Wednesday, July 27, 2005
กว้าง x ยาว x สูง (Design & Self Reflection)
โดย สุชา สนิทวงศ์ ฯ
เธอคิดเหมือนฉันไหมว่าเวลาสมองได้เรียนรู้อย่างเต็มที่ คือเวลาที่เราทำสิ่งไม่ถนัด
งานที่ฉันถนัด คืองานบนแผ่นกระดาษ วาดๆเขียนๆ ออกแบบความคิด ประดิษฐ์รูปภาพ ลงบนแผ่นแบนๆ แผ่นพับๆ แผ่นรวมกันเป็นเล่มๆ วางตั้ง วางนอน ตั้งแต่เรียนจบจนมาถึงทุกวันนี้ ฉันทำอยู่แต่กับงานที่มีความกว้าง x ความยาว เพราะมันถนัด เคยชิน และรู้สึกว่าเจนจัดแล้ว
จนมาเจอหนังสือเกี่ยวกับงานออกแบบสามมิติมาโดยบังเอิญ หนังสือเล่มบางๆ มีแบบฝึกหัดที่สอนให้เข้าใจภาษาของงานออกแบบผ่านรูปทรงง่ายๆ สี่เหลี่ยม สามเหลี่ยม ทรงกลม เส้นโค้ง เส้นหยัก เริ่มจากซับซ้อนน้อย ไปถึงซับซ้อนมาก ใช้วัสดุธรรมดาๆ ดินน้ำมัน ลวด กระดาษแข็ง ฯลฯ พลิกหนังสือดูคร่าวๆเหมือนเป็นการสอนทำงานประติมากรรมกึ่งสถาปัตย์ แบบย่อๆ
แล้วฉันก็หาเวลาวันหยุดมานั่งทำ บทแรกเริ่มด้วยแท่งสี่เหลี่ยม ผู้เขียนแนะให้เอาแท่งดินน้ำมันสี่เหลี่ยมสามแท่งที่มีขนาดต่างกัน สั้นบ้าง ยาวบ้าง มาวางเข้าด้วยกัน แล้วเชื่อมต่อกันด้วยวิธีเข้ามุมแบบต่างๆ เช่นสอด เสริม หรือสร้างคาน แล้วหัดมอง หัดขยับ จนเห็นว่าความสัมพันธ์ของแท่งทั้งสามมีความสมดุลดี สอดประสานเป็นกลุ่มก้อนที่กลมกลืน ต้องดูงามจากทุกด้าน และตั้งได้มั่นคง
ด้วยสายตาที่เคยชินกับงานแบนๆ พอมาเจองานที่ต้องดูรอบด้านแบบนี้ ฉันรู้สึกเหมือนหัดยืนบนโลกใหม่ จับดินน้ำมันไปมาได้แท่งสี่เหลี่ยมมาสามชิ้น แท่งหนึ่งเป็นแท่งแบนกว้าง แท่งหนึ่งเป็นเหมือนแผ่นผอมๆ และอีกแท่งหนึ่งเล็กหน่อยแต่หนา เอาแท่งแบนกว้างกับแท่งเล็กหนามาวางขนานกันดู แท่งแผ่นผอมวางขวางด้านบน ทำให้ดูเหมือนทางเข้าแคบๆ คล้ายๆจะได้รูปได้ร่าง แต่มองโดยรอบแล้ว บางมุมยังดูคลุมเคลือ ต้องให้เด่นชัดขึ้น ต้องแก้ ถึงตรงนี้ยากที่สุด เพราะเปลี่ยนขนาดที คุณสมบัติก็เปลี่ยนที ความสัมพันธ์ของรูปทรงโดยรวมก็เปลี่ยนไปด้วย ขยับด้านหนึ่ง ก็กระทบด้านอื่นๆ ถึงจุดที่คิดว่าพอใจแล้ว มองอีกมุมกลับเห็นว่ายังต้องแก้ไข แก้ไปแก้มา แต่ละเปราะก็สอนให้รู้ถึงภาษาใหม่ๆและความงามใหม่ๆในการออกแบบ สิ่งบกพร่องในงานชิ้นเก่านำร่องสู่งานชิ้นใหม่เสมอ
ในมิติ กว้าง x ยาว x สูง ฉันนั่งด้นหาคำตอบไปในดินแดนของการเรียนรู้อันไม่มีสิ้นสุด สี่เหลี่ยมแท่งเดียวมีตั้งแปดมุม สามแท่งประสานกัน มีกี่มุมก็นับไม่ถ้วน มุมยิ่งมาก เหลี่ยมยิ่งมาก ยิ่งมีซอกหลืบให้พิจารณามาก มองหลายๆมุมเข้าก็ทำให้เริ่มเห็นข้อบกพร่องในตัวงาน ข้อบกพร่องนี่เป็นเรื่องที่เห็นได้ยาก บางทีเห็นแล้วก็อยากจะเมิน เหมือนเวลาฟังคนวิจารณ์ตัวเรา ไม่อยากจะยอมรับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เวลาที่คิดว่าเรานี่หนอ มาถูกทางแล้ว
นั่งทำแบบฝึกหัดนี้แล้วเหมือนมีแสงสว่างวาบขึ้นมาในใจ อุปสรรคในการเรียนรู้นี่อยู่ที่ตัวเรานี่เอง เวลาทำอะไรที่ไม่ถนัดมักจะมีอุปสรรคให้เห็นอยู่สองอย่าง อย่างหนึ่งคือความไม่รู้ อันนี้ขจัดไม่ค่อยยาก ค่อยๆหาความรู้มาใส่ ความไม่รู้ก็ค่อยๆหมดไป ส่วนอย่างที่สอง คือทัศนคติ อันหลังนี่คล้ายๆกับมารที่ชอบมาหลอกให้เราหลง หลอกให้เรานึกว่าเราถูกต้องแล้วไม่ว่าจะมองมุมไหน บางทีก็หลอกให้เรานึกว่ามีความรู้อยู่เต็มเปี่ยม ทั้งๆที่จริงแล้วยังมีช่องโบ๋อยู่อีกมาก ทัศนคติส่วนมากมาในรูปแบบของตัวตนที่เหนี่ยวรั้งไม่ให้เราเปลี่ยนแปลงสู่สิ่งใหม่ๆ
มองในแง่การพัฒนาตัวเอง การเรียนรู้ในงานออกแบบและงานศิลปะเป็นสิ่งที่ช่วยนำทางภายในได้อย่างหนึ่ง ขั้นตอนของการเรียนเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้มองตัวเองชัดๆใกล้ๆ ได้ฝึกวิจารณ์ตัวเอง ฝึกทะลายกำแพงทัศนคติของตัวเอง เป็นการเรียนเพื่อทำลายอัตตา
เมื่อไม่มีอัตตามาขวางกั้น ความคิดก็เจริญเติบโตกว้างไกล การหัดมองและวิพากษ์วิจารณ์ตัวเองจากที่สว่างเป็นสิ่งต้องทำอยู่เสมอๆ การหัดทำอะไรใหม่ๆที่ไม่ถนัดก็เป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้เรามองเห็นตัวเองได้ถนัดถนี่ทีเดียวเชียว
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
1 comment:
nice to see images include
Post a Comment