นมาเปรียบเทียบได้ ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้น พระราชพิธีต่างๆ ที่สำคัญมักจะกระทำ ณ พระที่นั่งแห่งนี้ ตัวอย่างเช่น การมอบสารตราตั้งของอัครราชทูตต่างประเทศ ก็ทำที่ห้องโถงของพระราชวังแห่งนี้ การประชุมของอภิรัฐมนตรีสภา รวมทั้งของเสนาบดีสภา ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงเป็นประธานที่ประชุม ก็จัดประชุมกันที่พระที่นั่งนี้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ประทับอยู่ในกรุงเทพฯ จะมีธงประจำพระองค์ ซึ่งมีพื้นเหลืองและมีครุฑสีแดง ยกขึ้นเหนือโดมของพระที่นั่ง อย่างไรก็ดีในเช้าของวันนั้น พระที่นั่งอนันตสมาคมได้กลายเป็นสถานที่คุมขังพวกเจ้านาย ซึ่งพวกคณะราษฎรได้จับกุมสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยานครสวรรค์วรพินิต สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ และสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งเป็นอภิรัฐมนตรี นำมาคุมขัง และอธิบดีกรมตำรวจภูธร พระยาอธิกรณ์ประกาศ ก็ถูกจับกุมและนำมาคุมขังไว้ที่นี้ด้วย

ช่วงเวลาเช้า พระบรมมหาราชวังถูกล้อมโดยกำลังทหาร กองกำลังรักษาพระองค์ ซึ่งรักษาพระบรมมหาราชวังอยู่ได้ถูกปลดอาวุธประจำกาย ข้าราชการกระทรวงวังที่มีปฏิภาณไหวพริบบางคน ได้หลบหนีออกจากพระบรมมหาราชวังโดยไม่ใส่รองเท้า ไปหาเสนาบดีกระทรวงวัง [คือเจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์-ผู้แปล] กับสมุหพระราชมณเฑียร [พระยาสุริวงศ์วิวัฒน์-ผู้แปล] ซึ่งท่านหลังนี้ได้รายงานให้สมเด็จฯ กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ซึ่งประทับนอนชั่วคราวอยู่ใกล้ๆ ให้ทรงทราบ สมเด็จฯ กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธินทรงเป็นอภิรัฐมนตรี และเป็นเสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม รวมทั้งเป็นผู้บังคับบัญชากรมรถไฟด้วย เมื่อพระองค์ทรงทราบข่าวร้ายดังกล่าวแล้ว พระองค์ก็ได้ทรงรีบเสด็จไปยังสถานีรถไฟที่ตั้งอยู่กลางกรุงเทพฯ พร้อมด้วยสมุหพระราชมณเฑียร ได้บัญชาการให้รวบรวมหัวรถจักรหลายคัน เดินรถไฟไปยังทิศใต้ ใช้เวลา ๖ ชั่วโมง ถึงพระราชวังไกลกังวล หัวหิน และถวายรายงานให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงทราบเป็นครั้งแรก ซึ่งพระองค์ยังไม่ทราบเรื่องอะไรเลย ในขณะที่พระองค์ได้ทรงใช้เวลาในช่วงนั้นพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญพระราชทานอยู่



การเรียกร้องและประกาศ

ของคณะราษฎร

คณะราษฎรซึ่งร่วมมือกันอย่างแนบแน่นระหว่างฝ่ายทหารบกกับฝ่ายทหารเรือได้ลงมือแบบฟ้าผ่า จับกุมบุคคลสำคัญตั้งแต่สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตลงมาตลอดจนเจ้านายชั้นสูง รวมทั้งข้าราชการชั้นสูง เช่น อธิบดีกรมตำรวจภูธร เป็นต้น ยึดอำนาจในเขตพระนครในเวลาพริบตา ฝ่ายปฏิวัติได้ประกาศตั้งรัฐบาลใหม่ ในบริเวณชั้นล่างของพระที่นั่งอนันตสมาคม โดยที่ชั้นบนเป็นสถานที่กักขังเจ้านายไว้ และได้ทูลเกล้าฯ ถวายหนังสือกราบบังคมทูลอย่างเป็นทางการถึงพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ โดยทันที ซึ่งเนื้อหาภายในของหนังสือกราบบังคมทูลมีความว่า

"...ด้วยคณะราษฎร ข้าราชการพลเรือนทหารได้ยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินไว้แล้ว และได้เชิญสมเด็จพระบรมวงศานุวงศ์ มีสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต เป็นต้น ไว้เป็นตัวประกัน ถ้าหากคณะราษฎรนี้ถูกทำร้ายด้วยประการใดๆ ก็จะต้องทำร้ายเจ้านายที่จับกุมไว้เป็นการตอบแทน คณะราษฎรไม่ประสงค์จะแย่งชิงราชสมบัติแต่อย่างใด ความประสงค์อันยิ่งใหญ่ก็เพื่อจะให้มีธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน จึงขอเชิญใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทเสด็จกลับคืนสู่พระนครและทรงเป็นกษัตริย์ต่อไป โดยอยู่ใต้ธรรมนูญปกครองแผ่นดิน ซึ่งคณะราษฎรได้สร้างขึ้น ถ้าใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทตอบปฏิเสธก็ดี หรือไม่ตอบภายในหนึ่งชั่วนาฬิกา นับแต่ได้รับหนังสือนี้ก็ดี คณะราษฎรก็จะได้ประกาศใช้ธรรมนูญปกครองแผ่นดิน โดยเลือกเจ้านายพระองค์อื่นที่เห็นสมควรขึ้นเป็นกษัตริย์..."

ผู้ลงนามในหนังสือนั้นคือ พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา พันเอก พระยาทรงสุรเดช และพันเอก พระยาฤทธิอัคเนย์ ผู้นำสาส์นนั้นขึ้นเรือหลวงสุโขทัย ซึ่งมีทหารบก ๑๒๐ คน และทหารเรือ ๗๕ คน เรือมุ่งไปยังพระราชวังไกลกังวล หัวหิน ในขณะเดียวกันได้มีการแจกจ่ายใบปลิวประกาศ "คณะราษฎร" ออกไปในเขตกรุงเทพฯ โดยมีใจความว่า คณะราษฎรได้จับกุมเจ้านายแล้ว ถ้ามีบุคคลต่อต้านคณะราษฎร จะถูกปราบปราม และไม่รับรองความปลอดภัยในชีวิตของเจ้านาย ในขณะเดียวกันได้มีประกาศคณะราษฎรที่มีการจัดพิมพ์เรียบร้อย และมีเนื้อหายืดยาว ประกาศนี้แสดงความรู้สึกของคณะราษฎรต่อระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างไม่ปิดบัง ในที่นี้ผู้เขียนขอยกคำประกาศคณะราษฎร ที่มีเนื้อหาความดังต่อไปนี้

"...เมื่อกษัตริย์องค์นี้ได้ครองราชสมบัติสืบต่อพระเชษฐานั้น ในชั้นต้นราษฎรได้หวังกันว่า กษัตริย์องค์ใหม่นี้คงจะปกครองราษฎรให้ร่มเย็น แต่การณ์หาเป็นไปตามความหวังที่คิดไม่ กษัตริย์คงทรงอำนาจอยู่เหนือกฎหมายตามเดิม ทรงแต่งตั้งญาติวงศ์และคนสอพลอไร้คุณงามความรู้ให้ดำรงตำแหน่งที่สำคัญๆ ไม่ทรงฟังเสียงราษฎร ปล่อยให้ข้าราชการใช้อำนาจหน้าที่ในทางทุจริต มีการรับสินบนในการก่อสร้าง ซื้อของใช้ในราชการ หากำไรในการเปลี่ยนราคาเงิน ผลาญเงินทองของประเทศ ยกพวกเจ้าขึ้นให้สิทธิพิเศษมากกว่าราษฎร ปกครองโดยขาดหลักวิชา ปล่อยให้บ้านเมืองเป็นไปตามยถากรรม ดังที่จะเห็นได้ในความตกต่ำในเศรษฐกิจ และความฝืดเคืองในการทำมาหากิน ซึ่งราษฎรได้รู้กันอยู่ทั่วไปแล้ว รัฐบาลของกษัตริย์เหนือกฎหมายมิสามารถแก้ไขให้ฟื้นขึ้นได้ การที่แก้ไขไม่ได้ก็เพราะรัฐบาลของกษัตริย์นี้มิได้ปกครองประเทศเพื่อราษฎรตามที่รัฐบาลอื่นๆ ได้กระทำกัน รัฐบาลของกษัตริย์ได้ถือเอาราษฎรเป็นทาส (ซึ่งเรียกว่าไพร่บ้างข้าบ้าง) เป็นสัตว์เดรัจฉาน ไม่นึกว่าเป็นมนุษย์ เพราะฉะนั้นแทนที่จะช่วยราษฎรกลับพากันทำนาบนหลังราษฎร จะเห็นได้ว่าภาษีอากรที่บีบคั้นเอาจากราษฎรนั้น กษัตริย์ได้หักเอาไว้ใช้ส่วนตัว ปีหนึ่งเป็นจำนวนหลายล้าน ส่วนราษฎรสิ กว่าจะหาได้แต่น้อยเลือดตาแทบกระเด็น ถึงคราวเสียภาษีราชการหรือภาษีส่วนตัว ถ้าไม่มีเงินรัฐบาลก็ยึดทรัพย์หรือใช้งานโยธา แต่พวกเจ้ากลับนอนกินกันเป็นสุขไม่มีประเทศใดในโลกจะให้เงินเจ้ามากเช่นนี้ นอกจากพระเจ้าซาร์และพระเจ้าไกเซอร์เยอรมัน ซึ่งชนชาตินั้นได้โค่นราชบัลลังก์เสียแล้ว

รัฐบาลของกษัตริย์ได้ปกครองอย่างหลอกลวงไม่ซื่อตรงต่อราษฎร มีเป็นต้นว่าจะบำรุงการทำมาหากินอย่างโน้นอย่างนี้ แต่ครั้นคอยๆ ก็เหลวไป หาได้ทำจริงจังไม่ มิหนำซ้ำกล่าวหมิ่นประมาทราษฎรผู้มีบุญคุณเสียภาษีอากรให้พวกเจ้าได้กิน ว่าราษฎรมีเสียงทางการเมืองไม่ได้ เพราะราษฎรยังโง่ เจ้าก็โง่เพราะเป็นคนชาติเดียวกัน ที่ราษฎรรู้เท่าไม่ถึงเจ้านั้นไม่ใช่เพราะโง่ เป็นเพราะขาดการศึกษาที่พวกเจ้าปกปิดไว้ไม่ให้เรียนเต็มที่ เพราะเกรงว่าราษฎรได้มีการศึกษาก็จะรู้ความชั่วร้ายที่ทำไว้ และคงจะไม่ยอมให้ทำนาบนหลังคน

ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่า ประเทศเรานี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่ของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวง บรรพบุรุษของราษฎรเป็นผู้กู้ให้ประเทศมีอิสรภาพพ้นจากข้าศึก พวกเจ้ามีแต่ชุบมือเปิบและกวาดทรัพย์สมบัติเข้าไว้ตั้งหลายร้อยล้าน เงินเหล่านี้เอามาจากไหน ก็เอามาจากราษฎรเพราะวิธีทำนาบนหลังคนนั่นเอง บ้านเมืองกำลังอัตคัดฝืดเคือง ชาวนาและพ่อแม่ทหารต้องทิ้งนาเพราะทำไม่ได้ผล รัฐบาลไม่บำรุง รัฐบาลไล่คนงานออกอย่างเกลื่อนกลาด นักเรียนที่เรียนสำเร็จแล้ว และทหารที่ปลดกองหนุนไม่มีงานทำจะต้องอดอยากไปตามยถากรรม เหล่านี้เป็นผลของรัฐบาลของกษัตริย์เหนือกฎหมายบีบคั้นข้าราชการผู้น้อยนายสิบและเสมียน เมื่อให้ออกจากงานแล้วไม่ให้เบี้ยบำนาญ ความจริงควรเอาเงินที่กวาดรวบรวมไว้มาจัดบ้านเมืองให้ราษฎรมีงานทำ จึงจะสมควรที่สนองคุณราษฎร ซึ่งได้เสียภาษีอากรให้พวกเจ้าได้ร่ำรวยมานาน แต่พวกเจ้าก็หาได้ทำอย่างใดไม่ คงสูบเลือดกันเรื่อยไป เงินมีเหลือเท่าไรก็เอาฝากต่างประเทศคอยเตรียมหนีเมื่อบ้านเมืองทรุดโทรม ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก การเหล่านี้ย่อมชั่วร้าย

เหตุฉะนั้นราษฎรข้าราชการทหารและพลเรือนที่รู้เท่าถึงการกระทำอันชั่วร้ายของรัฐบาลดังกล่าวแล้ว จึงรวมกำลังตั้งเป็นคณะราษฎรขึ้นและได้ยึดอำนาจของรัฐบาลของกษัตริย์ไว้แล้ว คณะราษฎรเห็นว่าการที่จะแก้ความชั่วร้ายก็โดยที่จะต้องจัดการปกครองโดยมีสภา จะได้ช่วยกันปรึกษาหารือ หลายๆ ความคิดดีกว่าความคิดเดียว ส่วนผู้เป็นประมุขของประเทศนั้น คณะราษฎรไม่มีประสงค์ทำการชิงราชสมบัติ ฉะนั้นจึงขอเชิญให้กษัตริย์องค์นี้ดำรงตำแหน่งกษัตริย์ต่อไป แต่จะต้องอยู่ใต้กฎหมายธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน จะทำอะไรโดยลำพังไม่ได้ นอกจากความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร คณะราษฎรได้แจ้งความเห็นนี้ให้กษัตริย์ทราบแล้ว เวลานี้ยังอยู่ในความรับตอบ ถ้ากษัตริย์ตอบปฏิเสธหรือไม่ตอบภายในกำหนดโดยเห็นแก่ส่วนตน ว่าจะถูกลดอำนาจลงมาก็จะได้ชื่อว่าทรยศต่อชาติ และก็เป็นการจำเป็นที่ประเทศจะต้องมีการปกครองอย่างประชาธิปไตย กล่าวคือ ประมุขของประเทศจะเป็นบุคคลสามัญ ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้ตั้งขึ้น อยู่ในตำแหน่งตามกำหนดเวลา ตามวิธีนี้ราษฎรพึงหวังเถิดว่า ราษฎรจะได้รับความบำรุงอย่างดีที่สุด ทุกๆ คนจะมีงานทำเพราะประเทศของเราเป็นประเทศที่อุดมอยู่แล้วตามสภาพ เมื่อเราได้ยึดเงินที่พวกเจ้ารวบรวมไว้จากการทำนาบนหลังคนตั้งหลายร้อยล้านมาบำรุงประเทศขึ้นแล้ว ประเทศจะต้องเฟื่องฟูขึ้นเป็นแม่นมั่น การปกครองซึ่งคณะราษฎรจะพึงกระทำก็คือ จำต้องจัดวางโครงการอาศัยหลักวิชา ไม่ทำไปเหมือนคนตาบอดเช่นรัฐบาลที่มีกษัตริย์เหนือกฎหมายทำมาแล้ว เป็นหลักใหญ่ๆ ที่คณะราษฎรวางไว้มีอยู่ว่า

๑. จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในทางการเมือง การศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง

๒. จะต้องรักษาความปลอดภัยภายในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก

๓. ต้องบำรุงความสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะจัดหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก

๔. จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอกัน (ไม่ใช่พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่)

๕. จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก ๕ ประการดังกล่าวข้างต้น

๖. จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร

ราษฎรทั้งหลายจงพร้อมใจช่วยคณะราษฎรให้ทำกิจอันคงจะอยู่ชั่วฟ้าดินนี้ให้สำเร็จ คณะราษฎรขอให้ทุกคนที่มิได้ร่วมมือเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลกษัตริย์เหนือกฎหมายพึงตั้งอยู่ในความสงบและตั้งหน้าหากิน อย่าทำการใดๆ อันเป็นการขัดขวางต่อคณะราษฎรนี้ เท่ากับราษฎรช่วยประเทศและช่วยตัวราษฎร บุตร หลาน เหลนของตนเอง ประเทศจะมีความเป็นเอกราชอย่างพร้อมมูล ราษฎรจะได้รับความปลอดภัย ทุกคนจะต้องมีงานทำ ทุกคนจะมีสิทธิเสมอกันและมีเสรีภาพพ้นจากการเป็นไพร่เป็นข้าทาส พวกเจ้าหมดสมัยที่เจ้าจะทำนาบนหลังราษฎร สิ่งที่ทุกคนพึงปรารถนา คือความสุขความเจริญอย่างประเสริฐ ซึ่งเรียกเป็นศัพท์ว่า "ศรีอาริย" นั้นก็จะพึงบังเกิดขึ้นแก่ราษฎรถ้วนหน้า [ผู้แปลใช้เอกสารอ้างอิงจาก สกล เตมิยสูต (รวบรวม). จดหมายเหตุ ประวัติการณ์เปลี่ยนแปลงพระธรรมนูญการปกครองประเทศสยามใหม่. พระนคร : โรงพิมพ์อักษรนิติ, ๒๔๗๕, หน้า ๕-๑๓.]

ถ้าเปรียบเทียบหนังสือกราบบังคมทูลของ ๓ พันเอก กับประกาศคณะราษฎรที่แจกจ่ายในเขตพระนครแล้ว พิจารณาทั้ง ๒ ฉบับ ทุกคนก็คงรู้ได้ทันทีว่า หนังสือที่ทูลเกล้าฯ ถวายถึงพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ เป็นการขอร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นระบอบรัฐธรรมนูญราชาธิปไตย แต่ประกาศคณะราษฎรได้แสดงความคิดว่า หากมีความจำเป็นประเทศสยามอาจปกครองในระบอบสาธารณรัฐ และยังให้ข้อคิดอีกด้วยว่า ระบอบสาธารณรัฐดีกว่าระบอบรัฐธรรมนูญราชาธิปไตย ในความคิดของผู้เขียน ส่วนหนึ่งของคณะราษฎรมีอุดมการณ์สาธารณรัฐนิยมอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะฉะนั้นคำประกาศทำนองนี้จึงถูกร่างขึ้นมา แต่ภายในคณะราษฎรนั้นมีหลายกลุ่ม และมีความคิดเห็นไม่ตรงกันในประเด็นที่ว่า หากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงไม่ตอบตกลงแล้ว วิธีการดำเนินการต่อไปจะเป็นอย่างไร ในที่สุดเมื่อมีการลงมือจริงๆ ข้อเสนอของฝ่ายทหารนั้นได้รับการปฏิบัติ จึงมีแต่การเรียกร้องระบอบรัฐธรรมนูญราชาธิปไตยเพียงประการเดียว หนังสือกราบบังคมทูลถึงพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ จึงปรากฏเป็นเนื้อหาดังกล่าว ส่วนที่เป็นประกาศของคณะราษฎรนั้น ไม่มีเวลาจะปรับปรุงเนื้อหาใหม่ ตามที่ฝ่ายทหารคิดเห็น ในทัศนะของผู้เขียนนั้น การแจกจ่ายประกาศของคณะราษฎรน่าจะเกิดจากการขาดความรอบคอบ อย่างไรก็ตามคำประกาศนี้ได้สร้างช่องว่างที่ประสานได้ยากในโอกาสต่อไประหว่างผู้นำคณะราษฎร กับฝ่ายพระมหากษัตริย์และเจ้านายส่วนหนึ่ง และประกาศนี้เองเป็นจุดเริ่มต้นของการโจมตีจากฝ่ายตรงข้ามว่าคณะราษฎรมีพวกคอมมิวนิสต์อยู่ด้วย ในประกาศดังกล่าวข้างต้นได้กล่าวถึงการยึดทรัพย์สินของเจ้านาย เรื่องนี้ฝ่ายตรงข้ามสามารถยกขึ้นเป็นประเด็น ซึ่งเป็นที่เข้าใจได้ แต่การโจมตีว่ามีฝ่ายคอมมิวนิสต์อยู่ในคณะราษฎรนั้น ผู้เขียนมีความเห็นว่าไม่ตรงกับข้อเท็จจริงแต่ประการใด

เมื่อคณะราษฎรยึดอำนาจในเขตพระนครได้แล้ว ในบ่ายวันนั้นได้เรียกเสนาบดีและปลัดทูลฉลองให้ต้องเข้ามาร่วมประชุม ฝ่ายเสนาบดีที่ไม่ได้ประชุม ได้แก่ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยที่ถูกจับกุมอยู่ และเสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคมซึ่งอยู่ที่หัวหิน เสนาบดีกระทรวงกลาโหมและรองเสนาบดี ซึ่งเดินทางไปราชการในแหลมมลายู เสนาบดีทั้งสี่นี้เป็นเจ้านาย ส่วนเสนาบดีอื่นๆ มาประชุม (และที่เป็นเจ้านาย ได้แก่ เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการคลัง กระทรวงศึกษาธิการ) การประชุมที่พระที่นั่งอนันตสมาคมในช่วงเวลา ๑๖ ถึง ๑๘ นาฬิกา รวม ๒ ชั่วโมง และได้ให้พวกเสนาบดีสัญญาว่าจะทำหน้าที่ที่รับผิดชอบเหมือนอย่างเดิมภายใต้การควบคุมของคณะราษฎร และในการประชุมนี้ แผนการดำเนินงานในระบบสภาผู้แทนราษฎรของคณะราษฎรถูกอธิบาย และมีการโต้เถียงกันระหว่างเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ กับผู้นำคณะราษฎรเกี่ยวกับวิธีการแจ้งกับนานาประเทศว่าจะดำเนินการอย่างไร หลังจากการประชุมเสร็จแล้ว ได้มีประกาศซึ่งลงนามโดยพระยาพหลพลพยุหเสนา มีเนื้อความว่า คณะราษฎรได้ยึดอำนาจการเมือง โดยมีวัตถุประสงค์จะสถาปนารัฐบาลในระบอบรัฐธรรมนูญ และสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตทรงได้เห็นชอบด้วยแล้ว ข้าราชการทุกคนให้ทำหน้าที่ไปตามปกติ หากผู้ใดละทิ้งหน้าที่จะต้องมีความผิด ในขณะเดียวกันได้มีการส่งคนไปแจ้งต่อสถานทูตและสถานกงสุลของทุกประเทศ โดยมีหนังสือบันทึกด้วยวาจาของเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ มีเนื้อความว่า "รัฐบาลชั่วคราว ซึ่งปกครองประเทศไทยในปัจจุบัน จะรักษาความสงบเรียบร้อย ปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของทุกคนที่อยู่ในราชอาณาจักร จะจัดให้มีมาตรการทุกประการที่มีความจำเป็น และรักษาสนธิสัญญาและพันธะต่อต่างประเทศทุกประการ"



การเสด็จกลับพระนคร

ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

ในเวลา ๑๐ โมงครึ่งของวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๑๙๓๒ มีโทรเลขจากหัวหน้าที่ส่งไปหัวหิน ถึงพระยาพหลพลพยุหเสนา โดยโทรเลขฉบับแรกกล่าวว่า พระมหากษัตริย์ยอมรับข้อเรียกร้องของคณะราษฎรแล้ว และพระองค์ทรงตั้งพระราชหฤทัยจะเสด็จนิวัตพระนครทางบก ขอให้ดำเนินการด้วย หลังจากนั้นมีโทรเลขฉบับที่ ๒ โดยฉบับนี้เป็นพระราชหัตถเลขาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ มีถึงคณะราษฎร ซึ่งเนื้อความในโทรเลขฉบับนี้แสดงให้เห็นถึงความรู้สึกสะเทือนใจอย่างมากของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ เอง และทรงแย้มพรายว่าพระองค์อาจจะทรงสละราชสมบัติ โทรเลขฉบับที่ ๒ มีเนื้อหาดังนี้

"...ตามที่คณะทหารมีความปรารถนาจะเชิญให้ข้าพเจ้ากลับพระนคร เป็นกษัตริย์อยู่ใต้พระธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน ข้าพเจ้าเห็นแก่ความเรียบร้อยของอาณาประชาราษฎร์ ไม่อยากให้เสียเลือดเนื้อกับทั้งเพื่อจัดการโดยละม่อมละไม ไม่ให้ขึ้นชื่อว่าจลาจลเสียหายแก่บ้านเมือง และความจริงข้าพเจ้าคิดอยู่แล้วที่จะเปลี่ยนแปลงทำนองนี้ คือมีพระเจ้าแผ่นดินปกครองโดยธรรมนูญ จึงยอมรับที่จะช่วยเป็นตัวเชิด เพื่อให้คุมโครงการตั้งรัฐบาลให้เป็นรูปตามวิธีเปลี่ยนแปลงตั้งพระธรรมนูญโดยสะดวก เพราะว่าข้าพเจ้าจะไม่ยอมรับเป็นตัวเชิด นานาประเทศคงจะไม่รับรองรัฐบาลใหม่นี้ ซึ่งจะเป็นความลำบากยิ่งขึ้นหลายประการ ความจริงข้าพเจ้าเองในเวลานี้ก็ทราบกันอยู่แล้วว่ามีอาการทุพพลภาพ และไม่มีลูกสืบวงศ์สกุล และจะไม่ทนงานไปนานเท่าใดนัก ทั้งไม่มีความปรารถนามักใหญ่ใฝ่สูงให้เกิดศักดิ์ และความสามารถที่จะช่วยพยุงชาติของเราให้เจริญเทียมหน้าเขาบ้าง พูดมานี้เป็นความจริงใจเสมอ" [ผู้แปลใช้เอกสารอ้างอิงจาก สกล เตมิยสูต (รวบรวม). จดหมายเหตุ ประวัติการณ์เปลี่ยนแปลงพระธรรมนูญการปกครองประเทศสยามใหม่. พระนคร : โรงพิมพ์อักษรนิติ, ๒๔๗๕, หน้า ๓๔-๓๕.]

ในเวลาเที่ยงคืนของวันที่ ๒๕ มิถุนายน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ และพระราชินีเสด็จกลับถึงพระนครโดยทางรถไฟ พร้อมกับสมเด็จฯ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ (พ่อตา) ซึ่งอยู่ร่วมในขบวนเสด็จฯ ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ และพระราชินีที่หัวหิน สมเด็จฯ กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ซึ่งแจ้งข่าวการปฏิวัติครั้งแรกที่หัวหินก็ร่วมขบวนเสด็จฯ ด้วย ในช่วงเช้าตรู่ของวันปฏิวัติ ได้มีหัวขบวนรถจักรวิ่งออกจากกรุงเทพฯ ไปอย่างรวดเร็ว แต่ในครั้งนี้ได้เดินทางกลับมาถึงสถานีรถไฟจิตรลดา ซึ่งดูคล้ายกับ "ม้า" ที่หมดกำลังของนายพลที่แพ้สงคราม หัวขบวนรถจักรมีตู้ขบวนเพียงตู้เดียว ภายในและภายนอกสถานีรถไฟจิตรลดา มีทหารฝ่ายปฏิวัติรักษาการอยู่ ผู้ที่มารับเสด็จ ซึ่งเป็นผู้ที่สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ มีเสนาบดีกระทรวงวัง [เจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์, ม.ร.ว.เย็น อิสรเสนา, ๑๘๖๓-๑๙๔๑-ผู้แปล] เพียงคนเดียว เสนาบดีกระทรวงวังนี้มีอายุมากแล้ว เสนาบดีกระทรวงวังได้มองพระพักตร์ด้วยความสลดใจโดยไม่ได้กล่าวอะไร พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ และพระราชินีไม่ได้เสด็จไปพระราชวังดุสิต ซึ่งเป็นที่ประทับประจำ แต่พระองค์เสด็จวังศุโขทัย ซึ่งเป็นวังที่ประทับก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์ โดยมีการรักษาการณ์อย่างเข้มงวดของฝ่ายทหารและตำรวจ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์นั้น มีพระนามว่ากรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา รถยนต์ที่ใช้เสด็จไม่ใช่รถพระที่นั่ง แต่ใช้รถยนต์ธรรมดา ซึ่งรัฐบาลชั่วคราวจัดถวาย จึงทำให้เกิดความรู้สึกว่าไม่ได้ดำรงพระยศเป็นพระมหากษัตริย์เหมือนเดิม และทำให้คนดูเข้าใจได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงของโลกและมีชะตากรรมของพระมหากษัตริย์เกิดขึ้นอย่างน่าเศร้าสลดใจ



ประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว

ช่วงเช้าของวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๑๙๓๒ ผู้นำคณะราษฎรได้ขอเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ผ่านเสนาบดีกระทรวงวัง เวลา ๑๑.๑๕ นาฬิกา พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงให้ผู้นำคณะราษฎร รวม ๙ คนเข้าเฝ้า โดยมีสมุหพระราชมณเฑียร (พระยาสุริวงศ์วิวัฒน์) เป็นผู้นำคณะราษฎรเข้าเฝ้า ฝ่ายคณะราษฎรได้ขอให้มีพระบรมราชโองการอภัยโทษต่อคนที่เข้าร่วมการปฏิวัติ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงรับทันทีและทรงลงพระนามประกาศ พระบรมราชโองการฉบับนี้ได้ประกาศในช่วงเวลาบ่ายของวันนั้น ประกาศนั้นมีข้อความดังนี้

"พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศจงทราบทั่วกันว่า

การที่คณะราษฎรคณะหนึ่ง ซึ่งมีความปรารถนาอันแรงกล้า ในอันที่จะแก้ไขขจัดความเสื่อมโทรมบางประการของรัฐบาลสยามและชาติไทยให้หายไป แล้วจะพากันจรรโลงสยามรัฐและชาติไทยให้เจริญรุ่งเรืองวัฒนาถาวรมั่นคงเท่าเทียมกับชาติและประเทศอื่นต่อไป จึงพากันยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินไว้ด้วยความมุ่งหมายจะให้มีธรรมนูญปกครองแผ่นดินเป็นข้อใหญ่ แล้วร้องขอไปยังเราเพื่อให้เราคงดำรงเป็นกษัตริย์แห่งสยามรัฐต่อไป ภายใต้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินนั้น ทั้งนี้แม้ว่าการจะเป็นไปโดยขัดกับความพอพระทัยพระบรมวงศานุวงศ์บางพระองค์ และขัดกับสมาชิกในรัฐบาลเดิมบางคนก็ดี ก็เป็นธรรมดาที่จะต้องเป็นไปเช่นนั้นในทุกประเทศ ไม่ว่าจะเจริญรุ่งเรืองแล้วเท่าไรๆ ก็ไม่อาจจะก้าวล่วงการนี้เสียได้ ถึงกระนั้นก็พึ่งปรากฏเป็นประวัติการณ์ครั้งแรกของโลกที่การณ์ได้เป็นไปโดยราบรื่นปกติมิได้รุนแรง

และแม้จะได้อัญเชิญพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการบางคนมาประทับและไว้ในพระที่นั่งอนันตสมาคมก็เพียงเพื่อประกันภัยของคณะ และเพื่อให้ดำเนินการลุล่วงไปเท่านั้น หาได้ทำการประทุษร้ายหรือหยาบหยามอย่างใด และไม่มุ่งหมายจะกระทำเช่นนั้นด้วย ได้แต่บำรุงรับไว้ด้วยดี สมควรแก่พระเกียรติยศทุกประการ

อันที่จริงการปกครองด้วยวิธีมีพระธรรมนูญการปกครองนี้ เราก็ได้ดำริอยู่ก่อนแล้ว ที่ราษฎรคณะนี้กระทำมาเป็นการถูกต้องตามนิยมของเราอยู่ และด้วยเจตนาดีต่อประเทศชาติอาณาประชาชนแท้ๆ จนหาการกระทำหรือแต่เพียงเจตนาชั่วร้ายแม้แต่น้อยมิได้

เหตุฉะนี้จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกำหนดดังต่อไปนี้

มาตรา ๑ พระราชกำหนดนี้ให้เรียกว่า พระราชกำหนดนิรโทษกรรมในคราวเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน พุทธศักราช ๒๔๗๕

มาตรา ๒ ให้ใช้พระราชกำหนดนี้ตั้งแต่ขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงลงพระบรมนามาภิไธยเป็นต้นไป

มาตรา ๓ บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นเหล่านี้ไม่ว่าของบุคคลใดๆ ในคณะราษฎรนี้ หากว่าจะเป็นการละเมิดบทกฎหมายใดๆ ก็ดี ห้ามมิให้ถือว่าเป็นการละเมิดกฎหมายเลย" [ผู้แปลใช้เอกสารอ้างอิงจาก สกล เตมิยสูต (รวบรวม). จดหมายเหตุ ประวัติการณ์เปลี่ยนแปลงพระธรรมนูญการปกครองประเทศสยามใหม่. พระนคร : โรงพิมพ์อักษรนิติ, ๒๔๗๕, หน้า ๔๑-๔๔.]

หลังจากนั้นฝ่ายคณะราษฎรได้อ่านร่างธรรมนูญการปกครองแผ่นดินที่เตรียมไว้ และขอให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงลงพระนามทันที แต่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงกล่าวว่า พระองค์มีพระราชประสงค์ขออ่านดูก่อน ฝ่ายคณะราษฎรได้ให้เวลา ๑ ชั่วโมง และได้ขอร้องให้พระองค์ทรงอ่านทั้งหมดโดยเร็ว แต่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงไม่สนพระทัย ได้เสด็จไปยังห้องอื่น ๑ ชั่วโมงผ่านไป ตรัสว่า เวลามีน้อย และมีบางเรื่องที่ไม่เข้าใจทั้งหมด จึงไม่สามารถลงพระนามได้ พระองค์ทรงไม่ยอมลงพระนามโดยง่าย ในท้ายที่สุดฝ่ายคณะราษฎรได้ให้เวลา ๑ วันเต็มๆ จนถึงเวลา ๑๗ นาฬิกาของวันที่ ๒๗ มิถุนายน [ทางเอกสารฝ่ายญี่ปุ่น หอจดหมายเหตุการทูตประเทศญี่ปุ่น A600, 1-27-2 ยาตาเบรายงานถึงรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศญี่ปุ่นในวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๑๙๓๒ (Ko 107) กล่าวว่า ยาตาเบได้พบกับสมุหพระราชมณเฑียรในเวลาเย็นวันที่ ๒๖ มิถุนายน และได้ทราบจากบุคคลท่านนี้โดยตรง โดยที่ในวันเกิดเหตุสมุหพระราชมณเฑียรได้เดินทางไปเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ที่พระราชวังไกลกังวล หัวหิน และได้ตามเสด็จกลับพระนครพร้อมกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ-ผู้แปล นอกจากนี้จากบันทึกส่วนตัวของพระยาศรยุทธเสนีได้ระบุว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ขอเวลา ๗ วัน พลเรือตรี พระยาศรยุทธเสนีนั้นเป็นผู้นำคณะราษฎรเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ที่วังศุโขทัย-ผู้แปล] ในการเข้าเฝ้าครั้งนี้ รวมทั้งในการประชุมกับเสนาบดีในวันก่อน ผู้เขียนได้ทราบว่าหลวงประดิษฐ์มนูธรรมเป็นผู้นำการเจรจา การเรียกร้องของหลวงประดิษฐ์มนูธรรมมีลักษณะไม่ประนีประนอม แต่ท่าทางและมารยาทนั้น มีความสุภาพและอ่อนน้อมมาก

เวลา ๑๕.๓๐ น. ของวันที่ ๒๗ มิถุนายน ผู้นำคณะราษฎรได้ไปที่วังศุโขทัยอีกครั้งหนึ่ง เพื่อรับฟังคำตอบของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ เวลา ๑๗ นาฬิกา ตามที่ตกลงกันไว้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้เสด็จออกมา ความรู้สึกของพระองค์ในช่วงนี้ ไม่อาจทราบทั้งหมดได้ แต่เท่าที่ได้มีการแย้มออกมาอย่างลับๆ มีข้อความที่ได้รับทราบมาว่า พระองค์ได้ตรัสกับผู้นำคณะราษฎรดังต่อไปนี้

"ข้าพเจ้าได้ลงนามในรัฐธรรมนูญนี้ และระบอบรัฐธรรมนูญราชาธิปไตยได้บังเกิดขึ้นแล้ว ข้าพเจ้ามีความประสงค์ขอสละราชสมบัติ ข้าพเจ้ายอมรับคำวิจารณ์ที่ว่าข้าพเจ้าไร้ความสามารถ และไม่สามารถสร้างความเจริญให้บังเกิดขึ้นได้ เรื่องนี้ข้าพเจ้าก็ยอม แต่ข้าพเจ้าได้ทุ่มเทความสามารถทั้งหมดโดยความสุจริตใจเพื่อความผาสุกของประชาชน แต่ประกาศของคณะราษฎรนั้น ได้วิจารณ์และโจมตีการปกครองของข้าพเจ้าอย่างรุนแรงมากที่สุด การถูกโจมตีขนาดนี้ ไม่มีกษัตริย์พระองค์ใดสามารถดำรงพระยศอยู่ได้ ข้าพเจ้าไม่มีรัชทายาท และพลานามัยก็ไม่แข็งแรง ข้าพเจ้าน่าจะสละราชสมบัติและใช้ชีวิตที่เหลือโดยสงบสุข ชีวิตของข้าพเจ้าและพระราชินีทั้งสองคน มีค่าใช้จ่ายไม่มาก"

ฝ่ายผู้นำคณะราษฎร เมื่อได้รับฟังพระราชดำรัสแล้ว ก็ได้อ้อนวอนต่อพระองค์ และสัญญาว่าจะแก้ไขบรรเทาเนื้อหาของประกาศคณะราษฎร ฉะนั้นจึงสามารถเปลี่ยนพระราชประสงค์อย่างเด็ดเดี่ยวที่จะสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้เป็นผลสำเร็จ

เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้ทรงเปลี่ยนพระราชหฤทัยแล้ว พระองค์ได้เสนอว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาสาระของร่างธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน แต่ขอแก้ไขเรื่องเดียว ที่ไม่มีความสำคัญเท่าใดนัก ซึ่งผู้นำคณะราษฎรก็ยอมรับ หลังจากนั้นได้ทรงหยิบปากกาขึ้นอย่างช้าๆ และเขียนคำว่า "ชั่วคราว" ไว้ในย่อหน้าแรกของร่างธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน และทรงลงพระนามในร่างธรรมนูญการปกครองแผ่นดินนั้นด้วย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้ทรงใช้วิธีการรุกที่แปลก คือ พระองค์ท่านทรงมีความคิดว่า ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินที่เกิดอย่างชุลมุนนั้น ทำให้เป็นธรรมนูญการปกครองแผ่นดินชั่วคราว และตั้งคณะกรรมการยกร่างธรรมนูญการปกครองแผ่นดินขึ้นใหม่ เพื่อการสถาปนาธรรมนูญการปกครองแผ่นดินขึ้นอย่างถาวรต่อไป ในขณะนั้นมีข่าวลือออกมาว่า มีการแก้ไขธรรมนูญการปกครองแผ่นดินในประเด็นที่ไม่สำคัญเกิดขึ้น แต่เมื่อได้ทราบว่า การแก้ไขนั้นเป็นเรื่องอะไรแล้ว ทำให้รู้ได้ว่าเรื่องที่แก้ไขนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยหากจะเปรียบเทียบธรรมนูญการปกครองแผ่นดินชั่วคราว [ต่อไปนี้จะเรียกว่ารัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว-ผู้แปล] กับรัฐธรรมนูญฉบับถาวรแล้ว ประเด็นในเรื่องเกียรติยศและพระราชอำนาจของกษัตริย์มีความแตกต่างกันมาก จากนี้เราดูออกได้ว่า พระราชปฏิภาณไหวพริบของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ นั้น มีความรอบคอบ ทั้งๆ ที่ทรงอยู่ในสถานการณ์ที่ถูกบีบบังคับและมีความตึงเครียด อย่างไรก็ตามดังที่กล่าวมาแล้ว มีพระราชประสงค์จะเริ่มระบอบรัฐธรรมนูญ และได้เตรียมการร่างรัฐธรรมนูญไว้แล้ว แต่ก็ต้องทรงยอมรับการบีบบังคับของคณะราษฎรในสถานการณ์ดังกล่าว ความยากลำบากในพระราชหฤทัยของพระองค์เป็นอย่างไร ก็เกินกว่าที่เราจะพอคาดเดาได้ พวกข้าราชบริพารที่อยู่ในสถานที่ที่พระองค์ท่านทรงลงพระนามในรัฐธรรมนูญชั่วคราว เมื่อทราบความนึกคิดของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ แล้ว ทุกคนก็ก้มหน้าและส่งเสียงร้องไห้ ซึ่งเรื่องราวก็ควรที่จะเป็นไปเช่นนั้น

รัฐธรรมนูญชั่วคราว ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงลงพระปรมาภิไธยและประกาศในช่วงเช้าของวันถัดไปนั้น มีผลบังคับใช้นับตั้งแต่วันที่ลงพระนาม ซึ่งก็คือวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๑๙๓๒ คณะราษฎรซึ่งก่อการปฏิวัติโดยฉับพลันในช่วงเช้าตรู่ของวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๑๙๓๒ ได้ใช้เวลาในวันนั้นเพียง ๓ ชั่วโมง ก็สามารถยึดอำนาจสำเร็จ และใช้เวลาอีกเพียง ๔ วัน ก็สามารถสถาปนาระบอบรัฐธรรมนูญขึ้นได้

นับตั้งแต่วันนั้นมา วันที่ ๒๗ มิถุนายน ได้ถูกจัดเป็นวันสำคัญของชาติ และมีการจัดงานเฉลิมฉลองทุกปี



*ประวัติยาสุกิจิ ยาตาเบ

ยาสุกิจิ ยาตาเบ เกิดเมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๑๘๘๒ ที่จังหวัดยามากูจิ สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยฮิโตสุบาชิ ในปี ๑๙๐๗ โดยศึกษาในแผนกกงสุลได้เป็นที่หนึ่ง ในปี ๑๙๐๘ ได้สอบเป็นนักการทูต และได้รับหน้าที่ทางการทูตประจำประเทศจีน ต่อมาได้ประจำเมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย (ประมาณ ๑ ปีเศษ) ประจำเมืองบอมเบย์ ประเทศอินเดีย (๒ ปี) และต่อมาในปี ๑๙๑๖ ได้รับการแต่งตั้งเป็นกงสุลเมืองอะมอย ประเทศจีน ในปี ๑๙๑๙ เดินทางกลับประเทศญี่ปุ่น ปี ๑๙๒๑ เป็นหัวหน้ากองที่สาม ของกรมข่าว กระทรวงการต่างประเทศ ในปี ๑๙๒๔ เป็นเลขานุการเอกประจำสถานเอกอัครราชทูตประจำกรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี ๑๙๒๕ เป็นกงสุลใหญ่ประจำชินเตา ประเทศจีน และเดินทางกลับจากประเทศจีน ในปี ๑๙๒๗

วันที่ ๑๖ มีนาคม ๑๙๒๘ เมื่อมีอายุได้ ๔๖ ปี ยาสุกิจิ ยาตาเบ ได้รับการแต่งตั้งเป็นอัครราชทูตผู้มีอำนาจเต็มประจำประเทศสยาม ได้เดินทางถึงกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๑๙๒๘ และเดินทางออกจากประเทศสยามในวันที่ ๑๕ มกราคม ๑๙๓๖ โดยทำหน้าที่ประจำประเทศสยาม (ไทย) รวม ๗ ปีเศษ

ยาสุกิจิ ยาตาเบ ได้ลาออกจากราชการในปี ๑๙๓๗ เมื่ออายุ ๕๕ ปี จนถึงปี ๑๙๔๑ ได้เป็นประธานสมาคมญี่ปุ่น-ไทย ในช่วงเดือนกรกฎาคม ๑๙๔๒ ได้ร่วมเดินทางมาเยี่ยมเยือนประเทศไทยพร้อมกับคณะของอดีตนายกรัฐมนตรีฮิโรตะ

ยาสุกิจิ ยาตาเบ ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ ๘ ตุลาคม ๑๙๕๘ สิริอายุได้ ๗๖ ปี

No comments: