Saturday, July 23, 2005

เรายืนอยู่ตรงขอบของปัจจุบัน


(คำนำหนังสือประวัติศาสตร์ศิลปะไทย)
โดย สุชา สนิทวงศ์ฯ

เมื่อคนรุ่นใหม่เติบโตมาถึงวัยที่เข้าใจในพลังอำนาจของตนแล้ว เขาจะตระหนักว่าตัวเขานี้เองคือผู้สร้างและผู้กำหนดทิศทางของสังคม การเรียนรู้จากครูและผู้อาวุโสนั้นจำเป็นอยู่ แต่เมื่อความรู้ที่ได้มานั้นถึงกาลกลั่นตัวและเติบโต เขาผู้นั้นควรก้าวสู่ทางของตนเอง ขณะที่ก้าวออกมา เขาจะเป็นผู้สร้างวัฒนธรรมต่อในแบบของเขาเอง ข้าพเจ้ามิได้หมายความว่าเขาควรหยุดเรียนรู้และกระทำการใดพึงใจชอบ แต่หมายความว่า ณ ตำแหน่งที่เขายืนอยู่นี้เขากำลังเผชิญกับความรับผิดชอบที่ใหญ่หลวง ความรับผิดชอบนี้คือการต้องแผ้วถางทาง ไม่ใช่เพื่อแค่ตัวเขา แต่เป็นเพื่อคนรุ่นถัดมา สิ่งที่เขาทำในปัจจุบันนี้ จะเป็นผลแก่คนรุ่นใหม่ที่จะมาทำหน้าเช่นเดียวกันกับเขา

ศิลปะคือสิ่งหนึ่งที่สะท้อนถึงความเจริญทางวัฒนธรรม ในขณะเดียวกันก็เป็นตัววัฒนธรรมเองด้วย ศิลปินนั้นสร้างสรรค์งานจากความรุ่มร้อนภายในที่ต้องการจะสื่อสารความประทับใจหรือความคิดเพื่อให้คนเข้าใจ ความเข้าใจนั้นอาจเป็นความเข้าอกเข้าใจในเพื่อนมนุษย์ หรือความเป็นมนุษย์ในตัวเอง เข้าใจในความงามของโลกนี้ และรวมไปถึงความเข้าใจถึงสิ่งที่สูงกว่าชีวิต ถึงสิ่งดีงามที่สูงที่สุด

การที่ศิลปินจะสื่อความได้ดีนั้น นอกจากต้องผ่านจากการฝึกฝนอย่างตรากตรำแล้ว ศิลปินยังต้องมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในสิ่งที่ตนต้องการจะสื่อสารด้วย สิ่งแวดล้อมที่เขาอยู่ ประสพการณ์ และแรงบันดาลใจทางศิลปะจากงานของศิลปินรุ่นก่อนนั้นคืออาหารโอชะที่ช่วยหล่อเลี้ยงให้เขาสร้างงานในแบบที่เป็นไปตามธรรมชาติ การทำความเข้าใจที่มาของตนและถิ่นกำเนิดของตนเองนั้นเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุดในการสร้างงานศิลปะ เมื่อเข้าใจประวัติศาสตร์ของงานศิลปะและวัฒนธรรมของตนแล้ว เมื่อนั้นเขาจะเชื่อมต่อศิลปะได้อย่างไม่ขาดรูปขาดรอย แต่ทั้งนี้ การเชื่อมต่อก็ต้องเป็นไปอย่างไม่เสแสร้ง การเชื่อมต่อในที่นี้ มิได้หมายความว่าจะต้องหยิบรูปแบบที่เคยทำมาแล้วทำซ้ำอีกเพื่อเพิ่มปริมาณ เนื่องจากศิลปินแต่ละยุคสมัยมีความเป็นอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ต่างกัน มีความประทับใจในชีวิตที่ต่างกัน การจะสร้างงานด้วยความประทับใจที่ตนไม่เคยประสพนั้นเป็นธรรมดาที่ย่อมทำได้ไม่ถึง และความไม่ถึงนี้ก็คือความตื้นเขินที่ปกปิดไม่ได้ แต่หากสิ่งที่หยิบมานั้นคือความเข้าในในเรื่องของความงามในด้านองค์ประกอบทางศิลปะ คือสิ่งที่นำไปสู่ความสูงส่งของสปิริตของงานแล้ว นั่นก็เป็นเรื่องที่น่ายกย่อง งานจิตรกรรมฝาผนังของไทยนั้นได้วัฒนาการมาจนถึงขั้นสูงสุด รูปแบบนั้นได้ตอบสนองเนื้อหาไปได้อย่างสมบูรณ์แล้ว ศิลปินรุ่นเก่าได้ทำหน้าที่ของตนไว้อย่างสมบูรณ์แล้ว จากนี้ไป เป็นหน้าที่ของศิลปินรุ่นใหม่ที่จะต้องนำความเข้าใจในความงามอันสมบูรณ์นี้หยอดเป็นเมล็ดพันธุ์ที่จะผลิแตกเป็นงานที่เนื้อหาและรูปแบบเป็นของสมัยของศิลปินเอง

ขณะที่งานศิลปะถูกสร้างขึ้นนั้น มีสองสิ่งเกิดขึ้นพร้อมๆกัน นั่นคือ หนึ่ง อนาคตของศิลปะได้ถูกกรุยทางไปอีกก้าวหนึ่ง สอง งานศิลปะชิ้นนั้นได้กลายเป็นอดีต และซึ่งจะกลายเป็นประวัติศาสตร์ในเวลาต่อมา จะเป็นจุดที่สำคัญในประวัติศาสตร์หรือไม่นั้นอยู่ที่คุณค่าของผลงานนั้นเอง เมื่อมองอย่างนี้แล้วจะเห็นว่าผู้ทำงานศิลปะจะต้องใช้ความวิสาหะไม่น้อยเพื่อให้ผลงานของตนนั้นกรุยสู่ทางที่มีคุณค่า และเป็นที่น่าศึกษาสำหรับคนรุ่นถัดมา

การที่ข้าพเจ้าเรียบเรียงประวัติศาสตร์งานจิตรกรรมในประเทศไทยที่เคยมีมาทั้งหมดนั้น มีเหตุผลอยู่สองประการ ประการแรกคือเพื่อศึกษาถึงวิวัฒนาการการสร้างงานจิตรกรรมของผู้ที่มาก่อนข้าพเจ้าจากดินแดนที่ข้าพเจ้าเติบโตมา เนื่องด้วยเห็นว่างานเหล่านั้นมีคุณค่าทางจิตใจและทางประวัติศาสตร์ ประการที่สองคือเพื่อนำความเข้าใจที่ข้าพเจ้าได้รับจากการเรียบเรียงนี้สร้างเป็นภาพที่ร้อยเรียงกันอย่างเป็นเหตุเป็นผล เพื่อที่ศิลปินรุ่นใหม่จะได้ปะติดปะต่อร่องรอยของศิลปะจากวัฒนธรรมอันยาวนานหลากหลายของตนได้ง่ายขึ้น และเมื่อปะติดปะต่อได้แล้วเขาก็จะเห็นตำแหน่งบนเส้นประวัติศาสตร์ที่เขายืนอยู่ และเมื่อเห็นแล้วเขาจะปฏิเสธร่องรอยแบบที่มีมาโดยสิ้นเชิงหรือจะนำพาร่องรอยนั้นก้าวไปสู่ทางใหม่ของตนก็สุดแล้วแต่วิจารณญาณและความสนใจของตัวศิลปินเอง ข้าพเจ้ามิได้ต้องการจะโน้มนำความคิดใครแต่อย่างใด ข้าพเจ้าเองเพียงเป็นผู้เชื่อมต่อจุดเพื่อให้ภาพรวมของศิลปะไทยเห็นชัดเจนขึ้นเท่านั้น การเรียบเรียงหนังสือเล่มนี้ข้าพเจ้ามองว่าเป็นหน้าที่ตนพึงกระทำ เพราะข้าพเจ้าพบว่าบัดนี้ตัวเองได้ก้าวเข้ามายืนอยู่บนขอบของปัจจุบัน จะถอยหลังก็เป็นไปไม่ได้เสียแล้ว

1 comment:

Anonymous said...

อาจายร์สอนวิชานี้..สวยจัง