Wednesday, September 21, 2005

แต่งแบบยิว












โดย ส.

อยู่ต่างแดนมาหลายปี ก็เพิ่งจะได้เปิดหูเปิดตาไปงานแต่งงานกับเขาก็คราวนี้

เอมี่ เจ้าสาวงานนี้ โตมาจากครอบครัวยิว อาลัน เจ้าบ่าวก็เป็นยิว พ่อแม่อพยพย้ายมาจากอิสราเอลแท้ๆ เพราะฉะนั้นงานแต่งงานนี้ก็เป็นแบบยิวแท้ ที่ว่าแบบยิวเป็นแบบไหนไม่เคยเห็น ก็จะมาเล่าสู่กันฟัง

ประเพณียิวเป็นประเพณีที่เต็มไปด้วยสัญลักษณ์ ในงานนี้มีสัญลักษณ์ทั้งที่เป็นตามประเพณีเดิม และสัญลักษณ์ที่เอมี่สร้างสรรค์ขึ้นเพื่อจรุงตาและจรุงใจแก่ผู้ที่มาร่วมพิธี เริ่มตั้งแต่สถานที่จัดงาน เป็นรีสอร์ตเล็กๆอยู่นอกเมือง ติดอ่าวเล็กๆ น้ำในอ่าวไหลมาจากมหาสมุทรแอตแลนติก ตัวรีสอร์ตมีศาลาท่าน้ำยื่นเป็นสะพานออกไป ไว้สำหรับสังสรรค์ เยื้องออกไปมีสนามหญ้ากว้าง รอบรายไปด้วยต้นไม้ใหญ่น้้อย บ้างก็ไม้น้ำกร่อย บ้างก็น้ำจืด เอมี่กับอาลันเลือกใช้บริเวณลานสนามกว้างนี้เป็นที่ประกอบพิธี

ตัวปรำพิธีอยู่ใกล้กับตลิ่ง เป็นเพิงทำจากผ้าสี่เหลี่ยมง่ายๆ ผูกติดกับเสาไม้สี่เสา ภาษาฮิบรูเรียกว่า อุปปาห์ (Huppah) เป็นที่สำหรับเจ้าบ่าวและเจ้าสาว สาบานตน โดยมีแรบไบ (พระยิว) เป็นพยาน ผ้าผูกเพิงนี้เป็นผ้าไหมเพ้นท์ลาย เป็นรูปต้นไม้ใหญ่สองต้นยืนอยู่ด้วยกัน มีดาวเดือนรายรอบ ผืนผ้านี้เจ้าสาวศิลปินลงมือเพ้นท์ด้วยตัวเอง อุปปาห์มีความหมายว่าคือบ้านที่เขาทั้งสองร่วมกันสร้างขึ้น ริมขอบตลิ่งด้านหลังอุปปาห์ มีต้นสนอยู่สองต้นยืนเคียงชะลูดคู่ เอมี่จงใจเลือกตำแหน่งนี้เป็นฉากหลังให้กับงานพิธี ต้นไม้สองต้นยืนคู่กัน เติบโต เช่นเดียวกันกับคนทั้งสอง

เอมี่สวยมากในงานวันนี้ ชุดยาวเปิดไหล่สีขาวประดับประดาไปด้วยลูกปัดระยิบสีแชมเปญ ผู้คนที่มาร่วมงานก็แต่งตัวสวยงามสดใส น้ำในอ่าวสะท้อนแดดเป็นประกาย เสียงเพลงปี่เป่าระเริงเรื่อยปกคลุมบรรยากาศของสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ เจ้าบ่าวเจ้าสาวเริ่มสาบานตน​ ณ เวลาสามโมงสามสิบหกนาที ตัวเลขทวีคูณจากสิบแปด อันถือเป็นตัวเลขศักดิ์สิทธ์ในประเพณียิว นอกจากนี้เอมี่ยังอธิบายความผูกพันส่วนตัวกับจำนวนนี้ว่า ยายเอมี่แต่งงานหลังจากทวดแต่งสามสิบหกปี จากนั้นอีกสามสิบหกปีต่อมาแม่เอมี่ก็แต่งงาน และจนถึงเวลานี้ก็เป็นวาระครบรอบสามสิบหกปีอีกครั้งในวันแต่งงานของเธอเอง รายละเอียดเล็กๆน้อยๆแบบนี้ บางทีก็เป็นเรื่องน่าชวนฉงน

ในประเพณียิว การเดินวนเป็นวงกลมสามรอบถือเป็นสิ่งที่นำโชคดีมาให้ ในพิธี มีการให้เจ้าบ่าวเดินวนรอบเจ้าสาวสามรอบ และกลับกัน เจ้าสาวเดินวนเจ้าบ่าวสามรอบ มีการให้พรเจ็ดประการ และสาบานตนโดยแรบไบเป็นผู้นำพิธี มีการอ่านสัญญาการแต่งงาน มีการดื่มไวน์จากแก้วร่วมกัน

สาบานตนเสร็จ ก็เอาแก้วไวน์นั้นมาเหยียบให้แตก เป็นการประกาศ ว่า ณ บัดนี้ ข้าทั้งสองตั้งใจมั่นว่าจะก้าวเข้าสู่ภาวะใหม่ เป็นภาวะที่สมบูรณ์ ภาวะของคนที่เติบโตขึ้น แก้วหมายถึงร่างกาย เป็นภาชนะบรรจุจิตวิญญาณ หากจะก้าวไปสู่แดนแห่งจิตวิญญาณ ก็ต้องข้ามผ่านร่างกายไปเสียก่อน การแต่งงานในความเชื่อของยิว ไม่ใช่เพียงเป็นเรื่องของการใช้ชีวิตหญิงและชายคู่หนึ่งเท่านั้น แต่เป็นการหลอมรวมเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับพระเจ้า เพื่อเข้าสู่ภาวะสมบูรณ์ หากคิดแบบการศาสนา เรื่องเหยียบแก้วนี้ก็เห็นว่าลึกซึ้งดี แต่หากคิดแบบชาวบ้านทั่วไป การเหยียบแก้วก็ไม่น่าจะมีอะไรมากไปกว่าการที่เจ้าบ่าวประกาศว่า ณ บัดนี้เป็นต้นไป ความบริสุทธิ์ของเธอจะแตกดับด้วยน้ำมือเขา ไม่ว่าจะเป็นประเด็นใดก็ตาม การเหยียบแก้วในพิธีแต่งงานนี้ก็เป็นไคลแมกซ์ในที่ทุกคนรอคอย เป็นจุดที่นำไปสู่การเฉลิมฉลอง

จากนั้น ก็มีการร้องเพลงภาษาฮิบรูร่วมกัน นำโดยแรบไบ จบเพลงบ่าวสาวก็เดินออกจากพิธี โดยมีครอบครัวเดินตาม แล้วนักเป่าปี่ก็เป่าเพลงฉลองเริงรื่น ประกอบกับเสียงร้่องภาษาฮิบรู... ฮาวา นากีลาฮาวา นากีลาฮาวา นากีลาเฮ รันเนนนา... คนร้องเป็นก็ร้องตามกันไป

โดยปกติแล้ว หลังงานพิธีของงานแต่งแบบตะวันตกทั่วไป เพื่อความสนุกสนานและเก๋ไก๋ บ่าวสาวจะขับรถเปิดประทุนออกไปแล้วบีบแตรดังๆเพื่อประกาศความสุขสราญใจ แต่เผอิญที่รีสอร์ตนี้มีแต่น้ำ เอมี่กับอาลันก็ใช้พายเรือแทน เป็นเรือคานูสำหรับนักท่องเที่ยว พายไปเสียไกล สองคนแอบขึ้นฝั่งที่ไหนไม่รู้ กลับมาอีกทีก็ถึงเวลางานเลี้ยง

หลังจากที่แขกเหรื่อจับกลุ่มทักทายกัน กินดื่มหนุบหนับกันพอหอมปากหอมคอ ถ่ายรูปกันเป็นที่ฉ่ำใจแล้ว สักพักก็ทะยอยเข้าไปในงานเลี้ยง แต่ก่อนจะไปนั่งที่โต๊ะ แขกแต่ละคนก็ต้องไปเอาป้ายชื่อของตัวเองก่อน เพราะในป้ายชืื่อระบุว่าต้องไปนั่งโต๊ะไหน การจัดให้ใครนั่งตรงไหนกับใครนี้ หากเจ้าภาพดูแลดี เขาก็จะจัดให้คนรู้จักกันนั่งโต๊ะเดียวกัน หรือใกล้ๆกัน หากใครไม่กินเส้นกับใครก็จะถูกจัดให้นั่งอยู่คนละมุมห้อง การตกแต่งโต๊ะอาหารงานนี้ก็จัดได้งดงามเต็มที่ โต๊ะปูผ้าขาวมีแก้วจานชามเครื่องเงินวางขนาบนับไม่ถ้วนชิ้น แก้วไวน์แก้วน้ำมีการรินเตรียมไว้ให้เรียบร้อย กลางโต๊ะทุกโต๊ะมีดอกไม้ช่อใหญ่สวยหรูประดับ ทุกอย่างดูสดชื่นเริงร่า และสมเกียรติเจ้าภาพ

ระหว่างหาที่นั่งกันนี้ วงดนตรีก็เล่นเพลงคลอบรรยากาศไป สลัดเริ่มทะยอยมาเสริฟ เป็นสลัดผักที่มีกลีบดอกไม้หลากสีโรยหน้า เล็งดูก็เห็นว่าเป็นดอกบานชื่น และดาวเรือง ประดับประดามาเพื่อความสวยงามหวานหยดย้อย

พอคนเริ่มเต็ม นักดนตรีเป่าปี่ก็เริ่มบรรเลงเพลงดังขึ้น คราวนี้เป็นเพลงที่เรียกแขกให้ออกมาร่วมเต้นเฉลิมฉลอง การเต้นนี้เป็นการเต้นแบบประเพณียิว เรียกว่า ฮอร่า (Hora) เริ่มด้วยบ่าวสาวและพ่อแม่จับมือกัน แล้วก็เต้นขยับเท้ากันไปเป็นวงกลม ระหว่างขยับเท้าไปก็มีการเชื้อเชิญให้แขกมา "ร่วมวง" คว้ามือใครได้ก็ให้มาสนุกด้วยกัน คว้ากันไปคว้ากันมา จากวงเล็กๆก็กลายเป็นล้นฟลอร์ คนที่ไม่ได้ร่วมวงก็ยืนดูรอบๆ ตบมือตามกันไป รอเผื่อสบโอกาสให้คว้ามือใครหมับได้ ก็จะได้เข้าไปร่วมวง

ตามประเพณี ระหว่างที่เต้นฮอร่ากันนี้ เจ้าบ่าวเจ้าสาวก็จะถูกยกขึ้นนั่งเก้าอี้ หนุ่มๆแข็งแรงก็ช่วยกันแบกทูนหัว แล้วก็แห่กันไปรอบๆ ระหว่างอยู่บนเก้าอี้แห่ เจ้าสาวก็หยิบผ้าเช็ดหน้าสีขาวออกมาโบกให้เจ้าหนุ่มคว้า คว้าได้แล้วก็จับกันคนละชาย โบกสะบัดอย่างสนุกสนาน แห่เสร็จแล้วก็ลง กลับมาเต้นกันไปรอบๆอีก

ระหว่างนี้ บางคนรู้จักเต้นแบบที่ผาดโผนหน่อยก็จะออกมาโชว์ออฟ ส่วนมากนำโดยญาติผู้ใหญ่ที่เป็นผู้ชาย เป็นการโชว์ความแข็งแกร่งเยี่ยงชายชาตรีแบบหนึ่ง คนที่เต้นนี้จะเข้าไปยืนกลางวง แล้วนั่งยองๆเกือบติดพื้น แล้วก็สลับขาไปมาอย่างรวดเร็ว ยิ่งเร็วมาก ก็ยิ่งแมนมาก ถ้าจะให้สนุกขึ้นต้องมีคู่ อาลันกับน้าชายเต้นคู่สลับขานี้ได้น่าตื่นเต้นมาก

พอเหนื่อยก็กลับมาจับมือเป็นวง แล้วก็ขยับขาร่วมกันไปรอบๆอีก วงขยายใหญ่ขึ้นก็จะมีคนเข้าไปตรงกลางแล้วเริ่มวงเล็กๆใหม่ ขยายออกใหญ่ขึ้น แล้วก็เข้าไปเริ่มใหม่อยู่อย่างนี้ไม่รู้จักเหน็ดจักเหนื่อย นักดนตรีเห็นคนสนุกก็บรรเลงไม่เลิก แต่ละคนที่ใส่ชุดสวยมาก็ไม่มีใครอมพะนำ ทุกคนออกไปเต้นไปเซิ้งกันอย่างสนุกสนาน จนในที่สุดดนตรียอมจบลง คนก็เดินกลับมาที่โต๊ะ กินดื่มให้อิ่มหนำ เก็บแรงไว้เต้นรอบสอง

รอบสองนี้ไม่ใช่ดนตรีประเพณีแล้ว แต่เป็นดนตรีสำหรับลีลาศ มีการเปิดฟลอร์โดยบ่าวสาว และพ่อแม่ของทั้งคู่ จากนั้นแขกเหรื่อก็ค่อยๆทะยอยออกมาขยับส่าย มีทั้งสวิง ฟร๊อกสตรอท แทงโก้ ซาลซ่า และบอซซาโนว่า สาวใหญ่หนุ่มใหญ่จะเต้นกันเก่งเป็นพิเศษสำหรับดนตรีแบบนี้ คนนั่งที่โต๊ะเต้นไม่เป็นก็คุยกันไปกินกันไปตามประสา ระหว่างนี้ก็มีการตัดขนมปังแจกจ่าย เป็นขนมปังแบบยิวที่ทำตามประเพณี เรียกว่า ชาล่าห์ (Challah) เป็นขนมปังชิ้นยาวดูเหมือนเปียถัก รสชาดหวานเล็กน้อย เป็นขนมปังสำหรับงานพิธี เจ้าภาพตัดแบ่งให้ทุกคนกินกันคนละนิดละหน่อยเป็นเพื่อเป็นพร

จากนี้ก็ไม่ต่างจากงานเลี้ยงทั่วไปที่เจ้าภาพจะออกมากล่าวให้พรบ่าวสาว แม่ของเจ้าสาวงานนี้พูดได้จับใจคนเป็นพิเศษ และด้วยความที่แม่ของเอมี่ป่วยเป็นมะเร็งอยู่ ทุกคนก็จะให้กำลังใจเป็นพิเศษด้วยการยืนขึ้นปรบมือให้หลังจากที่พูดจบ จากนั้น พ่อเจ้าสาว เพื่อนเจ้าสาว ก็ออกมาพูดทักทาย ให้พร และขอบคุณกันไปตามลำดับ

ได้มาร่วมงานนี้แล้วก็ต้องขอขอบคุณเอมี่ ที่เชิญมาให้ร่วมเห็นเป็นบุญ กลับมาบ้านแล้วก็นึกถึงงานแต่งขันหมากแบบไทย ซึ่งก็น่าจะสนุกไม่แพ้งานแต่งแบบยิว ถ้ากลับเมืองไทยแล้วได้ไปงานขันหมากแท้ๆแบบมีโห่เพราะๆสักครั้งคงประเสริฐ ใครรู้จักใครที่จะแต่งแบบขันหมากช่วยบอกด้วย จะขอไปร่วม.

1 comment:

Anonymous said...

i just follow to be your fan club.

Manytimes i bought some thai pocketbook with the first sense of " i like this cover" after bought and freeze in my shelf. I just found that u PAO who designed it.

hope to read more from you.

jiew (th)