Saturday, July 23, 2005

รัฐธรรมนูญในสยาม (ฉบับเพิ่มเติม)

เภาลูกรัก,

ได้อ่าน "เดือนรํฐธรรมนูญ" ที่ส่งมาแล้ว น่าสนใจดี ความจริงเรื่องเปลี่ยนแปลงการปกครองของเราเทื่อปี 2475 นี้ถือว่าเป็น " Very Controvesial Topic " ทีเดียว ยังถกเถียงกันไม่จบจนทุกวันนี้

พ่อไม่ตัดสินว่าใครผิดและใครถูก และคิดว่ามันเป็นกรรม (ทั้งดีและร้าย) ของประเทศและของทุกๆฝ่ายที่จะต้องเป็นอย่างนี้ …ในสมัย ร. 6 มีการ
modernize ประเทศมากซึ่งต้องเสียเงินมาก เมื่อมาถึง ร. 7 เศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก และไทยก็ได้รับผลกระทบด้วย มีการเอาข้าราชการออก (Lay off- ซึ่งเทียบกันไม่ได้เลยเมื่อพนักงานบริษัททั่วประเทศถูก lay off เมื่อคราวฟองสะบู่แตกเมื่อสิบปีที่แล้ว))

ทหารถูกหยามเกียรติโดยเอานายทหารยศนายร้อยที่ทำผิดมาโบยต่อหน้าแถวทหาร ผู้มีอำนาจในแผ่นดินก็เป็นเจ้านายส่วนใหญ่เพราะมีความรู้ดี เนื่องจากได้ไปเรียนต่างประเทศ ทำให้คนรุ่นใหม่ที่หัว liberal ไม่พอใจ นายปรีดี พนมยง ซึ่งไปเรียนด้วยทุนรัฐบาลที่ฝรั่งเศส เกิดขัดแย้งกับเจ้าองค์หนึ่งซึ่งเป็นทูตที่นั่น (เป็นผู้ดูแลนักเรียนไทยด้วย)… อยากจะเล่าที่เป็นเกร็ดให้ฟัง

…ผู้ที่ได้รับมอบหมายให้นำสานส์ไปถวายในหลวงที่พระราชวังไกลกังวลเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 คือ นาวาตรี.หลวงศุภชลาสัย (บุง ศุภชลาสัย -พ่อป้าปิ่นเพื่อนพ่อ) หลวงศุภชลาสัยอยู่ฝ่ายปฎิวัติทั้งๆที่เป็นลูกเขยของกรมหลวงชุมพร เล่ากันว่าเมื่อเรือหลวงสุโขทัยไปถึงหัวหินก็จอดทอดสมออยู่หน้าวัง แล้วเอาเรือเล็กลงเพื่อให้หลวงศุภฯถือสานส์ไปเข้าเฝ้า หลวงศุภฯกลัวมากต้องดื่มบรั่นดีย้อมใจก่อนลงเรือเล็กหลายกรึ๊บ

มีคำสั่งมาจากกรุงเทพว่า ถ้าได้เวลาที่ตกลงกันแล้วคณะที่เข้าเฝ้ายังไม่กลับออกมาให้ใช้ปืนเรือยิงถล่มวังทันที เพราะคงแปลว่าผู้นำสานส์ถูกทหารรักษาวังจับหรือถูกยิงตายแล้ว เมื่อหลวงศุภฯเข้าไปอยู่ตรงหน้าพระที่นั่ง ทรงทักว่า"นี่ตาบุง แกก็เอากับเขาด้วยหรือ ? " ทำเอาคุณหลวงขาสั่นผับๆ …
สถานการณ์ในช่วงนี้สับสนมาก ข้าราชการและผู้มีความรู้แบ่งกันเป็นสองฝ่าย แต่ชาวบ้านจริงๆนั้นไม่รู้เรื่องอะไรเลย ซึ่งดูจะเป็นเหตุผลสนับสนุนฝ่ายที่อยู่ข้างกษัตริย์ว่า "ราษฎร์ไทยยังไม่พร้อม" แต่ฝ่ายปฎิวัติอ้างว่าฝ่ายกษัตริย์หวงอำนาจ เรื่องนี้ถ้าดูประเทศเราที่เป็นประชาธิปไตยกันต่อมาก็จะเห็นว่า ไม่มีอะไรดีขึ้นเป็นพิเศษ ที่มันเจริญขึ้นเพราะมันต้องเจริญทางวัตถุโดยธรรมชาติ แต่ทางจิตใจและความเป็นอยู่ของชาวบ้านเลวลง

มีเรื่องตลกเล่ากันว่า ชาวบ้านต่างจังหวัดพากันสงสัยว่า"รัฐธรรมนูญที่จะพระราชทานราษฎรนั้นจะส่งมาทางเรือหรือทางรถ" … พวกเขาไม่รู้เลยว่ารัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยคืออะไร ! ดังนั้นจนถึงบัดนี้แม้จะมีการเลือกตั้งแต่ชาวบ้านก็ยังขายเสียงให้เขาเข้าไปคอร์รัปชั่นภาษีของตัวเอง ในคณะราษฎร์นั้นต่อมาก็แตกกันเอง มีการรัฐประหารหลายครั้งเพื่อแย่งอำนาจกัน เพราะจุดร่วมมีเหมือนกันอย่างเดียวคือเปลี่ยนการปกครอง ซึ่งตอนนั้นบอกว่าทำเพื่อประชาชน ใบแถลงการของคณะราษฎร์ที่จาบจ้วงในหลวงอย่างยิ่งนั้นเป็นเหตุสำคัญทีทำให้เกิดความโกรธแค้นและความระแวงจากฝ่ายที่ถือหางฝ่ายเจ้า

แม้จนกระทั้งเมื่อในหลวง ร. 8 ต้องพระแสงปืนสวรรคต ก็มีคนเชื่อว่าเป็นแผนการของพวกคณะราษฎร์บางคน และยังเชื่ออย่างฝังหัวมาจนทุกวันนี้
ในหนังสือบันทึกของ ม.จหญิงพูนพิศมัย ดิสกุล ได้เขียนเล่าไว้ระหว่างเดินทางจากหัวหินไปกัวลาลำเปอร์ (ตอนนั้นประทับอยู่ที่วังไกลกังวลด้วย) ไม่กลับพระนครพร้องกับ ร.7 ได้บรรยายถึงความวิตกที่จะต้องได้รับความไม่เป็นธรรมจากฝ่ายที่ล้มล้างกษัตริย์ไว้มากมาย และมองฝ่ายปฎิวัติอย่างที่ฝ่ายซาร์นิโคลัสที่สองมองฝ่ายบอล เชวิค

ว่าที่จริงแม้ว่าประเทศเราตอนนั้นจะต้องมรสุมของเรื่องเศรษฐกิจโลกแต่ก็ไม่ใช่มาก เพราะเราอุดมสมบูรณ์จริงๆ คำว่าในน้ำมีปลาในนามีข้าวนั้นถูกที่สุด และสังคมก็ไม่เหมือนกัน ถูกปลดจากงานก็มาอยู่บ้านพ่อแม่พี่น้องมีข้าวปลากิน เดียวนี้แม้ทรัพยากรจะลดน้อยลงไปและพลเมืองเพิ่มขึ้น
เราก็ยังอุดมสมบูรณ์ ไม่เคยมีคนอดตายในประเทศไทย แต่ฝ่ายก่อการก็อ้างในใบปลิวว่าประชาชนถูกกดขี่และยากเข็ญเพราะฝ่ายกษัตริย์ เขาเอาตัวอย่างของฝรั่งมาซึ่งคนเขาอดตายจริงๆในหน้าหนาวเมื่อตอนที่ฝ่ายก่อการเข้าเฝ้าเมื่อในหลวงเสด็จถึงพระนครแล้ว ได้ทรงตรัสถามคณะผู้ก่อการว่ารู้จักประเทศไทยดีพอแล้วหรือ พวกเขาก็ตอบไม่ได้ แต่ตอบไปว่าก็ค่อยๆทำไป

ในโลกนี้ในทุกๆส่วนของสังคม เช่นประเทศ องค์กร บริษัท กองทัพ จะมีคนอยู่สองกลุ่มเสมอไป กลุ่มหนึ่งมีจำนวนน้อยเป็นผู้ปกครอง อีกกลุ่มหนึ่งเป็นผู้ถูกปกครองและมีจำนวนมากกว่า (เป็นปิรามิด) ถ้าผู้ถูกปกครองทำตัวไม่เป็นที่พอใจของคนส่วนมากก็จะต้องมีผู้พยายามเปลี่ยนแปลงเสมอเมื่อมีโอกาส และในกลุ่มของผู้ปกครองเองก็มีการล้มล้าง แก่งแยกอำนาจกันเอง ดังนั้นถ้ามองโลกในแง่ของ "อนิจจัง" ก็จะเห็นสัจธรรม ผู้ที่ก่อการปฎิวัติต่อมาก็ล้มล้างกันเอง ต้องหนีไปอยู่ต่างประเทศจนตายก็มี หลายคน

เรื่องที่พ่อเขียนนี้ดูสะเปะสะปะชอบกล เพราะพ่อไม่ใช่นักวิชาการ การเขียนจึงไม่เป็นขั้นเป็นตอนเพราะไม่ได้ค้นคว้าหาข้อมูลมาอ้างอิงเลย เขียนตามความรู้และความทรงจำที่มีอยู่เท่านั้น ถ้าลูกจะศึกษาเรื่องพวกนี้มีหนังสือให้อ่านมากมาย คนที่เขียนไว้มากเช่น ดร.ชัยอนันต์ สมุทรวณิชย์ เป็นต้น ค้นจากเว็บต่างๆก็มีมาก แต่ขอให้ศึกษาอย่างนักศึกษา อย่า ' in ' กับข้างใดข้างหนึ่ง เพราะที่เราอ่านมานั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของเรื่องราว

ส่วนที่เรายังไม่รู้มีมากกว่า

พ่อ

No comments: