Sunday, July 31, 2005

แวบหนึ่งที่ใจโล่งโปร่งสบาย (Detachment)


โดย สุชา

ฉันเพิ่งทำคอมพิวเตอร์พัง ที่ีจริงก็พูดเกินไป ไม่ถึงกับพังหรอก กดปุ่มผิดแล้วไฟล์งาน รูป และอะไรต่อมิอะไร มันหายไปหมด ฮาร์ดดิสก์โปร่งโล่งสะอาด ไม่มีอะไรเก็บสะสม

ใครจะโง่เง่าได้ขนาดใหญ่หลวงเท่านี้ ยิ่งนึกยิ่งฉุน แล้วที่กดผิดไปนี่มันยกเลิก (undo) ได้ไหมนี่ ฝันไปหรือเปล่า ตื่นๆ

รูปที่กลับไปเที่ยวเมืองไทยปีที่แล้ว ถ่ายกับพ่อแม่ กับเพื่อน ไม่ได้เจอกันเป็นปีๆ รูปงานศิลปะที่ไปถ่ายตามมิวเซียมนับไม่ถ้วน รูปตอนผมสั้น
ตอนผมยาว รูปกับคนน่ารักๆหลายคน รูปที่ไปเที่ยวกันหลายที่ ไม่อยากจะนึกรวมงานที่กำลังทำอยู่ต้องพรีเซนต์อาทิตย์หน้า

เป็นอากาศธาตุไปแล้ว ไม่มีแม้มวลสารเหลืออยู่

แล้วยังหนังอีกเล่า หนังที่ถ่ายตุ้ยเพื่อนรักดีดดิ้นอย่างน่าฟัดที่สวนลุม ไม่รวมอีกหลายช็อตที่ลีโดดเตะคาราเต้คิก ที่ดูกี่ครั้งก็หัวเราะท้องหงายทุกครั้ง

หายหมด...

แล้วยังบทความหลายอันที่เขียนค้างอยู่อีกล่ะ
ไม่มีแล้ว...
ตื่นซิ
...

ในเมื่อ undo เวลาที่ผ่านไปไม่ได้ และตื่นจากความจริงไปไม่ได้กว่านี้แล้ว ก็มีแต่ความหนักเท่านั้นที่ปกคลุมหัว แล้วฉันจะทำอย่างไรเล่า ถึงข้อมูลดิจิตอลมันจับต้องไม่ได้ แต่มันก็ทำให้แต่ละวันมีอะไรยุ่งๆทำ ถ้าไม่มีอะไรเหลือ ก็ทำอะไรไม่ได้น่ะสิ


จะต้องงมอีกกี่วันถึงจะได้งานกลับคืนมา? คืนนี้จะได้นอนไหม? จะไปหาโปรแกรมอะไรที่ไหนมาแก้ล่ะ?

นึกไปก็ยิ่งมืดมน เก็บข้าวของนั่งรถไฟกลับบ้าน คิดไปจนเหนื่อยถึงกระดูกดำ

พอถึงสถานีใกล้บ้าน ฝนลงเม็ดแฉะไปหมด ร่มก็ไม่มี คงต้องเดินไปแบบเปียกๆนี่แหละ

น้ำฝนนี่มันเย็นฉ่ำดีแท้ จากขาที่เดินฉับๆ ก็ลดสปีดช้าลง ฝนเอ๋ยฝน มาช่วยล้างความกังวลออกไปที

โดยที่ไม่ได้ตั้งใจ น้ำฝนที่ตกมาต้องเนื้อ เรียกใจที่ว้าวุ่นไปอยู่ที่ผิวกายโดยฉับพลัน รู้สึกอย่างกับมีใครมาล้างฮาร์ดดิสก์ ถ้าไม่มีอะไรเหลืออยู่แล้ว จะไปนั่งกังวลอยู่กับอะไรเล่า?

ในเมื่อไม่มีงานต้องสะสางให้สมองยุ่ง ไม่มีรูปใครต่อใครมาให้ใจไปพัวพัน ปีที่แล้วมันผ่านไปแล้ว คืนนี้ฉันคงนอนหลับสบายดี
...

ทะเลาะวิวาทกับใครสักคนจนสมองเครียดข้นทนไม่ไหว ใครคนนั้นเผอิญปัดกาน้ำชาแสนรักตกแตก แทนที่จะรู้สึกฉุนเกรี้ยวด้วยความเสียดาย ใจกลับโล่ง เหมือนกับไม่มีอะไรให้แบกให้ยึดอีกต่อไป สมองที่เครียดขมวดก็กลับคลาย ใครจะตะโกนเถียงต่อให้เสียงดังขนาดไหนก็ไม่กระทบกระเทือนแล้ว กาน้ำชามันแตกไปแล้ว
...

ได้ยินเรื่องเล่าจากเพื่อนร่วมงาน เกี่ยวกับตายายคู่หนึ่งที่ย้ายออกจากบ้านไปอยู่เนิร์สซิ่งโฮม ขายบ้านทิ้งไปทั้งๆที่มีข้าวของเครื่องใช้อยู่ครบ เฟอร์นิเจอร์หรูหราที่ใช้มาเป็นสิบปี เสื้อผ้าเป็นตู้ๆ รูปภาพสวยๆที่ติดตามฝาผนัง จดหมายเก่าๆ รูปถ่ายครอบครัวเก่าๆ ไดอารี ดูเหมือนข้าวของที่แสดงความรักความผูกพันจะยังอยู่ครบ

แต่เขาก็ทิ้งมัน

เนิร์สซิ่งโฮมไม่มีที่ให้เก็บ และถึงวันหนึ่งมันคงไม่มีความหมายต่อพวกเขาอีก
...

ใจที่โปร่งโล่งสบายคือใจที่ไม่มีสิ่งของมาวางให้หนัก ไม่มีเฟอร์นิเจอร์ ไม่มีกาน้ำชา ไม่มีรูปเก่าๆ ไม่มีงานสำคัญ ไม่มีดิจิตอลไฟล์ ไม่มีความผูกพัน และไม่มีความกังวล.

Wednesday, July 27, 2005

กว้าง x ยาว x สูง (Design & Self Reflection)







โดย สุชา สนิทวงศ์ ฯ

เธอคิดเหมือนฉันไหมว่าเวลาสมองได้เรียนรู้อย่างเต็มที่ คือเวลาที่เราทำสิ่งไม่ถนัด

งานที่ฉันถนัด คืองานบนแผ่นกระดาษ วาดๆเขียนๆ ออกแบบความคิด ประดิษฐ์รูปภาพ ลงบนแผ่นแบนๆ แผ่นพับๆ แผ่นรวมกันเป็นเล่มๆ วางตั้ง วางนอน ตั้งแต่เรียนจบจนมาถึงทุกวันนี้ ฉันทำอยู่แต่กับงานที่มีความกว้าง x ความยาว เพราะมันถนัด เคยชิน และรู้สึกว่าเจนจัดแล้ว

จนมาเจอหนังสือเกี่ยวกับงานออกแบบสามมิติมาโดยบังเอิญ หนังสือเล่มบางๆ มีแบบฝึกหัดที่สอนให้เข้าใจภาษาของงานออกแบบผ่านรูปทรงง่ายๆ สี่เหลี่ยม สามเหลี่ยม ทรงกลม เส้นโค้ง เส้นหยัก เริ่มจากซับซ้อนน้อย ไปถึงซับซ้อนมาก ใช้วัสดุธรรมดาๆ ดินน้ำมัน ลวด กระดาษแข็ง ฯลฯ พลิกหนังสือดูคร่าวๆเหมือนเป็นการสอนทำงานประติมากรรมกึ่งสถาปัตย์ แบบย่อๆ

แล้วฉันก็หาเวลาวันหยุดมานั่งทำ บทแรกเริ่มด้วยแท่งสี่เหลี่ยม ผู้เขียนแนะให้เอาแท่งดินน้ำมันสี่เหลี่ยมสามแท่งที่มีขนาดต่างกัน สั้นบ้าง ยาวบ้าง มาวางเข้าด้วยกัน แล้วเชื่อมต่อกันด้วยวิธีเข้ามุมแบบต่างๆ เช่นสอด เสริม หรือสร้างคาน แล้วหัดมอง หัดขยับ จนเห็นว่าความสัมพันธ์ของแท่งทั้งสามมีความสมดุลดี สอดประสานเป็นกลุ่มก้อนที่กลมกลืน ต้องดูงามจากทุกด้าน และตั้งได้มั่นคง

ด้วยสายตาที่เคยชินกับงานแบนๆ พอมาเจองานที่ต้องดูรอบด้านแบบนี้ ฉันรู้สึกเหมือนหัดยืนบนโลกใหม่ จับดินน้ำมันไปมาได้แท่งสี่เหลี่ยมมาสามชิ้น แท่งหนึ่งเป็นแท่งแบนกว้าง แท่งหนึ่งเป็นเหมือนแผ่นผอมๆ และอีกแท่งหนึ่งเล็กหน่อยแต่หนา เอาแท่งแบนกว้างกับแท่งเล็กหนามาวางขนานกันดู แท่งแผ่นผอมวางขวางด้านบน ทำให้ดูเหมือนทางเข้าแคบๆ คล้ายๆจะได้รูปได้ร่าง แต่มองโดยรอบแล้ว บางมุมยังดูคลุมเคลือ ต้องให้เด่นชัดขึ้น ต้องแก้ ถึงตรงนี้ยากที่สุด เพราะเปลี่ยนขนาดที คุณสมบัติก็เปลี่ยนที ความสัมพันธ์ของรูปทรงโดยรวมก็เปลี่ยนไปด้วย ขยับด้านหนึ่ง ก็กระทบด้านอื่นๆ ถึงจุดที่คิดว่าพอใจแล้ว มองอีกมุมกลับเห็นว่ายังต้องแก้ไข แก้ไปแก้มา แต่ละเปราะก็สอนให้รู้ถึงภาษาใหม่ๆและความงามใหม่ๆในการออกแบบ สิ่งบกพร่องในงานชิ้นเก่านำร่องสู่งานชิ้นใหม่เสมอ

ในมิติ กว้าง x ยาว x สูง ฉันนั่งด้นหาคำตอบไปในดินแดนของการเรียนรู้อันไม่มีสิ้นสุด สี่เหลี่ยมแท่งเดียวมีตั้งแปดมุม สามแท่งประสานกัน มีกี่มุมก็นับไม่ถ้วน มุมยิ่งมาก เหลี่ยมยิ่งมาก ยิ่งมีซอกหลืบให้พิจารณามาก มองหลายๆมุมเข้าก็ทำให้เริ่มเห็นข้อบกพร่องในตัวงาน ข้อบกพร่องนี่เป็นเรื่องที่เห็นได้ยาก บางทีเห็นแล้วก็อยากจะเมิน เหมือนเวลาฟังคนวิจารณ์ตัวเรา ไม่อยากจะยอมรับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เวลาที่คิดว่าเรานี่หนอ มาถูกทางแล้ว

นั่งทำแบบฝึกหัดนี้แล้วเหมือนมีแสงสว่างวาบขึ้นมาในใจ อุปสรรคในการเรียนรู้นี่อยู่ที่ตัวเรานี่เอง เวลาทำอะไรที่ไม่ถนัดมักจะมีอุปสรรคให้เห็นอยู่สองอย่าง อย่างหนึ่งคือความไม่รู้ อันนี้ขจัดไม่ค่อยยาก ค่อยๆหาความรู้มาใส่ ความไม่รู้ก็ค่อยๆหมดไป ส่วนอย่างที่สอง คือทัศนคติ อันหลังนี่คล้ายๆกับมารที่ชอบมาหลอกให้เราหลง หลอกให้เรานึกว่าเราถูกต้องแล้วไม่ว่าจะมองมุมไหน บางทีก็หลอกให้เรานึกว่ามีความรู้อยู่เต็มเปี่ยม ทั้งๆที่จริงแล้วยังมีช่องโบ๋อยู่อีกมาก ทัศนคติส่วนมากมาในรูปแบบของตัวตนที่เหนี่ยวรั้งไม่ให้เราเปลี่ยนแปลงสู่สิ่งใหม่ๆ


มองในแง่การพัฒนาตัวเอง การเรียนรู้ในงานออกแบบและงานศิลปะเป็นสิ่งที่ช่วยนำทางภายในได้อย่างหนึ่ง ขั้นตอนของการเรียนเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้มองตัวเองชัดๆใกล้ๆ ได้ฝึกวิจารณ์ตัวเอง ฝึกทะลายกำแพงทัศนคติของตัวเอง เป็นการเรียนเพื่อทำลายอัตตา

เมื่อไม่มีอัตตามาขวางกั้น ความคิดก็เจริญเติบโตกว้างไกล การหัดมองและวิพากษ์วิจารณ์ตัวเองจากที่สว่างเป็นสิ่งต้องทำอยู่เสมอๆ การหัดทำอะไรใหม่ๆที่ไม่ถนัดก็เป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้เรามองเห็นตัวเองได้ถนัดถนี่ทีเดียวเชียว

Saturday, July 23, 2005

เรายืนอยู่ตรงขอบของปัจจุบัน


(คำนำหนังสือประวัติศาสตร์ศิลปะไทย)
โดย สุชา สนิทวงศ์ฯ

เมื่อคนรุ่นใหม่เติบโตมาถึงวัยที่เข้าใจในพลังอำนาจของตนแล้ว เขาจะตระหนักว่าตัวเขานี้เองคือผู้สร้างและผู้กำหนดทิศทางของสังคม การเรียนรู้จากครูและผู้อาวุโสนั้นจำเป็นอยู่ แต่เมื่อความรู้ที่ได้มานั้นถึงกาลกลั่นตัวและเติบโต เขาผู้นั้นควรก้าวสู่ทางของตนเอง ขณะที่ก้าวออกมา เขาจะเป็นผู้สร้างวัฒนธรรมต่อในแบบของเขาเอง ข้าพเจ้ามิได้หมายความว่าเขาควรหยุดเรียนรู้และกระทำการใดพึงใจชอบ แต่หมายความว่า ณ ตำแหน่งที่เขายืนอยู่นี้เขากำลังเผชิญกับความรับผิดชอบที่ใหญ่หลวง ความรับผิดชอบนี้คือการต้องแผ้วถางทาง ไม่ใช่เพื่อแค่ตัวเขา แต่เป็นเพื่อคนรุ่นถัดมา สิ่งที่เขาทำในปัจจุบันนี้ จะเป็นผลแก่คนรุ่นใหม่ที่จะมาทำหน้าเช่นเดียวกันกับเขา

ศิลปะคือสิ่งหนึ่งที่สะท้อนถึงความเจริญทางวัฒนธรรม ในขณะเดียวกันก็เป็นตัววัฒนธรรมเองด้วย ศิลปินนั้นสร้างสรรค์งานจากความรุ่มร้อนภายในที่ต้องการจะสื่อสารความประทับใจหรือความคิดเพื่อให้คนเข้าใจ ความเข้าใจนั้นอาจเป็นความเข้าอกเข้าใจในเพื่อนมนุษย์ หรือความเป็นมนุษย์ในตัวเอง เข้าใจในความงามของโลกนี้ และรวมไปถึงความเข้าใจถึงสิ่งที่สูงกว่าชีวิต ถึงสิ่งดีงามที่สูงที่สุด

การที่ศิลปินจะสื่อความได้ดีนั้น นอกจากต้องผ่านจากการฝึกฝนอย่างตรากตรำแล้ว ศิลปินยังต้องมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในสิ่งที่ตนต้องการจะสื่อสารด้วย สิ่งแวดล้อมที่เขาอยู่ ประสพการณ์ และแรงบันดาลใจทางศิลปะจากงานของศิลปินรุ่นก่อนนั้นคืออาหารโอชะที่ช่วยหล่อเลี้ยงให้เขาสร้างงานในแบบที่เป็นไปตามธรรมชาติ การทำความเข้าใจที่มาของตนและถิ่นกำเนิดของตนเองนั้นเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุดในการสร้างงานศิลปะ เมื่อเข้าใจประวัติศาสตร์ของงานศิลปะและวัฒนธรรมของตนแล้ว เมื่อนั้นเขาจะเชื่อมต่อศิลปะได้อย่างไม่ขาดรูปขาดรอย แต่ทั้งนี้ การเชื่อมต่อก็ต้องเป็นไปอย่างไม่เสแสร้ง การเชื่อมต่อในที่นี้ มิได้หมายความว่าจะต้องหยิบรูปแบบที่เคยทำมาแล้วทำซ้ำอีกเพื่อเพิ่มปริมาณ เนื่องจากศิลปินแต่ละยุคสมัยมีความเป็นอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ต่างกัน มีความประทับใจในชีวิตที่ต่างกัน การจะสร้างงานด้วยความประทับใจที่ตนไม่เคยประสพนั้นเป็นธรรมดาที่ย่อมทำได้ไม่ถึง และความไม่ถึงนี้ก็คือความตื้นเขินที่ปกปิดไม่ได้ แต่หากสิ่งที่หยิบมานั้นคือความเข้าในในเรื่องของความงามในด้านองค์ประกอบทางศิลปะ คือสิ่งที่นำไปสู่ความสูงส่งของสปิริตของงานแล้ว นั่นก็เป็นเรื่องที่น่ายกย่อง งานจิตรกรรมฝาผนังของไทยนั้นได้วัฒนาการมาจนถึงขั้นสูงสุด รูปแบบนั้นได้ตอบสนองเนื้อหาไปได้อย่างสมบูรณ์แล้ว ศิลปินรุ่นเก่าได้ทำหน้าที่ของตนไว้อย่างสมบูรณ์แล้ว จากนี้ไป เป็นหน้าที่ของศิลปินรุ่นใหม่ที่จะต้องนำความเข้าใจในความงามอันสมบูรณ์นี้หยอดเป็นเมล็ดพันธุ์ที่จะผลิแตกเป็นงานที่เนื้อหาและรูปแบบเป็นของสมัยของศิลปินเอง

ขณะที่งานศิลปะถูกสร้างขึ้นนั้น มีสองสิ่งเกิดขึ้นพร้อมๆกัน นั่นคือ หนึ่ง อนาคตของศิลปะได้ถูกกรุยทางไปอีกก้าวหนึ่ง สอง งานศิลปะชิ้นนั้นได้กลายเป็นอดีต และซึ่งจะกลายเป็นประวัติศาสตร์ในเวลาต่อมา จะเป็นจุดที่สำคัญในประวัติศาสตร์หรือไม่นั้นอยู่ที่คุณค่าของผลงานนั้นเอง เมื่อมองอย่างนี้แล้วจะเห็นว่าผู้ทำงานศิลปะจะต้องใช้ความวิสาหะไม่น้อยเพื่อให้ผลงานของตนนั้นกรุยสู่ทางที่มีคุณค่า และเป็นที่น่าศึกษาสำหรับคนรุ่นถัดมา

การที่ข้าพเจ้าเรียบเรียงประวัติศาสตร์งานจิตรกรรมในประเทศไทยที่เคยมีมาทั้งหมดนั้น มีเหตุผลอยู่สองประการ ประการแรกคือเพื่อศึกษาถึงวิวัฒนาการการสร้างงานจิตรกรรมของผู้ที่มาก่อนข้าพเจ้าจากดินแดนที่ข้าพเจ้าเติบโตมา เนื่องด้วยเห็นว่างานเหล่านั้นมีคุณค่าทางจิตใจและทางประวัติศาสตร์ ประการที่สองคือเพื่อนำความเข้าใจที่ข้าพเจ้าได้รับจากการเรียบเรียงนี้สร้างเป็นภาพที่ร้อยเรียงกันอย่างเป็นเหตุเป็นผล เพื่อที่ศิลปินรุ่นใหม่จะได้ปะติดปะต่อร่องรอยของศิลปะจากวัฒนธรรมอันยาวนานหลากหลายของตนได้ง่ายขึ้น และเมื่อปะติดปะต่อได้แล้วเขาก็จะเห็นตำแหน่งบนเส้นประวัติศาสตร์ที่เขายืนอยู่ และเมื่อเห็นแล้วเขาจะปฏิเสธร่องรอยแบบที่มีมาโดยสิ้นเชิงหรือจะนำพาร่องรอยนั้นก้าวไปสู่ทางใหม่ของตนก็สุดแล้วแต่วิจารณญาณและความสนใจของตัวศิลปินเอง ข้าพเจ้ามิได้ต้องการจะโน้มนำความคิดใครแต่อย่างใด ข้าพเจ้าเองเพียงเป็นผู้เชื่อมต่อจุดเพื่อให้ภาพรวมของศิลปะไทยเห็นชัดเจนขึ้นเท่านั้น การเรียบเรียงหนังสือเล่มนี้ข้าพเจ้ามองว่าเป็นหน้าที่ตนพึงกระทำ เพราะข้าพเจ้าพบว่าบัดนี้ตัวเองได้ก้าวเข้ามายืนอยู่บนขอบของปัจจุบัน จะถอยหลังก็เป็นไปไม่ได้เสียแล้ว

รัฐธรรมนูญ (ฉบับจั๊กกะแร้ขาว)

From: kanokkant pilantanadiloke
To: suchaja@hotmail.com
Subject: RE: รัฐธรรมนูญ (ฉบับเพิ่มเติม)
Sent: Tuesday, July 19, 2005 3:08 AM

เภา,

อ่านเรื่องรัฐธรรมนูญแล้ว แม้จะไม่จบ แต่ก็เคยได้อ่านเรื่องทำนองนี้มาบ้าง เห็นด้วยกับพ่อของเธอ จนกระทั่งบัดนี้ เรามีความรู้สึกลบพวกคนที่ชอบตามฝรั่ง ไม่รู้จักตัวเอง ระบอบการปกครองที่ดี ก็เหมือนประเทศมีกลไกดี แต่คุณภาพของคนในประเทศยิ่งเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่งกว่าระบอบ เป็นเรื่องที่ไม่รู้จะปฏิวัติยังไงดี

เหมือนคอมพิวเตอร์กับความฉลาดของมนุษย์ วันก่อนไปร้านรับตัดสติ๊กเกอร์และทำตรายาง เอาแบบไปให้ตีราคา ขนาดงาน 12 คูณ 24 นิ้ว ตีราคามาแพงมาก เราถามว่าทำไมต้องแพงขนาดนี้ เขาตอบว่ามันใหญ่มากและมันทำยาก คุยไปคุยมา คิดว่าเราจะทำตรายาง ทั้งที่ไม่ได้บอกเลยซักคำ บอกแล้วว่าจะตัดสติ๊กเกอร์ ถึงจะไม่ได้บอกใครจะทำตรายาง 12 คูณ 24 นิ้ว สมองทำด้วยอะไรไม่รู้ มีคอมพิวเตอร์ตั้งอยู่ตรงหน้า มีความสามารถทำงานกับหลายๆโปรแกรมยากๆในคอมได้ แต่มีอะไรบางอย่างที่ไม่สามารถพัฒนาได้

ที่ว่าคนรวยคนมีการศึกษาที่ไม่รู้จักตัวเอง ขยันเดินตามฝรั่ง ที่จริงการรู้จักตัวเองไม่ใช่เรื่องง่าย สองสามวันได้ฟังเรื่องการเรื่องการเขียนไดอารี่เพื่อการเรียนรู้ตัวเอง เพื่อการรู้จักตัวเอง น่าสนใจมาก บอกว่าการเขียนบันทึกประจำวันเป็นสิ่งที่มีประโยชน์มาก เพราะการกลับมาอ่านบันทึกเก่า ๆทำให้เราได้อ่านตัวเองและจะมองเห็นตัวเองได้ชัด อย่างที่เราไม่สามารถรู้ตัวเองได้ในขณะปัจจุบันว่าที่จริงเราทำสิ่งนั้นด้วยเหตุผลอะไรอยู่ เหตุผลที่แท้จริงหรือเหตุผลที่ซ่อนเร้น ตัวตนที่แท้จริงของเราเป็นอย่างไรเราจะอ่านตัวเราออกจากบันทึก (มิน่าล่ะ ฉันรู้สึกอายมากเวลากลับมาอ่าน ทำไมตอนนั้นชั้นงี่เง่าขนาดนั้น)

ตอนนี้หญิงไทยทำผมทรงเดียวกันหมด เหมือนเป็นทหารที่มีคนสั่งให้เค้าทำ มีอยู่สองทรง ผมตรงแบบตรงมาก ตรงเด่แบบที่ใช้ไดร์รีด มียาสระผมที่ทำให้ผมตรง (เป็นไปได้อย่างไร) และทรงหยิกแบบที่ใช้ที่ไดร์ผมแบบหนีบ มันดูแข็ง ๆไม่เป็นธรรมชาติ เอาซะเลย By the way เธอทำสองทรงนี้อยู่รึเปล่า ดูโฆษณา ยาสระผม, สบู่, ครีมบำรุงผิว, ครีมทารักแร้ขาว, หน้าขาว ที่เมืองไทยแล้ว เอียน ที่แวนคูเวอร์ ไม่มีโฆษณาประเภทนี้มากขนาดนี้ ที่เธออยู่ก็น่าจะเหมือนกันกับที่แวนคูเวอร์ ที่จริงก็กลับมากตั้งนานแล้วทำไมรู้สึกอย่างมากเวลานี้ก็ไม่รู้ เราว่ามันมีมากขึ้น รู้แล้ว เดี๋ยวนี้มีการใช้ sex appeal กันมากขึ้น ทุกโฆษณา เบียร์ ยาสีฟัน ไก่ย่าง หมากฝรั่ง ผ้าอนามัย ถุงยาง ลูกอม นำมันเบรค โซดา นำมันพืช ซีอิ้ว เล่น sex appeal อย่างเดียว

นี่คือ สิ่งที่ดีอย่างนึงที่เธอไม่ได้กลับมาเมืองไทย

Thank you สำหรับบทความรัฐธรรมนูญ

ก้อย.


From: "sucha snidvongs"
To: kanokkant@hotmail.com
Subject: RE: รัฐธรรมนูญ (ฉบับจั๊กกะแร้ขาว)
Date: Tue, 19 Jul 2005 05:32:59 +0000

เธอจ๋า อย่าโมโหโกรธาไปเลย ใครจะทำอะไรก็ช่างเขาเถิด เราไปเปลี่ยนเขาไม่ได้ ใครอยากสวยในแบบตื้นเขินของเขาก็ช่างเขา คิดเสียว่าดีแล้วที่เราไม่ได้เกิดมาเป็นเขา เราทำตัวเราให้ลึกซึ้งอย่างของเรามันก็ดีอยู่แล้ว

เรื่องของรัฐธรรมนูญ ฉันเห็นว่าเป็นเรื่องของโลกที่มันหมุนไปในแบบของมัน ไม่มีใครตัดสินใจถูกหรือผิด กระแสของโลกมันไปในทิศทางนี้ ไม่วันไหนวันหนึ่งมันก็ต้องรับเขามา การจะรอให้เราเข้าใจตัวเองอย่างลึกซึ้งแล้วค่อยตัดสินใจว่าจะเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยน บางที่มันก็เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ วัฒนธรรมเป็นสิ่งมีชีวิต ปรับเปลี่ยนยืดหดอยู่ตลอดเวลา เราได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมอื่นเป็นมาช้านาน และจะรับอีกต่อๆไปไม่มีวันสิ้นสุด นี่คือความจริง การหยุดเดินแล้วมองย้อนกลับไปเพื่อเข้าใจตัวเองก็ฟังดูเข้าทีอยู่ แต่จะให้สมบูรณ์แบบต้องก้าวไปข้างหน้าด้วย การปิดประเทศแบบญี่ปุ่นเมื่อหลังสงครามโลกนั้นเป็นเรื่องล้าสมัยไปแล้ว ประเทศใดที่จะปิดตัวเองในเวลานี้มีแต่ก้าวถอยหลังเท่านั้น

ประชาธิปไตยที่แท้จริงนั้นเติบโตจากความต้องการจากคนระดับรากหญ้า ไม่ใช่จากเบื้องบนลงมา ประเทศเราคนมีความเคยชิินกับการได้รับจาก "หลวง" มาช้านาน การจะลุกขึ้นมาด้วยตัวเองพร้อมกับประกาศว่าฉันจะเป็นประชาธิปไตยพรุ่งนี้มะรืนนี้มันเป็นไปไม่ได้ หากต้องการให้ระบบเปลี่ยนก็เห็นมีอยู่ทางเดียวคือการนำเข้าจากเบื้องบน ซึ่งอันที่จริงก็เป็นเรื่องผิดธรรมชาติแท้ๆของ "ประชา" ธิปไตย แต่ก็เอาเถิดหนทางมันเป็นแบบนี้ ฉันเห็นว่าพวกคณะราษฎร์นั้นไม่ได้ทำสิ่งเสียหายที่ต้องการเปลี่ยนระบบ อย่างไรเสีย ระบบใหม่มันก็ต้องมาอยู่ดี คณะราษฎร์นั้นเพียงแต่ "กระตุ้น" ระบอบประชาธิปไตยให้มาถึงเร็วขึ้นเท่านั้น

ประชาธิปไตยในอเมริกานั้นชัดเจนว่ามาจากรากหญ้า เพราะพวกคนอเมริกัน (หมายถึงคนยุโรปที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานและออกลูกออกหลานในอเมริกาสองร้อยกว่าปีที่แล้ว) ถูกรีดนาทาเร้น ต้องส่ง "ส่วย" ไปให้เจ้าเหนือหัวทางอังกฤษ มีสงครามในยุโรป คนอเมริกันก็ถูกเก็บภาษีไปช่วยค่าใช้จ่าย ซึ่งไม่ได้เกี่ยวอะไรกับพวกเขาเลย และอีกหลายๆเรื่องที่เป็นการทำนาบนหลังคนแท้ๆ การลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่ออธิปไตยของตนนั้นเป็นเรื่องสมควรแล้ว ด้วยฉะนี้คนของเขาจึงให้คุณค่าเรื่องประชาธิปไตยอย่างหนักหนา เพราะเสรีภาพที่มีอยู่ทุกวันนี้กว่าจะได้มามันต้องเสียเลือดเนื้อ เมื่อเห็นชัดๆแบบนี้คนปัจจุบันเลยเข้าใจเรื่องสิทธิอย่างสุดหัวใจ

มองกลับมาที่เราอีกที ในเมืองไทยนั้นประชาธิปไตยงอกมาจากท้องฟ้าเมื่อหกกว่าสิบปีที่แล้ว ชาวบ้านเห็นว่าเขาให้มาเอง ไม่ต้องสู้ ก็เลยไม่เห็นว่ามีคุณค่า ไม่เห็นสิทธิของตน ก็เลยไม่เห็นว่าต้องปกป้อง มันก็เป็นเรื่องธรรมชาติอีกนั่นแหละ ใครที่ไหนเลยจะออกมาปกป้องในสิ่งที่ตัวไม่เคยรู้จัก ตอนนี้มีทางเดียวคือรอให้มันเบ่งบาน ให้มันซึมผ่านเวลา อาจจะเป็นร้อยปีสองร้อยปี ไม่รู้ อยู่ที่การศึกษา และเสรีภาพทางการคิด รวมถึงแรงกดดันที่ตอนนี้ฉันยังไม่รู้ว่าคืออะไร

แต่เอาเถอะ พอเสรีภาพทางการคิดมี สาวๆก็จะไม่ตกเป็นเหยื่อของพวกสื่อที่จ้องจะขายยาทาจั๊กกะแร้ขาว จะไม่มามัวนั่งกังวลเรื่องแฟชั่นผมเผ้าจนเกินเหตุ เอาเวลาไปหาการศึกษามาพัฒนาตนจะดีกว่า แลัววันหนึ่งเขาก็จะรู้กันเอง

เภา

รัฐธรรมนูญในสยาม (ฉบับเพิ่มเติม)

เภาลูกรัก,

ได้อ่าน "เดือนรํฐธรรมนูญ" ที่ส่งมาแล้ว น่าสนใจดี ความจริงเรื่องเปลี่ยนแปลงการปกครองของเราเทื่อปี 2475 นี้ถือว่าเป็น " Very Controvesial Topic " ทีเดียว ยังถกเถียงกันไม่จบจนทุกวันนี้

พ่อไม่ตัดสินว่าใครผิดและใครถูก และคิดว่ามันเป็นกรรม (ทั้งดีและร้าย) ของประเทศและของทุกๆฝ่ายที่จะต้องเป็นอย่างนี้ …ในสมัย ร. 6 มีการ
modernize ประเทศมากซึ่งต้องเสียเงินมาก เมื่อมาถึง ร. 7 เศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก และไทยก็ได้รับผลกระทบด้วย มีการเอาข้าราชการออก (Lay off- ซึ่งเทียบกันไม่ได้เลยเมื่อพนักงานบริษัททั่วประเทศถูก lay off เมื่อคราวฟองสะบู่แตกเมื่อสิบปีที่แล้ว))

ทหารถูกหยามเกียรติโดยเอานายทหารยศนายร้อยที่ทำผิดมาโบยต่อหน้าแถวทหาร ผู้มีอำนาจในแผ่นดินก็เป็นเจ้านายส่วนใหญ่เพราะมีความรู้ดี เนื่องจากได้ไปเรียนต่างประเทศ ทำให้คนรุ่นใหม่ที่หัว liberal ไม่พอใจ นายปรีดี พนมยง ซึ่งไปเรียนด้วยทุนรัฐบาลที่ฝรั่งเศส เกิดขัดแย้งกับเจ้าองค์หนึ่งซึ่งเป็นทูตที่นั่น (เป็นผู้ดูแลนักเรียนไทยด้วย)… อยากจะเล่าที่เป็นเกร็ดให้ฟัง

…ผู้ที่ได้รับมอบหมายให้นำสานส์ไปถวายในหลวงที่พระราชวังไกลกังวลเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 คือ นาวาตรี.หลวงศุภชลาสัย (บุง ศุภชลาสัย -พ่อป้าปิ่นเพื่อนพ่อ) หลวงศุภชลาสัยอยู่ฝ่ายปฎิวัติทั้งๆที่เป็นลูกเขยของกรมหลวงชุมพร เล่ากันว่าเมื่อเรือหลวงสุโขทัยไปถึงหัวหินก็จอดทอดสมออยู่หน้าวัง แล้วเอาเรือเล็กลงเพื่อให้หลวงศุภฯถือสานส์ไปเข้าเฝ้า หลวงศุภฯกลัวมากต้องดื่มบรั่นดีย้อมใจก่อนลงเรือเล็กหลายกรึ๊บ

มีคำสั่งมาจากกรุงเทพว่า ถ้าได้เวลาที่ตกลงกันแล้วคณะที่เข้าเฝ้ายังไม่กลับออกมาให้ใช้ปืนเรือยิงถล่มวังทันที เพราะคงแปลว่าผู้นำสานส์ถูกทหารรักษาวังจับหรือถูกยิงตายแล้ว เมื่อหลวงศุภฯเข้าไปอยู่ตรงหน้าพระที่นั่ง ทรงทักว่า"นี่ตาบุง แกก็เอากับเขาด้วยหรือ ? " ทำเอาคุณหลวงขาสั่นผับๆ …
สถานการณ์ในช่วงนี้สับสนมาก ข้าราชการและผู้มีความรู้แบ่งกันเป็นสองฝ่าย แต่ชาวบ้านจริงๆนั้นไม่รู้เรื่องอะไรเลย ซึ่งดูจะเป็นเหตุผลสนับสนุนฝ่ายที่อยู่ข้างกษัตริย์ว่า "ราษฎร์ไทยยังไม่พร้อม" แต่ฝ่ายปฎิวัติอ้างว่าฝ่ายกษัตริย์หวงอำนาจ เรื่องนี้ถ้าดูประเทศเราที่เป็นประชาธิปไตยกันต่อมาก็จะเห็นว่า ไม่มีอะไรดีขึ้นเป็นพิเศษ ที่มันเจริญขึ้นเพราะมันต้องเจริญทางวัตถุโดยธรรมชาติ แต่ทางจิตใจและความเป็นอยู่ของชาวบ้านเลวลง

มีเรื่องตลกเล่ากันว่า ชาวบ้านต่างจังหวัดพากันสงสัยว่า"รัฐธรรมนูญที่จะพระราชทานราษฎรนั้นจะส่งมาทางเรือหรือทางรถ" … พวกเขาไม่รู้เลยว่ารัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยคืออะไร ! ดังนั้นจนถึงบัดนี้แม้จะมีการเลือกตั้งแต่ชาวบ้านก็ยังขายเสียงให้เขาเข้าไปคอร์รัปชั่นภาษีของตัวเอง ในคณะราษฎร์นั้นต่อมาก็แตกกันเอง มีการรัฐประหารหลายครั้งเพื่อแย่งอำนาจกัน เพราะจุดร่วมมีเหมือนกันอย่างเดียวคือเปลี่ยนการปกครอง ซึ่งตอนนั้นบอกว่าทำเพื่อประชาชน ใบแถลงการของคณะราษฎร์ที่จาบจ้วงในหลวงอย่างยิ่งนั้นเป็นเหตุสำคัญทีทำให้เกิดความโกรธแค้นและความระแวงจากฝ่ายที่ถือหางฝ่ายเจ้า

แม้จนกระทั้งเมื่อในหลวง ร. 8 ต้องพระแสงปืนสวรรคต ก็มีคนเชื่อว่าเป็นแผนการของพวกคณะราษฎร์บางคน และยังเชื่ออย่างฝังหัวมาจนทุกวันนี้
ในหนังสือบันทึกของ ม.จหญิงพูนพิศมัย ดิสกุล ได้เขียนเล่าไว้ระหว่างเดินทางจากหัวหินไปกัวลาลำเปอร์ (ตอนนั้นประทับอยู่ที่วังไกลกังวลด้วย) ไม่กลับพระนครพร้องกับ ร.7 ได้บรรยายถึงความวิตกที่จะต้องได้รับความไม่เป็นธรรมจากฝ่ายที่ล้มล้างกษัตริย์ไว้มากมาย และมองฝ่ายปฎิวัติอย่างที่ฝ่ายซาร์นิโคลัสที่สองมองฝ่ายบอล เชวิค

ว่าที่จริงแม้ว่าประเทศเราตอนนั้นจะต้องมรสุมของเรื่องเศรษฐกิจโลกแต่ก็ไม่ใช่มาก เพราะเราอุดมสมบูรณ์จริงๆ คำว่าในน้ำมีปลาในนามีข้าวนั้นถูกที่สุด และสังคมก็ไม่เหมือนกัน ถูกปลดจากงานก็มาอยู่บ้านพ่อแม่พี่น้องมีข้าวปลากิน เดียวนี้แม้ทรัพยากรจะลดน้อยลงไปและพลเมืองเพิ่มขึ้น
เราก็ยังอุดมสมบูรณ์ ไม่เคยมีคนอดตายในประเทศไทย แต่ฝ่ายก่อการก็อ้างในใบปลิวว่าประชาชนถูกกดขี่และยากเข็ญเพราะฝ่ายกษัตริย์ เขาเอาตัวอย่างของฝรั่งมาซึ่งคนเขาอดตายจริงๆในหน้าหนาวเมื่อตอนที่ฝ่ายก่อการเข้าเฝ้าเมื่อในหลวงเสด็จถึงพระนครแล้ว ได้ทรงตรัสถามคณะผู้ก่อการว่ารู้จักประเทศไทยดีพอแล้วหรือ พวกเขาก็ตอบไม่ได้ แต่ตอบไปว่าก็ค่อยๆทำไป

ในโลกนี้ในทุกๆส่วนของสังคม เช่นประเทศ องค์กร บริษัท กองทัพ จะมีคนอยู่สองกลุ่มเสมอไป กลุ่มหนึ่งมีจำนวนน้อยเป็นผู้ปกครอง อีกกลุ่มหนึ่งเป็นผู้ถูกปกครองและมีจำนวนมากกว่า (เป็นปิรามิด) ถ้าผู้ถูกปกครองทำตัวไม่เป็นที่พอใจของคนส่วนมากก็จะต้องมีผู้พยายามเปลี่ยนแปลงเสมอเมื่อมีโอกาส และในกลุ่มของผู้ปกครองเองก็มีการล้มล้าง แก่งแยกอำนาจกันเอง ดังนั้นถ้ามองโลกในแง่ของ "อนิจจัง" ก็จะเห็นสัจธรรม ผู้ที่ก่อการปฎิวัติต่อมาก็ล้มล้างกันเอง ต้องหนีไปอยู่ต่างประเทศจนตายก็มี หลายคน

เรื่องที่พ่อเขียนนี้ดูสะเปะสะปะชอบกล เพราะพ่อไม่ใช่นักวิชาการ การเขียนจึงไม่เป็นขั้นเป็นตอนเพราะไม่ได้ค้นคว้าหาข้อมูลมาอ้างอิงเลย เขียนตามความรู้และความทรงจำที่มีอยู่เท่านั้น ถ้าลูกจะศึกษาเรื่องพวกนี้มีหนังสือให้อ่านมากมาย คนที่เขียนไว้มากเช่น ดร.ชัยอนันต์ สมุทรวณิชย์ เป็นต้น ค้นจากเว็บต่างๆก็มีมาก แต่ขอให้ศึกษาอย่างนักศึกษา อย่า ' in ' กับข้างใดข้างหนึ่ง เพราะที่เราอ่านมานั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของเรื่องราว

ส่วนที่เรายังไม่รู้มีมากกว่า

พ่อ